ThaiPublica > เกาะกระแส > สนช.นัด 23 เม.ย. แถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน “บุญทรง-ภูมิ-มนัส” ปมขายข้าว G to G – ไม่เพิ่มพยาน 9 รายการ

สนช.นัด 23 เม.ย. แถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน “บุญทรง-ภูมิ-มนัส” ปมขายข้าว G to G – ไม่เพิ่มพยาน 9 รายการ

2 เมษายน 2015


ที่ประชุม สนช.นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน “บุญทรง-ภูมิ-มนัส” จากกรณีฮั้วประมูลระบายข้าว G to G เป็นวันที่ 23 เม.ย.นี้ – มีมติไม่เพิ่มพยาน 9 รายการตามที่อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศร้องขอ

boonsong2
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9570000006527

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 6 ฐานร่วมกันกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกฎหมาย ป.ป.ช. กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของจีน 2 แห่ง เข้าทำสัญญาระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยไม่ต้องประมูลแข่งกับเอกชนรายอื่น ก่อนกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา และนัดแถลงคัดค้านคดีของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน เป็นวันที่ 23 เมษายน 2558 เวลา 10.00 น. โดยให้สมาชิก สนช.ยื่นคำถามต่อคู่กรณีได้จนถึงวันที่ 22 เมษายน 2558

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช.มีมติไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐาน จำนวน 9 รายการ ตามที่นายมนัสร้องขอ ประกอบด้วย 1.เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล 2.พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2594 มาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 3.พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 มาตรา 107 (2) 4. พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2554

5.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 65 6.หนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 15 ธันวาคม 2553 เรื่องขอข้อมูลการระบายข้าวเพื่อประกอบข้อเท็จจริงในการชี้แจงต่อคณะกรรมการป.ป.ช.

7.หนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เรื่องความประสงค์ในการสั่งซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย 8.หนังสือของบริษัทกวนดง ไอเอ็มพีแอนด์เอ็กสปอร์ต (อีเอฟเอฟอี) วันที่ 9 เมษายน 2553 เรื่องเสนอราคาโครงการซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และ 9.หนังสือบริษัทกวนดง ฯ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่องความประสงค์ในการสั่งซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญา ที่นายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส กับพวก รวม 21 คน ถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วและกฎหมาย ป.ป.ช. จากกรณีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และเรียกค่าปรับอีกกว่า 35,000 ล้านบาท องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาฯ ได้นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 20 เมษายน 2558 เวลา 10.30 น.

เส้นทางคดี G to G

สำหรับคดีทุจริตการขายข้าวแบบ G to G เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.พิษณุโลก ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการทุจริตของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือการขายข้าวแบบจีทูจีระหว่างไทย-จีน ที่ นพ.วรงค์เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยอ้างว่ามีหลักฐานเส้นทางการชำระเงินค่าข้าวหลายพันล้านบาทจากบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp.&exp. Corp. หรือ GSSG และ บริษัท Hainan grain and oil industrial trading company ว่าไม่ได้มาจากรัฐบาลจีน แต่มาจากบุคคลใกล้ชิดกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด

ต่อมา วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น กับพวก รวม 15 ราย มีการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำอย่างต่อเนื่อง ก่อนพบว่าพยานหลักฐานที่อ้างว่ามีการขายข้าวแบบ G to G ไทย-จีน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วย ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขยายการไต่สวนไปยังบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่ม

วันที่ 16 มกราคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง ข้าราชการ และเอกชน รวม 15 ราย

จนกระทั่งในวันที่ 20 มกราคม 2558 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7:0 ชี้มูลความผิดนายบุญทรงและพวก รวม 21 ราย กรณีทุจริตการขายข้าวแบบ G to G ทั้งทางวินัย อาญา และถอดถอน

วันที่ 19 มีนาคม 2558 คณะทำงาน อสส.ได้นำสำนวนคดีทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจี ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีนายบุญทรงกับพวก รวม 21 คน เป็นจำเลย ก่อนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะมีมติเลือกผู้พิพากษา 9 คนมาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ พร้อมกับนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 20 เมษายน 2558

ส่วนที่ประชุม สนช.ได้นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายบุญทรงกับพวก รวม 3 คน ในวันที่ 23 เมษายน 2558.