เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
ขอดูผังแต่งตั้งโยกย้ายทั้งหมดก่อน – ยันไม่มีข้ามห้วย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีความคืบหน้าข้อสั่งการให้ทุกกระทรวงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเกษียณอายุให้เสร็จในเดือนสิงหาคม 2650 ว่า กรณีดังกล่าวตนต้องดูทั้งภาค ไม่ใช่จะตั้งปลัดกระทรวงแล้วสบายใจ แต่หน่วยงานต้องทำการเสนอมาทั้งหมดว่าใครจะปรับหมุนเวียนบ้าง ใครจะแทนใครบ้าง จะได้รู้ว่าเส้นทางการเติบโตเป็นอย่างไร ซึ่งจะได้ดูถึงความเหมาะสมเรื่องความสามารถต่างๆ ไปด้วย
“ทั้งนี้ เรื่องการแต่งตั้งยังเป็นเรื่องของกลไกของหน่วยงานที่ตั้งมาอยู่แล้ว แต่ขึ้นมา ผมก็จะไปตรวจสอบหน้าบ้าน หลังบ้าน ความประพฤติที่ผ่านมา ตรงนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้คนดีได้เจริญเติบโต ส่วนเรื่องของการแต่งตั้งท้องถิ่น กทม. คงดูเวลาที่เหมาะสม เลือกก่อนเลือกตั้งใหญ่หรือเลือกหลังก็ต้องไปดูสถานการณ์อีกที”
ต่อคำถามกรณีในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชกาลระดับปลัดกระทรวง ถ้ามีการพิจารณาข้ามห้วยจะใช้หลักการและเหตุผลใด พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ยังไม่มีข้ามห้วยอะไรทั้งสิ้น นโยบายตนไม่ได้ให้ข้ามห้วยเป็นหลัก ถ้าจะข้ามก็ต้องมีเหตุผลและความจำเป็น ไม่ใช่ทำการวิจารณ์กันเอง เพราะถ้าข้ามห้วยกันหมดคนในห้วยก็ไม่ต้องไปไหนจมน้ำตาย”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามปกติการแต่งตั้งจะมีปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น เมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ แต่ถ้าไม่มีการแต่งตั้งแล้วใครจะทำงาน จึงต้องยึดตามกฎหมายเป็นหลัก คือ เมื่อมีการเกษียณอายุของข้าราชการ ก็ต้องแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาทำงานทันที และไม่ใช่เป็นการตั้งใหม่ทั้งหมด เช่น อธิบดีขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ก็ต้องหาคนมาเป็นอธิบดีแทน ทุกหน่วยงานต้องปรับย้ายแบบนี้ และไม่ว่าจะเสนอแต่งตั้งใครขึ้นมา ต้องถูกตรวจสอบทั้งหมดว่าที่ผ่านมามีพฤติกรรมอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องได้คนดี 100 เปอร์เซ็นต์
“วันนี้ทุกหน่วยงานทำงานด้วยระบบและแผนงาน ผู้ว่าฯ ทำงานอยู่นาน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องย้าย อยู่แล้วทำงานไม่ได้ก็ต้องย้าย ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องอยากให้ผู้ว่าฯ ที่จะถูกปรับย้ายเดินทางออกจากพื้นที่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการปรับย้ายก็ต้องเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 มีวงรอบการปรับย้ายอย่างชัดเจนตามกติกา เป็นการปรับด้วยความเหมาะสม ปรับเลื่อนจากชั้น 2 สู่ชั้น 1 ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องเอาคนที่ทำงานได้ไปทำงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง จะให้อยู่ในพื้นที่เดิมจนตายหรืออย่างไร” นายกฯ กล่าว
ชี้ จนท. รับเงินแรงงาน มีหลักฐานให้ส่งมา
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีว่ามีข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยถูกร้องเรียนว่ามีเรียกเก็บเงินจากแรงงานชาวลาวที่ด่านเขมราฐ ว่า ตนกำลังสั่งการให้ตรวจสอบอยู่ โดยไล่ตรวจสอบทุกเส้นทาง ทุกด่าน ส่วนที่บอกว่าไม่สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ตนไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่มีการแจ้ง ในเมื่อเจ้าหน้าที่ก็อยู่ตรงนั้น ถ้าแจ้งที่นี่ทำไมไม่ไปแจ้งที่อื่น
“คุณก็ถ่ายรูปสิ ทีรูปตีหมา แทบจะฟ้องศาลโลก เรื่องนี้คุณก็ถ่ายมาสิ และก็ส่งมาตรวจสอบ หากไม่มีคนแจ้งจะรู้ไหม มีหลักฐานไหม ของแบบนี้มันยากถ้าหากไม่ช่วยกัน ส่วนเรื่องวิธีการที่นำคลิปมาเผยแพร่และให้ไปตามจับเอา การกระทำเช่นนี้ตนรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่ควรจะนำคลิปที่ถ่ายส่งมาตรวจสอบว่าคลิปนี้ถ่ายตรงไหน เวลาเท่าไหร่ เช็คได้หมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เผย 4 คำถาม ปชช. เห็นด้วยมากกว่า
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการให้ประชาชนตอบคำถาม 4 คำถามว่า ตนได้รับทราบคำตอบจากประชาชนแล้วส่วนใหญ่มีการเห็นชอบ ส่วนหนึ่งสนับสนุน ส่วนที่เห็นด้วยจำนวนมากกว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งตนไม่ต้องการให้นักการเมืองให้เข้าไปยุ่งหรือสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
“เรื่องนักการเมืองอะไรต่างๆ ประชาชนก็ดูพฤติกรรมทุกคนอยู่ ไม่อยากให้ไปสร้างความเข้าใจที่มันไม่ถูกต้อง เช่น เรื่องการแก้ปัญหาราคาพืชตกต่ำ คิดเหรอว่าพวกเขาจะทำได้ดีกว่าสิ่งที่ผมทำในวันนี้ ถ้าเขาทำ เขาคิดได้แบบเดิม แล้วก็ออกมาแบบเดิม แน่ใจเหรอว่าพวกเขาจะทำให้ราคายางขึ้นกิโลกรัมละ 70-80 บาท ถ้าทำแบบเดิมจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เลือกตั้งท้องถิ่นยันตามโรดแมป
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดช่วงเวลาไหนว่า เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดูวันและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในปีนี้มีพิธีพระบรมศพและมีพิธีบรมราชาภิเษก จึงต้องหารือว่าจะเลือกกันอย่างไร ตรงนี้ทุกอย่างก็เป็นไปตามโรดแมป
“วันนี้ทำงานกันดีอยู่ไม่ใช่หรือ เลือกตั้งใหม่และมันจะเกิดอะไรขึ้น ดีกว่าของเก่าหรือเปล่า ตนไม่รู้เหมือนกัน แต่ถึงเวลาตนก็ทำอยู่ดี ห้ามอะไรได้ที่ไหน ขอให้มันถึงเวลาแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ยันไม่ใช้ ม.44 แก้ปัญหายาง-แนะปลูกทุเรียน มังคุดแทน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ รวมถึงการที่เกษตรกรเริ่มออกมาเคลื่อนไหวว่า วันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ซึ่งต้นทางต้องดูว่ามีการปลูกยางมากเกินไปหรือไม่ มีการบุกรุกพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ แต่การแก้ปัญหาไม่สามารถหยุดทีเดียวได้ เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน และการที่สมาคมเกษตรต่างๆ เรียกร้อง รัฐบาลจะนำเงินที่ไหนไปซื้อ และจะไปขายใคร ตอนนี้เรามียางสำรองจำนวนมาก
“รัฐบาลพยายามนำยางมาใช้ และมอบหน่วยงานต่างๆ ให้รับไปดำเนินการ เช่น ทำถนน แต่เมื่อเพิ่มยางเข้าไปงบประมาณที่ใช้ก็ต้องสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ว่าจะสามารถนำยางไปทำอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ ได้มีการตั้งโรงงานแปรรูปยางในหลายพื้นที่ ต้องดูว่าสามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง นำมาทำล้อรถทหารได้หรือไม่ หรือจะนำมาใช้สร้างสนามฟุตซอล ก็ต้องดูว่าควรมีหรือไม่ มาอุดหนุนราคายางตอนปลายทางอย่างเดียว อย่างอื่นมันก็ไม่เกิด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า การจะทำให้ราคายางขึ้นไปถึง 70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น หากปริมาณยางไม่มากเท่านี้ก็สามารถเป็นไปได้ ทั้งนี้ประเทศไทยได้หารือในสภาไตรภาคียางพาราครั้งที่ 28 ร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาระบุว่าจะให้ราคายางพาราสูงกว่าเดิมเป็นไปได้ยาก ซึ่งปัญหามาจากไทยที่มียางพารามากเกินไป จะให้เขาเข้ามาทำคงลำบาก ไทยจึงต้องปรับว่าควรมีปริมาณยางเท่าไหร่ ส่วนการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 นั้นตนเห็นว่าไม่จำเป็นเนื่องจากปัจจุบันตนสามารถสั่งการหน่วยงานต่างๆ ได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูงบประมาณของแต่ละหน่วยงานด้วย หากมีการเพิ่มโครงการก็ต้องเพิ่มงบประมาณให้
นอกจากนี้ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีระบุถึงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราว่าจะต้องมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ผลไม้ที่มีราคาดี ทุเรียน มังคุด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการควบคุมดูแลไม่ให้มีการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดในอนาคต
มติ ครม. มีดังนี้
เคาะ 1,296.3 ล้านบาท “ปรับพื้นที่/ลดรอบ” ปลูกข้าว
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณ 1,296.3 ล้านบาท สำหรับโครงการปรับพื้นที่ในการปลูกพืชให้เหมาะสม (มีการปรับลดงบประมาณลงถึง 3,605 ล้านบาท จากเดิมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอไป 4,902 ล้านบาท เนื่องจากในโครงการแรกมีการปรับโครงการโดยแบ่งเป็นเฟส) ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2560/61 ด้านการผลิต แบ่งเป็น 3 โครงการ
1) โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม วงเงิน 202.1 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์ เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ในพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ 100,000 ไร่ ได้แก่ ต้นข้าวโพดสด มันสำปะหลัง พืชตระกูลถั่ว หรือพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารสัตว์ได้ ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีตั้งแต่ปี 2560-2562 ซึ่งจะเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคม 2560 ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาทต่อปี รวม 3 ปี 6,000 บาทต่อไร จำกัดครัวเรือนละ 15 ไร่ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับการถ่ายทอดความรู้การปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมไปถึงแนะนำการจำหน่ายและเชื่อมโยงการตลาดด้วย
2) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 วงเงิน 864.53 ล้านบาท เพื่อลดรอบการทำนาในฤดูนาปรังและพักพื้นที่นา จำนวน 53 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 15 จังหวัด, ภาคกลาง 9 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด, ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคตะวันตก 5 จังหวัด มีเป้าหมายพื้นที่ 400,000 ไร่ มีระยะเวลาปรับเปลี่ยนเพาะปลูกตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561
ทั้งนี้ วิธีการดำเนินงานให้ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นพืชที่หลากหลายตามความต้องการของเกษตรกร ยกเว้นหญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชปุ๋ยสด ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วัน และห้ามปลูกข้าวนาปรังในระยะ ยกเว้นพื้นที่รับน้ำที่มีการประกาศให้ทำข้าวนาปีเร็วขึ้น เกษตรกรสามารถเลือกช่วงเวลาได้ในช่วงดังกล่าว เพราะหลักการต้องการปลูกพืชระยะสั้นทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย 2,000 ต่อไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ และเกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดความรู้และเชื่อมโยงตลาดเช่นเดียวกัน
3) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสดฤดูนาปรัง ปี 2561 วงเงิน 229.9 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อลดอุปทานข้าวเปลือกด้วยการปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนในนาข้าว พร้อมทั้งบำรุงดิน ตัดวงจรศัตรูพืช และพักดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่นา จำนวน 22 จังหวัดในแถบที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง มักจะมีน้ำพอเพียงและปลูกข้าวต่อเนื่องหลายปีแบ่งเป็นภาคเหนือ 7 จังหวัดและภาคกลาง 15 จังหวัด มีพื้นที่เป้าหมาย 200,000 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560-2561 และมีระยะเวลาปลูกและไถกลบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560-เดือนมีนาคม 2561 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดไร่ละ 5 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ซึ่งจะรับซื้อจากเกษตรกรเป็นลำดับแรก และยังสนับสนุนการเตรียมที่ดิน ไร่ละ 500 บาท และการไถกลบอีกไร่ละ 500 บาท รวมไร่ละ 1,000 บาท โดยเกษตรกรต้องปลูกพืชพร้อมไถ่กลบภายใน 45-60 วันและห้ามนำพื้นที่ที่ทำนาปรังในฤดูการผลิตปี 2561
“ทั้งนี้ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนมากกว่า 1 โครงการ จะสามารถเลือกได้เพียง 1 โครงการ โดยทางกระทรวงเกษตรฯ จะแนะนำว่าควรจะเข้าอันไหน เพราะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น อันแรกจะเน้นไปที่พื้นที่ที่มีน้ำไม่เพียงพอ ถ้าเขาเลี้ยงสัตว์ไปด้วย ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไปด้วย ก็จะเป็นประโยชน์กับเขา และทั้งหมดจะลดพื้นที่ปลูกข้าวได้ 700,000 ไร่ เทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 50 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณข้าวตอนนี้ประมาณ 0.5 ตันต่อไร่ ก็จะลดไปได้ 350,000 ตัน
เห็นชอบรถไฟไทย-จีน ช่วง กทม.-โคราช 1.79 แสนล้าน 253 กม.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วง กทม.-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา วงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร ระยะเวลาโครงการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2563) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) หรือการจัดจ้างลักษณะอื่นๆ ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบกรมบัญชีกลาง มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การก่อสร้างจะเน้นไปตามเส้นทางเดิมของ รฟท. และเวนคืนเฉพาะส่วนที่จำเป็นประมาณ 10-15% ของโครงการ หรือประมาณ 2,815ไร่
โดยให้เหตุผลการพัฒนา 2 ประเด็น ดังนี้
1) เพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่โครงข่ายในภูมิเศรษฐศาสตร์ หรือ Geo-economic ผ่านเส้นทางสายไหมของจีน (One Belt, One Road) ที่จะเชื่อมโยงยุโรป เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟกว่า 53,700 กิโลเมตร และดำเนินการไปกว่าครึ่งแล้ว รวมทั้งโครงการดังกล่าวจะยังเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาค
2) เพื่อเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ในระยะต่อไป อันเป็นการเปิดโอกาสด้านการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว นำไปสู่การกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อีกทั้งลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานยังคงอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า
รายละเอียดโครงการจะประกอบด้วยสถานี 6 สถานี โดยเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา ใช้ระยะเวลาการเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีนครราชสีมา ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย
ทั้งนี้ เมื่อเปิดทำการในปี 2564 คาดว่าจะมีรถโดยสารที่มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน จำนวน 6 ขบวน วิ่งทุก 90 นาที ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีอัตราค่าโดยสาร 80 บาท +1.8 บาท/คน/กิโลเมตร หรือคิดเป็นสูงสุด 535 บาทต่อคน (จาก กทม.-นครราชสีมา) โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 5,300 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้เดินทางไปกลับ กทม.-นครราชสีมา ขณะที่ในปี 2594 คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 28,600 คนต่อวัน มีรถไฟทั้งหมด 26 ขบวน วิ่งทุก 35 นาที
สำหรับความคุ้มค่าของโครงการเฉพาะช่วง กทม.-นครราชสีมา จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 8.56% และหากรวมผลประโยชน์โดยกว้าง เช่น การพัฒนาเมือง การพัฒนารอบๆ สถานี ฯลฯ จะทำให้มี EIRR สูงขึ้นเป็น 11.68% และหากครอบคลุมและเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาจจะมีผลตอบแทนที่มากขึ้น เนื่องจากการการเติบโตของการท่องเที่ยวในประเทศและคมนาคมขนส่ง และนำมาสู่โอกาสธุรกิจต่างๆ ที่มากขึ้น
อนุมัติข้อตกลงยอมรับร่วมอาเซียน “รายงานการศึกษาชีวสมมูลยาสามัญ”
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมสำหรับรายงานการศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยาสามัญของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement for Bioequivalence Study Reports of Generic Medicinal Products: ASEAN BE MRA) โดยมีสาระสำคัญให้ประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับพิจารณารายงานการศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งรายงานดังกล่าวจะต้องทำขึ้นโดยศูนย์การศึกษาชีวสมมูลที่ได้รับการตรวจรับรองและขึ้นบัญชีของอาเซียน (ASEAN listed BE centre)
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะรับหรือปฏิเสธรายงานตามกระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศนั้นๆ และภายหลังการลงนามจะมีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่างคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก รวมถึงแต่งตั้ง Panel of Experts (PoE) เพื่อตรวจสอบศูนย์การศึกษาชีวสมมูลของประเทศสมาชิกที่จะขอสมัครเพื่อขึ้นบัญชีของอาเซียน
“การลงนามรับรองข้อตกลง ASEAN BE MRA มีข้อดีคือส่งผลให้มียาสามัญใหม่จากต่างประเทศขึ้นทะเบียนมากขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้รวดเร็วและราคายาถูกลงรวมทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาชีวสมมูลให้มีมาตรฐาน ทำให้ศูนย์การศึกษาชีวสมมูลที่มีศักยภาพได้รับการขึ้นบัญชีมีโอกาสกว้างขวางขึ้นในการรับดำเนินการศึกษาชีวสมมูล และลดปัญหาจำนวนศูนย์การศึกษาชีวสมมูลในประเทศไม่เพียงพอ
ส่วนข้อเสียคืออาจทำให้ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการในประเทศลดลง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากไม่ลงนามอาจทำให้ประเทศไทยถูกกีดกันด้านเทคนิคต่อรายงานการศึกษาชีวสมมูลที่รับรองโดยศูนย์ฯ ของประเทศไทยจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
“ประยุทธ์” แจง ครม. – ธปท. “ส่งสัญญาณ” แก้ปัญหาหนี้สิน จำกัดเพดานรูดบัตร
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณต่อข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่กังวลเรื่องการใช้จ่ายเกินตัวและสร้างปัญหาการมีหนี้สินเกินตัวของประชาชน โดย ธปท. จะเตรียมออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลด้วยการลดเพดานวงเงินการใช้บัตรเครดิตและเงินกู้ส่วนบุคคล (Personal Loan) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ 5 เท่าของรายได้ เป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น 1) รายได้ตั้งแต่ 15,000-30,000 บาท จะมีวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ 2) รายได้ตั้งแต่ 30,000-50,000 บาท จะมีวงเงินไม่เกิน 3 เท่า และ 3) มากกว่า 50,000 บาท จะมีวงเงินไม่เกิน 5 เท่า
“ท่านนายกนำมาชี้แจงที่ประชุม คือท่านเคยให้นโยบายไปนานมากพอสมควรแล้วว่าที่ผ่านมาปัญหาส่วนหนึ่งของหนี้สินหรือหนี้เสีย โดยเฉพาะหนี้เสียของภาคประชาชนเกิดจากการใช้เงินที่เกินตัว มีบัตรเครดิตกันค่อนข้างที่จะมากเกินกว่าเงินเดือนจะมีอยู่ เพราะฉะนั้น วันนี้ ธปท. เขารายงานท่านนายกฯ มาว่าในไม่นานนี้ เตรียมจะออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนและแก้ไขปัญหาคนรุ่นใหม่ที่มักจะสร้างหนี้สินเกินตัว ทั้งนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพดานการปล่อยเงินกู้ที่กำหนดไว้แต่เดิมว่าไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่ใช้เงินจนเกินตัว”
จัดทำศูนย์บริการแรงงานครบวงจร
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดทำศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Service) โดยรวมหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณะสุข ส่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงมหาดไทย เพื่ออำนวยความสะดวก และแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตล่าช้าสำหรับผู้เข้าเมืองที่ถูกกฎหมายแต่ใบอนุญาตทำงานยังไม่ถูกต้อง
“สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในกรณีของแรงงานที่ไม่ต้องเดินทางกลับไปพิสูจน์สัญชาติ เพียงแค่ใบอนุญาตทำงานไม่ถูกต้อง ให้สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหาแรงงานเพื่อออกใบอนุญาตให้ถูกต้องได้เลย แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการยังต้องใช้เวลานาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจึงรวมหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกใบอนุญาตแรงงาน ส่วนของกระทรวงแรงงานที่ออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และมีการทำประกันสังคม ตรวจสุขภาพ ให้ดำเนินการเบ็ดเสร็จในที่เดียว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
เผย ป.ย.ป. อยู่ต่อถึงกลางปีหน้า – นายกฯ เตรียมคุยแม่น้ำทุกสาย
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ) และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ (พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ) ว่าขณะนี้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้นำกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา
“เมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้จะมีระยะเวลา 15 วันในการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ คณะละ 15 คน ให้แล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันมีการแต่งตั้งแล้ว 2 คณะ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งคาดว่ากลางปี 2561 จะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานทั้งหมดเสร็จสิ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
สำหรับคำถามกรณีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ยังจำเป็นจะต้องมีอยู่หรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่า ป.ย.ป. ยังต้องคงอยู่เพื่อทำหน้าที่จนกว่าคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 คณะจะสามารถปฏิบัติงานได้ลงตัว จนถึงช่วงกลางปี 2561 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาระหน้าที่ของ ป.ย.ป. ลดลง นายกรัฐมนตรีจึงมีความเห็นให้มีการควบคุมงบประมาณของ ป.ย.ป.
“สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะสิ้นสุดวาระลงเมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ ซึ่ง สปท. วางแผนที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น นายกรัฐมนตรีจึงให้มีการพูดคุยแม่น้ำทุกสายที่ผ่านมาทั้งเก่าและที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน โดยที่เฉพาะคณะทำงานชุดเก่าจะมีเพียงประธานคณะทำงานเท่านั้นที่เข้าพบปะพูดคุยร่วมกัน เช่น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ครม. ไฟเขียวซื้อเครื่องบิน T-50 TH รายละเอียดให้ ทอ. แจงเอง
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการจัดหาเครื่องบิน T-50 TH ภายใต้วงเงินกว่า 8,800 ล้านบาทว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินฝึก สำหรับนักบินขับไล่ขั้นต้น 8 ลำ แต่เนื่องจากเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทำให้ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้มาก
“เดิมเคยใช้เครื่องบินฝึก L39 ที่มีอายุใช้งานมาประมาณกว่า 20 ปีแล้ว นักบินที่จะไปบินเครื่องบินขับไล่จะต้องฝึกในเครื่องฝึกบินประเภทที่รองรับกับเครื่องบินขับไล่ และเรามักจะสูญเสียนักบินไอพ่นไปค่อนข้างมากพอสมควร และทุกวันนี้เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินฝึกใหม่ ซึ่งสำหรับงบประมาณ และรายละเอียดอื่นๆ กระทรวงกลาโหมกองทัพอากาศพร้อมจะชี้แจง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อนึ่ง ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เห็นชอบให้กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินฝึกสำหรับนักบินขับไล่ขั้นต้น จำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2560-2563 โดยตามแผนโครงการ 1 ฝูงบิน จะต้องมีเครื่องบิน 16 ลำ รวมมีการคำสั่งจัดซื้อแล้วจำนวน 12 ลำ ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จะมีการจัดซื้ออีก 4 ลำให้ครบ 1 ฝูงบิน
เห็นชอบกำหนดวันประดับธงชาติใหม่
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ การแก้ไขเพิ่มเติมร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 โดยให้ยกเลิกการใช้และประดับธงชาติในวันที่ 5 พฤษภาคม (วันฉัตรมงคล) และให้เพิ่มเติมการกำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญให้ชักและประดับธงชาติดังนี้
1. วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 กรกฎาคม และวันที่ 29 กรกฎาคม รวม 2 วัน
2. วันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน รวม 1 วัน ซึ่งได้กำหนดในปี 2560 เป็นปีแรก จึงให้มีการประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
3. กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมวันพิธีสำคัญ ให้ชักและประดับธงชาติในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เดิมให้ชักและประดับธงชาติวันที่ 5-6-7 ธันวาคม รวม 3 วัน แต่ปี 2560 เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และวันพ่อแห่งชาติ จึงปรับให้ชักและประดับธงชาติวันที่ 5-6 ธันวาคม รวม 2 วัน