เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 2/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,262 กิจการทั่วประเทศ ว่าโดยรวมดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับลดลงอยู่ที่ 39.4 จาก 42.1 ในไตรมาสก่อน ขณะที่ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 53.5 ลดลงจากระดับ 54.7 เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกังวลเรื่องรายได้และการควบคุมต้นทุนของธุรกิจเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศขาดปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกภูมิภาคกังวลมากเป็นอันดับที่ 1 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการแข่งขัน ส่วนอันดับที่ 2 จะแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังกังวลกับปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก และตามมาด้วยความกังวลด้านสภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังหดตัวเพราะภัยแล้ง การท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง Low Season และประมงบางพื้นที่ของภาคกลาง (จ.สมุทรสาคร) ได้รับผลกระทบจาก TIP และ IUU สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึงภาคตะวันออก มีความกังวลรองลงมาในด้านสภาพคล่องตึงตัวและปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ตามลำดับ
ทั้งนี้ สอดคล้องกับการประเมินในไตรมาสแรกของปี ซึ่งส่งสัญญาณว่าไตรมาสสองของปีไม่ได้มีปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยชัดเจน และต่างมีความกังวลเรื่องปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะราคาข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งเดิมคาดว่าภัยแล้งจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมและกระทบเศรษฐกิจประมาณ 84,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะนานออกไปถึงมิถุนายนหรือมากกว่า และอาจจะกระทบเศรษฐกิจสูงถึง 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับภาคจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 37.5 ในไตรมาสแรกมาอยู่ที่ระดับ 45.4 โดยเป็นผลมาจากราคายางและปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น โรคตายด่วนในกุ้งคลี่คลาย และปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ความเชื่อมันปรับลดลง เนื่องภัยแล้งที่รุนแรง, กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว, ผลกระทบจากประเด็นอุตสาหกรรมประมง และการท่องเที่ยวในภาคเหนือที่เข้าสู่ช่วง Low Season โดยภาคกลางเป็นภาคที่มีความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดจากระดับ 48 เป็น 33.5
ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า มีสัญญาณฟื้นตัว แม้ว่าความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 2 จะปรับลดลง เนื่องจากการสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุด ก่อนที่ช่วงต่อมาจะค่อยๆ คลี่คลายลงตามลำดับในช่วงเดือนถัดมา ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้และภาคเหนือกำลังจะเข้าสู่ช่วง High Season, โครงการลงทุนภาครัฐที่จะเริ่มเดินหน้าได้ และการเมืองภายหลังประชามติที่มีความชัดเจน รวมกันน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยหนุนต่อเนื่องให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ โดยรวม TMB Analytics ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติมโตได้ 2.8% ตามที่เคยประมาณการไว้ช่วงต้นปี
“เรื่องภัยแล้งที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 2 ลดลงก็เริ่มคลี่คลายไป ซึ่งตอนที่สำรวจนั้นไม่มีท่าทีว่าจะจบอย่างไร แต่ตอนนี้ก็เริ่มฟื้นแล้ว แล้วอีกประการคือภาคเกษตรไม่ใช่ต้องรอให้เก็บเกี่ยวก่อน แค่เริ่มกลับมาลงมือเพาะปลูกได้ มีการซื้อปัจจัยการผลิต ซื้อปุ๋ย จ้างแรงงาน เงินมันจะเริ่มหมุน เศรษฐกิจจะขยับได้ รวมกับเรื่องโครงการภาครัฐ เรื่องท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสฟื้นตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขไตรมาสสองที่ออกมาลดลงก็เป็นผลเรื่องฤดูกาลปกติอยู่แล้วที่ไตรมาสสองจะเป็นไตรมาสที่เติบโตต่ำสุด เพราะมีวันหยุดเยอะ ประกอบกับมีภัยแล้ง การบริโภคจะอ่อนแอลง ดังนั้น มองไปข้างหน้าก็มีปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจอยู่ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าๆ ก็ยังเป็นแรงกดดันอยู่ต่อเนื่อง” ดร.เบญจรงค์กล่าว