
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 เวลา 8.20 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนายความ เดินทางมาถึงศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนเวลาที่ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลย 3 ปากเป็นครั้งสุดท้าย รวมทั้งมาฟังผลการพิจารณาของศาล ตามคำร้องของทนายจำเลยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 โดยขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดแย้งกับมาตรา 3, 25, 29 และ 235 วรรค 6 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจำเลยได้ขออนุญาตศาลแถลงปิดคดีด้วยวาจา ท่ามกลางประชาชนหลายร้อนคนที่มายืนรอมอบดอกไม้และให้กำลังใจแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ด้านหน้าศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอบคุณประชาชนที่มายืนรอและเดินเข้าในศาลเพื่อฟังผลการไต่สวนในเวลา 9.30 น.
เวลา 14.40 น. ศาลอ่านผลพิจารณาว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 วันนี้เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย ศาลไต่สวนพยานจำเลยจนจบ 3 ปาก ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ 17 กรกฎาคม 2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 25, 235 วรรคหก โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องโต้แย้งคัดค้านเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 277 บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 235 วรรคหก จะใช้ถ้อยคำว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ก็มีความหมายเดียวกัน
ดังนั้น บทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักกการสำคัญของระบบไต่สวน ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้น ยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย
ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจา วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี คดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น.
เวลา 15.30 น. ภายหลังศาลแถลงผลการพิจารณาคดีเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินออกจากศาลเพื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ยืนรอทำข่าวอยู่ด้านหน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่าขอขอบคุณสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวทุกคน วันนี้ขอไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และศาลก็ได้ไต่สวนพยานจำเลยเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จะขอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันแถลงปิดคดีด้วยวาจาอย่างละเอียด
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เดินเข้าไปทักทายประชาชนจำนวนมากที่มายืนรอให้กำลังใจพร้อมมอบดอกไม้อย่างใกล้ชิดที่ด้านหน้าของศาล มีเสียงตะโกนยิ่งลักษณ์สู้ๆ เป็นระยะๆ ก่อนเดินขึ้นรถกลับ

อ่านแถลงข่าวของศาลฎีกาฯ ที่นี่ และซีรี่ย์จำนำข้าว