ThaiPublica > เกาะกระแส > DSI-สตช.-ปปง. สรุปสำนวน 346 คดี เสนอ “มส.” พิจารณาโทษ “พระธัมมชโย” ผิดวินัยสงฆ์

DSI-สตช.-ปปง. สรุปสำนวน 346 คดี เสนอ “มส.” พิจารณาโทษ “พระธัมมชโย” ผิดวินัยสงฆ์

10 มีนาคม 2017


วันที่ 9 มีนาคม 2560 เวลา 11.00 น. พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ซ้าย) ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ขวา) ณ ที่ทำการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 เวลา 11.00 น. พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ ที่ทำการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

พ.ต.ท. ปกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจาก พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้นำสำนวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 27/2559 ซึ่งพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมชโย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร มามอบให้ พศ. โดยขอพิจารณาคดีทางสงฆ์กับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่ามีความผิดทางพระธรรมวินัยหรือไม่

พล.ต.ต. ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 (ผบก.ส.4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขวา)

จากนั้นเวลา 13.00 น. พล.ต.ต. ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 (ผบก.ส.4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้นำเอกสารการดำเนินคดีกับพระธัมมชโยมามอบให้กับ พ.ต.ท. พงศ์พร ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ พ.ศ. 0006/12101 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2560 เรื่องขอทราบข้อกล่าวหาของพระธัมมชโย

พล.ต.ต. ชยพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลคดีของ สตช. ปัจจุบันพนักงานสอบสวนได้มีการดำเนินคดีกับพระธัมมชโยที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, สถานีตำรวจภูธรคลองห้า จังหวัดปทุมธานี, สถานีตำรวจภูธรอุ้งผาง จังหวัดตาก, สถานีตำรวจภูธรเกาะยาว จังหวัดพังงา, สถานีตำรวจภูธรภูเรือ จังหวัดเลย, กองบังคับการกองปราบปรามและกองบังคับการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 346 คดี โดยมีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 24 หมาย แต่เป็นหมายจับของพระธัมมชโย ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะนิติบุคคล จำนวน 16 หมาย สำหรับความผิดตามที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหานั้น ประกอบด้วยความผิดบุกรุกป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้, ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทั้ง 346 คดีมีรายละเอียดดังนี้ (ดูภาพประกอบ)

นอกจากนี้ พล.ต.อ. ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มอบหมายนายวิทยา นิติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ปปง. นำข้อมูลหลักฐานเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินทั้งหมด เช่น กรณีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีการโอนเงินไปเข้าบัญชีบุคคลและมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง และกรณีการบุกรุกป่าเพื่อนำมาก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเลย์ เขาใหญ่, สวนพนาวัฒน์ จังหวัดเชียงใหม่ มามอบให้กับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายวิทยากล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางเงินที่โอนจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปเข้าบัญชีบุคคลและมูลนิธิต่างๆ ประมาณ 1,400 ล้านบาท ทาง ปปง. ทยอยคืนให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปเกือบหมดแล้ว เพื่อให้สหกรณ์ฯ ดำเนินคดีทางแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงินต้องตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนกรณีของเวิลด์พีซวัลเลย์มีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ได้มอบให้อัยการส่งฟ้องศาล เพื่อขอให้ทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ไม่เกี่ยวกับสหกรณ์ฯ เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า

นายวิทยา นิติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ปปง. (ขวา)

ด้าน พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือคดีความที่เกี่ยวกับพระ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติฯ มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งที่ได้รับจากดีเอสไอ, สตช. และ ปปง. รายงานต่อมหาเถรสมาคม (มส.) วันที่ 10 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ในฐานะเลขานุการ มส. เพื่อที่ประชุมพิจารณาว่าพระธัมมชโยมีความผิดทางพระธรรมวินัยหรือไม่ ตามหลักการสงฆ์ต้องปกครองสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับฆราวาส การกระทำความผิดทางอาญาจะผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ และเมื่อผิดวินัยสงฆ์แล้วจะมีโทษสถานใด รวมทั้งการพิจารณาถอดถอนสมณเพศก็เป็นหน้าที่ของพระผู้ปกครอง ทั้งหมดเป็นอำนาจของพระ

อ่านเพิ่มเติมเกาะติดสถานะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น