ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics ประเมิน “ความเชื่อมั่นธุรกิจเอสเอ็มอี” รับอานิสงค์เศรษฐกิจฟื้นตัว ใช้ e-Commerce มากขึ้น มั่นใจรายได้อนาคต

TMB Analytics ประเมิน “ความเชื่อมั่นธุรกิจเอสเอ็มอี” รับอานิสงค์เศรษฐกิจฟื้นตัว ใช้ e-Commerce มากขึ้น มั่นใจรายได้อนาคต

27 เมษายน 2018


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Head of Economist ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Head of Economist ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ณ ไตรมาส 1 ของปี 2561 จากความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 1,268 รายทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบันของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปีมาอยู่ที่ระดับ 40.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน

การปรับตัวดีขึ้นมาจากทั้งความเชื่อมั่นด้านรายได้และความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.2 สูงสุดในรอบ 5 ปี และดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล เนื่องจากได้รับแรงส่งการค้า การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะความเชื่อมั่นด้านต้นทุนพบว่าอยู่ที่ 31.1 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จะเห็นว่าในภาพรวมผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนลดลงและส่วนใหญ่กังวลในเรื่องต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นในเดือนเมษายนนี้

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 49.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 51.9 จากไตรมาสก่อน โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 63.3 ลดลงจากระดับ 65.9 ในไตรมาสก่อน และดัชนีความเชื่อมันด้านต้นทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 37.8 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 36.1 ในไตรมาสนี้ จึงกดดันดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าให้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

เมื่อพิจารณาเจาะลึกลงไปที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้ในปัจจุบันของเอสเอ็มอี ที่ปรับดีขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ตอบว่า มีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลักคือ

1) ปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ ลูกค้าทั้งเก่าและใหม่สั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ยอดขายเติบโตตามห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลบวกจากนโยบายภาครัฐ (อาทิ ธงฟ้าประชารัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ)

2) ปัจจัยการเข้าสู่ฤดูกาลขาย ได้แก่ เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ช่วง high season การท่องเที่ยว เข้าสู่เทศกาลรื่นเริง เข้าหน้าแล้งทำให้การก่อสร้างง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านรายได้ พบว่าปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีจำนวนผู้ตอบที่มากกว่าปัจจัยการสู่เข้าฤดูการขาย ชี้ว่าผู้ประกอบการเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น

เมื่อหันมาดูเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของธุรกิจเอสเอ็มอีประกอบการสำรวจความเชื่อมั่น ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่าดีขึ้นตามลำดับจากไตรมาสก่อนหน้า ไล่ตั้งแต่ภาคการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ตัวอย่างเช่นข้าวเปลือก ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรกลุ่มใหญ่ของประเทศ มีราคาที่ประมาณการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7,739 ต่อตันในปี 2560 เป็น 7,950 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับปริมาณข้าวเปลือกที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่สินค้าเกษตรหลักอื่นๆเช่น อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีราคาลดลงเล็กน้อย แต่ได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาชดเชย ยกเว้นมันสำปะหลังที่แม้ปริมาณจะลดลง แต่ราคาสามารถเพิ่มขึ้นมาชดเชยได้ โดยรวมสินค้าเกษตรหลัก 5 ประเภทจะมีมูลค่าเติบโตที่ 3.2% มาอยู่ที่ 745,000 ล้านบาท

ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงและกระจายลงไปยังธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จะมีรายได้ประมาณ 236,000 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่ 83% มาจากนักท่องเที่ยวคนไทย ขณะที่การท่องเที่ยวของชาติต่างชาติ คาดว่าจะมีรายได้ 2 ล้านล้านบาท โดย 88% จะกระจุกตัวในกลุ่มจังหวัดใหญ่ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎ์ธานี และกระบี่ ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้จะได้รับอานิสงค์จากภาคท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

สุดท้ายภาคส่งออกสินค้า 7 กลุ่มสินค้าที่คิดเป็น 60% ของการส่งออกของเอสเอ็มอีทั้งหมด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์อาหาร, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องดื่ม, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอส์, ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล, ไม้แปรรูป คาดการณ์ว่ามูลค่าจะเติมโตตั้งแต่ 3-15%

การส่งออกสินค้ายังไปสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะในภาคการค้าและผลิต โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 การจ้างงาน ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ถึง 200,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต 200,000 ตำแหน่ง ลดลงในภาคบริการ 100,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นในภาคการค้า 100,000 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับการจ้างงานที่สีัดส่วนกลุ่มแรงงานที่ทำงานตั้งแต่ 8-12 ชั่วโมงปรับเพิ่มขึ้นจาก 65.3% ของแรงงานทั้งหมด เป็น 65.6% ขณะที่กลุ่มที่ทำงานตั้งแต่ 12 ชั้วโมงขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 7.7% เป็น 8.4% ของแรงงานทั้งหมด

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี ที่ปรับตัวดีขึ้นสูงขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ รายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ขยายตัว และการจ้างงานที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นพร้อมกับจำนวนชั่วโมงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ชี้ถึงสภาพแนวโน้มดีมานด์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2560 เป็นต้นมา ส่วนข้อกังวลของผู้ประกอบการเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาจไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมมากนัก โดยอาจกระทบกำไรสุทธิให้ลดลงประมาณ 0.2% โดยรวม ถือว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจเอสเอ็มอี เริ่มมีข่าวดีมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่าหากสามารถรักษาโมเมนตัมแรงส่งทางเศรษฐกิจนี้ไว้ได้ ภาวะเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี จะมีทิศทางที่สดใสตลอดทั้งปี 2561”

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเอสเอ็มอี ได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่กลับมาช่วยการดำเนินธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องขยายการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกยุคดิจิทัล เพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Head of Economist ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

ดร.เบญจรงค์ เน้นย้ำว่า Digital Ecosystem ที่สำคัญในปัจจุบันและมีธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์และเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่

1) ธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมการตลาด (Channel) ได้แก่ Facebook, Lazada, Shopee, Tarad.com, Agoda, Booking.com ฯลฯ ซึ่ง SME ใช้เป็นช่องทางขายและประชาสัมพันธ์ผ่าน E-commerce

2) ระบบอำนวยความสะดวกในการชำระเงินการซื้อขายสินค้าและบริการ (Payment) ได้แก่ Internet Banking, Mobile Baking, E-Wallet, QR code ฯลฯ

3) ธุรกิจรับ-ส่งสินค้า (Transportation) ซึ่งส่งสินค้าให้ถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนต่ำ เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, DHL, LINE Man, GrabFood, Foodpanda ฯลฯ และหากธุรกิจ SME ขยายตัวใหญ่ขึ้น SME ก็สามารถเลือกใช้บริการ

4) ระบบการวิเคราะห์และบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ (Management) ที่จะเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการธุรกิจของท่านได้ เช่น Google Analytics, Facebook Insights เป็นต้น

“ถ้าถามว่าปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องเรียนว่าจากข้อมูลที่มี 5 ปี กลุ่มเอสเอ็มอีมีการหันมาใช่ช่องทางการตลาดอย่างกลุ่ม e-Commerce เพิ่มขึ้นชัดเจน ขณะที่กลุ่มที่รับส่งสินค้าขยายตัวมาตาม ปัจจุบันก็มีการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆและจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด กลุ่มที่เอสเอ็มอียังใช้ค่อนข้างน้อยคือการวิเคราะห์และบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องทำต้องมีระดับ Data Scientist จริงแค่นำข้อมูลมาดูว่าสินค้าไหนที่ขายดี สินค้าได้ลูกค้าซื้อ ก็จะช่วยได้มากแล้ว และสุดท้ายกลุ่มชำระเงินเรียกว่าถูกบังคับให้ใช้ แต่วันนี้ก็มีหลายกลุ่มที่ยังพยายามเลี่ยง ก็เข้าใจได้ว่าวันนี้การจ่าย e-payment มันยังไม่ได้สะดวกไปกว่าการจ่ายเงินสด แต่อนาคตพอมันถึงขั้นนั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลง”

ดร.เบญจรงค์ กล่าวสรุปว่าในโลกธุรกิจต่อไป นอกจาก SME ต้องเติมเต็มความสามารถด้วย Digital Ecosystem แล้วสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการ SME ก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องความเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าตนเอง ต้องผลิตสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม ต้องบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องมีมาตรฐานบริการที่ดีควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ดร.เบญจรงค์ ยังกล่าวว่าการแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี ครั้งที่ 22 นี้หรือเกือบ 5 ปีกว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากความตั้งใจที่จะทำให้สังคมและภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประสบความสำเร็จแล้ว มีหลายองค์กรธุรกิจหันมาให้ความสนใจทำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น ดังนั้นทาง TMB Analytics จะย้ายทรัพยากรและทีมไปวิเคราะห์วิจัยในมิติอื่นๆที่ยังเป็นที่ต้องการของสังคมไทยต่อไป