ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีมทนายคาดออกหมายบังคับคดีแพรวาได้ใน ส.ค.นี้ – ยอดหนี้จำเลยพุ่งแตะ 41 ล้าน “รมต.ยุติธรรม” แนะจำเลยรีบชดใช้

ทีมทนายคาดออกหมายบังคับคดีแพรวาได้ใน ส.ค.นี้ – ยอดหนี้จำเลยพุ่งแตะ 41 ล้าน “รมต.ยุติธรรม” แนะจำเลยรีบชดใช้

23 กรกฎาคม 2019


นายสมศักดิ์เทพ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยทีมทนายความโจทก์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง  ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ , นายวีระศักดิ์ ทัพขวา , นางอิสรีย์ยา ยืดยาวคง และนายณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของคดีอุบัติเหตุทางด่วนโทลเวย์ หรือ คดีแพรวา ณ กระทรวงยุติธรรม

โดยนายสมศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการส่งหมายบังคับคดี เนื่องจากในทางกฎหมายเมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาจะต้องมีการส่งคับบังคับเพื่อให้จำเลยทราบโดยวิธีการ “ปิดหมาย” ซึ่งต้องรอให้จำเลยรับทราบบังคับแล้วจึงจะดำเนินการยื่นขอหมายบังคับคดีในขั้นต่อไปได้ ยืนยันทางกระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด

“ขณะนี้ทราบจากทีมทนายโจทก์ว่า ได้ดำเนินการส่งคำบังคับไปยังจำเลยทั้ง 4 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 แล้ว และเจ้าพนักงานศาลได้ทำการปิดหมายยังภูมิลำเนาของ จำเลยที่ 2 และ 4 แล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 ได้ทำการปิดหมายไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 ซึ่งตามกฎหมายจะต้องรอระยะเวลา 15 วัน จึงจะถือว่าจำเลยได้รับทราบคำบังคับจากการปิดหมาย ทั้งนี้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามภายใน 30 นับจากทราบคำบังคับ จึงจะดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีต่อไปได้ โดยคาดว่าไม่เกินวันที่ 28-29 สิงหาคมนี้ ทีมทนายน่าจะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้หากจำเลยสามารถนำเงินมาชำระที่ศาลได้ทุกเมื่อ หรือหากมีการขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้นั้นก็สามารถทำได้ และหากขายได้เร็ว ก็สามารถนำเงินไปชำระที่ศาลได้เลย หากช้ากว่านั้นกระบวนการก็ดำเนินต่อไป คือ เมื่อครบกำหนดให้ปฏิบัติตามคำบังคับเดือนสิงหาคม ก็จะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีต่อไป

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หารือกับทีมทนายโจทก์

สำหรับคดีนี้ในการฟ้องคดีทางแพ่งมีโจทก์รวมทั้งสิ้น 28 คน ยื่นฟ้องเป็น 13 คดี ต่อมามีการรวมคดี และมีการขอประณีประนอมยอมความในศาลชั้นต้น โจทก์ 3 คนที่ฟ้องร่วมกันเป็น 1 คดี ได้มีการถอนฟ้อง โดยซึ่งยอมรับค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-3 ได้เสนอให้ นอกจากนี้ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทประกัน และเจ้าของรถผู้เอาประกัน จำเลยที่ 5-7 โดยสรุปแล้ว ศาลได้ทำการจำหน่ายคดีออกจากสารบบไป  1 คดี และถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 คงเหลือโจทก์ 25 คน และจำเลยทั้ง 4 ที่ทำการสู้คดีจนถึงศาลฎีกา

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในชั้นบังคับคดีกระทรวงยุติธรรมมี กองทุนยุติธรรมที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในส่วนของค่าใช้ธรรมเนียมต่างๆ แก่โจทก์ และดำเนินการประสานสำนักงานยุติธรรมจังหวัดให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกับโจทก์ที่อยู่ต่างจังหวัด พร้อมกันนี้ได้กล่าวแนะแก่จำเลยทั้ง 4 ให้รีบดำเนินการชำระค่าเสียหาย

“ต่อไปเมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดี หากจำเลยทั้ง 4 ดำเนินการชำระค่าเสียหายล่าช้า ผลเสียจะตกแก่จำเลย เนื่องจากตามคำพิพากษาได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 แก่จำเลยนับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ จนกว่าจำเลยจะชำระครบจำนวน ซึ่งค่าเสียหายจำนวน 25,261,164 บาท นั้นเมื่อรวมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันแล้วเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท หากไม่รีบชำระวงเงินก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ” นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากทนายอีกฝ่าย และโจทก์ทั้งหมดยืนยันที่จะไม่เจรจาไกล่เกลี่ยกับจำเลยอีก เนื่องจากคดีนี้ดำเนินมาจนถึงชั้นฎีกาแล้วถือว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการแล้ว และได้เคยมีการเจราไกล่เกลี่ยกันไปแล้วแต่ไม่เป็นผล ซึ่งแม้วงเงินที่ได้รับตามคำพิพากษาจะถูกปรับลดไปจากที่ยื่นฟ้อง โจทก์ทั้งหมดเคารพต่อคำพิพากษาของศาล ตอนนี้โจทก์ทั้งหมดหวังแค่เพียงให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น

ส่วนเงินช่วยเหลือโจทก์จาก ตัวแทนราชสกุล “เทพหัสดิน ณ อยุธยา” นั้น หากประสงค์จะช่วยเหลือจริงจะต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจนว่าเป็นเงินช่วยเหลือไม่ใช่เงินที่จะนำไปใช้ลดทอนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 มีหน้าที่ต้องชดใช้ตามคำพิพากษาของศาล

ทีมทนายความโจทก์ จากศูนย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง  ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ , นายวีระศักดิ์ ทัพขวา , นางอิสรีย์ยา ยืดยาวคง และนายณัฐพงศ์ รงค์ทอง ทนายความประจำสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์

เมื่อถามว่าวงเงิน 500,000  บาท ที่ทำโจทก์จำนวนหนึ่งยอมถอนฟ้องคดีของตนไปนั้น เพียงพอแล้วหรือไม่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า วงเงินดังกล่าวนั้นหากเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่เพียงพอ แต่เป็นความประสงค์ของโจทก์ทั้ง 3 เนื่องจากผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัสต้องใช้เวลารักษา ตัวพ่อและแม่ที่เป็นโจทก์ร่วมต้องคอยดูแล อีกทั้งโจทก์อยู่ต่างจังหวัดเดินทางมาขึ้นศาลลำบากจึงยอมที่จะรับเงินชดเชยจำนวนดังกล่าวแล้วถอนฟ้องไป ส่วนกระบวนการในส่วนของคดีอาญาจบไปแล้ว มีการกำหนดคุมประพฤติจำเลยให้ดำเนินการตามกำหนดของศาลแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปกำหนดเงื่อนไขหรือโทษได้

ต่อคำถามว่า ถึงกรณีจำเลยต้องล้มละลายหากไม่มีทรัพย์สินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จากการออกมาเปิดเผยทรัพย์สินของจำเลยนั้นการชำระหนี้ครั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบให้จำเลยต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ประสงค์เช่นนั้น อีกทั้งกรณีที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์ หรือปกปิดทรัพย์สิน ในทางอาญาสามารถเอาผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ ส่วนทางแพ่งก็มีกระบวนการในการติดตามเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้

เบื้องต้นได้มีการสืบทรัพย์พบว่าจำเลยทั้ง 4 มีทรัพย์สินเป็นโฉนดที่ดินรวม 4 ฉบับ (ไม่รวมที่ดินปราณบุรี ของจำนวน 21 ไร่ของจำเลย) ซึ่งมูลค่าที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้างของที่ดินทั้งหมดมีมูลค่าราว 14 ล้านบาท ซึ่งติดจำนองอยู่ 5 ล้านบาท เหลือมูลค่าราว 9-10 ล้านบาท ขณะที่จำเลยนำโฉนดไปออกสื่อแล้วระบุว่า ที่ดินบริเวณเมืองทองธานี จ.นนทบุรีนั้น นั้นเมื่อรวมสิ่งปลูกสร้างแล้วมีมูลค่า 40-50 ล้านบาท

ข้อสรุปคดีแพรวา

  • คดีนี้เหลือโจทก์ 25 คน จำเลย 4 คน (จำเลยที่ 1-4)
  • มีการถอนฟ้อง จำเลยที่ 5-7 ในศาลชั้นต้น เนื่องจากเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วบริษัทประกันยอมชดใช้เต็มวงเงินประกัน
  • มีการจำหน่ายคดีไป 1 คดี ที่มีโจทก์รวมกันอยู่ 3 คน เนื่องจากยอมรับค่าเสียหาย  500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1-3 เสนอ เหตุจากความไม่สะดวกมาขึ้นศาล และอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายที่ต้องการการพักฟื้น
  • อัยการฟ้อง นางสาวแพรวา หรืออรชร ทพหัสดิน ณ อยุธยา (ชื่อและนามสกุลในขณะนั้น) เป็นจำเลยในคดีอาญาและคดีถึงที่สุดแล้วในชั้นอุทรธณ์
  • ทีมทนายแยกฟ้องในคดีแพ่ง เนื่องจากเห็นว่า นางสาวแพรวาฯ เป็นผู้เยาว์ มีบุคคลต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้เยาว์ ได้แก่จำเลยที่ 2-7 และคดีนี้ถึงที่สุดแล้วในชั้นฏีกา
  • ปัจจุบันทีมทนายความโจทก์ได้ดำเนินการส่งคำบังคับไปยังจำเลยทั้ง 4 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 แล้ว
  • เจ้าพนักงานศาลได้ทำการปิดหมายยังภูมิลำเนาของ จำเลยที่ 2 และ4 แล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 ได้ทำการปิดหมายไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 (รอระยะเวลา 15 วัน จึงจะถือว่าจำเลยได้รับทราบคำบังคับจากการปิดหมาย)
  • จำเลยมีกำหนดปฏิบัติตามคำบังคับภายใน 30 นับจากทราบคำบังคับ
  • หากไม่ปฏิบัติตาม คือ ไม่ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาแก่โจทก์ จึงจะดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีต่อไปได้ โดยคาดว่าสามารถขอศษลออกหมายบังคับคดีได้ไม่เกินวันที่ 28 – 29 สิงหาคม 2562 นี้
  • ค่าเสียหายตามคำพิพากษา จำนวน 25,261,164 บาท นั้นเมื่อรวมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันแล้วเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท
  • การสืบทรัพย์เบื้องต้น พบว่าจำเลยทั้ง 4 มีทรัพย์สินเป็นโฉนดที่ดินรวม 4 ฉบับ (ไม่รวมที่ดินปราณบุรี ของจำนวน 21 ไร่ของจำเลย) ซึ่งมูลค่าที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้างของที่ดินทั้งหมดมีมูลค่าราว 14 ล้านบาท ซึ่งติดจำนองอยู่ 5 ล้านบาท เหลือมูลค่าราว 9-10 ล้านบาท
  • จำเลยแจ้งมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างผ่านสื่อ ว่ามีมูลค่ารวม 40-50 ล้านบาทและหากรวมที่ดินปราณบุรี จะมีมูลค่ารวม 100 ล้านบาท
  • กระทรวงยุติธรรมพร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่โจทก์ในกระบวนการชั้นบังคับคดี ผ่านกองทุนยุติธรรม
ขั้นตอนการบังคับคดีกรณียึดอสังหาริมทรัพย์ตามสมติฐานของธนาคารโลก และระยะเวลาในกระบวนการนั้น เป็นกรณีที่ไม่มีเหตุขัดข้องในการบังคับดคี

  • ทีมทนายผู้เสียหาย เผยเหตุ “คดีแพรวา” ยืดเยื้อนาน 8 ปี 7 เดือน – ชี้ “แม่แพรวา” วางทรัพย์ผิดที่ ไม่ถือว่ามีการชำระหนี้
  • ทำความเข้าใจกระบวนการบังคับดคีเพิ่มเติม