ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ธปท. แจงนโยบายการเงิน ยังหนุนศก.ฟื้นตัวต่อเนื่อง – ชี้ลดขายพันธบัตรสกัดเงินทุนไหลเข้า

ธปท. แจงนโยบายการเงิน ยังหนุนศก.ฟื้นตัวต่อเนื่อง – ชี้ลดขายพันธบัตรสกัดเงินทุนไหลเข้า

12 เมษายน 2017


เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2560 ภายหลังการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ว่าเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ประเทศยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ และจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ นายจาตุรงค์กล่าวถึงการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ยว่าโดยรวมมีมากกว่าที่เคยประเมินเอาไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อใหม่ (New Loan Rate: NLR) และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย (ELR) ลดลงมากกว่าดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) โดยประเภทของสินเชื่อใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงเป็นไปในลักษณะกระจายตัวและไม่คาดว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมกับระบบการเงินไทย อนึ่ง ความเสี่ยงของระบบการเงินในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยรวมมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังต้องติดตามธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะลดลงในระยะต่อไป เนื่องจากต้องรอการส่งผ่านของเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง ตามธรรมชาติของตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลที่จะตามหลังเศรษฐกิจจริงประมาณ 2 ไตรมาส

สำหรับมาตรการลดวงเงินการออกพันธบัตร ระยะสั้น 3-6 เดือน ของ ธปท. ในเดือนเมษายนลง 10,000 ล้านบาท จากอาทิตย์ละ 40,000 บาท เหลืออาทิตย์ละ 30,000 บาท รวมลดลง 80,000 ล้านบาท นายจาตุรงค์กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อความได้เปรียบทางการค้า แต่เป็นการดูแลเงินทุนไหลเข้าส่วนเกินเท่านั้น ส่วนการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะบุว่าจะตรวจสอบเรื่องประเทศที่ควบคุมค่าเงินและส่งผลต่อดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา นายจาตุรงค์กล่าวว่า อาจจะต้องติดตามต่อไปว่ามีประเทศใดบ้าง และคาดว่ากระบวนการต่อไปน่าจะเป็นการเริ่มเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อหาทางออกร่วมกันมากกว่า ซึ่งกรณีของประเทศไทยไม่ได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อความได้เปรียบทางการค้าแต่อย่างใด

ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมายังไม่กระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจไทยมากนัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงขึ้นเล็กน้อยในพันธบัตรระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ส่วนพันธบัตรระยะสั้น 1-3 ปี เป็นระยะเวลาที่ธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เพื่อระดมทุนไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเข้าใกล้กับ Dot Plot เป็นการคาดการณ์ของเฟด สอดคล้องใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้การปรับดอกเบี้ยของเฟดในอนาคตอาจจะไม่กระทบตลาดเงินมากนัก รวมไปถึงลดโอกาสที่จะเกิดเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรง

“การประมูลพันธบัตรรอบแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 พบว่าอัตราดอกเบี้ยของการประมูลลดลง จะบอกว่าเป็นผลจากมาตรการหรือไม่คงตอบยาก เพราะบังเอิญช่วงนั้นยีลด์ของสหรัฐฯ ก็ลดลงเช่นกัน หรือค่าเงินบาทก็อ่อนลดสอดคล้องกับช่วงที่ภูมิภาคอ่อนลงเหมือนกันพอดี ส่วนมาตรการดังกล่าวจะกระทบกับปริมาณเงินในระบบและภาวะการเงินหรือไม่ ต้องบอกว่าเนื่องจาก ธปท. ใช้เป้าหมายดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น ปริมาณเงินจะเพิ่มลดขึ้นอยู่กับอุปสงค์กับอุปทานมากกว่า มันไม่สามารถจับคู่กันได้แบบนั้นว่าเพิ่มหรือลด และขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย แต่ให้คำตอบว่าเราก็ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอัตราดอกเบี้นนโยบายเอาไว้” นายจาตุรงค์กล่าว

ติดตามเศรษฐกิจโลกกระทบส่งออกไทย

นายจาตุรงค์กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในอนาคตมาจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่อาจกระทบการส่งออก และความเสี่ยงในภาคการเงินของจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำ รวมไปถึงการลงทุนภาครัฐที่อาจจะล่าช้า แม้โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้างจากการลงทุนภาครัฐที่อาจกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจทำได้มากกว่าคาด

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 2.2% นำโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามความนิยมใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มากขึ้น และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีรวมทั้งมีธุรกิจบางรายย้ายฐานการผลิตมาไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ แผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหมวดสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ

การส่งออกบริการฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายคลี่คลาย ทั้งนี้ การขยายระยะเวลามาตรการลด/ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมทั้งมาตรการจำกัดการขายแพกเกจท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ของทางการจีนที่คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนมาเที่ยวไทยมากขึ้น

การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ตามโครงการประชารัฐสร้างไทยที่ชัดเจนขึ้น กรอบวงเงินงบประมาณปี 2561 ที่สูงกว่าที่คาด และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น แม้จะมีการเลื่อนแผนลงทุนรถไฟทางคู่บางส่วนออกไปเป็นปีหน้าตามการทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง

การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงสนับสนุนหลักมาจาก 1) รายได้เกษตรกรที่ปรับ ดีขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยราคายางพาราสูงขึ้นและผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 2) รายได้ครัวเรือนภาคบริการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และ 3) กำลังซื้อบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังรายจ่ายผ่อนชำระตามมาตรการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง อย่างไรก็ตาม รายได้และการจ้างงานในภาพรวมอาจยังไม่ได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้ามากนัก เพราะสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต

การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน ทดแทน แม้ในช่วงแรกการลงทุนอาจได้รับผลดีไม่มากนักจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ในระยะต่อไป การลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้นได้หลังจากที่การบริโภค และการส่งออกขยายตัวชัดเจนขึ้น