ThaiPublica > คอลัมน์ > “การรักษาต้องสงสัย”

“การรักษาต้องสงสัย”

18 มิถุนายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

“บัตรทอง 30 บาท “บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค “บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ“University Health Care (UHC)” คือสิ่งเดียวกันทั้งหมดในการให้บริการสาธารณสุขโดยรัฐแก่ประชาชนไทยอย่างฟรีถ้วนหน้า (ปัจจุบันไม่ต้องจ่ายแม้แต่ 30 บาท) ความคิดนี้กำลังได้รับความสนใจในระดับโลกเฉกเช่นเดียวกับการศึกษาฟรี นิตยสาร “The Economist” ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชมประเทศไทยว่ารัฐบาลจ่ายเงินรักษาพยาบาลเพียงปีละ 220 เหรียญ (6,800 บาทต่อคนต่อปี แต่ได้ผลลัพธ์ในระดับเทียบเคียงกับกลุ่มประเทศ OECD (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสมาชิก 35 ประเทศ)

ในงานสัมมนาประจำปีของกลุ่มประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพในประเทศต่าง ๆ ที่เชียงใหม่ ระหว่าง 7-9 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่มีชื่อว่า HTAsiaLink 2018 โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP)ของมูลนิธิในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสนอหลากหลายผลงานวิจัยเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้ทรัพยากรเพื่อ UHC ในประเทศต่าง ๆ

ทุกประเทศไม่ว่ารวยหรือจนล้วนมีทรัพยากรจำกัดในการรักษาพยาบาลประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเรื่อง UHC ซึ่งเป็นการรักษาพยาบาลฟรี การค้นหาความจริงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยา วิธีการรักษา ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะนำไปสู่การขีดวงของการให้บริการ

ตัวอย่างเช่นเกิดวัคซีนป้องกันโรค ก. ขึ้นมาซึ่งเป็นประโยชน์ คำตอบด้านนโยบายก็คือสมควรรับเอาวัคซีนนี้มาฉีดฟรีให้แก่ทุกคนหรือไม่ ถ้าไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าได้ก็จะเสียเงินจำนวนมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่น ปรากฏว่าวัคซีนนี้ป้องกันได้น้อยกว่าที่โฆษณา อีกทั้งมีประสิทธิภาพเฉพาะกับบางช่วงอายุ เงินที่สูญไปอย่างไม่ควรนั้นสามารถเอาไปใช้อย่างอื่นได้

ทุกประเทศล้วนปวดหัวกับ “ของใหม่” และ “ของเก่า” ทั้งสิ้น บางเรื่องทางการแพทย์ก็ไม่เป็นจริงดังที่เคยเชื่อกันเพราะงานวิจัยที่วัดประสิทธิภาพนั้นอาจผิดพลาดแต่แรก บางเรื่องก็รู้ไม่จริงอย่างเพียงพอทั้งตัวแพทย์เองและบริษัทผู้ผลิต บางเรื่องก็เชื่อกันว่าเป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยจนไม่ถามคำถามที่ควรถาม ผลที่ตามมาก็คือการตายผ่อนส่ง

ที่มาภาพ : http://www.klor.co.uk/book-covers/testingtreatments/

ในงานสัมมนาครั้งนี้มีการพูดถึงหนังสือดังก้องโลกเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “Testing Treatments” เขียนโดยคณะแพทย์และนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงข้อจำกัดของการรักษาพยาบาล ความรู้ของวงการแพทย์ การต้องค้นหาความจริงต่อไปในเรื่องสาธารณสุข ความผิดพลาดของงานวิจัยทางการแพทย์ ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาที่สำคัญของโลกและอื่น ๆ กว่า 16 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยซึ่งจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่อาจทำให้บางคนที่คิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานเข้าใจสถานะตนเองดีขึ้น เมื่อสมัยก่อนนั้นใครที่มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar — FBS) เกิน 140 ถือว่าเป็นเบาหวาน แต่ต่อมาในปี 1997 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการวินิฉัยและจัดกลุ่มเบาหวานในระดับโลกให้คำจำกัดความโรคนี้ใหม่ว่า ถ้าใครมีระดับ FBS เกิน 126 ถือว่าเป็นเบาหวาน ดังนั้นผู้ที่มีระดับFBS ระหว่าง 126 ถึง 140 ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่าปกติ กลายเป็นเบาหวานข้ามคืนไปทันที การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมากและยาโรคเบาหวานขายดีขึ้นอีกมากมาย

อย่างนี้เรียกว่าเป็นผลพวงที่เกิดจากการพยายามทำให้ผู้คนสุขภาพดีขึ้นด้วยการทำให้ผู้คนป่วยไข้ งานวิจัยในเรื่องนี้พบว่าคนที่มีระดับ FBS 126-140 มีความเสี่ยงไม่มากที่จะมีอาการแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่น่าจะเรียกว่าเป็นเบาหวาน

หนังสือเล่มนี้ให้ความจริงว่าไม่มีอะไรเป็นคำตอบตายตัวในเกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาล ดังเช่นเรื่องเบาหวานข้างต้น ถ้าในอนาคตหากมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือออกมาว่า FBS 150 ขึ้นไปจึงจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากก็อาจปรับเกณฑ์กันใหม่ก็เป็นได้

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มนี้และได้เขียนคำนิยมจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมาสื่อสารต่อเพื่อให้อ่านกันมาก ๆ ดังนี้ “….ทุกคนมีชีวิตเดียว มีโอกาสที่จะมีอายุ 30 ปี 40 ปี หรืออายุใด ๆ เพียงครั้งเดียว ดังนั้นชีวิตจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์แต่ละคน อย่างไรก็ดีสิ่งมีค่ายิ่งนี้มีความเสื่อมไปทีละน้อย และเพิ่มเติมด้วยความเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกมากมาย เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ การมีความรู้ในการทะนุถนอมให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างยาวนานและมีความสุขอย่างเจ็บป่วยน้อยที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

“การรักษาต้องสงสัย” เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการมีชีวิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยั่วยุให้นึกถึงคำถามหลายข้อที่คนทุกคนซึ่งสามารถเป็นคนไข้ได้ทุกขณะไม่เคยคิดมาก่อน

คำถามเหล่านี้เกี่ยวพันกับสิ่งที่เคยเชื่อว่าจริงอย่างไม่มีข้อกังขาใด ๆ มาก่อน เช่น คำแนะนำและความเห็นของแพทย์ผู้รักษา ประสิทธิผลของยาและอาหารเสริม วิธีการรักษา วิธีการดูแลตนเอง ฯลฯ บางคำถามก็มีคำตอบให้ และสำหรับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็ให้ขั้นตอนของการศึกษาสอบสวนจากแพทย์และแหล่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

…หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์เพราะปลุกให้ผู้คนตื่นขึ้นจากการ “ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้” ซึ่งหมายถึงการเคยเชื่ออย่างสนิทใจเกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ อิทธิฤทธิ์ของยา ความรู้ของแพทย์ วิธีการรักษา ฯลฯ จนไม่คิดตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความจริงแท้ “การรักษาต้องสงสัย” ทำให้เกิดการตระหนักว่ายังมีสิ่งที่วงวิชาการไม่รู้จริงอยู่อีกเป็นอันมากซึ่งก่อให้ความระมัดระวังแก่ผู้อ่านในการดูแลสิ่งมีค่าที่สุดของตนเอง

หนังสือมีบทเสริมโดย ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ (ผู้อำนวยการ HITAP) ในเรื่อง “นโยบายต้องสงสัย” HITAP ได้เลือกหนังสือแปลและพิมพ์เผยแพร่ได้อย่างเหมาะสม

ใครที่เป็นคนไข้ที่รับบริการแพทย์อยู่ ใครที่คิดว่าวันหนึ่งจะต้องป่วย ใครที่พยายามดูแลสุขภาพของตนเองอยู่เพื่อหลีกหนีความเจ็บป่วย ใครเป็นแพทย์ผู้รักษาตามแนวคิดดั้งเดิม ฯลฯต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ซึ่งเปรียบเสมือนการผจญภัย

Helen Keller (ค.ศ.1880-1965) นักเขียนและนักต่อสู้เพื่อสังคมชาวอเมริกันคนสำคัญกล่าวไว้ว่า “Life is either a daring adventure or nothing.” (ชีวิตคือการผจญภัยอย่างกล้าท้าทายหรือไม่ใช่อะไรเลย)….”

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นจริงแท้แน่นอน แต่ถ้าเอา “การไม่เชื่อทุกอย่างในทางการแพทย์อย่างสนิทใจ” ประกอบไปด้วยก็จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพขึ้นอีกมาก

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 15 พ.ค. 2561