ThaiPublica > คอลัมน์ > การลงทุนเอกชนของไทย (1) : 8 ข้อเท็จจริงการลงทุนไทย

การลงทุนเอกชนของไทย (1) : 8 ข้อเท็จจริงการลงทุนไทย

17 สิงหาคม 2017


บทความการลงทุนเอกชนของไทย โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ / กฤษฏิ์ ศรีปราชญ์ / จารีย์ ปิ่นทอง / ศิริกัญญา ตันสกุล/ รุจา อดิศรกาญจน์ / แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ / พิมพ์อร วัชรประภาพงศ์

ผู้เขียนจัดทำบทความชุดนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบข้อสักถามเรื่องการลงทุนไทยที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยตลอดช่วงปีที่ผ่านมาว่า ทำไมการลงทุนภาคเอกชนของไทยต่ำมานาน และเพื่อสร้างความเข้าใจเชิงนโยบาย ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน

อัตราดอกเบี้ยเกือบจะต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่ทำไมการลงทุนไม่โต

ประเทศไทยทุกวันนี้ หากดูไปแล้วก็มีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำ สภาพคล่องในธนาคารที่มีล้นเหลือเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อ ส่วนฐานะทางการเงินของธุรกิจเองก็แข็งแกร่ง มิหนำซ้ำภาครัฐยังเข็นมาตรการดึงดูดการลงทุนออกมาหลายโครงการ ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้วทำไมการลงทุนของเอกชนไทยจึงต่ำมานาน ออกอาการเหมือนคนป่วยซึมมานาน

ล่าสุดภาครัฐผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยแก้ปัญหาการลงทุนต่ำ แต่ก่อนจะลงมือแก้ปัญหานี้ การเริ่มทำความเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา น่าจะช่วยให้การออกแบบนโยบาย Thailand 4.0 ช่วยรักษาอาการซึมนานของการลงทุนได้ตรงจุดมากขึ้น

บทความชุดนี้จึงพยายามนำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนภาคเอกชนของไทย โดยแบ่งเป็น 3 บทความย่อย คือการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงทุนไทย หาสาเหตุที่แท้จริงของการลงทุนต่ำ รวมถึงพยายามวาดภาพหน้าตาการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต เพื่อตอบข้อสักถามเรื่องที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และสร้างความเข้าใจเชิงนโยบาย ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์โดยจะเริ่มด้วยบทความย่อยส่วนที่ 1 หัวข้อ 8 ข้อเท็จจริงการลงทุนไทย

การลงทุนไทยต่ำไม่ว่ามอง จากมุมไหน

1.ผ่านไป 20 ปีแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนแท้จริง1 ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตปี 1997 ขณะที่หลายประเทศสามารถฟื้นระดับการลงทุนขึ้นมาได้สูงกว่าในอดีตแล้ว อาทิ ระดับการลงทุนที่แท้จริงของเกาหลีใต้อยู่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤต 1.5 เท่า มาเลเซีย 1.8 เท่า อินโดนีเซีย 2.2 เท่า และฟิลิปปินส์ 2.5 เท่า ในขณะที่ไทยยังอยู่เพียง 0.9 เท่า (รูปที่ 1)

2. 2 ใน 3 ของการลงทุนในปี 2013 – 20152 เป็นเพียงการลงทุนเพื่อทดแทนค่าเสื่อม3 สะท้อนว่าธุรกิจลงทุนใหม่ไม่ทันกับการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรเก่า โดยค่าเสื่อมของสินทรัพย์ทุนในช่วงดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.9% ต่อปี สูงกว่าการสะสมทุนสุทธิ (Net capital stock) ที่เติบโต 2.1% ต่อปี (รูปที่ 2)

3.กว่า 1 ใน 3 ของเงินลงทุนในปี 2013-2015 เป็นการสร้างที่พักอาศัย และการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์4 ซึ่ง 60% เป็นรถกระบะ5 อาจไม่ช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นมากนัก หรือเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์มีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการลงทุนรวม โดยในช่วงปี 2013-2015 การซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์และการสร้างที่พักอาศัยคิดเป็นประมาณ 24% และ 10% ของเงินลงทุนรวม ตามลำดับ (รูปที่ 3) อีกทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์โตเฉลี่ยถึงปีละ 9% ในขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1%

4.มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรเฉลี่ยในปี 2014-20166 ลดลงราว 1.3 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2013 ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจที่นำเข้าเครื่องจักรมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อน กลับเป็นธุรกิจโทรคมนาคม และพลังงานทดแทนที่คิดรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมและการให้สัมปทานภาครัฐ สะท้อนว่าไม่ใช่เพียงระดับการลงทุนในภาพรวมที่ลดลง แต่ที่มาของเม็ดเงินลงทุนที่เหลืออยู่ ส่วนหนึ่งยังต้องพึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้าไม่มีนโยบายภาครัฐ เอกชนอาจไม่ได้ลงทุนขนาดนี้ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรในไตรมาสแรกปี 2017 ดีขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามการส่งออกที่โตขึ้น

ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของไทยน้อยลง

5.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศ (Net Foreign Direct Investment: Net FDI)7 ที่ไหลเข้าไทยหายไปเกือบ 40% จนไทยกลายเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่สูญเสีย Market share ในการดึงดูด Net FDI จากโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 4) ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดในเอเชีย

6.กว่า 3 ใน 4 ของ Net FDI ที่หายไป ลดลงในภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing) และมีข้อสังเกตอีกว่า Net FDI ที่หายไป เป็นเพราะเม็ดเงินลงทุนขาเข้าประเทศที่ลดลงมากกว่าการถอนการลงทุนออกไปต่างประเทศ Net FDI (เงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศ)8โดยธุรกิจที่มียอดคงค้างการลงทุนต่างประเทศ (Outstanding FDI) ที่ลดลงมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน

นอกจากนี้ บางส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการเป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ไม่ใช่การลงทุนใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เช่น ปี 2013 มีธุรกิจหนึ่งควบรวมกิจการกัน มูลค่าสูงถึงครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการในปีนั้น

7.การออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยแซงหน้า FDI ไปแล้ว โดยในปี 2015-20169 มูลค่าการออกไปลงทุนสุทธิในต่างประเทศของธุรกิจไทย (Net Thailand Direct Investment: Net TDI)10 มีมูลค่า 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจนแซงหน้า Net FDI ที่มีมูลค่า 2.4 แสนล้านบาทไปแล้ว (รูปที่ 5) หรือหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน Net TDI เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า ส่วนหนึ่งจากการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายในปี 2012 ทำให้เงินลงทุนไทยที่ไปลงต่างประเทศโตเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี หลังจากการเปิดเสรี อย่างไรก็ดี แม้การออกไปลงทุนในต่างประเทศจะมีผลดีโดยตรงต่อการสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นประโยชน์ในระดับประเทศที่ชัดเจนเท่าที่ควร11 เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดเสรีเงินทุน จึงเห็นเงินส่งกลับจากต่างประเทศเฉลี่ยเพียง 7% ของ Net TDI

8.แม้ว่าธุรกิจมีกำไร แต่การลงทุนภาคเอกชนไทยต่ำ ทำให้จ่ายปันผลสูง โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) รายงานกำไรสุทธิปี 2016 ถึง 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 5 ปี12 ขณะที่ธุรกิจไม่ค่อยลงทุนในประเทศ ทำให้ธุรกิจไทยจำเป็นต้องจ่ายปันผลสูง (รูปที่ 6)

จาก 8 ข้อเท็จจริงพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนไทยส่ออาการเหมือนคนป่วยซึมมานาน และยังพยุงตัวไปแบบนิ่งๆ เห็นได้จากการลงทุนส่วนใหญ่เป็นเพียงเพื่อให้พอชดเชยกับค่าเสื่อม ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจก็มีเงิน แต่ไม่ค่อยลงทุน จึงเกิดคำถามตามมาว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วไทยควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอีกครั้ง

อ่านต่อได้ในบทความย่อยที่ 2 ทำไมระดับการลงทุนภาคเอกชนไทยต่ำ ควรทำและไม่ควรทำอะไร

หมายเหตุ

    1.หมายถึงระดับการลงทุนหลังหักเงินเฟ้อ และรวมการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน
    2.พิจารณาปี 2013-2015 เพราะเป็นช่วงภาวะปกติ ส่วนปี 2011-2012 ไม่ใช่ช่วงภาวะปกติเพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011และจำเป็นต้องลงทุนใหญ่เพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2012 ขณะที่ข้อมูลในปี 2016 ยังไม่มีการเผยแพร่
    3.เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตปี 1997 ที่มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 โดยพิจารณาการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน
    4.การลงทุนนับรวมกิจกรรมการก่อสร้าง และเครื่องมือ ซึ่งรวมยานพาหนะ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต และเครื่องใช้สำนักงาน
    5.ข้อมูลรถกระบะ ใช้ตัวแทน (proxy) จากจำนวนรถบรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ กรมการขนส่งทางบก
    6.เริ่มพิจารณาปี 2014 เพราะต้องใช้การนำเข้าสินค้าทุนปี 2013 ซึ่งเป็นปีปกติ เป็นฐานในการเปรียบเทียบ
    7.Net FDI (เงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศ) คือเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย หักด้วย เงินลงทุน
    จากต่างประเทศที่ถอนทุนออกไป ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนในทุนเรือนหุ้น กำไรที่นำกลับมาลงทุน และการกู้ยืม
    จากบริษัทในเครือในต่างประเทศ ซึ่งรวมสินเชื่อทางการค้าและเงินกู้ยืม แต่การวิเคราะห์ของบทความนี้จะไม่นับรวมสินเชื่อทางการค้า และเหตุผลที่ใช้ Net เพราะสะท้อนความน่าดึงดูดการลงทุนของไทยโดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ทั้งในด้านเงินไหลเข้าและการถอนทุนกลับของนักลงทุนต่างชาติ
    8.ปี 2005-2006 เปรียบเทียบกับ ปี 2015-2016 โดยเฉลี่ยเม็ดเงินลงทุนขาเข้าประเทศ (Gross Inflow FDI) หายไป 3.6 แสนล้านบาท มากกว่าการถอนการลงทุนออกไปต่างประเทศ (Gross Outflow FDI) ที่หายไป 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่พิจารณาปี 2005-2006 เทียบกับปี 2015-2016 เพราะข้อมูล FDI เริ่มตั้งแต่ปี 2005
    9.ข้อมูล FDI และ TDI เริ่มต้นเมื่อปี 2005 จึงใช้ข้อมูลเฉลี่ยปี 2005-2006 เทียบกับ 2015-2016 เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปี
    10.Net TDI คือเงินลงทุนของธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ หักด้วย เงินลงทุนของธุรกิจไทยที่ถอนทุนกลับประเทศซึ่งการวิเคราะห์ของบทความนี้จะไม่นับรวมสินเชื่อทางการค้า
    11.ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ (1) ขึ้นกับนโยบายการส่งกำไรและเงินปันผลกลับ อาจเป็นไปได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปิดเสรีเงินทุน จึงเห็นเงินส่งกลับจากต่างประเทศเฉลี่ยเพียง 7% ของมูลค่าการออกไปลงทุนสุทธิในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 50% (IMF, Balance of Payment statistics) (2) ยังสรุปไม่ได้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จาก TDI ในแบบไต้หวันหรือญี่ปุ่น เนื่องจากรูปแบบธุรกิจต่างกัน ส่วนใหญ่ไทยออกไปลงทุนในธุรกิจที่เป็นการผลิตที่คล้ายกับการผลิตที่อยู่ในประเทศไทย (Horizontal TDI) มากกว่าการลงทุนเพื่อต่อยอดสายการผลิต (Vertical TDI) (Horizontal, Vertical And Conglomerate OFDI: Evidence From Thailand, Annonjarn, 2016)
    12.ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การยืมผลงาน
บทความนี้สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons ไม่แก้ไขเนื้อหาใดๆ จากบทความ ยกเว้นเพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ และแนวบรรณาธิการ ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา หากนำเนื้อหาในบทความไปวิเคราะห์หรือเผยแพร่ไม่สามารถนำบทความหรือเนื้อหาในบทความไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า