ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ คืน 24 ส.ค. คนนอนไม่หลับไม่ใช่ตน – ปัดรู้คำตัดสินล่วงหน้า – มติ ครม. ผ่านร่างสัญญา “ออกแบบ” โครงการรถไฟความเร็วสูง 1,796 ลบ.

นายกฯ ชี้ คืน 24 ส.ค. คนนอนไม่หลับไม่ใช่ตน – ปัดรู้คำตัดสินล่วงหน้า – มติ ครม. ผ่านร่างสัญญา “ออกแบบ” โครงการรถไฟความเร็วสูง 1,796 ลบ.

23 สิงหาคม 2017


นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถ่ายภาพร่วมกันภายหลังการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.นครราชสีมา ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โดยมีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการกระจายกำลังอารักขาโดยรอบบริเวณ และก่อนเข้าอาคารจะต้องถูกวัดไข้ด้วยระบบอินฟราเรด ล้างมือด้วยเจลฆ่าเชื้อ ก่อนทำการสแกนกระเป๋า และเดินผ่านเครื่องตรวจวัตถุโลหะ

ประทับใจ “โคราช” – โต้ข่าวเสื้อแดงบุกยื่นเอกสาร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามที่ว่าการลงพื้นที่ ครม.สัญจรในครั้งนี้เป็นอย่างไร ว่า ตนมีความรู้สึกที่ดีกับประชาชนชาวอีสานทั้งก่อนมา และหลังกลับไปก็จะมีความรู้สึกที่ดีไปตลอด และรวมถึงประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน เพราะตนมีหน้าที่ทำงานให้กับประเทศ กับประชาชน จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่

“ก็มีข่าวลือว่าเมื่อวานมีคนนำเอกสารมาให้ เขาไม่พอใจผมแล้วผมทำหน้าไม่พอใจใส่เขา อันนี้ก็มาจากสื่อ (หยิบเอกสารจากซองมาแสดง) เขาก็แสดงความขอบคุณรัฐบาล และเสนอแนวทางในการปฏิรูปสื่อผมก็รับมา อันที่สองได้มีผู้เสนอแนวทาง (อ่านเอกสาร) ขอเป็นกำลังใจให้คณะรัฐมนตรีสัญจร อีกทั้งสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า คสช. และนายกฯ ตลอดไป อันนี้ไม่เอาๆ อันนี้หาเรื่อง เขาก็ไปวิ่ง 590 กิโลเมตรเพื่อสนับผมอยู่ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของกลไก ก็ขอขอบคุณ และดีใจที่ได้มา และไม่ผิดหวัง เพราะผมก็ไม่ได้หวังจะสนับสนุนหรือไม่ หวังแต่เพียงว่า จะทำอะไรให้กับเขา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามสื่อท้องถิ่นว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้มาโคราช พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมประทับใจทุกอย่างที่เป็นโคราช ไม่ว่าจะผู้คน อาหารการกิน สถานที่ น้ำใจไมตรี ถือว่านี่คือดินแดนของประเทศไทยที่มีความสุข แม้จะมีรายได้น้อย ผมก็ยิ่งต้องทำให้เขา และแผ่นดินผืนนี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เพราะบรรพบุรุษไทยตายทับถมไปเท่าไรก็ไม่รู้”

เล็งใช้ “งบบูรณาการ” สานคลัสเตอร์จังหวัด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด จากการพบปะหารือเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ตนมาเพียงเพื่อกำชับและรับทราบปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ ซึ่งก็พอทราบมาบ้างว่าศักยภาพของภาคอีสานเป็นอย่างไร มีพื้นที่มาก แต่ผู้คนมีรายได้น้อย มีทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ศักยภาพเรื่องแร่ที่มีก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากยังไม่มีการทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนได้กล่าวย้ำแล้วว่าพื้นที่จะต้องบูรณาการงานฟังก์ชันให้ได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำให้กับทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ได้มีการตั้งงบประมาณตามแผนใหม่ คือ งบประมาณในการบูรณาการกลุ่มงานต่างๆ ซึ่งต้องบูรณาการข้ามหน่วยงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น สามารถที่จะใช้งบประมาณข้ามกระทรวงเพื่อส่งเสริมกันให้ได้ในกิจกรรมเดียวกันในลักษณะคลัสเตอร์ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้น ภาคอีสานที่มีปัญหาด้านความเสื่อมโทรม ตนจึงสั่งการให้ปรับปรุงซ่อมแซมและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวยังอยู่ห่างไกลกัน และได้สั่งการให้ทุกภาคขึ้นทะเบียนแหล่งท่องเที่ยวว่ามีสถานที่ใดเป็นจุดเด่นน่าสนใจบ้าง โดยจัดลำดับ 5 แห่งต่อภูมิภาค และเชื่อมโยงกันทั่วประเทศ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ดึงคนเข้ามาเที่ยว

ขณะเดียวกัน ตนได้ย้ำว่าการดำเนินงานต่างๆ ต้องสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อยกระดับรายได้ประชาชนผ่านการดึงศักยภาพของทุกพื้นที่ออกมาให้ได้ และเชื่อมโยงศักยภาพเหล่านั้นเป็นคลัสเตอร์ให้เร็วที่สุด ซึ่งความเชื่อมโยงที่รัฐบาลทำได้ในขณะนี้คือการดำเนินการผ่านกลไกประชารัฐ

“วันนี้ผมมีข้อตกลงใจไปในการหาเครื่องมือเพื่อขุดหาแหล่งน้ำ ซึ่งงบประมาณอาจจะอยู่ตามหน่วยงานบ้าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้าง จะทำให้ประชาชนสามารถเก็บกักน้ำได้ด้วยตนเอง ดูแลรักษาเครื่องมือเอง ส่วนที่สองคือการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักรการเกษตรให้กับสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร การเก็บเกี่ยวในระดับพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่ข้าวแต่รวมไปถึงพืชอื่นๆ และการทำเกษตรแบบอินทรีย์ด้วย ทุกวันนี้ผู้บริโภคล้วนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ ต้องทำให้ตรงความต้องการของตลาดไม่ใช่นึกอยากจะปลูกอะไรก็ปลูก ไปสนับสนุนราคาที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแล้วทุกคนก็รุมไปปลูก สุดท้ายราคาตก และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ด้วย นี่ผมพูดรวมไปนะ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันคุยเอกชน ไม่มีใครถามการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการรับฟังปัญหาของภาคเอกชนในพื้นที่ว่า ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบคือเรื่องของความเชื่อมโยง การลดขั้นตอน รวมทั้งมีการเสนอธุรกิจที่ต้องการให้เกิดขึ้นในจังหวัดของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการลดขั้นตอนต่างๆ ไปมากแล้ว ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดระบบเช่นนี้ โดยที่รัฐบาลจะจัดทำระบบไอทีลงสู่ชุมชนให้ครบทุกแห่งภายในปี 2561

ต่อคำถามถึงการหารือกับภาคเอกชนต่อบรรยากาศทางการเมือง พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ในวงหารือภาคเอกชนไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเมืองเลย จะพอใจรัฐบาลหรือ คสช. หรือไม่ตนไม่รู้ แต่สรุปว่าทุกคนเขาไม่ได้ห่วงใยการเมือง เขามั่นใจและพอใจกับสเถียรภาพบ้านเมืองในวันนี้

“ไม่ต้องเอาคะแนนหรือโพลมาให้ผมดู ยังไงผมก็ไม่ท้อแท้ เหลือ 0% ผมก็ยังอยู่ ไม่ต้องไปเขียนโพลให้คะแนนน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะผมยังอยู่ตามกฎหมายอยู่ ผมก็อยู่ของผมนี่แหละ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

“เบสท์ริน” หลุดแบล็กลิสต์ – ชี้ หากประมูลมีปัญหาล้างบางทั้งคณะประมูล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการประมูลรถเมล์ 400 คัน ที่บริษัทเบสท์รินได้รับการปลดจากแบล็กลิสต์ให้กลับมาประมูลงานได้อีก ว่า ฝ่ายกฎหมายได้มาชี้แจงแล้ว ซึ่งได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือประมูลแล้วจะชนะการประมูลหรือไม่ และหากผิดไปจะต้องทำอย่างไรกันต่อ อยากให้ไปมองตรงนั้นมากกว่า

“คิดหรือว่าเขาจะได้ ถ้าเขามีความผิดแล้วประมูลได้ขึ้นมา เกิดเป็นความผิด กรรมการทั้งหมดจะต้องถูกลงโทษทั้งหมด ก็แค่นี้เอง อย่าให้เป็นประเด็นเลย ก็มีการชี้แจงว่ามีกฎหมายใหม่ออกมา กฎหมายเก่ายกเลิกไป ผมก็ปวดหัวกับเรื่องเหล่านี้ คนจัดประมูลก็รับผิดชอบไปสิ ล้างทั้งบางนั่นแหละหากจัดประมูลไม่ดีไม่ชัดจน ประชาชนไม่พอใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เล็งพื้นที่รกร้างเอกชน ใช้ประโยชน์ปลูกป่า-ปันคนไร้ที่ดินทำกิน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามจากสื่อโดยตรงไม่ผ่านการส่งคำถามล่วงหน้า กรณีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลนี้เป็นคนเริ่มดำเนินการ โดยต้องจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1:4,000 จากภาพภ่ายทางอากาศที่แสดงผลตามข้อเท็จจริงออกมาก่อน จากนั้นนำแผนที่ของทุกกระทรวงมาทาบแล้วจัดสรรออกมาให้ได้ ซึ่งคาดกว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

“ตรงไหนที่ตรงกันก็จบ ไม่มีปัญหา ตรงไหนที่มีความขัดแย้งทับซ้อนก็ไปหาทางออกกัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีการร้องเรียนแล้วยกให้ไป ต้องเอาหลักการและเหตุผลทางกฎหมาย เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาว่ากัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด พื้นที่ใดที่เป็นป่าเสื่อมโทรม วันนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติขึ้นมาให้แล้ว ก็มีการมอบที่ดินให้ประชาชนทำกินไปกว่า 1 แสนไร่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นโฉนด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับป่าเสื่อมโทรมที่มีประชาชนอาศัยอยู่มานานแล้วจะใช้วิธีใกล้เคียงกันนี้ได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ตรงไหนเป็นป่าอุทยานสามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาเป็นป่า 40% ได้ก็ต้องทำ หากจะช่วยประชาชนอย่างเดียวความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่เกิด ซึ่งการสร้างป่า 40% นั้น หมายถึงป่าชุมชน ป่าในเขตเมือง สวนสาธารณะก็ได้

หากใครไม่มีพื้นที่จริงๆ ก็อาจต้องหาที่ทำกินให้โดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ให้ประชาชนเข้ามาทำกิน เช่น กรณีของชุมชนบ้านวังหิน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อย่างไรก็ตาม หากไม่มีที่ดินของรัฐบาลก็ต้องสำรวจจากพื้นที่ทิ้งร้างของเอกชนที่เต็มใจร่วมมือ ซึ่งก็ต้องให้ผลประโยชน์แก่เอกชนด้วย ต้องมีกฎหมายออกมา แต่ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นตนยังไม่ทราบ

“วันนี้กำลังไปพิจารณาอยู่ว่าถ้าเราปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชนจะทำอย่างไร ต้องมีมาตรการในการสร้างแรงจูงใจให้เขาหรือไม่ จะต้องปลูกไม้ยืนต้นระยะกี่ปี ต้นโตขนาดไหน จะดูสนับสนุนมาตรการภาษีให้บ้างได้ไหม ไม่อย่างนั้นปล่อยทิ้งร้างเฉยๆ ผมจะทำอะไรได้ เพราะเขาก็ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย”

ครม. ไฟเขียว 2,600 ลบ. สร้างทางรถไฟยกระดับ แก้ปัญหาจราจรโคราช

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อโดยตรง กรณีโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในตัวเมืองนครราชสีมา ว่า ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 2,600 ล้านบาทไปแล้ว นอกจากนี้ได้มีการเสนอแผนงานที่จะสร้างถนนอ้อมเมืองโคราชเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

เมื่อถามว่าเป็นของขวัญให้ชาวโคราชหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ทำไมต้องเป็นของขวัญ ผมมีของขวัญให้เขาทุกวัน คุณรู้ไหมงบครั้งนี้ 2,600 ล้านบาท แล้วจะต้องทำอีกกี่เส้น หากจะทำใกล้ๆ กันก็ต้องอนุมัติ 2,600 ล้านบาท ทุกเส้น ก็ต้องไปดูที่อื่นอีกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าให้ของโคราชแล้วที่อื่นขอมาจะไม่ให้เขาหรือ ผมถือว่าให้ด้วยเหตุด้วยผล เพราะถ้ามองว่ายกเส้นทางทั้งเส้นนั้นต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน การสร้างเฉพาะตรงนี้ ดูความเพียงพอแค่ไหนอย่างไร เพราะวันข้างหน้าเมืองต้องขยายออกไปด้านข้าง อยากให้มองตรงนั้นมากกว่าเรื่องการแบ่งครึ่งเมือง”

ชี้คืน 24 ส.ค. คนนอนไม่หลับไม่ใช่ตน – ปัดรู้คำตัดสินล่วงหน้า

ก่อนจบการให้สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เมื่อวานมีคนบ่นเหนื่อยมาก แล้วนายกฯ ไม่เหนื่อยหรือ แต่มันหายเหนื่อยที่ได้ทำงานได้สั่งการได้เอาแผนมาคลี่ดู ได้พบประชาชน ไม่คิดถึงนายกบ้างหรือ นอนยังเหนื่อย ยังฝันเรื่องงานเลย”

จากนั้นจึงมีคำถามจากสื่อว่าคืนวันที่ 24 สิงหาคม 2560 นี้จะนอนหลับหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มีอะไรหรือ วันอะไร วันศุกร์หรือ ก็ดีใจสิผมได้พักผ่อน จะสนใจทำไมวันอะไร จะเรื่องคดีหรืออะไรก็เป็นเรื่องของบุคคล เป็นเรื่องของศาล คนจะนอนไม่หลับคงมีไม่กี่คน ผมหลับสบายทุกวันงานผมเยอะ อยู่แล้ว”

เมื่อถามถึงการเตรียมการของฝ่ายความมั่นคง นายกรัฐมนตรีระบุว่า “เขาก็เตรียมการของเขา ไม่ได้ไปกดดันใคร อีกฝ่ายอย่าไปยุแยงตะแคงรั่ว ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องเตรียมสิ ขู่กันทำไมเล่า เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องเตรียมการของเขาไว้ หากมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่เตรียมการก็จะเสียงบประมาณเปล่า ขอร้องเถอะ เมื่อวานผมถามชาวอีสานว่าเขาจะไปไหม เขาบอกเขาไม่ไป”

ส่วนการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ต่างๆ หลังวันตัดสินคดีจำนำข้าวนั้นต้องถามว่าคนไทยยินยอมให้เกิดสถานการณ์ขึ้นหรือไม่ ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรตนไม่เคยรู้ก่อนล่วงหน้าและไม่อยากรู้ ดังนั้นหากเกิดอะไรขึ้นคนไทยทั้งประเทศยอมรับหรือไม่ หากยอมให้เกิดความวุ่นวายตนก็ยอม เพราะคนไทยทุกคนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนที่เป็นตัวกลางทำให้ประเทศสงบสุขและเดินหน้าประเทศได้ จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ร่วมถ่ายรูปกับสื่อมวลชน

มติ ครม. มีดังนี้

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ผ่านร่างสัญญา “ออกแบบ” โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ 1,796 ลบ.

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างสัญญา 1 การออกแบบรายละเอียด (detailed design services agreement) ในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งจะเป็นการออกแบบการก่อสร้างโยธา เช่น อุโมงค์ สะพาน อาคาร ย่านสถานี และงานโครงสร้างทางยกระดับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน มูลค่าโครงการ 1,706 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

นายกอบศักดิ์ระบุว่า ส่วนสำคัญของร่างสัญญาการออกแบบและรายละเอียดอยู่ที่ภาคผนวกทั้ง 5 ภาคผนวก ที่มีการกำหนดขอบเขตของการให้บริการ แสดงรายละเอียดการทำงานระหว่างไทยและจีน การกำหนดให้ไทยเป็นผู้จัดหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการออกแบบโครงการ การกำหนดอัตราค่าตอบแทนและการจ่ายเงินซึ่งจะต้องชำระเป็นเงินสกุลบาทไทย การกำหนดรายละเอียดของการทำงานตามสัญญาและการกำหนดบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินการ

ทั้งนี้ร่างสัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคฯ ที่เห็นชอบจาก ครม. ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ในวงเงิน 179,413 ล้านบาท และเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จประชาชนจะสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึง จ.นครราชสีมา โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 17 นาที ค่าโดยสารประมาณ 535 บาท โดยจะมีการลงนามสัญญาในช่วงที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปเยือนประเทศจีน ช่วงวันที่ 4-5 กันยายน 2560

“ร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด (อสส.) และทางจีนแล้ว และทางกระทรวงคมนาคมได้มีการหารือกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทย กฤษฎีกา สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศแล้วเช่นกัน สำหรับขั้นต่อไปจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาที่ 2 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโยธา และสัญญาที่ 3 งานระบบรางระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งการจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร คาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาในอีก 2 สัปดาห์” นายกอบศักดิ์กล่าว

เคาะ งบกลาง 2,101 ล้าน ฟื้นฟูโครงสร้างคมนาคมพื้นที่อุทกภัย

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,101.46 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

แบ่งเป็นงบประมานส่วนของกรมทางหลวง จำนวน 1,620 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมทางหลวงแผ่นดินจำนวน 119 เส้นทาง ในพื้นที่ 23 จังหวัด กรมทางหลวงชนบท จำนวน 480 ล้านบาท เพื่อซ่อมแซมทางหลวงชนบทจำนวน 147 เส้นทาง ในพื้นที่ 17 จังหวัด และส่วนของสำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร

“การพื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดต้องใช้เงินจำนวน 3,571 ล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ส่วนราชการเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงาน (งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560) และแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 แล้ว โดยสามารถปรับแผนได้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,470 ล้านบาท และจำเป็นต้องขอใช้จ่ายจากงบกลางเป็นเงินรวม 2,101.46 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ทันฤดูฝนปีหน้า และได้สั่งการให้ดำเนินการเรื่องเส้นทางน้ำควบคู่ไปด้วย” นายกอบศักด์กล่าว

ไฟเขียว ทางหลวงพิเศษฯ บางปะอิน-โคราช 30,000 ลบ. / บางใหญ่-กาญจนบุรี 27,000 ลบ.

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา กรอบวงเงินไม่เกินจำนวน 33,258 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี กรอบวงเงินไม่เกิน 27,828 ล้านบาท ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา

“เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้างรวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด และเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษาและค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม มีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและคณะกรรมการ มาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.พีพีพี) ดำเนินการหาบริษัทเอกชนมาร่วมลงทุน คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2563 สำหรับอัตราค่าผ่านทางจากกรุงเทพฯ ผ่านไปบางปะอินและนครราชสีมา คิดอัตราแรกเข้า 10 บาท จากนั้นจะคิดในอัตรา 1.25 บาทในทุกๆ กิโลเมตร ส่วนเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรีจะคิดอัตราแรกเข้า 10 บาท จากนั้นจะคิดในอัตรา 1.50 บาทในทุกๆ กิโลเมตร โดยทางรัฐจะให้เงินตอบแทนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,170 ล้านบาทต่อปี สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และ 979 ล้านบาทสำหรับโครงการบางใหญ่-กาญจนบุรี

เห็นชอบแผนพัฒนาอีสานใต้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบรายงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

เนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียง 1 ใน 10 ของประเทศ มีข้อจำกัดของปัจจัยพื้นฐานเรื่องปัญหาน้ำและดิน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพและโอกาสที่เด่นชัดจากการมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ มีประชากรวัยแรงงานมาก และมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่ 12 แห่ง โดย สศช. ตั้งเป้าหมายยกระดับให้ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในพื้นที่ ขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ที่หากทำสำเร็จทุกเรื่องตามแผนจะช่วยพัฒนาภาคอีสานสู่มิติใหม่

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ 5 ประการประกอบด้วย

    1. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน มีแผนงานในการพัฒนาแหล่งน้ำดิบและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเลย ชี และมูล พัฒนาระบบขนส่งและกระจายน้ำ และการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

    2. ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีแผนงาน เช่น การพัฒนาอาชีพและรายได้ของคนยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส พัฒนาระบบป้องกันและควบคุมโรคเฉพาะถิ่น และพัฒนาโภชนาการแม่และเด็ก

    3. ยุทธศาสตร์ การสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแผนงาน เช่น การสร้างความมั่นคงทางการเกษตร พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ทอัป และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

    4. ยุทธศาสตร์การใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาเมือง โดยเฉพาะเมืองสำคัญ คือ นครราชสีมา และขอนแก่น เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และเร่งพัฒนาโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งภายในภาค

    5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ แผนงานสำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงชายแดน การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้ใช้โครงการประชารัฐเข้ามาช่วยดูแลการแก้ปัญหาด้านต่างๆ เช่น ด้านแรงงาน หรือการจัดทำโครงการเกษตรอินทรีย์ และได้มอบหมายกระทรวงการคลัง หาช่องทางการจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยกู้ให้เกษตรกรได้มีเงินทุนมาใช้ทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาเส้นทางคมนาคม ถนนขนาดเล็กเชื่อมต่อกับถนนใหญ่ โดยอาจสร้างเพิ่มหรือซ่อมแซมถนนเดิมให้สามารถใช้งานได้สะดวก” นายกอบศักดิ์กล่าว

รายละเอียดแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามมติ ครม.

เห็นชอบจับมือ OECD ผ่านโครงการ Country Programme

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ในการดำเนินโครงการ Country Programme (CP) เนื่องในโอกาสที่เลขาธิการ OECD จะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2560 เพื่อกระชับความร่วมมือกับไทยอย่างบูรณาการ โดย OECD จะให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปนโยบายด้านต่างๆ ที่ฝ่ายไทยประสงค์ให้เป็นไปตามหลักการสากลมากขึ้น

โดยโครงการของ OECD มีทั้งหมด 16 โครงการ จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี, Thailand 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลได้แจ้งความประสงค์ที่จะขอรับการช่วยเหลือจาก OECD ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1. ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส 2. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน 3. ประเทศไทย 4.0 และ 4. การเติบโตอย่างทั่วถึง

“วันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ไม่เป็นสมาชิกและเข้าสู่โครงการนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มดำเนินการในปี 2561 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี และต่อสัญญาได้รอบละ 3 ปี ถ้าเราทำไปแล้ว มาตรฐานไทยจะไปสู่สากลมากขึ้น ก็จะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การได้รับการพิจารณาในเรื่องการก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ” นายกอบศักดิ์กล่าว

อนุมัติงบเพิ่มเติม 551 ลบ. 11 โครงการบริหารจัดการมันสำปะหลัง

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2560/2561 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอจำนวน 11 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 551 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ใช้วงเงินงบประมาณ 371 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 8 โครงการ และโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 180 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตรา FRD+1 และภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น สำหรับส่วนต่างจากอัตราร้อยละ 3 ธ.ก.ส. เป็นผู้รับภาระ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง
  • โครงการสนับสนุนเครื่องสับมันสําปะหลังให้สถาบันเกษตรกรเพิ่มมูลค่า
  • โครงการสนับสนุนเครื่องสับมันสําปะหลังขนาดเล็กให้วิสาหกิจชุมชน
  • โครงการสนับสนุนเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกให้ด่านที่มีการนำเข้ามันสำปะหลัง
  • โครงการกำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน
  • โครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
  • โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
  • โครงการขยายโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
  • โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด (ธ.ก.ส.)
  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

อนึ่ง แนวทางการบริหารจัดการมันสำปะหลังปี 2560/61 มีโครงการรวมทั้งสิ้น 14 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่ใช้งบประมาณปกติจำนวน 2 โครงการ โครงการที่ไม่ขอจัดสรรงบประมาณของ ธ.ก.ส. 1 โครงการ และโครงการที่ของบประมาณเพิ่มเติมในครั้งนี้อีก 11 โครงการ วงเงินทั้งโครงการรวม 161 ล้านบาท

รับทราบรายงาน กนช. – อีสานเสี่ยงทั้งภัยแล้ง-น้ำท่วม

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบกำหนดพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 พื้นที่ ครอบคลุม 18 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดในลุ่มน้ำเลยตอนล่าง ลุ่มน้ำเลยห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำภูน้ำกัด ลุ่มชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูลตอนบน และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง

โดยกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งประเทศ พบว่ามีพื้นที่ 84.2 ล้านไร่ คิดเป็น 26.5% ของพื้นที่ทั้งประเทศ เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40.9 ล้านไร่ คิดเป็น 49 % ของพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งหมด สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุกทภัยทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 45.4 ล้านไร่ คิดเป็น 14% ของพื้นที่ทั้งประเทศ และเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.9 ล้านไร่ คิดเป็น 35% ของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั้งหมด

“ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ได้กำหนดพื้นที่บริหารจัดการ 8 พื้นที่ จำนวน 36 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 2,104.59 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 72,031 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น 6.81 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่ง ครม. เห็นชอบให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อมและเร่งด่วน เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 อีก 348 โครงการ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 8,820 ล้านบาท โดยจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 549,700 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 107 ล้านลูกบาศก์เมตร” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

เห็นชอบแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 185 โครงการ 1,400 ลบ.

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 2560 (กรกฎาคม-กันยายน) จำนวน 185 โครงการ งบประมาณ 1,399 ล้านบาท โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ 2560-2564 และมอบหมายหน่วยงานด้านการวิจัยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานแบบบูรณาการในภูมิภาคต่าง ๆ

ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 413 ล้านบาท จำนวน 100 โครงการ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 863 ล้านบาท จำนวน 31 โครงการ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 106 ล้านบาท จำนวน 48 โครงการ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์งบประมาณ 15 ล้านบาท จำนวน 6 โครงการ

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าและเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชอินทรีย์” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

คลังขอแจงเอง รายละเอียด พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับใหม่

นายกอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ เรื่องโครงสร้างอัตราภาษีสินค้าและบริการซึ่งครอบคลุมในทุกรายการสินค้า อย่างไรก็ตาม นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอแถลงในรายละเอียดภายใน 1-2 วันหลังจากนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่กระทบกับประชาชนหลายส่วน

อนึ่ง มีรายงานว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่นั้นจะจัดเก็บจากค่าความหวานของน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และชาเขียว หากมีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่ม จากปัจจุบันที่เสียภาษี ร้อยละ 20 จากมูลค่าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราใหม่ที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน