มนุษย์กำลังเผชิญชะตากรรมจากภาวะโลกร้อนหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากหายนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างสาหัสทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สิน
โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมลภาวะที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นับเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 5 ล้านคนในปี 2553
รายงาน Climate Vulnerability Monitor ที่จัดทำโดยกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีชื่อว่า DARA ประเมินว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มเป็น 6 ล้านราย ขณะที่ต้นทุนความเสียหายทั้งหมดจะพุ่งแตะ 4.35 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าตัวเลข 6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2553
น่าสนใจว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลภาวะและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนราว 3.49 ล้านราย จากตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4.95 ล้านราย ในปี 2553 กระจุกตัวอยู่ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาและเอเชีย ประเทศเหล่านี้สูญเสียจากโลกร้อนคิดเป็นอัตรา 0.8-7% ของจีดีพีในปี 2573
ปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลให้ประชาชนใน 10 ประเทศนี้ต้องสังเวยชีวิตมากที่สุด ได้แก่ หายนะด้านสิ่งแวดล้อม โรคภัย อากาศร้อนและเย็นจัด และความอดอยาก
รายงานของ DARA ระบุว่า ประเทศเหล่านี้ต้องรับภาระจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงที่สุด ในปี 2553 ต้นทุนความเสียหายกว่า 82% ของทั้งโลกกระจุกอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา และ 98% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดก็อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งหลายประเทศปล่อยมลภาวะต่ำ ตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนมหาศาลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลับมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตเพียง 1% ในปี 2573
ถึงแม้ประเทศพัฒนาแล้วจะได้เปรียบประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเหล่านี้จะรอดพ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน อย่างกรณีของสหรัฐ หนึ่งในชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดกันว่าในปี 2553 มีชาวอเมริกันราว 80,000 คน ที่เสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมลภาวะที่เกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และประเมินว่า สหรัฐจะมีความสูญเสียจากสาเหตุนี้คิดเป็นกว่า 2% ของจีดีพีในปี 2573
สหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปัญหาภัยแล้งรุนแรง น้ำท่วม และพายุโซนร้อน รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ อย่างการที่ยุงจากประเทศเม็กซิโกอพยพขึ้นมายังบางพื้นที่ของสหรัฐที่ไม่เคยพบยุงเหล่านี้มาก่อน และเป็นพาหะนำโรคภัยไข้เจ็บมาให้ หรือน้ำแข็งในอลาสก้าที่เคยมีอยู่ชั่วนาตาปีกลับละลายหายไป ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแถบนั้นตกอยู่ในอันตราย สิ่งเหล่านี้ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัย
10 ประเทศ ที่ผู้คนสังเวยชีวิตให้กับภาวะโลกร้อนมากสุดในปี 2553 ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมลภาวะที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีดังนี้
อันดับ 1 ได้แก่ “จีน” ในแต่ละปีมีชาวจีนเสียชีวิต 1.5 ล้านคน โดยเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการปล่อยคาร์บอน และยังมีอีกราว 100 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ ส่วนความเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวนและการปล่อยมลภาวะ คิดเป็นสัดส่วน 1.4% ของจีดีพี
โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ราว 1.4 ล้านคน มีสาเหตุจากมลภาวะจากคาร์บอน และมีต้นทุนที่จีนต้องจ่ายสูงมาก อย่างในปี 2553 ต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จีนต้องแบกรับมากถึง 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ต้นทุนจากการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และประเมินว่าในปี 2573 แดนมังกรจะต้องจ่ายต้นทุนส่วนนี้สูงถึง 7.27 แสนล้านดอลลาร์ และ 4.51 แสนล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ทางการจีนเพิ่งออกรายงานเมื่อต้นปี 2555 เตือนว่า ภาวะโลกร้อนอาจจะทำให้ปริมาณธัญพืชที่ปลูกในประเทศลดลงราว 5-20% ภายในกลางศตวรรษนี้ และจะนำไปสู่ความไม่สมดุลอย่างรุนแรงของทรัพยากรน้ำตามมาในอนาคต
อันดับ 2 “อินเดีย” ในปี 2553 ต้นทุนภาวะโลกร้อนของอินเดียอยู่ที่ 1.28 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนความสูญเสีย 3.2% ของจีดีพีของประเทศ แต่ในอีก 18 ปีข้างหน้า เฉพาะสภาพอากาศแปรปรวนอย่างเดียวจะคิดเป็นต้นทุนปีละราว 6.80 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนต้นทุนจากการปล่อยมลภาวะจะอยู่ที่ 1.29 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
แต่ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะอยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนราว 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับในปี 2553 ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1 ล้านคน และกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมากถึง 250 ล้านคนในแต่ละปี
อันดับ 3 “ไนจีเรีย” ซึ่งมีประชากรกว่า 158 ล้านคน ในปี 2553 สังเวยชีวิตผู้คนจากเหตุผลเหล่านี้ปีละประมาณ 200,000 คน และมีแนวโน้มจะสูญเสียชีวิตในจำนวนใกล้เคียงกันนี้ในอีก 18 ปีข้างหน้า ขณะที่ในปี 2553 ผู้คนราว 20 ล้านคน ได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากสูดควันในร่มที่คร่าชีวิตคนไนจีเรีย 150,000 รายในแต่ละปี ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผู้คนต้องใช้เชื้อเพลิงจากการเผาไหม้
ต้นทุนความสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมลภาวะ คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของจีดีพี
อันดับ 4 “ปากีสถาน” เมื่อ 2 ปีก่อน ปากีสถานสูญเสียชีวิตผู้คน 150,000 คน จากภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอีกราว 20 ล้านคน มีต้นทุนความสูญเสียคิดเป็น 3.3% ของจีดีพี แต่พอถึงในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 คน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากมลภาวะทางอากาศ น้ำท่วม ดินถล่ม รวมถึงภาวะทุพภิกขภัยที่ทำให้ผู้คนอดตายมากถึง 10,000 คนในปี 2553 และจะเพิ่มเป็น 25,000 คน ที่จะตายเพราะความหิวโหยในปี 2573
อันดับ 5 “อินโดนีเซีย” ในปี 2553 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะโลกร้อน 150,000 คน และกระทบชีวิตผู้คนอีก 30 ล้านคน แต่เมื่อถึงปี 2573 คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 200,000 ราย
ขณะเดียวกัน ต้นทุนในการรับมือปัญหาโลกร้อนก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในแต่ละปี โดยเมื่อ 2 ปีก่อน ต้นทุนความสูญเสียจากเรื่องนี้คิดเป็น 5.3% ของจีดีพี และประเมินว่าในอีก 18 ปีข้างหน้า แดนอิเหนาจะต้องจ่ายต้นทุนเพิ่มเป็น 7% ของจีดีพี ยกตัวอย่างเรื่องการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ อินโดนีเซียจ่ายต้นทุนส่วนนี้ราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2553 และจะพุ่งเป็น 9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2573
อันดับ 6 “คองโก” หรือชื่อเต็ม สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในปี 2553 ประชาชนในดินแดนแห่งนี้สังเวยชีวิตให้ภาวะโลกร้อน 100,000 คน แบ่งเป็น 17,000 คน ที่เสียชีวิตจากสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอีก 84,000 คน ลาโลกเพราะมลภาวะ ขณะที่ราว 15 ล้านคน ได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนต้นทุนความสูญเสียจากทั้ง 2 สาเหตุ คิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของจีดีพี แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีก 18 ปี ประเทศแห่งนี้จะสูญเสียชีวิตผู้คน 25,000 คน และ 91,000 คน จาก 2 สาเหตุดังกล่าว
ปัญหาใหญ่ของคองโกคือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความชื้นที่เพิ่มขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ ประกอบกับขาดทรัพยากรที่จำเป็นในการต่อสู้กับปัญหา เพราะประเทศอยู่ในภาวะยากจน ในปี 2554 จีดีพีต่อหัวของชาวคองโกอยู่ที่ 231 ดอลลาร์ต่อปี ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 203 ประเทศ ที่ธนาคารโลกประเมิน
อันดับ 7 “บังกลาเทศ” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศนี้ 100,000 คน ในปี 2553 และอีก 55 ล้านคน ได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ 148.7 ล้านคน ส่วนต้นทุนความเสียหายคิดเป็น 3.7% ของจีดีพี
รายงานของ DARA ประเมินว่า ในปี 2573 ผู้เสียชีวิตในบังกลาเทศจากภาวะโลกร้อนจะเพิ่มเป็น 150,000 คน และมีประชาชนอีก 70 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความอดอยากจากความไม่มั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยในอีก 18 ปีข้างหน้า น่าจะมีประชาชนเสียชีวิตจากความหิวโหย 15,000 คน และกระทบผู้คนเป็นๆ ราว 15 ล้านคน
อันดับ 8 “เอธิโอเปีย” เมื่อ 2 ปีก่อน จำนวนผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศและมลภาวะอยู่ที่ 100,000 คน และกระทบชีวิตของผู้คนประมาณ 10 ล้านราย มีต้นทุนความสูญเสียคิดเป็น 4.7% ของจีดีพี เฉพาะต้นทุนด้านการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ที่ 450 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มเป็น 3 พันล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า
พอถึงปี 2573 ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตจะเพิ่มเป็น 15 ล้านราย โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และอาการท้องร่วงจากการรับประทานอาหารเน่าเสีย ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนตาย 6,500 คนในอีก 18 ปีข้างหน้า และยังมองไม่เห็นว่าเอธิโอเปียจะหลุดพ้นปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 374 ดอลลาร์ในปี 2554
อันดับ 9 “รัสเซีย” ในปี 2553 ชาวรัสเซียที่สังเวยชีวิตให้กับภาวะโลกร้อนอยู่ที่ 100,000 คน ซึ่ง 98,000 คน ตายจากสาเหตุของมลภาวะจากคาร์บอน ส่วนอีก 8 ล้านคน ได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และต้นทุนความสูญเสียคิดเป็น 1.7% ของจีดีพี
แต่แนวโน้มในปี 2573 จำนวนประชาชนแดนหมีขาวที่เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมลภาวะจะลดลงเหลือ 80,000 คน จากที่ในปี 2553 อยู่ที่ 100,000 คน
อันดับ 10 “อัฟกานิสถาน” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ชาวอัฟกันเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยในปี 2553 มีประชาชนสังเวยชีวิตไปราว 90,000 คน และมีอีก 10 ล้านคน ที่ไม่อาจหลีกหนีผลกระทบจากเรื่องนี้ สำหรับต้นทุนความสูญเสียคิดเป็น 8.3% ของจีดีพี
เมื่อถึงปี 2573 ประเมินว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 150,000 คน จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่นำไปสู่ปัญหาภัยแล้ง ความอดอยาก และผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อาหารบูดเน่าและน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค ส่งผลให้โรคท้องร่วงเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุนี้จะคร่าชีวิตผู้คนกว่า 4,000 คน
ขณะที่คาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยในปี 2553 พบว่า อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยที่สุดในโลก โดยมีอายุเฉลี่ยแค่ประมาณ 48.3 ปี