เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งนอกจากการประชุม ครม. ตามปกติแล้ว ในช่วงเช้ายังมีการประชุม คสช. นัดพิเศษด้วย
คสช.ใช้ ม.44 ตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป.-EEC
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุม คสช. นัดพิเศษวันนี้ ได้พิจารณาการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องแรก คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ดังนี้ 1. ขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ ต่อเนื่องจากคณะทำงานขับเคลื่อนเดิม 2. กลุ่มงานปฏิรูป ซึ่งจะมีการนำแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปรับปรุง ประเด็นไหนที่รัฐบาลทำไปแล้ว และประเด็นไหนที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ หรือต้องทำเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และ 3. คณะกรรมการปรองดองที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ
“เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจที่ทุกคนต้องหันหน้ามาคุยกัน ไม่ใช่บังคับ ผมคงไม่ไปบังคับ เป็นหน้าที่ทุกคนที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ขอย้ำ คสช. รัฐบาล รวมทั้งตัวผมไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร อย่าไปเข้าใจผิด รัฐบาลต้องเป็นกลาง ผมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน”
วันนี้ยังไม่ได้หารือในเรื่องการออกกฎหมาย เรื่องการปรองดองต้องเป็นไปตามหลักอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตอนนี้ก็ทราบดีว่าพรรคการเมืองเองก็มีความขัดแย้งกัน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องชี้แจงให้ทราบว่า เรื่องการปฏิรูปประเทศ เรื่องปรองดอง นักการเมืองเองก็ควรตระหนักว่าวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร อย่าเพิ่งไปเอาเรื่องนิรโทษอะไรขึ้นมาพูดก่อน เพราะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก่อนเมื่อไหร่ทะเลาะกันทุกที เหมือนกับปี 2557
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบบาลชุดนี้เข้ามาไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง เมื่อตนเข้ามาบริหารประเทศ เรื่องความขัดแย้งหยุดหรือไม่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่า คงจะต้องใช้เวลาในการพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าใครต้องการอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน ไปรวบรวมมา จากนั้นก็มาประชุมกันต่ออีก 2-3 ครั้ง อย่าใจร้อน ใจร้อนทีไรมีเรื่องทุกที เรื่องรัฐธรรมนูญตนลงนาม และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว รอรับพระราชทานนำลงมาเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไข คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
นอกจากเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. แล้ว ที่ประชุม คสช. ใช้ ม.44 จัดตั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขับเคลื่อนการลงทุนในเรื่องโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนหนทางต่างๆ คณะกรรมการชุดนี้จะมี 2 ระดับ คือ คณะกรรมการนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ และคณะกรรมการระดับพื้นที่ เพื่อให้การทำงานรวมเร็วยิ่งขึ้น หากไม่ใช้ ม.44 ก็ต้องยกร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องเวลาในการผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านการพิจารณาของ สนช. 3 วาระ หลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ซ่อมเครื่องบิน ยางรถยนต์ และอีกหลายโครงการ
ทุกคนต้องช่วยกัน อย่าเอาเรื่องปรองดองมาเป็นประเด็น ทุกคนต้องเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ ต้องเชื่อมั่นว่าผมจะทำได้ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคน ไม่ใช่ผมคนเดียว เราต้องปฏิรูปประเทศ ต้องปรองดองให้ได้ และเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่
“ส่วนกรณีที่มีคนบอกว่ารัฐบาลเราไม่เปิดเวทีให้ใครพูด จริงๆ แล้วเราเปิดมาตลอด สื่อมวลชนจะวิจารณ์ผมได้อะไรก็ได้ อดีตนักการเมืองก็วิพากษ์วิจารณ์ผมได้ทุกวัน ผมไปปิดกั้นเสรีภาพตรงไหน อย่างการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษาในที่รโหฐาน หากเขาขออนุญาตมา ผมก็ให้ เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ผมไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใคร หากเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างความบริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าโจมตีรัฐบาลโดยไม่มีเหตุผล คงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนยอม ผมเจรจากับหลายประเทศ และทราบว่าต่างชาติกำลังดูเราอยู่ว่ามันจะปรองดองกันได้ไหม นั่นแหละคือประเด็นสำคัญ ผมจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดเวทีการพูดคุยให้ได้ และไม่ใช่คุยกันแค่ 3-4 คนจบ ออกกฎหมาย ประชาชนต้องร่วมตัดสินใจ ทุกฝ่ายที่เคยขัดแย้งต้องมาทำเป็นสัญญาประชาคม ต่อไปนี้เราจะไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป ต้องยอมรับรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ใช่ได้พรรคการเมืองนี้เป็นรัฐบาล ไม่พอใจลุกขึ้นมาต่อต้านกันอีก” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
ย้ำตรวจรับรถเมล์ NGV ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนผิดหรือถูกก็ต้องมาดูกันอีกที เพราะนี่เป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ เท่าที่ผมได้รับรายงานจากกระทรวงคมนาคมแล้ว ผมก็ให้นโยบายไปว่า ทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าทำได้ก็ทำไป ทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้ หากทำไม่ได้ ดันฝืนจะทำให้ได้ คนทำก็ผิด ไม่ต้องห่วง คณะกรรมการที่ทำมีหลายคน ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มี 2 ประเด็น คือ สัญญาที่ทำไว้กับ ขสมก. ต้องพิจารณาว่าทำผิดสัญญาหรือไม่ และอีกประเด็นเป็นเรื่องสำแดงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ซึ่งมีทั้งการนำเข้าลอตเก่า ลอตใหม่ กรมศุลกากรกำลังพิจารณาอยู่”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “หลายเรื่องที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ เราทำให้ได้ นี่คือปัญหาของประเทศ แต่พอเราทำเร็วก็มาเจอปัญหาแบบนี้ ถ้ากรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไม่ตรวจสอบให้ดี ก็หลุดมาอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่กรมศุลกากรพยายามพัฒนาตัวเอง เพราะเขาไม่ยอม จึงมาตรวจสอบ ผลก็ออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ทำไมบริษัทที่เข้ามารับงานกับรัฐบาลจึงทำอย่างนี้ ดังนั้น วิธีการแก้ไขมี 2 อย่าง คือ 1. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องไม่มีส่วนในผลประโยชน์ 2. บริษัท ภาคเอกชน ก็ต้องไม่มาแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ พอแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ก็ต้องมายื่นหมูยื่นแมว ซึ่งนำไปสู่ความไม่โปร่งใส คอร์รัปชัน อย่ามาโทษรัฐบาลอย่างเดียว มันต้องดูทั้งระบบ ภาคเอกชนก็ต้องไม่ทำแบบนี้ ต้องเข้ามาแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม แต่พอมาถึงขั้นตอนการสำแดงใบรับรองก็อีกเรื่อง”
เรียกภาษีเชฟรอนคืน 3,000 ล้านบาท
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเชฟรอน ตอนนี้กระทรวงการคลังกำลังศึกษาทบทวนว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้เกิดขึ้นมาในช่วงปี 2554 ก่อนหน้าผมเข้ามาบริหารประเทศ มีการโต้แย้งกันในเรื่องการเสียภาษี ควรจะเสียภาษีเสมือนอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ ตีความประเด็นข้อกฎหมายต่างกันระหว่างกระทรวงการคลังกับกรมศุลกากร ใครตีความเก่ง ใครตีไม่เก่ง มันก็ต้องไปดูแผนที่ทางทะเล จุดที่มาส่งอยู่ที่เขตไทยหรือเปล่า อันนี้เป็นตัวชี้ชัดว่า ถ้าอยู่ในเขตไทยก็จบ ต้องเสียภาษี ถ้าเกินทะเลอาณาเขตก็ไม่ต้องเสียภาษี กฎหมายมีอยู่แล้ว อย่าไปกังวล ถ้าไม่ถูกต้อง กระทรวงการคลังจะต้องเรียกภาษีจากเชฟรอนคืน 3,000 ล้านบาท
“ผมคิดว่าเชฟรอนพร้อมจะจ่ายหากเขาผิด ซึ่งเราก็ต้องดูด้วยว่าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป แก้ปัญหาให้ได้ ตอนนี้เชฟรอนขอคืนภาษีมา กระทรวงการคลังยังไม่ได้คืนให้เขา แต่ถ้าคืนให้ไม่ได้ เขาก็ต้องจ่ายเงินที่ขอคืนไปแล้วกลับคืนมาด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ทุกอย่างต้องแก้ไขได้และต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และผมยืนอยู่ตรงนี้ ผมไม่ต้องการให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ผมบอกแล้วไง คนไทยต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติให้มากที่สุด เราต้องทำให้ได้ นี่แหละเขาเรียกว่าการปฏิรูป ถ้ามีเรื่องทุจริตก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกันไป” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้
แจงงบปี ’60 เพิ่มเติม 1.9 แสนล้าน แบ่งกลุ่ม จว. 1.15 แสนล้าน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของกลุ่มจังหวัด จำนวน 115,000 ล้านบาท
ทั้งนี้งบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายการแผนบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.15 แสนล้าน ซึ่งจะเป็นการขยายความเจริญไปสู่จังหวัดต่างๆ ตามโครงการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 80,000 ล้านบาท กองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท และงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 15,000 ล้านบาท
ส่วนต่อมาเป็นรายการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท รายการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15,000 บาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 27,078.3 และเพิ่มเติมในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีก 22,921.7 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์ระบุว่า สาเหตุที่มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่กลุ่มจังหวัดมีวงเงินสูงนั้นเนื่องจากรัฐบาลต้องการให้การจัดสรรงบประมาณลงไปสู่พื้นที่อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาการจดสรรงบประมาณเน้นการกระจายไปตามกระทรวงต่างๆ เป็นหลัก แม้ปีที่ผ่านมามีการแบ่งแยกเป็นรายเรื่องแต่ก็ยังไม่ลงถึงพื้นที่อย่างแท้จริง
โดยจัดแนวทางการดำเนินงานไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ 1) เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม และการค้าการลงทุน เช่น การพัฒนาท่าเรือ การพัฒนา SMEs ที่โครงการจะมาจากผู้ว่าแต่ละจังหวัด 2) เพิ่มศักยภาพภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชแปลงใหญ่ 3) เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการ เช่น การเชื่อมเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวและบริการ การติดตั้งกล้อง CCTV 4) พัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างประตูระบายน้ำ ที่เป็นความต้องการของจังหวัดเนื่องจากงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองไม่เพียงพอ 5) โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ ที่ต้องมีการจัดทำแผนระยะบานกลาง เช่น อยุธยามรดกโลก การสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา เกาะคอเขา เป็นต้น
“หากจะนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง ยกระดับความเจริญของประเทศ แม้งบประมาณเพิ่มเติมของปี 2560 จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่งบประมาณดังกล่าวจะกระจายลงสู่จังหวัดอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก” นายกอบศักดิ์กล่าว
เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ ให้อำนาจนายทะเบียนมากขึ้น
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีประเด็นที่หลายฝ่ายเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ จากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์นี้มีประเด็นปรับปรุงแก้ไขที่สำคัญ ได้แก่
- การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญจากด้านการเงิน การตลาด การเกษตร ด้านกฎหมาย และด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สามารถคิดเรื่องการพัฒนาสหกรณ์ได้ลึกซึ้งรอบด้านมากกว่าเดิม
- ในส่วนของการกำกับดูแล จากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กฎหมายฉบับใหม่ได้ให้อำนาจกับนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์) การออกเกณฑ์กำกับได้มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่จะสามารถออกเกณฑ์กำกับได้เฉพาะสิ่งที่กำหนดในร่างกฎหมายเฉพาะสหกรณ์แต่ละประเภทเท่านั้น เช่น การออกเกณฑ์กำกับการให้เงินกู้จะสามารถออกเป็นเกณฑ์บังคับสหกรณ์ได้ทั่วประเทศไทย เป็นต้น และนายทะเบียนจะเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการสหกรณ์ที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหารสหกรณ์ให้มีความเหมาะสมกับประเภทสหกรณ์ ธุรกิจ และขนาดของสหกรณ์
- ฉบับใหม่กำหนดให้นายทะเบียนสามารถฟ้องร้องในกรณีที่สหกรณ์ไม่ฟ้องร้อง ไม่ร้องทุกข์ได้ เช่น กรณีที่สหกรณ์ต้องการดึงให้เกิดความยืดเยื้อในคดี นายทะเบียนสามารถดำเนินการฟ้องร้อง ทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์เองได้ ทำให้กระบวนการเรียกร้องต่างๆ เกิดความรวดเร็ว
- ให้อำนาจนายทะเบียนสั่งการแก้ไขการดำเนินงาน สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง สั่งให้ระงับการดำเนินการ หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือการตั้งผู้แทนสหกรณ์มาดำเนินการแทน รวมถึงสั่งให้พ้นตำแหน่งทั้งคณะ หรือสั่งให้กรรมการผู้ที่เกี่ยวข้องพ้นจากตำแหน่งได้ เพื่อให้อำนาจนายทะเบียนเข้าไปดูแลแก้ไขในกรณีเกิดปัญหาได้ทันท่วงที
- กำหนดเรื่องการรับผิดชอบของกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ ในกรณีทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย พร้อมทั้งกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบสหกรณ์ที่ตั้งจากบุคคลภายนอกหรือสมาชิกในการดำเนินการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ ซึ่งหากไม่แก้ไขตามที่นายทะเบียนสั่งการจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- นายทะเบียนสามารถกำหนดเกณฑ์การควบรวมสหกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้สหกรณ์มีขนาดเล็กเกินไป โดยปัจจุบันมีสหกรณ์อยู่กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ
- ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ มีหน้าที่ให้การช่วยเหลือด้านการเงินกับสหกรณ์ที่ขาดสภาพคล่อง เพื่อให้มีเงินไปคืนเงินฝากของประชาชนได้ โดยให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิของสหกรณ์ไม่เกิน 1% มาสมทบกองทุนดังกล่าว รวมทั้งกำหนดให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนดำเนินธุรกิจกับกลุ่มเกษตรกรได้
- ขยายเวลาดำรงตำแหน่งของกรรมการดำเนินงานในสหกรณ์จากเดิมกำหนดให้ดำรงตำแหน่ง 2 ปี 2 วาระแล้วเว้นวรรค ในอนาคตกำหนดวาระคราวละ 2 ปี ไม่ต้องเว้นวรรค เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ
- ให้นายทะเบียนสหกรณ์ประกาศกำหนดประเภทของสหกรณ์ที่สามารถรับบุคคลธรรมดาเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้ เพื่อให้สามารถรับเด็กและเยาวชนเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้
เว้นภาษี ซ่อมบ้านซ่อมรถ ผู้ประสบอุทกภัย
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคใต้) ต่อเนื่องจากมาตรการยกเว้นภาษีให้กับผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ในครั้งนี้เป็นมาตรการยกเว้นภาษีแก่บุคคลธรรมดาสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดอาคารลักษณะถาวร หรือซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด และทรัพย์สินที่ประกอบติดถาวรกับห้อง ซึ่งสามารถรวมค่าซ่อมแซมในทรัพย์สินมากกว่า 1 แห่งได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท และยกเว้นภาษีสำหรับค่าซ่อมแซมรถยนต์ หรือวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สามารถรวมค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่มีมากกว่า 1 คันด้วยกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 30,000 บาท โดยได้ใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2560 อยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย และต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้เช่า ผู้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริทรัพย์ หรือผู้เช่าซื้อรถยนต์” นายณัฐพรกล่าว
คุมบริการรับชำระเงิน-ขนส่งสินค้าออนไลน์
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 รายการสินค้าและบริการที่ควบคุมในปี 2559 จำนวน 45 รายการ กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 24 มกราคม 2560 โดยรายการสินค้าและบริการที่ควบคุมในปี 2560 ได้มีการเพิ่มเติมจากเดิมเป็น 47 รายการ โดยได้เพิ่มส่วนของบริการที่ต้องควบคุม 2 รายการ ได้แก่ บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ และบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์
“เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการทั้ง 2 ส่วนมากขึ้น เช่น การชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือผ่านธนาคารต่างๆ สำหรับผู้ที่ต้องชำระค่าสาธารณูปโภคในราคาไม่กี่สิบบาท หากเทียบกับค่าบริการที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 5-10 บาท ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง ในส่วนนี้กรมการค้าภายในจะเป็นผู้เข้ามาศึกษาเปรียบเทียบและกำหนดหลักเกณฑ์อีกครั้ง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะมีหลักเกณฑ์ออกมาอย่างเป็นทางการ”
ออกมาตรการภาษี-ส่งเสริมการตลาด ดันไทยศูนย์กลางอัญมณี
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) คาดว่าจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเพิ่มขึ้นจาก 13,396 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 เป็น 17,024 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2562
โดยมีการออกมาตรการทางภาษีให้ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับ ซึ่งต้องเป็นช่างที่ได้ทำการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จำนวน 32 ประเภทย่อย มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าสินค้าได้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีน
พร้อมกันนั้น ได้มีการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพื่อประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสิน วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อธันวาคม 2559 โดยขยายเวลาให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด เนื่องจากปัจจุบันวงเงินดังกล่าวถูกใช้ไปประมาณ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น
และมาตรการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นการสนับสนุนให้มีการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มขึ้น โดยให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพ การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในย่านการค้าสำคัญ เช่น แหล่งการค้าอัญมณีและเครื่องประดับย่านถนนสีลม เจริญกรุง มเหสักข์ ในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย
สั่งการ มหาดไทยดูแลน้ำท่วม – คมนาคมคาดเสียหาย 15,000 ล้าน
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ โดยในการแก้ไขระยะยาวจะมีการนำแผนการแก้ไขที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสไว้มาใช้ในการฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน โดยนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เตรียมการฟื้นฟูและประเมินความเสียหายตามข้อเท็จจริง รวมทั้งดำเนินการแก้ปัญหา
ด้านนายกอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้ประเมินความเสียหายจากเหตุอุทกภัยภาคใต้เบื้องต้นประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขความเสียหายดังกล่าวไม่สูงมากเนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมเหมือนที่ผ่านมา โดยสวนยางหรือสวนปาล์มที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย ชาวสวนได้รับผลกระทบเพียงแค่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และเมื่อคำนวณเม็ดเงินที่ส่งไปช่วยเหลือก็สามารถบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง
เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดิน
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดย ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินฯ มีสาระสำคัญในการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ นำเสนอนต่อคณะรัฐมนตรีก่อนออกเป็นกฎหมายคำสั่งระเบียบข้อบังคับโดยต้องคำนึงถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศ
ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ดินฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (คจช.) โดยให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ คจช. ให้มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับอำนาจของ คทช.
คมนาคมรายงานแผนปฏิรูปการให้บริการรถเมล์
นอกจากนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงคมนาคมได้รายงานการปฏิรูปการให้บริการรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะปรับหน้าที่เป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง จะมีการดำเนินการ เช่น การเตรียมจัดสรรเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ จากปัจจุบัน ขสมก. และรถร่วมดำเนินการ 202 เส้นทาง จะมีการกำหนดเส้นทางใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางเป็น 269 เส้นทาง เชื่อว่าการกำหนดเส้นทางใหม่จะเสร็จปี 2562
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งหน่วยงานพิจารณาการออกใบอนุญาตที่จะอยู่ในกรมการขนส่งทางบก ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการ การกำกับมาตรฐานการเดินรถ และการจัดการโครงสร้าง การบริหารการเดินรถที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพมากขึ้น