ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. จี้กรมศุลฯ เก็บภาษีคิง เพาเวอร์ ช็อปดิวตี้ฟรีในสนามบินขาออก – รับของขาเข้าระบุไม่มี กม. รองรับ – อธิบดีกรมศุลฯ ยันทำได้

สตง. จี้กรมศุลฯ เก็บภาษีคิง เพาเวอร์ ช็อปดิวตี้ฟรีในสนามบินขาออก – รับของขาเข้าระบุไม่มี กม. รองรับ – อธิบดีกรมศุลฯ ยันทำได้

13 พฤษภาคม 2017


นอกจากประเด็นร้อนกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาปลดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งยกเลิกสัมปทานกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์แล้ว

อีกเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นข้อถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ คือ กรณีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพบว่า การดำเนินงานดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามกฎหมายกรมศุลกากรและไม่มีกฎหมายรองรับ จึงมอบหมายให้นางภัทรา โชว์ศรี ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ ตผ 0042/1705 ลงวันที่ 21 เมษายน 2560 ถึงอธิบดีกรมศุลกากร ให้ดำเนินการตามที่ สตง. มีข้อสังเกตดังนี้

1. เรื่องการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายศุลกากร โดยมีการส่งเสริมให้นำสินค้าปลอดอากรเข้ามาบริโภคในประเทศ

ตามหลักการในการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำสินค้าปลอดอากรออกไปนอกราชอาณาจักร ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าให้กับผู้ที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการขายของในลักษณะ Pre-order หรือ ซื้อขายออก-รับขาเข้า โดยผู้ซื้อไม่ได้นำของออกไปนอกราชอาณาจักร แต่มารับสินค้าในวันเดินทางถึงประเทศไทย จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน Sale Daily Report by Airport ที่เกี่ยวข้องกับรายได้ของการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่า รายการขายสินค้าปลอดอากรในลักษณะของการขายแบบ Pre-order เป็นการขายที่ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าแล้วมารับสินค้าในวันเดินทางกลับถึงประเทศไทย

และจากการสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ได้ตรวจสอบเครื่อง Point Of Sale (POS) ณ จุดรับสินค้าสั่งจอง (Collection Point) ซึ่งเดิมเรียกจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) บริเวณสายพานรับกระเป๋าที่ 16 (Baggage Claim 16) ติดกับร้านปลอดอากรขาเข้า ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า พบว่าเครื่อง POS ที่ตั้ง ณ จุดดังกล่าว NO.D141 เป็นเครื่องเดียวกับเครื่อง POS ที่ใช้ในการขายแบบ Pre-order ใน Sale Daily Report by Airport

การขายของออกจากร้านค้าปลอดอากรขาออกที่ไม่ได้มีการนำของออกนอกราชอาณาจักรของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขออนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร จึงไม่เป็นไปตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ข้อ 6.4 ผู้ซื้อต้องนำของออกนอกราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการซื้อเพื่อนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีอากร และจากการสุ่มตรวจสอบการขายแบบ Pre-order ตามรายงาน Sale Daily Report by Airport เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน- มิถุนายน 2559 มียอดขาย Pre-order จำนวน 30,322 รายการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 164.66 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ขายต้องเสียภาษีอากร (ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าที่กฎหมายกำหนดภาษีไว้) ได้แก่ อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากการคำนวณเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังไม่นับรวมฐานภาษีอื่น คิดเป็นมูลค่า 11.52 ล้านบาท

2. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรขาออกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ข้อ 6.3.3 (2) กำหนดให้ร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองมีจุดส่งมอบสินค้า โดยได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร

สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน ไม่มีการกำหนดจุดส่งมอบสินค้า การกระทำจึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดจุดส่งมอบสินค้าที่กำหนดให้ เฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมืองใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้อธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ดำเนินการตรวจสอบ กรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขายสินค้าให้ผู้ซื้อ แต่ไม่ได้นำสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร โดยการขายแบบ Pre-order ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. ให้ดำเนินการขยายผล จากการตรวจสอบของ สตง. และเรียกเก็บภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการขายแบบ Pre-order ทั้งหมดให้ครบถ้วน จากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่ดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินสุวรรณภูมิ และตรวจสอบเพิ่มเติมในส่วนของสนามบินภูมิภาค หากพบว่ามีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ก็ให้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีอากรให้ครบถ้วนเช่นเดียวกัน และรายงานแจ้งผลการตรวจสอบ และแจ้งเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบโดยด่วน

3. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัทฯ ดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินขายสินค้า โดยไม่ได้มีการนำของออกไปนอกราชอาณาจักรจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางอาญา และแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ และแจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ เพื่อประกอบการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่อไป

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ สตง. มีข้อเสนอแนะมาถึงกรมศุลกากร ตนก็ได้เรียกเจ้าหน้าที่มาสอบถาม ในเบื้องต้น สามารถดำเนินการได้ และเป็นไปตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 กำหนดให้มีการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ทั้งขาออกและขาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้านั้นสามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภายหลังจากผู้โดยสารผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาแล้ว ขณะนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำหนังสือชี้แจง สตง. แล้ว

[scribd id=348160273 key=key-LRk9Arxmwj6hVoRUcl6v mode=scroll]