ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > หลุมดำพลังงานไทย (1): แนะรัฐเร่งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม หนุนรายเดิมทำต่อ รับมือกำลังผลิตก๊าซขาด-ลดนำเข้า LNG

หลุมดำพลังงานไทย (1): แนะรัฐเร่งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม หนุนรายเดิมทำต่อ รับมือกำลังผลิตก๊าซขาด-ลดนำเข้า LNG

8 กรกฎาคม 2017


เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 คณะนักศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 (วพม.4) สถาบันวิทยาการพลังงาน จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หลุมดำ…พลังงานไทย”

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “หลุมดำ…พลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยนักศึกษาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 4 (วพม.4) สถาบันวิทยาการพลังงาน โดยมี พล.อ. ณัฐติพล กนกโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประเทศไทย กับ Energy 4.0” ส่วนวงเสวนา “หลุมดำ…พลังงานไทย” มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านพลังงาน, ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดำเนินรายการโดยนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางพลังงานของไทยว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา 4 ประเด็น

1) ประเทศไทยควรพึ่งพิงพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ จากต่างประเทศหรือไม่ ในประเด็นนี้ตนมีความเห็นว่าควรใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย รัฐบาลมีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจากผลผลิตที่เกิดขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมูลค่า, เกิดการสร้างงาน และสร้างอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“บางคนบอกว่าหากวันหนึ่งผลิตก๊าซได้น้อยลง ก็นำเข้าจากต่างประเทศได้ ยืนยันว่าใช้ของที่ผลิตในประเทศดีกว่า ถึงแม้ราคาเท่ากัน แต่การแบ่งปันผลประโยชน์ สัดส่วนที่รัฐและคนไทยได้จะมีมากกว่าการนำเข้าแน่นอน ดังนั้นขอสรุปได้เลยว่าต้องเร่งสำรวจและผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะสิ้นสุด และต้องเร่งรัดการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ด้วย ข้อมูลที่นำมาแสดงจะเห็นได้ว่าอย่างไรก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG แม้ว่าสัมปทานต่ออายุได้ แต่ถ้าหาคนมาลงทุนในสัมปทานเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดลงไม่ได้จะขนาดไหน หมายความว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากขึ้น ตอนนี้เราพึ่งพาก๊าซนำเข้าอยู่ 60% ต่อไปอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ปัจจุบันนี้เกินดุลการค้า แต่ในอนาคตก็อาจจะขาดดุลการค้าเป็น 100,000 ล้านบาทได้” ดร.พรายพลกล่าว

2) เป้าหมายของการต่ออายุสัมปทานเดิมคืออะไร ในประเด็นนี้คิดว่าเป้าหมายคือประเทศไทยต้องผลิตให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสัมปทานเดิมสิ้นสุด เพื่อให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน หากกำลังการผลิตลดลงเมื่อไร ก็ต้องนำเข้าแทนและทำให้ประเทศ ต้องเสียผลประโยชน์ โดยการผลิตดังกล่าวภาครัฐควรจะได้ส่วนแบ่งที่ไม่น้อยไปกว่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

3) หากต้องต่อสัมปทาน ควรใช้เปิดประมูลใหม่หรือเจรจากับรายเดิม และควรใช้ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในประเด็นนี้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยหากเจรจารายเดิม ข้อดีคือมีประสบการณ์ มีข้อมูล ต้นทุนการผลิตต่ำ ความสามารถผลิตได้มากและต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยเฉพาะช่วงที่สัมปทานจะหมดอายุในปี 2561-2562 แต่ข้อเสียคือรัฐอาจไม่ได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการแข่งขันเปรียบเทียบ

ขณะที่หากเปิดประมูลใหม่เลย ข้อดีคือ อาจจะได้ข้อตกลงที่ดีกว่าเดิม ข้อเสียคืออาจทำให้การผลิตชะงักและไม่ต่อเนื่อง เพราะถ้าเปิดประมูลใหม่ ในช่วงรอยต่อของสัมปทานรายเดิมก็อาจจะไม่ลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อสมมติว่ารายเดิมมีประสบการณ์และข้อมูลมากกว่า ก็เป็นไปได้สูงที่รายเดิมจะเป็นผู้ชนะการประมูลมากกว่ารายใหม่ๆ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

“ส่วนเรื่องระบบการแบ่งผลประโยชน์ ผมคิดว่าควรใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะเรามีข้อมูลมากขึ้น สำหรับสัมปทานเหมาะที่จะใช้กับระบบที่เสี่ยงสูง ดังนั้น แหล่งขุดเจาะที่กำลังจะสิ้นสุด แม้จะมีความเสี่ยงอยู่ แต่ก็น้อยลงพอสมควร และกฎหมายใหม่ก็เปิดโอกาสอยู่แล้ว” ดร.พรายพลกล่าว

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาประเทศไทยเสียกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมนั้น ดร.พรายพลกล่าวว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ประเด็นปัญหา คือ การบริการจัดการกรรมสิทธิ์นั้นมีความเสี่ยงแตกต่างกัน เช่น ระบบสัมปทานจะให้เอกชนมีสิทธิเข้ามาบริหารจัดการ พร้อมกับแบกรับความเสี่ยงแทนรัฐ ขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น พร้อมทั้งแบกรับความเสี่ยงบางส่วนมาด้วย ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

4) เรื่อง ความมั่นคงทางพลังงานของไทย หากมองไปในอนาคตอีก 10-20 ปี ประเทศไทยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติแน่นอน เนื่องจากปริมาณก๊าซกำลังจะหมดลง คำถามคือจะใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไปหรือไม่ ทางเลือกหนึ่ง คือ หันไปใช้ถ่านหินสะอาด แต่ปัจจุบันยังมีคนต่อต้านอยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการพิจารณาลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ได้หรือไม่

ดร.พรายพลกล่าวว่า คำตอบคือ ควรจะพิจารณาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นขึ้น เพราะในระยะที่ผ่านมามีต้นทุนลดลงค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น การประมูล Solar Farm จำนวน 500 เมกะวัตต์ ในอินเดียเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถคิดราคาพลังงานได้ 2.44 รูปีต่อหน่วย หรือ หน่วยละ 1.28 บาท เปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าของไทยหน่วยละ 3 บาท แม้ว่าประเทศไทยอาจจะมีข้อจำกัด ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 500 เมกะวัตต์ และอาจจะมีราคาสูงกว่านั้น แต่ประเด็นคือปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนเริ่มอยู่ในระดับที่แข่งขันได้แล้ว

“ผมขอสรุปว่าทางเลือกในอนาคตของประเทศไทยคือ พลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ลม แสงแดดอย่างเดียว ทั้งไบโอแมส ไบโอแก๊ส ก็มีโอกาสให้ลงทุนอีกเยอะ แผนพลังงานเราต้องจัดทำใหม่ สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนตอนนี้ 20% ถือว่าน้อยเกินไป ควรเพิ่มเป็น 40%” ดร.พรายพลกล่าว

ด้าน ดร.ศุภลักษณ์กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป เรื่องที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือยกร่างกฎกระทรวงหลายฉบับเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ และประเด็นที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงคือเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมมีความคืบหน้าอย่างไร กล่าวคือ ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการให้สิทธิในการผลิตปิโตรเลียม นอกจากจะมีระบบสัมปทานแบบเดิมแล้ว ยังมีระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบการจ้างผลิต (SC) เพิ่มเข้ามา สำหรับแหล่งสัมปทานที่สัญญากำลังจะสิ้นสุดในปี 2565-2566 มีประเด็นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องพิจารณา คือ การตัดสินใจเลือกว่าจะระบบใด และประเด็นผู้ผลิตหรือผู้ที่ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชเดิมจะชะลอการลงทุนหรือไม่

“ส่วน PSC ถึงแม้เราจะทำที่ JDA แต่ภายในประเทศไม่เคยทำ รวมทั้งสัญญาจ้างผลิต ก็ไม่เคยทำเช่นกัน ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ ตรงนี้ต้องเตรียมความพร้อมให้เหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลทั้งในเรื่องของแรงจูงใจนักลงทุนและผลประโยชน์ของรัฐ” ดร.ศุภลักษณ์กล่าว

ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ดร.ศุภลักษณ์กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินำเสนอแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายใต้สมมติฐาน ผู้รับสัมปทานเดิมอาจชะลอการลงทุน ทำให้กำลังการผลิตก๊าซในประเทศขาดหายไป คาดการณ์ว่าผู้รับสัมปทานผลิตเดิมจะลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่ปี 2561 ไปจนถึงปี 2565 หลังจากนั้นเมื่อมีผู้ดำเนินการใหม่เข้ามากำลังการผลิตก๊าซในประเทศอาจจะกลับขึ้นมาที่ระดับเดิม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ คิดเป็น 70% ปริมาณการผลิตก๊าซภายในประเทศ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

“ล่าสุดผู้รับสัมปทานเดิม ยืนยันว่ายังคงระดับการผลิตไว้ได้จนถึงปี 2562 คาดการณ์ว่าปี 2563 มีแนวโน้มลดลง ไปจนถึงปี 2565 หลังจากได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่แล้วกำลังการผลิตจะกลับไปอยู่ระดับเดิม สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำเรื่องเสนอ กพช. แต่กำลังการผลิตก็อาจจะลดลงเหลือแค่ 50-70% ของกำลังการผลิตปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาทดแทนก๊าซจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ” ดร.ศุภลักษณ์กล่าว

ดร.ศุภลักษณ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าปริมาณก๊าซในประเทศจะขาดหายไปเท่าไหร่ จึงจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน LNG Terminal และขยาย LNG Terminal เพิ่มเติมในปี 2566-2567 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งความไม่แน่นอนเรื่องของสัญญาสัมปทานเดิมที่กำลังจะสิ้นสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 น่าจะได้ผู้ชนะการประมูล หากผู้รับสัมปทานรายเดิมชนะการประมูล การพัฒนาแหล่งก๊าซในประเทศก็จะมีความคล่องตัวกว่าผู้ประกอบการรายใหม่

อ่านต่อ หลุมดำพลังงานไทย ตอนที่2