ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (1): สนพ. แจงเหตุยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ใหม่

ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (1): สนพ. แจงเหตุยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ใหม่

24 พฤษภาคม 2017


ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน

ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน (1): สนพ. แจงเหตุยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ใหม่ จำกัดขนาดไม่เกิน 4 หมื่นล้าน ปิดช่องใช้ทำประชานิยม – แก้ราคาบิดเบือน คาดบังคับใช้สิ้นปีนี้

หลังจากร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผ่านเว็บไซต์ของ สนพ. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยในวันสุดท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็น ทาง สนพ. จะเชิญผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนประมาณ 300 คน เข้าร่วมงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี

วัตถุประสงค์ของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากภาครัฐต้องการที่จะยกระดับของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและบริหารกองทุนน้ำมันจากกฎหมายลำดับรองให้เป็นกฎหมายหลักในระดับ “พระราชบัญญัติ” ซึ่งกองทุนน้ำมันที่จัดตั้งขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และในบางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การดำรงชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย สมควรให้มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเป็นกลไกช่วยพัฒนาพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เดิมทีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 มีอำนาจในการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้นำเข้า ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เป็นแหล่งทุนในการแทรกแซงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยมีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้กำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนฯ และอัตราการจ่ายเงินชดเชยให้กับน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด และมอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่บริหารจัดการกระแสเงินสดของเงินกองทุนฯ รวมถึงกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในกรณีที่กองทุนฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายชดเชยราคาน้ำมัน

“การที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายก 4/47 ภายใต้พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ขณะที่การบริหารจัดการของกองทุนพลังงานมีรูปแบบคล้ายๆ กับการจัดเก็บภาษี กล่าวคือมีทั้งการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ และจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ค้าน้ำมัน จึงมีนักกฎหมายหลายท่านแนะนำให้ยกระดับกฎหมายการจัดตั้งกองทุนฉบับนี้ ตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับพระราชกำหนดเดิมกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจจะยังไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงเปิดช่องให้รัฐบาลในอดีตใช้เป็นเครื่องมือในการทำประชานิยมแบบสุดโต่งมากเกินไป โดยนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยราคาให้กับเชื้อเพลิงบางประเภทและตรึงราคาเป็นระยะเวลานาน ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันและการใช้พลังงานในประเทศเกิดการบิดเบือน และยังส่งผลกระทบต่อฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และในบางยุคสมัยมีการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG จนทำให้ฐานะเงินกองทุนจากบวกอยู่ 30,000 ล้านบาท กลายเป็นติดลบ 50,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน รวมทั้งมีการสั่งการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปกู้เงินจากตลาดเข้ามาชดเชยราคาพลังงานจนทำให้ฐานะเงินกองทุนติดลบสูงสุดถึงเกือบ 90,000 ล้านบาท” ดร.ทวารัฐกล่าว

ดังนั้น การยกร่างแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ยกระดับกฎหมายจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากคำสั่งนายกฯภายใต้ พ.ร.ก. ขึ้นเป็น พ.ร.บ. รวมทั้งยกระดับสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ขึ้นเป็นสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้อย่างขัดเจน

ดร.ทวารัฐกล่าวต่อว่า การใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ดังนี้

    1. รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน
    2. สนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้
    3. บรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
    4. สนับสนุนการลงทุนในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงด้านพลังงาน
    5. สนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงด้านพลังงาน

ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฉบับนี้ได้กำหนดขนาดของกองทุน เมื่อรวมเงินกู้ยืมแล้วจะมีขนาดไม่เกิน 40,000 ล้านบาท กรณีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่ใช้ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ สามารถดำเนินการขอกู้เงินได้ โดยการทำเรื่องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี แต่จะต้องไม่เกินกรอบวงเงินสูงสุดกำหนดไว้ในมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ (ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท) หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนกรอบวงเงินตามที่กำหนดไว้ สามารถทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

“ตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทางกระทรวงพลังงานต้องนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 ก่อนส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน คาดว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้” ดร.ทวารัฐกล่าว