ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > FDI กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (จบ)

FDI กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (จบ)

29 สิงหาคม 2017


ในยุคทศวรรษ 1970 และ 1980 ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ที่เริ่มมีการตระหนักถึงกันมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการริเริ่มแนวคิดและหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ในทศวรรษต่อมา หลักการนี้ได้นำมาประยุกต์ใช้ในทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (The UN 2016 Millennium Development Goals) ได้กำหนดหลักการกว้างๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า

  • ขจัดความยากจนและความหิวโหย
  • การมีสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนทุกวัย
  • การศึกษาที่เท่าเทียม
  • ความเท่าเทียมทางเพศ
  • สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และพัฒนานวัตกรรม

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ได้สิ้นสุดไปในปี 2558 และองค์การสหประชาชาติปได้เผยแพร่ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนา โดยเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ปัจจุบันมีตลาดหลักทรัพย์เกือบ 60 แห่งทั่วโลก รวมกันมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาดหุ้น จากบริษัทจดทะเบียนราว 30,000 บริษัท ที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เข้าร่วมใน Sustainable Stock Exchanges Initiative (SSE) เพื่อการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน

FDI กับความยั่งยืนในหลากมุมมอง

WAVTEQ บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศร่วมกับ Investment Consulting Associates บริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อดึงดูดการลงทุน FDI ที่ยั่งยืน ไว้ในรายงาน Sustainable Development and FDI: Towards a Practical Framework to Implement the Principle of Sustainable Development into Investment Promotion Strategy

รายงานฉบับนี้เสนอแนะกรอบในการปฏิบัติ โดยย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 ข้อหลักที่กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศ รวมไปถึงสุขภาพและความเป็นที่ดี ได้แก่ ข้อแรก ภาวะแวดล้อมเป็นพิษ ที่ส่งผลต่อทั้งดิน น้ำ อากาศ ซึ่งมีทางอ้อมต่อภาวะเรือนกระจกและชั้นบรรยากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อน ดังจะเห็นได้จากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปะการังตาย นอกจากนี้ ยังมีผลต่อการกระจายของโรคติดต่อ

การใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ในแหล่งเกษตรกรรม มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขณะที่การขยายของเมืองนำไปสู่การปรับหน้าดิน ความหนาแน่นของจราจรและประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีผลกระทบแม้แต่ประเทศที่มีความมั่งคั่งที่สุด

ข้อสองผลต่อการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมทั้งด้านการทำนาทำไร การทำเหมือง การใช้น้ำและการใช้ไม้และน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การทำลายป่า การลดลงของแร่ต่างๆ รวมไปถึงวัตถุดิบจากธรรมชาติเกิดผลกระทบต่อภาวะแวดล้อม การกัดเซาะ การทำลายถิ่นที่อยู่ในวงกว้างไปทั่วโลก และยังซ้ำเติมจากการเกษตรกรรมที่ใช้ปุ๋ย การขยายตัวของเมือง

รายงานฉบับนี้ ได้นำเสนอบทบาทของ FDI กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติของนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และรัฐบาล โดยในมิติของนักเศรษฐศาสตร์นั้น การลงทุน FDI สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่าจะต้องมีการลงทุนถึง 3.5-5.0 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี 2015 มูลค่า FDI ทั้งโลกรวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกระแสการลงทุน FDI จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs

  • นักเศรษฐศาสตร์
  • นักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นพ้องว่า FDI ได้ผันตัวออกจากการเป็นเงินทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศอุตสาหกรรมเข้าลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นช่องทางหลักในการถ่ายทอด เทคโนโลยีและ Know-how ระหว่างประเทศทั่วโลก ที่ส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพและมีผลให้เศรษฐกิจเติบโต

    FDI จำเป็นที่ต้องมีความยั่งยืนในตัวเองเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ห่วงโซ่คุณค่า (Value chains) มักจะเป็นมิติที่มองข้ามใน FDI ที่ยั่งยืน ไม่ว่าโครงการ FDI ไหนก็ตาม ยั่งยืนตรงแหล่งที่มาหรือผู้จัดจ่าย (suppliers) ของวัตถุดิบขั้นกลางและบริการ

  • นักลงทุน
  • ธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นรวมไปถึงเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม จะช่วยเพิ่มรายได้ มูลค่ากิจการและการจำกัดความเสี่ยง

    สำหรับ การพัฒนาที่ยั่งยืนกับ FDI ในมิติของนักลงทุนนั้น แนวทาง (Guidelines) สำหรับบรรษัทข้ามชาติและแนวทางในการตรวจสอบสถานะการดำเนินการ ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Organisation for Economic Co-operation and Developemnt: OECD) ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความรับผิดชอบของธุรกิจไว้ด้วย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศที่กรอบนโยบายยังไม่ชัดเจน

    ขณะที่หลายบริษัทกำลังมุ่งการลงทุนที่ยั่งยืน แต่กระบวนการเลือกทำเลที่ตั้งโครงการยังไม่ใช้ความยั่งยืนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ธุรกิจทั่วไปคำนึงถึงความยั่งยืนในแง่การเป็นวิธีในการรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจผ่านการจัดการกับภาวะวิกฤติและการบริหารความเสี่ยง รวมไปถึงการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธุรกิจมักจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจจะส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และต้องการที่จะเข้าถึงวัตถุดิบ จากแหล่งที่ไว้วางใจได้ในระยะยาว ซึ่งหลายปัจจัยเหล่านี้ถูกกำหนดโดยที่ตั้ง การจูงใจแน่นอนว่าต่างกัน แต่กระนั้นก็มีการตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะแวดล้อมเป็นพิษ การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของสังคมและเศรษฐกิจไปในวิถีที่ธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในกระบวนการเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ แรงงานเองก็เริ่มตระหนักถึงแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน การลงทุนที่ยั่งยืนมีส่วนสนับสนุนปัจจัยธุรกิจโดยตรง เช่น การใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐาน การเก็บภาษี รัฐบาลกับการประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงอาจจะมีผลต่อการมีเสถียรภาพทางการเมือง

  • รัฐบาล
  • FDI มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาที่ยั่งยืนประสบความสำเร็จ แต่การที่จะทำให้ FDI มีความยั่งยืนนั้น กรอบนโยบายนับเป็นสิ่งจำเป็น หลักปฏิบัติของภาคธุรกิจ มาตรฐาน ข้อตกลงการลงทุน ข้อปฏิบัติด้วยความสมัครใจและข้อพึงปฎิบัติของธุรกิจ มีให้เลือกใช้เป็นแบบอย่างทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

    กรอบนโยบายสำหรับการลงทุนที่จัดทำโดย OECD ช่วยให้รัฐบาลสามารถวางแนวทางในการชักจูงและสนับสนุนการลงทุน FDI ที่ยั่งยืนได้ องค์กรต่างๆ เช่น Private Investment Corporation ในสหรัฐฯ และ Investment and Development Corporation ในเยอรมนี ได้กำหนดมาตรฐานความยั่งยืนให้กับบริษัทที่องค์กรให้การสนับสนุน ข้อตกลงทางการค้าบางกลุ่มได้ครอบคลุมหลักบางประการไว้ เช่น การสร้างความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่น การคุ้มครองสิทธิของแรงงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่สนับสนุนความยั่งยืน

    กรอบนโยบายของรัฐบาล

    แนวทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จัดทำในระดับประเทศมักเป็นนโยบายที่ไม่มองไปข้างหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับระดับมาตรฐานสากล มีเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น ฮอลแลนด์ และเยอรมนี ที่มีนโยบายที่ครอบคลุมการลงทุน FDI ที่ยั่งยืน หลายประเทศมักยึดเพียงแง่มุมเดียวของหลักเกณฑ์ความยั่งยืน ประเทศกำลังพัฒนามักไม่มีการจัดทำแนวทางไว้ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่มีกฎเกณฑ์

    กรอบนโยบายสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศควรที่จะ มี

      1. สนับสนุนทางการเงินแก่วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก
      2. ใช้ระบบภาษีและสิทธิประโยชน์ทางการเงิน อำนาจซื้อของรัฐบาล รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินอื่น เพื่อกระตุ้นเงินทุนเอกชนให้ลงทุนในพลังงานทดแทน เทคโนโลยีและธุรกิจที่ยั่งยืน
      3. เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ระบบบำบัดของเสีย ระบบกรองน้ำ และระบบกำจัดของเสีย
      4. กำกับการใช้ที่ดินและพฤติกรรมเอกชนเพื่อจำกัดการทำลายระบบนิเวศ
      5. สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญๆ ในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น รวมไปถึงภาคเอกชน เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านมีการจัดการที่ราบรื่น
      6. ประเมินความคืบหน้าของความยั่งยืนด้วยการพัฒนาและยึดระบบการวัดผลที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้ความยั่งยืนรวมเข้าไปในการบริหารเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมๆ ไปกับการวางนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ
      7. ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดให้กับประเทศอื่นๆ

    กรอบการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการลงทุน FDI

    แม้กรอบนโยบายได้มีการกำหนดไว้แล้ว แต่หน่วยงานด้านส่งเสริมการลงทุน Investment Promotion Agencies (IPAs) และองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจ Economic Development Organisations (EDOs) น้อยรายที่นำเป้าหมายความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหรือกิจกรรมการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจาก IPAs ทำหน้าที่ EDOs ขาดโครงสร้างที่จะประเมินหรือขับเคลื่อนนโยบายอย่างอิสระจากแนวทางของประเทศที่วางไว้ รวมทั้ง IPAs และ EDOs ต้องแข่งขันกันหาโครงการลงทุนและสร้างงาน นอกจากนี้ยังเป็นผลจากทัศนคติ มุมมองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต่างกัน และไม่สามารถปล่อยให้นักลงทุนหลุดมือ หรือพลาดเป้าหมายการดึงเงินทุนที่วางไว้ได้

    The World Association of Investment Promotion Agencies ร่วมกับ Columbia Center ได้ทำการสอบถามสมาชิก IPAs ทั่วโลกเกี่ยวกับการลงทุนที่ยั่งยืน พบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจคือประเด็นที่ IPAs ให้ความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ขณะที่มิติทางสังคมและธรรมาภิบาลเป็นหัวข้อที่ IPAs ให้ความสำคัญน้อยมากในกลยุทธ์การลงทุน

    รายงาน Sustainable Development and FDI: Towards a Practical Framework to Implement the Principle of Sustainable Development into Investment Promotion Strategy ที่จัดทำโดย Dr.Henry Loewendahl, Group CEO แห่ง WAVTEQ, Christian Kollinsky, Sustainable Development Advisor ของWAVTEQ และ Dr.Douglas van den Berghe (PhD) Group CEO แห่ง Investment Consulting Associates (ICA) ได้มีข้อเสนอแนะต่อ EDOs และ IPAs ไว้ดังนี้

    1. การลงทุนที่ยั่งยืนควรเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในทุกกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุน

    เป้าหมายความยั่งยืนไม่ควรเป็นเพียงการแต่งหน้าร้านหรือเพียงแค่ทำเครื่องหมายถูกตามเช็คลิสต์ แต่ควรที่จะเป็นการปฏิบัติที่เห็นได้อย่างชัดเจนในทุกขั้นตอนของการส่งเสริมการลงทุนและใส่ไว้ในเป้าหมาย FDI รวมไปถึงกิจกรรมหลังการส่งเสริมการลงทุนและกิจกรรมที่สนับสนุนนโยบาย

    ส่วนกลยุทธ์ดึงภาคธุรกิจให้เข้ามาลงทุนนั้น ควรนำการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใส่ไว้ด้วย โดยผ่าน

    • การกำหนดประเภทธุรกิจที่ FDI ที่จะมีผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โครงการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และธุรกิจเกษตรอินทรีย์
    • กำหนดประเภทธุรกิจที่ FDI สามารถมีบทบาทโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • กำหนดรูปแบบของโครงการสำหรับกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ที่จะจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะแวดล้อมเป็นพิษ การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตรกรรมที่ใช้ปุ๋ย และการขยายตัวของเมือง

    การกำหนดนักลงทุนเป้าหมายและกิจกรรมทางการตลาดที่ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ติดต่อทางธุรกิจ ควรมุ่งเน้นบริษัทที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตที่ยั่งยืนได้ บริษัทเป้าหมายควรมีทั้งบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กที่มีทำธุรกิจเฉพาะด้าน ในกระบวนการนี้อาจจะรวมองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (non-profit organisations) หรือ สมาคม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

    IPAs and EDOs จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงรูปแบบบริการที่จะอำนวยความสะดวกต่อ FDI ที่จะสามารถนำเสนอแก่บริษัทขนาดเล็ก หรือ non-profit organisations ที่ไม่ได้ลงทุนด้วยหุ้นเป็นหลัก แต่ลงทุนด้วยวิธีอื่น เช่น ข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี

    เพื่อให้ได้ประโยชน์สุงสุด การที่จะทำให้แผนงาน FDI ที่ยั่งยืนใช้ได้จริงจำเป็นต้องมีการการกำหนดบริษัทที่จะมีส่วนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและกำหนดให้บริษัทเหล่านี้ลงทุนในทำเลที่ตั้ง

    2. นโยบายการให้สิทธิประโยชน์ควรสอดคล้องกับการลงทุนที่ยั่งยืน

    เมื่อกำหนดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือเป้าหมายสูงสุดของ FDI การดึงดูดธุรกิจ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ เครื่องมือเดิมๆ ที่จูงใจนักลงทุน ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน

    สิทธิประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การคืนภาษี การให้สิทธิ โปรแกรมการอบรม กองทุนเพื่อการลงทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิในโครงสร้างพื้นฐาน มีการใช้มานานนับหลายทศวรรษ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจการลงทุนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

    สิทธิประโยชน์มักถูกวิจารณ์ จากสาเหตุที่มีการใช้มากเกินไป หรือบางครั้งใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะใช้ผ่านเครื่องมือแบบใด สิทธิประโยชน์มีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม การคืนภาษีและการให้สิทธิสามารถมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนที่ยั่งยืน

    สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่มักจะกำหนดขึ้นเพื่อเป้าหมายการดึงเงินลงทุนและการสร้างงาน บางประเทศประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แทนที่จะใช้เพื่อดึงการลงทุนจากภูมิภาคที่มีการแข่งขันหรือภูมิภาคที่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ รายการสิทธิประโยชน์เหล่านี้ถูกกำหนดให้สนับสนุนการลงทุนในพลังงาน การอนุรักษ์ การผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน หรือแม้แต่การส่งเสริมให้แรงงานใช้บริการขนส่งสาธารณะ

    กิจกรรมการให้สิทธิประโยชน์ทั่วไปขณะนี้มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียนและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในแง่มุมอื่น โดยที่สามารถวัดผลได้ง่าย ได้แก่

    • การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมภาวะมลพิษ
    • ลงทุนในอาคารประหยัดพลังงานหรือใช้วัสดุรีไซเคิล
    • ผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล
    • ลงทุนในระบบคัดแยกประเภทของเสียเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น
    • มีส่วนร่วมในกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
    • ประยุกต์ระบบการผลิตหรือกระบวนการในการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังลม ชีวภาพ และพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความร้อนใต้ผิวโลก
    • ผลิตเชื้อเพลิงทางเลือก สำหรับรถยนต์ หรือใช้พลังงานทางเลือกสำหรับฝูงรถของธุรกิจ

    3. การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควรสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนที่ยั่งยืน

    รัฐบาลหลายๆ ประเทศใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเครื่องมือในการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุน อันจะช่วยขจัดความยากจนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่มั่นคง เขตเศรษฐกิจพิเศษเองก็ประสบความสำเร็จในการดึงบรรษัทข้ามชาติที่กำลังพิจารณาโยกการลงทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งธุรกิจมีความได้เปรียบมากกว่า เช่น การเข้าถึงตลาด แพกเกจสิทธิประโยชน์ทั่วไป และแรงงานราคาถูก

    อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในหลายด้านส่งผลกระทบต่อจุดกำเนิดของความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นศตวรรษนี้ รวมไปถึงการเกิดขึ้นของข้อตกลงทางการค้าและข้อตกลงที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในระดับโลก มีผลต่อข้อได้เปรียบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นได้เพิ่มแรงกดดันให้กับต้นทุนค่าแรง และมาตรฐานการทำงานในบางเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการชะงักงันของ FDI ทำให้เกิดภาวะ Oversupply ของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

    เขตเศรษฐกิจพิเศษต้องเลิกใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีและต้นทุนที่ต่ำ รวมทั้งการลดมาตรฐานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในทางกลับกัน ควรที่ใช้ผลประโยชน์เชิงพลวัตให้มากที่สุด เช่น ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ทักษะในการพัฒนา การสร้างผู้ประกอบการ การบรรเทาความยากจนและการปฏิรูปนโยบาย ด้วยการปรับไปสู่การสร้างขีดความสามารถด้วยทางเลือกและปัจจัยเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ

    การปรับเปลี่ยนดังกล่าวควรให้สอดคล้องกับ นโยบายการลงทุนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันเสริมความเข้มแข็งและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อบรรยากาศการลงทุน มาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษควรประกอบด้วย

    • การสร้างมาตรฐานชั่วโมงการทำงานและผลประโยชน์
    • ให้สิทธิสหภาพเข้ามาดำเนินงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
    • ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน
    • ลดภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
    • ลดของเสีย เช่น การใช้การรีไซเคิล
    • ปกป้องสิ่งแวดล้อมในการทิ้งของเสีย เช่น ของเสียที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
    • จัดทำกติกาการรักษาความปลอดภัยในการทำงานและมีระบบติดตาม
    • จัดทำมาตรฐานและบังคับใช้การต่อต้านคอร์รัปชัน

    เขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดรับกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับโลก และมีส่วนร่วมในการผลัดกันให้นโยบายสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น

    หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก www.fdiintelligence.com