เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรี และ คสช. เข้าเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
“สมเด็จพระสังฆราช” ให้กำลังใจรัฐบาลทำงานอย่างมีสติ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชในช่วงเช้าว่า พระองค์ได้ทรงให้กำลังใจแก่รัฐบาล และ คสช. ในการทำงาน โดยทรงดำรัสให้รัฐบาลทำหน้าที่อย่างระมัดระวัง ไม่อยู่ในความประมาท ให้รู้คิด รู้ตัว รู้ปฏิบัติ และละจากการผูกติด เพราะเมื่อมีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศย่อมเสื่อมยศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว และตนเองก็ไม่เคยคิดที่จะอยู่ไปตลอด ทุกอย่างถือเป็นหน้าที่
นอกจากนี้ ได้ทรงมีพระดำรัสถึงหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ซึ่งตนได้กราบบังคมทูลถึงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้สังคมไทย ข้าราชการใช้ศีลธรรมนำการทำงาน คือ เรื่องหิริโอตัปปะ ความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป เป็นหลักธรรมที่หลายคนอาจลืมไป แต่เรื่องที่ตนได้รับการสั่งสอนมาแต่เด็ก ถ้าทำอะไรผิดจะรู้สึกเกรงกลัว และละอาย ดังนั้น เวลาที่จะพูดหรือทำอะไรออกมา ถ้าไม่ใช่ ตนก็ไม่สามารถที่จะโกหกหรือบิดเบือนได้ เพราะละอายแก่ใจตัวเอง
ถอดเป็นถอด ไม่ป้องน้อง ปมขาดประชุม สนช.
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีรายชื่อของ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในบุคคลที่ขาดประชุมเป็นประจำว่า ประเด็นทั้งหมดนั้นอยู่ที่มีชื่อน้องชายของตน ซึ่งกติกาเป็นอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้น ถ้าไม่ครบจริงๆ ก็ต้องถูกตัดชื่อออก พ้นหน้าที่ไป
“ที่ผ่านมาไม่ใช่เขาไม่มาประชุม สนช. เลย เรื่องนี้เป็นเรื่องของการตรวจสอบ อย่าเอามาพันกันกับส่วนที่ว่ามีการรับเงิน 2 ทาง ที่จริงเขาก็มีเงินเดือนของเขาอยู่แล้ว เพราะเขาเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว ดังนั้น เขาก็มีบำเหน็จบำนาญของเขาอยู่ ถ้าไม่ได้เป็น สนช. ก็ไม่ได้รับเงินเดือน สนช. ตามกฎหมาย ก็จะเหลือเงินที่เกษียณอายุราชการอย่างเดียว ทุกคนก็ต้องอยู่ในกติกานี้ทั้งหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
17 ก.พ.สรุปโรงไฟฟ้าฯ กระบี่ – ขอ ปชช. อย่าเพิ่งเคลื่อนไหว
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เตรียมเคลื่อนไหวเข้ากรุงเทพมหานคร ว่า ผมขอร้องว่าอย่าเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายและจะถูกดำเนินคดีได้ เนื่องจากปัจจุบันห้ามการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ซึ่งตนขอให้พูดคุยกันในพื้นที่ ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานประชุมให้ได้ข้อสรุปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ หากไม่ทำไทยมีความมั่นคงทางพลังงานเพียงพอหรือไม่ และหากทำจะทำลักษณะใด
“ผมขอเตือนไว้ก่อน การเดินขบวน คุณขออนุญาตกันหรือยัง เพราะมีคำสั่ง คสช. และกฎหมายอยู่ ไม่ทำแล้วจะทำอย่างไรหากพลังงานไม่พอใช้ ที่ผ่านมารัฐบาลทำตามแผนทีพีพีเดิมที่ตั้งไว้ เพียงแค่มาปรับแผนให้ดีขึ้นในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งต้องคิดว่ามันควรจะมีในระดับไหน ไม่ใช่ลดลงทันทีแล้วไปสร้างพลังงานทดแทน แต่ต้องคำนึงว่าทดแทนกันได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่ง ป.ป.ง. ตรวจไซซะนะ โยง 3 จว.ชายแดนใต้
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดของนายไซซะนะ แก้วพิมพา กับความเชื่อมโยงกรณีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ว่า ถือเป็นผลงานของรัฐบาลและตำรวจที่มีความจริงจังในการกวาดล้างยาเสพติด เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างจีนและรัสเซีย ทำให้ได้ข้อมูลมาดำเนินคดี
“กระแสข่าวความเชื่อมโยงกับภาคใต้มีมานานแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปตรวจสอบความเชื่อมโยง ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ไปติดตามเรื่องนี้อยู่ เพราะเครือข่ายดังกล่าวตรวจสอบได้หลายทาง ทั้งทางตำรวจ เส้นทางการเงิน การสืบสวน เพราะรัฐบาลเอาจริงเอาจังเรื่องพวกนี้ ฉะนั้นขอร้องว่าเมื่อเขาทำมาก็อย่าเพิ่งไปดูถูก ว่าสอบสวนอะไรก็ไม่สำเร็จ ทำอะไรก็ออกมาเหมือนเดิม ผมยืนยันว่าไม่ให้เหมือนเดิม เว้นแต่ว่ามันทำอะไรไม่ได้ หากทำได้ก็จะทำหมด ไม่เคยดึงเรื่องอะไรไว้ทั้งสิ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
ปรองดองไม่คุยนิรโทษฯ-ยันทหารไม่ยุ่ง
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามถึงการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) ในส่วนของกระบวนการสร้างความปรองดองว่า ในช่วงนี้ตนอยากจะใช้โอกาสรับฟังความเห็นแต่ละฝ่าย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงนักการเมือง ตนยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการพูดเรื่องนิรโทษกรรม
“ประชาธิปไตยถ้าไร้กรอบ ไร้วินัย ถามว่าใช่ประชาธิปไตยหรือไม่ … เมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาขึ้นมาแล้วทำให้ประชาชนเดือดร้อน กลุ่มเกษตร ยาง ข้าว เดินทีละกลุ่ม ถ้ามีคนมารวมกลุ่มเหล่านี้ขนาดก็กว้างใหญ่ขึ้น และมีคนเห็นชอบคล้อยตามอีก ก็เดินขบวนกันเกลื่อน ผมถามว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ไหม หากทำได้ก็จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จบแค่นั้น กลับมาสู่ทหารอีก ฉะนั้นไม่ต้องมาจับทหารไปทำสัญญาอะไรกับใคร ท่านทำสัญญากับตัวเองและประชาชนให้ได้ก็แล้วกัน ว่าจะไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอีก ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีหรือไม่มี ท่านพูดถึงทหารมาหลายครั้งผมยังไม่ได้ตอบโต้ วันนี้ผมยืนยันว่าไม่มีใครอยากทำ เสี่ยงอันตรายทุกอย่าง ถ้าไม่สำเร็จก็เดือดร้อนกันหมด ต้องนึกถึงว่าเขาทำกันเพื่ออะไร ผมไม่ได้พูดถึงครั้งอื่น แต่พูดถึงครั้งนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกฯ ชูหลักคิดในการปฏิรูปประเทศ 13 ข้อ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือ “หลักคิดในการปฏิรูปประเทศ” ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางเหมือนกับที่ตนคิดจึงนำมาแจกในที่ประชุม ครม. นอกจากนี้ตนยังอ่านหนังสือเกี่ยวแนวทางการปฏิรูปประเทศทั้งของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ของนายคณิต ณ นคร รวมถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และอีกหลายคณะ ซึ่งสรุปแล้วมีหลักการใหญ่ๆ อยู่ประมาณ 6-7 ประการ
“ตามหนังสือบอกว่า การปรองดองในประเทศเรายาก เพราะปรองดองในขณะที่เรามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผมจะทำให้ได้ ผมละเว้นกฎหมายไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นกฎหมายจะเสียหายหลายฉบับ คนอื่นก็จะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมได้อ่านหนังสือนี้แล้วเรียบเรียงออกมา ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมคิด และผมก็เติมไปนิดหน่อย เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สรุปหลักดังกล่าวได้มา 13 ข้อ ถือเป็นการที่คณะทำงานทั้ง 4 คณะ จะนำไปใช้เป็นแนวคิด จะถูกหรือผิดไปคิดเอาเอง และสร้างความรับรู้กับประชาชนด้วย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้
เห็นชอบ “The Michelin Guide Thailand” ดันท่องเที่ยวไทย
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการ The Michelin Guide Thailand จำนวน 4,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี แบ่งเป็นวงเงินปีแรก 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ และอีก 4 ปี วงเงินปีละ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ และให้ กก. โดย ททท. รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ไปดำเนินการต่อไป ดังนี้
1) ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ครบถ้วน โดยในการเจรจาทำสัญญากับบริษัทมิชลินฯ สมควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการขยายพื้นที่จัดโครงการฯ ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร ซึ่ง สลค. เห็นว่า เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองของรัฐบาล รวมทั้งให้ ททท. จัดทำแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สนับสนุน หรือขยายผลจากการให้การสนับสนุนโครงการฯ และทิศทางของโครงการฯ ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี และนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป
2) ให้ติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย ทั้งนี้ ในการทำสัญญาควรต้องมีข้อกำหนดให้ททท. สามารถขอยกเลิกการดำเนินโครงการก่อนครบกำหนดระยะ 5 ปีได้ หากผลการประเมินรายปีไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาหรือมีเหตุอันควรอื่นใด โดยแจ้งให้บริษัทมิชลินฯ ทราบล่วงหน้า โดย ททท. ไม่ต้องเสียค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ
จ้าง BEM เดินรถ เตาปูน–บางซื่อ 2 ปี – ก่อนรวมสัญญา ยาว 30 ปี
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบข้อตกลงการจ้างและร่างสัญญาจ้างเพื่อดำเนินการว่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ในวงเงินค่าจ้างรวม 918.48 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากการเจรจาครั้งก่อนประมาณ 93 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าจ้างดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ทั้งนี้ ในกรณีที่ใช้เงินกู้ดำเนินการ ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศที่เหมาะสม วิธีการให้กู้ต่อและค้ำประกันเงินกู้ และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยตามความเห็นของสำนักงบประมาณ รวมทั้งเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกู้เงินในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 75 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 และให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2560
สัญญาดังกล่าวจะว่าจ้าง BEM ดำเนินการเดินรถไปอีก 2 ปี หลังจากนั้นเมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ แล้วเสร็จในปี 2562 และ 2563 จะรวมสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อเดิม ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทานเหลืออีก 13 ปี และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงไว้ด้วยกัน ระยะเวลาสัมปทานทั้งเส้นทาง 30 ปี
ทั้งนี้ รูปแบบการเดินรถจะเป็นลักษณะบางแค-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางซื่อ-เตาปูน หรือทวนเข็มนาฬิกา โดยไม่มีการเดินทางตามเข็มนาฬิกาในลักษณะจากหัวลำโพง-ท่าพระ-เตาปูน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสภาพที่ดินบริเวณรอยต่อของสถานีท่าพระขึ้นไปยังทางสถานีเตาปูน ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งผู้โดยสารที่จะต้องการเดินทางตามเข็มนาฬิกาจะสามารถเปลี่ยนขบวนรถภายในสถานีได้ที่ท่าพระ-จรัญสนิทวงศ์13
ลงทุนระบบไฟฟ้าใต้ดิน 4 เมืองใหญ่ – 11,668.56 ล้านบาท
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 11,668.56 ล้านบาท จำนวน 4 เมือง จากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งสิ้น 12 เมือง ได้แก่ พัทยา, นครราชสีมา, หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ให้มีระบบไฟฟ้าทัดเทียมกับมาตรฐานของเมืองใหญ่ต่างๆ ในโลก โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 8,748.56 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 2,920 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนสถานีไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า และโครงการการนำสายไฟลงใต้ดิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพไฟฟ้าให้มีความเสถียร เพียงพอต่อการใช้งาน และทำให้ภูมิทัศน์สวยงาม ขณะที่อีก 8 เมืองที่เหลือ กฟภ. ยังมิได้แจ้งให้ ครม. รับทราบ แต่คาดว่าจะมีเมืองที่คาดหมายไว้แล้ว
ทั้งนี้ ให้ กฟภ. เร่งรัดดำเนินการตามโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้บูรณาการการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน และให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กำกับดูแลการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ
ชู “เขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ” ต้นแบบพัฒนา EEC ไทย
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบผลการศึกษาเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซและให้กระทรวง รวมไปถึงหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยึดเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เนื่องจากมีความคล้ายคลึงหลายประการ เช่น เขตพิเศษฯ คันไซ มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมาดูแล โดยจะจัดตั้งกลไกการดูแลระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นขึ้นมาร่วมทำงานด้วยกัน คล้ายกับ EEC ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรากฎหมายเฉพาะของ EEC ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นของสำนักงานกฤษฎีกา, มีพื้นที่ใกล้เคียงกัน คือ 3 จังหวัด ได้แก่ เกียวโต เฮียวโกะ และโอซาก้า, มีการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้เอกชน รวมไปถึงสถานศึกษาทำวิจัยและพัฒนา, มีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันและประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ เขตพิเศษฯ คันไซปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ โดยมีสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานภูมิภาคของบริษัทชั้นนำของโลกมาตั้งอยู่ ไทยควรจะหาทางพัฒนาเพื่อดึงดูดบริษัทต่างๆ เข้ามาเช่นกัน, การพัฒนาให้เมืองใน EEC เป็นเมืองท่องเที่ยว คล้ายกับเมืองในเขตพิเศษฯ คันไซ และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ คลัสเตอร์ ซึ่งของคันไซจะเน้นไปที่การแพทย์และพลังงานทางเลือก แต่ EEC ยังคงเน้นไปที่กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
“ต้องเรียกว่าเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซถือว่าเป็นแรงบันดาลใจของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาเหล่านี้เป็นที่รับรู้ ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศพบว่าดีมาก ภายหลังจากนักลงทุนญี่ปุ่นทราบว่าไทยจะลงทุนใน EEC หรือที่อาจจะเรียกว่า Eastern Seaboard ครั้งที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น ในการไปเยือนกันครั้งต่อๆ ไปคิดว่าจะได้ปรึกษาหารือเพิ่มเติมได้อีกมา” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ร้องเรียน ตร. นำอันดับ 1 – ลดระดับอุทกภัยใต้ เหลือระดับ 2
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ปรารภในที่ประชุม ครม. ถึงเรื่องร้องเรียนของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรมว่า ในช่วงที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีต่างๆ ความไม่เป็นธรรม และการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถัดมาคือปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคที่ยังไม่ครอบคลุม หรือมีปัญหาในการให้บริการ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ โดยยืนยันว่าจะดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนทุกคน พร้อมกันนี้ ในการแก้ปัญหาสาธารณูปโภคได้มอบให้องค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางเพื่อป้องกันไม่ปัญหาลุกลามบานปลายขยายไปสู่ส่วนอื่นต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. รับทราบประกาศกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ที่ 2 /2560 เรื่องลดระดับการจัดการสาธารณภัย กรณีอุทกภัยภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเดือน ธันวาคม 2559 – มกราคม 2560
โดยได้ประกาศประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัย จากภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 เป็นขนาดกลาง ระดับ 2 ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2558 เนื่องจากเห็นว่าปัญหาได้ลดระดับลงแล้ว โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจัดการจังหวัดเป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการในพื้นที่จังหวัด