ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ปิดฉากยกมือ “ถอดถอน” ในสภาสูง “สุรพงษ์” เคสสุดท้ายทิ้งทวน ก่อนโอนอำนาจให้ “ศาล” ตาม รธน. ใหม่

ปิดฉากยกมือ “ถอดถอน” ในสภาสูง “สุรพงษ์” เคสสุดท้ายทิ้งทวน ก่อนโอนอำนาจให้ “ศาล” ตาม รธน. ใหม่

5 พฤศจิกายน 2016


ที่มาภาพ : http://click.senate.go.th/wp-content/uploads/2014/05/049.jpg
ที่มาภาพ : http://click.senate.go.th/wp-content/uploads/2014/05/049.jpg

ปิดฉากการถอดถอนอย่างไม่เป็นทางการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในฐานะผู้ทำหน้าที่แทน “วุฒิสภา” (ส.ว.) ในการลงมติญัตติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คะแนนเสียง 231 เสียง ต่อ 4 เสียง ในคำร้องขอให้ถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเท ออกจากตำแหน่ง กรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

คือโหวตถอดถอนสุดท้ายของ สนช.

ที่เป็น “โหวตสุดท้าย” ด้วยเพราะร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้กำหนดให้ “อำนาจ” ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เคยเป็นอำนาจของ “วุฒิสภา” ไปเป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจของ “ศาล”

บทบัญญัติตามมาตรา 235 ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการ กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมทั้งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง และหาก ป.ป.ช. เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติกรรมความผิด ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ส่งเรื่องไปยังศาลให้พิจารณาตามประเภทของความผิด ดังนี้

(1) กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อวินิจฉัย

(2) กรณีอื่น ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อ “ศาลฎกีาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรตำแหน่งทางการเมือง”

เมื่อศาล “ประทับรับฟ้อง” เมื่อใด ให้ผู้ถูกกล่าวหา “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

และหากศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้

สำหรับการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาใช้เป็นหลักในการพิจารณา แต่ศาลมีอำนาจที่จะไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ขณะที่มาตรา 144 ที่ระบุในประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมารรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ได้ “ตีกรอบ” ไม่ให้ ส.ส. ส.ว. คณะกรรมาธิการเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ในการใช้งบประมาณรายจ่าย ซึ่งหาก ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาเห็นว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา หากศาลวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดจริง ให้ผู้กระทำความผิดสิ้นสุดสมาชิกสภาและให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับตั้ง

แต่หากเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำความผิด หรือไม่ยับยั้งความผิด ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับจากวันที่ศาลวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

โดยเหตุผลหลักที่ กรธ. ใช้อธิบายสาเหตุการโยกอำนาจถอดถอนในครั้งนี้ เป็นเพราะที่มาของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญใหม่มาจากการสรรหา อีกทั้งที่ผ่านมากระบวนการถอดถอนผ่าน ส.ว. ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

31 คำร้องถอดถอน ยุค รธน. 2540

หากย้อนดูกระบวนการถอดถอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการยื่นคำร้องขอถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งต่อวุฒิสภา 31 เรื่อง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ข้อกล่าวหาตามคำร้องไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป 14 เรื่อง

ส่วนที่เหลือไม่ได้ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง เนื่องจากคำร้องไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น รวบรวมรายชื่อประชาชนไม่ครบ ทำให้การถอดถอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ยังไม่เคยดำเนินการถึงขั้นตอนให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติถอดถอนจริง

“จรัล” พ้นตำแหน่งคนแรกในประวัติศาสตร์การถอดถอน

กระทั่งในปี 2550 ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 สนช. ได้ลงมติถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียง 156 เห็นด้วย กับ 1 เสียงไม่เห็นด้วย และ 3 เสียงที่งดออกเสียง ซึ่งเป็นผลให้นายจรัลพ้นจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทันที เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเป็นหนึ่งในแกนนำ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ทำการชุมนุมก่อความวุ่นวายหน้าบ้านประธานองคมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ปี 2550 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหาย

ส.ว. เหลว ถอดถอน 5 คำร้องตาม รธน. 2550

ส่วนการถอดถอนของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น มีการยื่นคำร้องขอถอดถอนจำนวน 74 เรื่อง ในจำนวนนี้มีเพียง 6 เรื่องที่เข้าสู่ขั้นตอนให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง แต่คะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 4 ตามที่กฎหมายกำหนดทำให้ผู้ถูกร้องไม่พ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย

1. คำร้องขอให้ถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งกรณีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ด้วยคะแนนเสียงถอดถอน 76 ต่อ 49 เสียง

2. คำร้องขอให้ถอดถอนนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ด้วยคะแนนถอดถอน 57 เสียง ต่อ 55 เสียง

3. คำร้องขอให้ถอดถอนถอดถอน นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม ด้วยคะแนนเสียงถอดถอน 84 ต่อ 56 เสียง

4. คำร้องขอให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กรณีส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงงานของกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยคะแนนเสียง ถอดถอน 40 เสียง ต่อ 95 เสียง

5. คำร้องขอให้ถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที ออกจากตำแหน่ง กรณีดำเนินการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ โดยคะแนนเสียงถอดถอนนพ.สุรพงษ์เป็น 66 ต่อ 66 เสียง ขณะที่นายไกรสรมีคะแนนเสียงถอดถอน 66 ต่อ 66 เสียง เท่ากัน

โบว์แดง สนช. 2 ปี ฟัน 8 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะที่การถอดถอนในสมัย สนช. ชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาคำร้องถอดถอน ดังนี้

1. คำร้องขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ดำเนินการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. .… โดยจงใจปิดอภิปราย และดำเนินการประชุมทั้งที่องค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ โดย สนช. ลงมติไม่ถอดถอน 115 เสียง ต่อถอดถอน 100 เสียง

2. คำร้องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา กรณีลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้สัมภาษณ์เชิงให้ร้ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา ซึ่ง สนช. ลงมติไม่ถอดถอน ด้วยคะแนน 120 ต่อ 95 เสียง

3. คำร้องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ในความผิดฐานจงใจไม่ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรียับยั้งความเสียหายปล่อยให้เกิดการทุจริตจำนำข้าว ด้วยคะแนนถอดถอน 190 ต่อ 18 คะแนน ไม่ออกเสียง 8 คะแนน ซึ่งถือว่า สนช. มีมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

4. คำร้องถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 38 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดย สนช. มีมติไม่ถอดถอน

5. คำร้องถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่ง สนช. ลงมติถอดถอนนายบุญทรงด้วยคะแนนเสียง 180 ต่อ 6 เสียง, นายภูมิ คะแนนเสียง 182 ต่อ 5 เสียง, นายมนัส ด้วยคะแนนเสียง 158 ต่อ 25 เสียง ทำให้บุคคลทั้งสามพ้นจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในทางราชการเป็นเวลา 5 ปี

6. คำร้องถอดถอนนายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยที่ประชุม สนช. ลงมติถอดถอนนายประชาด้วยคะแนน 182 ต่อ 7 เสียง ส่งผลให้นายประชาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรับตำแหน่งทางราชการ

7. คำร้องถอดถอน พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีแทรกแซงการทำงานก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม โดยที่ประชุมลงมติถอดถอน ด้วยคะแนน 159 เสียง ต่อ 27 เสียง ซึ่งทำให้ พล.อ.อ. สุกำพล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรับตำแหน่งทางราชการ

8. คำร้องถอดถอน นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา โดยที่ประชุมลงมติถอดถอนด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ต่อ 15 เสียง และคำร้องถอดถอน นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่นคะแนนเสียง 221 เสียง ต่อ 1 เสียง ทำให้บุคคลทั้ง 2 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ รับตำแหน่งราชการ

และล่าสุดกับการถอนถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 ถือเป็นการปิดฉากการใช้อำนาจถอดถอนในมือของวุฒิสภาตลอดกาล

เส้นทางถอดถอน จาก 2475 ถึง 2550

ที่ผ่านมาการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นกระบวนการที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งกระบวนการถอดถอนนี้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก หรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แต่มีลักษณะของการให้สมาชิกของสภาควบคุมกันเอง และจำกัดเฉพาะการถอดถอนสมาชิกสภาและฝ่ายบริหารเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ และกระบวนการถอดถอนจะกระทำผ่านสมาชิกของสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น

ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผนดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า “สภาผู้แทนราษฎร…มีอำนาจประชุมกันเพื่อถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาตรา 21 (5) บัญญัติว่า “สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำความเสื่อมเสียแก่สภา…”

มาตรา 41 บัญญัติว่า “สภาย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลงมติความไว้วางใจในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ”

โดยต่อมารัฐธรรมนูญในทุกฉบับก็จะบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้

จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้เพิ่มบัญญัติให้มีหมวด “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ขึ้นมา โดยเฉพาะ “การถอดถอนจากตำแหน่ง” เป็นมาตรการหนึ่งที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด สามารถเข้าชื่อร้องขอต่อวุฒิสภา เพื่อให้มีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ออกจากตำแหน่ง ครอบคลุมผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งหรือข้าราชการระดับสูง

นอกจากนี้ ยังบัญญัติเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อร้องขอและมีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้พ้นจากตำแหน่งได้

โดยบทบัญญัติเหล่านี้ได้ถูกนำมาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ให้อำนาจถอดถอนกับวุฒิสภา

หมายเหตุ: แก้ไขครั้งสุดท้าย 30 มีนาคม 2560