ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีเอ็มบีชี้ปี’60 จับตา “การเมืองโลก – กระแสต้านโลกาภิวัตน์” ทำตลาดการเงินผันผวนสูง

ทีเอ็มบีชี้ปี’60 จับตา “การเมืองโลก – กระแสต้านโลกาภิวัตน์” ทำตลาดการเงินผันผวนสูง

23 มกราคม 2017


นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี กล่าวถึงความผันผวนในปี 2560 ว่า ต้องจับตาดูประเด็นการเมืองโลกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เริ่มทวีความรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากจะกระทบไปถึงประเด็นนโยบายการค้าตลาดเดียว หรือ Single Market และการเลือกตั้งทั่วไปในเนเธอแลนด์ในเดือนเดียวกัน

ขณะที่ช่วงถัดมาในเดือนพฤษภาคม อิตาลีจะมีเลือกตั้งทั่วไป ด้านฝรั่งเศสในเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายนจะเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่และเลือกตั้งทั่วไปตามลำดับ ซึ่งกระแสของพรรคเนชันแนลฟรอนท์ ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากและอาจจะนำไปสู่การออกจากสหภาพยุโรปตามอังกฤษได้ และในช่วงท้ายปีจะมีประชามติแยกตัวจากสเปนของรัฐคาตาโลเนีย และการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในเดือนกันยายนและตุลาคม ตามลำดับ

“แล้วเหตุการณ์การเมืองต้องบอกว่าเคลื่อนไหวเร็วและกระทบกับความผันผวนต่อตลาดการเงินนาทีต่อนาที อย่างตอน Brexit ตอนที่ฝ่ายที่จะอยู่นำค่าเงินปอนด์ก็แข็งค่า แต่พอฝ่ายออกจากอียูเริ่มกลับมาค่าเงินปอนด์อ่อนค่าดิ่งสวนทางทันที เรียกว่าผันผวนมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ” นายศรัณย์กล่าว

ขณะที่การดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกาภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดียังคงต้องจับตามองว่าจะสามารถทำตามที่หาเสียงได้หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็น 1) นโยบายการค้าที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 45% ซึ่งอำนาจของประธานาธิบดีสามารถขึ้นได้เพียง 15% ขณะที่มากกว่านั้นต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 2) นโยบายการเงินที่เข้าสู่ช่วงสิ้นสุดการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและการอัดฉีดเงินในระบบหรือคิวอี ซึ่งถูกพึ่งพาเป็นนโยบายหลักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะใช้จะใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ลดภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สวนทางกับขณะที่นโยบายการเงินของกลุ่มประชาคมยุโรปและญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลายต่อไป (Policy Divergence) ความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ระดับ 3.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นแรงส่งที่มาจากการลงทุนภาครัฐและภาคบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีต่อภาคเอกชนจะยังไม่มีผลมากนักในปีนี้ ในส่วนของภาคการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นแต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้าโดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปแบบไม่กระจายตัว โดยมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 25% ขณะที่การลงทุนและบริโภคของเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 71% ของจีดีพีกลับไม่ฟื้นตัวมากนัก ตรงนี้คิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินคงไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนกว่าปัจจัย 2 ตัวนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น” นายศรัณย์กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.0% (จาก 0.4% ในปี 2559) เป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นเมื่อเทียบกับฐานคำนวณในปีก่อนหน้า โดยที่แรงกระตุ้นจากฝั่งอุปสงค์ (Demand Pull) ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน