ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > FDI กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (1)

FDI กับการพัฒนาที่ยั่งยืน (1)

29 สิงหาคม 2017


การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก เนื่องจากมีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรโลก และทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ จึงมีการผลักดันนโยบายหลายด้านให้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในปี 2016 กระแส FDI ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 1.670 ล้านล้านเหรียญและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยง

ในขณะเดียวกัน FDI มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก การลงทุนบางด้านก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาวะแวดล้อม มีความเสื่อมโทรม แต่ความจำเป็นและความต้องการ FDI ยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายประเทศในโลกนี้กำลังต้องการเงินทุนเพื่อการพัฒนา แต่ไม่ต้องการการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืนจึงเกิดขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม สาธารณสมบัติ และสิ่งแวดล้อม

การลงทุน FDI มีผลต่อประเทศที่รับการลงทุน FDI และของโลก การส่งเสริมการลงทุน FDI จึงควรดำเนินการควบคู่ไปกับกรอบกติกาการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อความยั่งยืนของโลกในระยะยาว

ในตอนที่ 1 เป็นการให้ภาพรวมการลงทุน FDI ทั่วโลก โดยรายงาน The fDi report 2017ที่จัดทำโดย fDi Intelligence เปิดเผยว่า ในปี 2016 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งโลกได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วรวมมูลค่า 776.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีโครงการลงทุนรวม 12,644 โครงการ ก่อให้เกิดการสร้างงานรวม 2,018,291 ตำแหน่ง

The fDi report 2017 อ้างอิงประมาณการณ์ขององค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: Unctad) ว่า กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)ในปี 2016 ทั่วโลกลดลง 13% เป็น 1.670 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย FDI ในยุโรปลดลงมากถึง 26% ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนาที่ลดลง 20%

FDI ที่เป็นการลงทุนใหม่ (Greenfield FDI) ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่า 6% หรือมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 776.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5% เป็น 2.02 ล้านตำแหน่ง แม้จำนวนโครงการ FDI ลดลง 3% เป็น 12,644 โครงการ

ภูมิทัศน์การลงทุนในปี 2016 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เพราะ FDI ให้ความสนใจกับประเทศ หรือ ภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนประเทศหรือภูมิภาคที่เศรษฐกิจชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนนั้น FDI กลับลดลง เห็นได้ชัดจากสเปนที่โครงการลงทุนโดยตรงเพิ่มขึ้น 28% เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะที่อินเดียครองอันดับ 1 ของประเทศเป้าหมายที่ดึง Greenfield FDI ได้มากสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 นำหน้าจีนและสหรัฐอเมริกา

ปี 2016 นับเป็นปีที่สองที่อินเดียครองอันดับหนึ่งของโลกและครองอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในฐานะที่เป็นประเทศที่เงินลงทุน FDI ไหลเข้ามากที่สุดรวมมูลค่าเงินที่ลงทุนไป 62.3 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 2% ขณะที่โครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 16% เป็น 809 โครงการ แต่หากวัดจากจำนวนโครงการ FDI แล้วสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 1,571 โครงการ

ที่มาภาพ : The fDi report 2017 www.fdiintelligence.com

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของเงินลงทุน FDI ในปี 2016 ด้วยจำนวนโครงการลงทุน 3,921 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 348.5 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 45% ของเงินลงทุน FDI ทั่วโลก ขณะที่ยุโรปตะวันตกเป็นภูมิภาคต้นกำเนิดของเงินลงทุน FDI แม้จะลดลงจากปีก่อนหน้า 3% คิดเป็นสัดส่วน 44 % ของโครงการลงทุน FDI ทั่วโลก และบริษัทที่มีฐานธุรกิจในยุโรปตะวันตก มีการลงทุนในต่างประเทศถึง 219 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จีนแซงสหรัฐฯ มาคว้าอันดับสองของประเทศที่ดึง FDI แม้โครงการลงทุน FDI ลดลง 10% แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3% เป็น 59.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐฯ มีเงินลงทุนจาก FDI มูลค่า 48 พันล้านเหรียญ

ที่มาภาพ : The fDi report 2017 www.fdi intelligence.com

เอเชียแปซิฟิกเงินลงทุน 348 พันล้านเหรียญ

FDI ที่ไหลเข้าสู่เอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้น 8% ในปี 2016 รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 348.5 พันล้านเหรียญ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 1% และมีการสร้างงานเพิ่มขึ้น 6%

อินเดีย จีน และคาซัคสถาน เป็น 3 ประเทศของเอเชียแปซิฟิก ที่ดึงการลงทุน FDI ได้มากที่สุด โดยการลงทุน FDI ใน 3 ประเทศนี้รวมกันมีสัดส่วนถึง 46% ของ FDI ที่ไหลเข้าทั้งหมด

เมื่อวัดจากจำนวนโครงการเวียดนามครองอันดับที่ 5 ของเอเชียแปซิฟิก ที่ดึงดูด FDI เพราะโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 18% ส่วนมาเลเซียครองอันดับ 6 จากโครงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 13% นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุน FDI ของทั้งสองประเทศนี้ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเวียดนามดึงเงินลงทุนได้ 36.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซียดึงเงินลงทุนได้ 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทางด้านฮ่องกง หลังจากที่หลุดโผไปในปี 2015 ในปี 2016 นี้กลับเข้ามาติดอยู่ใน 10 อันดับแรก เพราะมีจำนวนโครงการลงทุนถึง 165 โครงการ ส่วนญี่ปุ่นดึงโครงการลงทุน FDI เพิ่มขึ้นได้ 13%

ปี 2016 นี้ คาซัคสถานติด 1 ใน 10 เป็นครั้งแรกโดยเม็ดเงินลงทุน FDI เพิ่มขึ้นถึง 591% ที่เข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าระดับหลายพันล้านเหรียญขึ้นไปในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ยุโรปโครงการลงทุนลด 9%

FDI ที่ไหลเข้ายุโรปลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยโครงการลงทุนลดลง 9% เป็น 4,712 โครงการ และเม็ดเงินลงทุนลดลง 12% อย่างไรก็ตาม ยังสร้างงานเพิ่มขึ้นได้ 13%

สำหรับ FDI ที่เข้าตลาดเกิดใหม่ของยุโรปเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนโครงการและเม็ดเงิน โดยโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 13% เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 4% ส่วน FDI ที่เข้ายุโรปตะวันตกลดลงทั้งโครงการและเม็ดเงินลงทุน โครงการลงทุนลดจำนวนลง 16% เม็ดเงินลงทุนลดลง 18%

ส่วน FDI ในประเทศอื่นๆในยุโรปนั้น โดยอังกฤษเงินลงทุนใน Greenfield FDI ลดลง 42% และการสร้างงานลดลง 9% เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแยกตัวของจากยูโรโซน (Brexit) ทำให้นักลงทุนเลื่อนการลงทุนออกไปหรือพิจารณาหาแหล่งลงทุนอื่น

สเปนมีโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 28% เป็น 324 โครงการ ฝรั่งเศสมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 54% เป็น 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงส่งผลให้ฝรั่งเศสขึ้นอันดับสองจากอันดับสี่ในปีก่อน ในฐานะที่มีเงินลงทุนไหลเข้า เม็ดเงินลงทุน FDI ที่ไหลเข้าสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 46% เป็น 3 พันล้านเหรียญ ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 57%

ปี 2016 เยอรมนีแซงหน้าอังกฤษในฐานะที่เป็นนักลงทุนขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเงินลงทุนที่ออกจากเยอรมนีมีสัดส่วน 21% ของเงินลงทุนที่ออกจากยุโรป

อเมริกาเหนือการสร้างงานหาย 11%

การลงทุน FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาคอเมริกาเหนือลดลง 19% ในปี 2016 รวมมูลค่าลงทุน 56.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงส่งผลให้การสร้างงานลดลง 11% กระนั้น โครงการลงทุนกลับเพิ่มขึ้น 4% เป็น 1,813 โครงการ

เงินลงทุนที่ไหลเข้าสหรัฐอเมริกาลดลง 22% ส่งผลให้การสร้างงานลดลง 15% อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 3% ในภูมิภาคนี้ สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่ดึงการลงทุน FDI ได้มากที่สุด โดยโครงการลงทุนไหลไปสหรัฐอเมริกาในสัดส่วนถึง 87% ของ FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาคทั้งหมด และยังดึงเงินลงทุนได้ในสัดส่วนถึง 85% ของเงินลงทุน FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาคทั้งหมด แม้จะลดลงจาก 89% ในปีก่อน

แคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กเป็นเมืองที่ FDI แห่เข้าไปลงทุน จำนวนโครงการและเม็ดเงินลงทุนจึงเพิ่มขึ้น โดยเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นถึง 50% เป็น 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น 7% เป็น 246 โครงการ

รัฐมิชิแกนดึงเงินลงทุน FDI ได้ 2 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 22% จากปีที่แล้ว โครงการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 41 เป็น 76 จึงส่งผลให้มิชิแกนติด 1 ใน 10 แรกของรัฐเป้าหมายของการลงทุน FDI

ทางด้าน FDI ที่ไหลเข้า แคนาดามีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจาก 217 ในปีที่แล้วเป็น 242 ในปี 2016 และดึงเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น 4% ทำให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้น 22% โดยเมืองออนแทรีโอดึง FDI ไปได้ถึง 128 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และยังเป็นเมืองเป้าหมายหลักของการลงทุน FDI ด้วยส่วนแบ่งโครงการลงทุนไป 7% ของโครงการที่เข้าอเมริกาเหนือทั้งหมด

ลาตินอเมริกาโครงการลงทุนเพิ่ม 5%

ภูมิภาคลาตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียนได้รับเม็ดเงินลงทุน FDI เพิ่มขึ้น 2% รวมมูลค่า 71.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นด้วย 4%

ประเทศเป้าหมายของ FDI ที่ส่งเงินลงทุนเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา ซึ่งดึงเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 26.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ 12.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ส่งผลให้ทั้ง 3 ประเทศมีส่วนแบ่งใน FDI ร่วม 70% ของ FDI ที่ไหลเข้าภูมิภาค

แต่ FDI ที่ไหลเข้าบราซิลลดลงทั้งจำนวนโครงการ เม็ดเงินลงทุน ส่งผลให้การสร้างงานลดลงตามไปด้วย โดยโครงการลงทุนในบราซิลลดลง 33% เม็ดเงินลงทุนลดลง 28% การสร้างงานลดลง 15% ซึ่งยังทำให้ส่วนแบ่งใน FDI ของบราซิลลดลงจาก 24% เป็น 17% ของ FDI ที่ไหลเข้าลาตินอเมริกาทั้งหมด

มูลค่าการลงทุน FDI ในอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นถึง 279% เป็น 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 123% ทางด้านชิลีเงินลงทุน FDI ลดลง 37% เป็น 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนโครงการลดลง 20% เป็น 53 โครงการ

แอฟริกากินส่วนแบ่ง 64%

โครงการลงทุน FDI ในตะวันออกกลางและแอฟริกาลดลง 11% เป็น 1,131 โครงการ และการสร้างงานลดลง 3% แม้เม็ดเงินลงทุนกลับเพิ่มขึ้น 60% เป็น 142.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่แอฟริกาคว้าส่วนแบ่งการลงทุนของ FDI ได้มากกว่าตะวันออกกลาง โดยมีสัดส่วนของ FDI ถึง 64%

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังรักษาตำแหน่งประเทศเป้าหมายของการลงทุน FDI และประเทศต้นทางของการลงทุน FDI ไว้ได้ในปี 2016 ด้วยจำนวนโครงการลงทุน โดยมีส่วนแบ่งในโครงการลงทุน FDI ที่ไหลเข้าถึง 22% และมีส่วนแบ่งในโครงการลงทุนออกนอกประเทศถึง 32%

อิหร่านติด 1 ใน 10 อันดับแรกของการลงทุน FDI เป็นครั้งแรกด้วยจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้น 556% เป็น 59 โครงการ และครองอันดับ 2 ในแง่เม็ดเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าสูงสุดเป็นผลจากโครงการลงทุนขนาด 1 พันล้านเหรียญจำนวน 2 โครงการ

อียิปต์รักษาตำแหน่งประเทศเป้าหมายของการลงทุน FDI ไว้ได้ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมการลงทุนขนาด 20 พันล้านที่ประกาศไปของบริษัท China Fortune Land Development ส่วนแอลจีเรียก็เข้าสู่ 10 อันดับแรกของประเทศที่มี FDI ไหลเข้าสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 ด้วยการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศจีนเช่นกัน

อสังหาริมทรัพย์ดึง FDI มากสุด

ภาคธุรกิจที่ดึงดูดการลงทุน FDI ได้มากที่สุดในปี 2016 คือ อสังหาริมทรัพย์ รวมมูลค่าการลงทุน FDI ถึง 157.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 58%

หากวัดจากจำนวนโครงการ ภาคธุรกิจที่ดึงการลงทุน FDI ได้มาก คือ กลุ่มซอฟต์แวร์และบริการไอที กลุ่มบริการธุรกิจ และกลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ทั้ง 3 กลุ่มมีส่วนแบ่งในการลงทุน FDI ทั่วโลกรวมกัน 34% โดยที่กลุ่มซอฟต์แวร์และบริการไอทียังเป็นกลุ่มธุรกิจที่โครงการลงทุนไหลเข้ามากที่สุดแม้จะลดลง 3% จากปีก่อน

กลุ่มสื่อสารติดอันดับ 5 ที่ดึงโครงการลงทุน FDI เข้ามามากที่สุด และเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น โดยมีโครงการลงทุนรวม 759 โครงการเพิ่มขึ้น 10% กลุ่มเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์อุตสาหกรรมเบียดกลุ่มบริการทางการเงินขึ้นมาติดอันดับ 3 แทนในปีนี้ด้วยโครงการลงทุน 818 โครงการแม้จะลดลง 13%

กลุ่มบริการทางการเงินตกจากอันดับ 3 เพราะโครงการลงทุน FDI ลดลงส่งผลให้ส่วนแบ่งใน FDI ทั่วโลกลดลงตาม

กลุ่มธุรกิจถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ตกมาอันดับ 2 ในปี 2016 จากอันดับ 1 ในปี 2015 กลุ่มที่ดึงเม็ดเงินลงทุน FDI สูงสุด โดยเม็ดเงินลงทุน FDI ปี 2016 มีมูลค่ารวม 121 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จำนวนโครงการจะเพิ่มขึ้น 10%

กลุ่มพลังงานทางเลือกมีโครงการลงทุน FDI เพิ่มขึ้น 7% แต่มูลค่าการลงทุนกลับลดลง 9% เป็น 77.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2017 ประเมิน FDI โต 10%

รายงานประเมินว่า FDI ปี 2017 จะสูงขึ้น 10% จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่เป็นการเติบโตแบบสมดุลมากขึ้น ปัจจัยที่จะมีผลต่อ FDI ปี 2017 ได้แก่

    1. การเติบโตของเศรษฐกิจโลก FDI มีความเชื่อมโยงกับ GDP และการเติบโตทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตรา 3.4% ในปี 2017 และจะเติบโตในอัตรา 3.6% ในปี 2018 ซึ่งก็จะมีผลต่อ FDI ให้เพิ่มขึ้น

    2. การเมืองในสหรัฐอเมริกา การบริหารงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และผลที่มีต่อข้อตกลงทางการค้า นโยบายด้านภาษี นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ ข้อจำกัดของการลงทุน FDI และด้านความมั่นคงของโลก จะมีผลกระทบต่อ FDI ของโลก และต่อประเทศที่ FDI จะไหลไปและประเทศที่ FDI จะไหลออกพอสมควรในปี 2017

    3. นโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ ในสหรัฐฯ หลังจากที่คงดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์มาเกือบ 10 ปี อาจจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของเงินทุนเคลื่อนย้ายไปสหรัฐฯ และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อ FDI ของโลก

    4. ผลกระทบจาก Brexit ต่อ FDI จากการที่อังกฤษกำลังดำเนินการเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป คาดว่า FDI ที่จะเข้าอังกฤษจะลดลงในปี 2017 และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศสมาชิกอียูรายอื่น ซึ่งก็จะไม่มีผลต่อระดับ FDI ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากการเจรจา Brexit นำไปสู่การแตกหักทางการค้าระหว่างอังกฤษและอียู และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ระดับ FDI ของโลกจะได้รับผลกระทบในทางลบ

    5. การเลือกตั้งและนัยที่จะเกิดขึ้น ภาวะการเมืองในอิตาลี รวมทั้งการเลือกตั้งของฝรั่งเศสที่เพิ่งผ่านพ้นไป ส่วนเยอรมนีกำลังจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ อาจจะมีผลทางลบต่อ FDI

    6. นโยบาย FDI ของจีน การส่งสัญญานเกี่ยวกับการลงทุนนอกประเทศและการส่งเงินออกนอกประเทศ บ่งชี้ว่า จีนกำลังเริ่มที่จะเข้มงวดกับนโยบาย FDI อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนลดลงและส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุน FDI ทั่วโลกลดลงด้วย

หมายเหตุ: fDi Intelligence เป็นหน่วยงานวิจัยของ Financial Times ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยมีผลิตภัณฑ์บริการและเครื่องมือทางธุรกิจระดับโลกให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้องค์กร เช่น หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน บริษัทเอกชน ผู้ให้บริการ และสถาบันทางวิชาการ สามารถตัดสินใจบนฐานข้อมูล โดยเฉพาะการตัดสินใจด้านการลงทุนโดยตรงและกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง