ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics เผยดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี มองข้างหน้ามีทั้งดี – ไม่ดี แต่กังวลลดลง

TMB Analytics เผยดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี มองข้างหน้ามีทั้งดี – ไม่ดี แต่กังวลลดลง

3 กุมภาพันธ์ 2017


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์ ธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี”  ไตรมาส 4 ปี 2559 จากผู้ประกอบการ 1,318 ราย อยู่ที่ระดับ 40 ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 41.9 และคาดการณ์ไปใน 3 เดือนข้างหน้าหรือในไตรมาส 1 ของปี 2560 ที่ระดับ 50.9 ต่ำลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 54.1

อย่างไรก็ตาม หากดูความกังวลของผู้ประกอบการพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 2 ของปี 2557 โดยลดลงจาก 75% ของผู้ประกอบการเหลือเพียง 56% ในไตรมาส 4 ของปี 2559 โดยเฉลี่ยมีผู้ประกอบการที่มีความกังวล 64% สะท้อนให้เห็นการปรับตัวต่อความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการมากกว่าครึ่งยังกังวลอยู่ พบว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยที่คนกังวลมากที่สุด 66.2% ของผู้ประกอบการที่มีความกังวล เพิ่มขึ้นจาก 56% และ 60.8% ใน 2 ไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

รองลงมาเป็นปัจจัยด้านสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ที่ความกังวลลดลงเหลือเพียง 11.4% จากที่เคยกังวลที่ 15.9% และ 15%  ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับปัจจัยด้านภัยธรรมชาติที่ลดลงเหลือ 5.6% จากเดิมที่มีความกังวล 10.9% และ 6.9% ใน 2 ไตรมาสก่อนหน้า

“สัญญาณครั้งนี้ต้องบอกว่าเริ่มเป็นแบบผสม ต่างจากที่ผ่านมา อาจจะไปทางไม่ดีนัก มีปัจจัยบวกเล็กน้อย ตอนนี้เราเริ่มมองเห็นสัญญาณที่ผสมกันทั้งดีและไม่ดี ตัวเลขภาพรวมกังวลลดลง แต่กลุ่มที่กังวลกลับกังวลมากขึ้น สะท้อนว่ากลุ่มที่ลำบากก็ลำบากมากขึ้น จะเป็นกลุ่มค้าปลีกในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ค่อนข้างกังวล เหมือนปริมาณค้าขายไม่มากเท่าไหร่ในพื้นที่ เขาจะมองว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยฟื้นตัวเท่าไหร่ จะเห็นว่าเป็นปัจจัยเดิมแต่เริ่มตอกย้ำความกังวลมากขึ้นเรื่อย ส่วนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แข่งขันไม่ได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่ยังไม่เคยถามเจาะลึกลงไปขนาดนั้น แต่ที่กังวลหลักๆ คือรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ทำให้แข่งขันลำบากขึ้น อย่างในอำเภอเมืองเราคิดว่าจะดี แต่พอคุยจริงๆ เขากังวลมากขึ้น” ดร.เบญจรงค์กล่าว

sme index1

sme index2

sme index3

ขณะที่การฟื้นตัวของเอสเอ็มอี ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า ต้องจับตาที่การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนการฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากกว่า เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากปัจจัยในพื้นที่มากกว่าปัจจัยเชิงมหภาคอย่างการท่องเที่ยวหรือการส่งออก ซึ่งทีเอ็มบีคาดการณ์ว่าปี 2560 จะเติบโตได้ 2.8% เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2559 และหากมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมให้เติบโตได้มากกว่าจะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีฟื้นตัวได้ดีขึ้น

“เศรษฐกิจในภาพรวมที่หลายสำนักคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น จริงๆ ต้องถามว่าปัจจัยบวกแตกต่างหรือไม่ ต้องบอกว่าปัจจัยบวกปีที่แล้วก็คือปัจจัยบวกในปีนี้เช่นกัน ดังนั้น ภาพที่แตกต่างกันไปคือการบริโภคฟื้นหรือไม่ ถ้าไม่ฟื้น ต่อให้การท่องเที่ยวดี เงินก็ลงไปไม่ถึงทุกพื้นที่ เพราะเวลาพูดถึงท่องเที่ยว เราจะพูดในลักษณะตัวเลขมหภาคที่กระจายไปทุกพื้นที่ แต่ต้องยอมรับว่าเมืองท่องเที่ยวของเราก็มีสัก 10 จังหวัดเท่านั้น ดังนั้น ถ้าทั้งประเทศจริงๆ ยังไม่เห็นหลักฐานว่าฟื้นตัวเยอะขนาดนั้น จากประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารในช่วงแบบนี้ เวลาเห็นปัญหาของสินเชื่อก็มักจะมาจากเอสเอ็มอี แสดงว่าเอสเอ็มอีมีปัญหา แต่ว่าแล้วแต่มุมมอง ถ้ามองเอาการเติบโตเชิงตัวเลขเป็นหลัก เวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจดีกับตัวเลขเศรษฐกิจดีอาจจะไม่ตรงกัน” ดร.เบญจรงค์กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยบวกในปี 2560 ทีเอ็มบีมองว่านอกจาก e-Commerce ที่เป็นเครื่องมือหนุนรายได้ของ SME แล้ว ราคาพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยังปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้กำลังซื้อในภูมิภาคฟื้นตัว ดังจะเห็นได้จากการที่ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในส่วนสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังมีงบลงทุนประจำปีของภาครัฐ 550,000 ล้านบาท งบก่อสร้างเครือข่ายคมนาคมพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 190,000 ล้านบาท กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยคาดว่าจะลงสู่พื้นที่ภาคใต้ 13% ภาคเหนือ 19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22% และอีก 45% สู่ภาคกลางและภาคตะวันออก สมทบกับงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 120,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัดตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งหากสามารถเร่งรัดให้เบิกจ่ายในภาพรวมได้ถึง 65-70% ตามเป้าหมาย จะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยเติมเม็ดเงินสู่ระบบและดันให้กำลังซื้อของภาคเอกชนฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SME ได้โดยตรง

ขณะที่ปัจจัยลบ ทีเอ็มบีมองว่า 1) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจ แต่คาดว่าจะมีผลน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ต่างจากกรณีที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจขาดรายได้และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ค่อนข้างลำบาก แม้ว่าต้นทุนจะลดลง 2) ภัยแล้งที่อาจจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเสียหายและลดกำลังซื้อของเกษตรกร แต่ ณ วันนี้จากข้อมูลน้ำพบว่ายังมีปริมาณเพียงพออยู่

ดูเอกสารเพิ่มเติม