ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15-21 เม.ย. 2560: “จี้รัฐ ตามหา ‘หมุดคณะราษฎร'” และ “รัสเซียเตือน นทท. ในไทย ระวังก่อการร้าย”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15-21 เม.ย. 2560: “จี้รัฐ ตามหา ‘หมุดคณะราษฎร'” และ “รัสเซียเตือน นทท. ในไทย ระวังก่อการร้าย”

22 เมษายน 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15-21 เม.ย. 2560

  • จี้รัฐ ตามหา “หมุดคณะราษฎร”
  • อากาศร้อน คนไทยหนาว จ่อขึ้นค่าเอฟที 10 สตางค์
  • ลดค่าสินไหม “คดีแพรวา” เหลือ 19 ล้าน
  • เรียกคืนเครื่องราชฯ “ผอ.พระราชวังสนามจันทร์” ฐานคุกคามทางเพศ
  • รัสเซียเตือน นทท. ในไทย ระวังก่อการร้าย
  • จี้รัฐ ตามหา “หมุดคณะราษฎร”

    ภาพหมุดคณะราษฎรที่ถูกรื้อถอนออกไปและยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน (ซ้าย) และภาพของหมุดใหม่ที่ถูกนำมาสับเปลี่ยน (ขวา)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (https://goo.gl/1NjKrK)

    วันที่ 14 เม.ย. 2560 เฟซบุ๊กหมุดคณะราษฎรได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบแจ้งว่า หมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าหมุดคณะราษฎร ซึ่งมีข้อความว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ได้ถูกรื้อถอนออกไปจากที่ติดตั้งเดิมบนพื้นถนนบริเวณพระบรมรูปทรงม้า และมีการนำหมุดใหม่ที่มีข้อความว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” มาติดตั้งแทน

    เรื่องดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากบางส่วนในสังคมว่าหมุดดังกล่าวหายไปได้อย่างไร หายไปอยู่ที่ไหน และใครเป็นคนลงมือทำเรื่องดังกล่าว

    หลังจากมีเหตุการณ์ “เปลี่ยนหมุด” เกิดขึ้น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์จี้ให้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครเร่งติดตามนำหมุดคณะราษฎรกลับมาติดตั้งตามเดิม พร้อมทั้งระบุว่าหากไม่ทำ สมาคมฯ จะดำเนินการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิในมาตรา 51 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560

    และต่อมา ในวันที่ 18 เม.ย. 2560 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีhttps://goo.gl/SusY7Fรายงานว่า นายศรีสุวรรณได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นเกี่ยวกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและการนำหมุดใหม่มาฝังแทนที่ โดยขอให้มีการติดตามนำหมุดเก่ากลับมา พร้อมดำเนินคดีต่อผู้ที่นำหมุดเดิมไป แต่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาควบคุมตัวไปก่อนจะได้ยื่น

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า หลังจากถูกควบคุมตัวไปเป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมง นายศรีสุวรรณที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาได้บอกกับบีบีซีไทยว่า ทหารพาตัวตนไปพูดคุยในห้องประชุมของมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยขอให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องหมุดคณะราษฎร เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีฝ่ายการเมืองมาต่อแถว เกรงว่าถ้าเคลื่อนไหวต่อไปอาจจะลุกลามบานปลาย ก่อนจะปล่อยตัวตนออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา หรือให้ทำข้อตกลงอะไร แต่อย่างใด

    “เขาขอให้ผมเพลาเรื่องนี้ลงไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่มี invisible hands (มือที่มองไม่เห็น) อยู่เยอะ นี่คือคำที่เขาพูด” นายศรีสุวรรณกล่าว

    หมุดหาย เสธ.ไก่อู เงียบ ไม่มีความเห็น – กรมศิลป์ฯ ปัด ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานโดยอ้างประชาชาติธุรกิจว่า พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบเรื่องเกี่ยวกับการหายไปของหมุดคณะราษฎรเพียงสั้นๆ ว่า “โดยส่วนตัวผมไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้ และไม่ขอออกความเห็นเรื่องดังกล่าว” ซึ่งสื่อมวลชนจึงต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไปหลังจากเปิดทำงานหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

    ด้านเว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนหมุดนั้น นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลป์ฯ ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อความในหมุดดังกล่าวจริงก็ไม่ต้องแจ้งให้กรมศิลป์ฯ รับทราบ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่กรมศิลป์ฯ ดูแล ทางกรมศิลป์ฯ ดูแลเฉพาะองค์อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่ในความดูแลของกรมศิลป์ฯ ส่วนบริเวณหมุดอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใดนั้น ตนไม่ทราบ

    “ศรีวราห์” ชี้ หมุดไม่มีเจ้าของ-ไม่ใช่ของแผ่นดิน เอาผิดไม่ได้

    วันที่ 18 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีความเคลื่อนไหวให้ดำเนินคดีลักทรัพย์กับผู้ที่ถอดเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้าว่า กรณีนี้จะถือเป็นคดีลักทรัพย์ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ ไม่ว่ากรณีอ้างเป็นทายาทหรือเป็นเจ้าของ ก็ต้องมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น เช่น อ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นทายาทของใคร ถ้าได้รับตกทอดมาก็ต้องมีหลักฐานว่าได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก หากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์มรดกก็อ้างเป็นมรดกหรือเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ กรณีหมุดนี้ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สอบถามไปยังหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานเขตดุสิตและกรมศิลปากร ได้รับการยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ จึงไม่ใช่ของแผ่นดิน ไม่ใช่โบราณวัตถุหรือดูแลครอบครอง เมื่อเป็นดังนั้นยังไม่ชัดว่าทรัพย์นี้เป็นของใครเลย จะดำเนินคดีลักทรัพย์ได้อย่างไร ทรัพย์เป็นของใครยังไม่รู้เลย ยังไม่มีเจ้าของมาบอกเลยว่าทรัพย์ของตนเองหายไป จะทำคดีได้อย่างไร ความผิดเกิดหรือยังก็ไม่รู้

    คสช. ขอ หุยดตามหมุด “เพื่อความปรองดอง” – ปอท. จ่อเอาผิด “วัฒนา” โพสต์หมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุโบราณ

    วันที่ 19 เม.ย. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มคนยังคงเคลื่อนไหวทวงคืนหมุดคณะราษฎร ว่า คสช.ขอความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นแนวทางดีที่สุด ทุกคนทุกฝ่ายในฐานะที่เป็นคนไทย  ควรสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นหลักมากว่าจะมาจุดประเด็นเรื่องทวงคืนหมุดคณะราษฎร

    ขณะเดียวกัน จากรายงานของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจกองบังคับการปราบปรามกรรกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีต่อนายวัฒนา เมืองสุข ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า หมุดคณะราษฎรที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ ให้คนไทยเรียกร้องทวงคืน ซึ่งเป็นเท็จ ทำให้ประชนบางส่วนเข้าใจผิดออกมาเคลื่อนไหว อาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการออกหมายเรียกนายวัฒนารับทราบข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    อากาศร้อน คนไทยหนาว จ่อขึ้นค่าเอฟที 10 สตางค์

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 19 เม.ย. 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะประชุม และประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที อัตราใหม่ที่จะใช้ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. นี้ โดยมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย หรือติดลบน้อยลง จากปัจจุบันที่ค่าเอฟทีติดลบอยู่ที่ 37.29 สตางค์ต่อหน่วย หรือเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 3.38 บาทต่อหน่วย ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น ตั้งแต่เดือนหน้า

    นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สัดส่วนมากถึงร้อยละ 65 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 233 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

    ขณะที่ สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม ขึ้น รวมถึงต้นทุนจากพลังงานหมุนเวียน และการปิดซ่อมแหล่งก๊าซยาดานาในเมียนมา เมื่อวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า 30 ล้านลิตร ทำให้ไม่สามารถตรึงค่าเอฟทีได้ แต่จะปรับเท่าใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดอีกครั้ง ซึ่งจะทยอยปรับให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

    ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. คาดการณ์่ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีก จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ ที่ 32,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนรับมือไว้ โดยเตรียมก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมรับอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

    แต่การนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

    ลดค่าสินไหม “คดีแพรวา” เหลือ 19 ล้าน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/?p=306919)

    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุ น.ส.แพรวา หรือ อรชร (นามสมมติ) ขับรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.2553 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมติ) เยาวชนหญิง ที่ขับรถยนต์ซีวิค รวมพันเอก รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดา ของเยาวชน, นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค, นายสันฐิติ วรพันธ์, น.ส.วิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 54 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

    สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 58 โดยเห็นว่าคดี น.ส.แพรวา เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิด จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อรับฟังได้ว่า น.ส.แพรวา จำเลยที่ 1 กระทำผิด บิดาและมารดา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย พิพากษาให้น.ส.แพรวา บิดา และมารดาของน.ส.แพรวา ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ละคน ในจำนวนเงินแตกต่างกันตั้งแต่ คนละ 4,000-1,800,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

    ต่อมาโจทก์ที่ 5, 11 และ จำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

    โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานหลักฐานเห็นได้ว่าพฤติการณ์กระทำละเมิดไม่ได้เกิดจาก จำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว พฤติการณ์การขับรถของ นางนฤมล ปิตาทานัง ผู้ขับรถตู้ที่ได้ขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งเป็นการประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ การเรียกค่าเสียหายจากค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควร ตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์ นั้นก็ได้ความว่านางนฤมล ขับรถตู้ด้วยความเร็วสูง แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่า นางนฤมลขับตัดหน้า หรือขับเสียหลักชนรถยนต์จำเลยที่ 1 ขับ เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อแซงคนขับรถตู้โดยสาร ก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกัน จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมากกว่า นางนฤมล กรณีไม่ได้เรื่องที่จำเลยที่ 1 หรือ นางนฤมล มีความประมาทเลอเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์

    และเมื่อพิจารณาค่าขาดไร้อุปการะตามที่ศาลชั้นต้องกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว แต่เมื่อฟังว่า นางนฤมลมีส่วนประมาทอยู่บ้างย่อมถือมีส่วนทำผิดความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน

    พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5, 9-19, 21-22, 25-28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท

    และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

    สำหรับคดีอาญา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชน และครอบครัว 1 ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา อายุ 17 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ต่อศาลเยาวชน และครอบครัวกลางในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุในผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหายนั้น ซึ่งคดีได้ถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุก น.ส.แพรวา 3 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 4 ปี บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี และห้ามขับรถจนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปี ซึ่ง น.ส.แพรวา ได้ยื่นฎีกาสู้คดี แต่ศาลไม่รับฎีกาจึงทำให้คดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาดังกล่าว

    ด้าน นางทองพูล พานทอง มารดาของ นางนฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งเป็น 1 ในโจทก์ร่วม กล่าวว่า ในส่วนของลูกสาวตนที่ศาลอุทธรณ์มองว่ามีความผิดฐานขับรถเร็วด้วย ส่วนเงินค่าเสียหายเดิมนั้นศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่ตนประมาณ 150,000 บาท แต่พอมาถึงชั้นอุทธรณ์ศาลก็พิพากษาแก้ค่าเสียหายให้แก่ตนเหลือ 120,000 บาท ซึ่งลดจำนวนเงินรวมถึงผู้เสียหายรายอื่นด้วย ส่วนเรื่องจะยื่นฎีกาหรือไม่นั้นต้องขอประชุมร่วมกับผู้เสียหายคนอื่นก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร

    เรียกคืนเครื่องราชฯ “ผอ.พระราชวังสนามจันทร์” ฐานคุกคามทางเพศ

    วันที่ 20 เม.ย. 2560 เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก และจัตุรถาภรณ์มงกุฎไทยของนายสัญชาติ วัชราภิรักษ์ ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตําแหน่งผู้อํานวยการพระราชวังสนามจันทร์ ประเภทอํานวยการระดับสูง สังกัดพระราชวังสนามจันทร์ ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ (ฝ่ายพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆและพระที่นั่งอภิเศกดุสิต) สํานักงานพระคลังข้างที่ สํานักพระราชวัง ซึ่งถูกลงโทษปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทําผิดวินัยฐานกระทําการอันเป็นการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ และกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีกรณีความผิดกล่าวคือ ได้กระทําอนาจารต่อผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนภายในห้องทํางานของตนเอง โดยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ยินยอม ไม่จ่ายค่าที่พักอาศัยของทางราชการ กระทําผิดราชสวัสดิ์ กรณีนํารถยนต์ส่วนตัวไปจอดในช่องจอดรถพระราชยานพาหนะในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงพระราชยานพาหนะให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และจัดงานรื่นเริงในช่วงเวลาที่ทางราชการมีคําสั่งให้หน่วยงานราชการไว้ทุกข์ 100 วัน ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2544 ทั้งนี้ ตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

    ประกาศ ณ วันที่ 19 เม.ย.2560

    รัสเซียเตือนนักท่องเที่ยวในไทย ระวังก่อการร้าย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สปุตนิกนิวส์ (https://goo.gl/trmlsv)

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานโดยอ้างสำนักข่าวสปุตินิกว่า วันที่ 19 เม.ย. 2560 สำนักงานการท่องเที่ยวรัสเซียออกแถลงการณ์เตือนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่มาพำนักหรือพักผ่อนในประเทศไทยให้ติดตามสถานการณ์ในไทยอย่างระมัดระวัง และรอฟังคำประกาศจากหน่วยงานรัฐบาลอย่างใกล้ชิด แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก และไม่ควรเดินทางออกนอกพื้นที่ท่องเที่ยว ยกเว้นเฉพาะกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน

    คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่มีการก่อเหตุโจมตี 13 จุดที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

    อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียประกาศเตือนภัยการก่อเหตุร้ายในประเทศไทย โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 มีรายงานว่า รัสเซียเตือนรัฐบาลไทย กรณีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม หรือไอเอส ประมาณ 10 คน เดินทางเข้ามาในไทย และทางการไทยในครั้งนั้นได้สั่งเพิ่มกำลังการดูแลรักษาความปลอดภัยในจังหวัดท่องเที่ยว แต่ยืนยันว่าเมืองไทยยังปลอดภัย