ThaiPublica > เกาะกระแส > จับตาแบงก์ชาติผ่านกรอบนโยบายการเงิน มุ่งเน้นที่การปฏิรูป ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย – ทีเอ็มบีคาดดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ขึ้น รอลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

จับตาแบงก์ชาติผ่านกรอบนโยบายการเงิน มุ่งเน้นที่การปฏิรูป ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย – ทีเอ็มบีคาดดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ขึ้น รอลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

6 กุมภาพันธ์ 2017


ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทางธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดยนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ได้ออกรายงานวิเคราะห์ว่า

•เอชเอสบีซีคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ และตลอดทั้งปี 2560 เงินเฟ้อค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่แรงกดดันต่อราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
•นโยบายการคลังจะมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธปท.จะให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความแข็งแกร่งของภาคการเงิน และเป็นอีกหนึ่งเสียงของการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจและอธิบายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ
•ดัชนีค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ขณะที่การไหลออกของเงินทุนเมื่อเร็วๆ นี้ ช่วยสร้างสมดุลกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้หายใจคล่องขึ้นบ้าง ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แม้ว่าข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนบ่งชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่แผนการใช้งบประมาณกลางปีของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชนบทน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และลดระดับหนี้ครัวเรือน ส่วนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยส่งเสริมระดับการลงทุนภาคเอกชนด้วย ซึ่งการใช้จ่ายแค่เฉพาะภาคคมนาคมขนส่ง โดยคร่าว ๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพีทั้งปีสำหรับปี 2560 และปี 2561 ขณะที่การส่งออกในช่วงนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวตามวัฎจักรเศรษฐกิจโลก

เงินเฟ้อและความกังวลด้านอัตราแลกเปลี่ยน

เงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายในช่วงร้อยละ 1-4 แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1 ในเดือนที่แล้ว เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ เราคาดว่าในปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เท่านั้น ซึ่งจะเอื้อให้ธปท.สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิมในปี 2560 ในขณะเดียวกัน ดัชนีค่าเงินบาทจากเดือนตุลาคม 2559-มกราคม 2560 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2558 ที่ร้อยละ 4.0 ดังนั้น จึงไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก

เปลี่ยนไปทำหน้าที่เบื้องหลัง

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลง “แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562)”
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลง “แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562)”

ถึงแม้ว่าธปท.จะไม่มีแนวโน้มปรับเครื่องมือด้านนโยบายการเงินในระยะอันใกล้นี้ แต่ธปท.น่าจะยังคงใช้การสื่อสารเพื่อบ่งชี้ถึงท่าทีการดำเนินนโยบายในอนาคต หากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาในทิศทางที่ไม่คาดหวัง นอกจากนี้ ธปท.จะยังคงเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยดังที่ระบุไว้ในแผนกลยุทธ์ 3 ปีของธปท.เอง ในบรรดาแผนต่างๆ ธปท.จะยังคงส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการของภาคการเงิน (เช่น ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าสู่สังคมดิจิทัล ความปลอดภัยของธุรกรรมการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน การเชื่อมโยงกับภูมิภาค เป็นต้น) และทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

MPC1

MPC2

MPC3

ทีเอ็มบีคาดดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ขึ้น รอลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

ด้าน TMB Analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มองว่าสัญญาณเงินเฟ้อที่เริ่มปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จนเข้ากรอบเป้าหมายของ ธปท. โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไต่ระดับขึ้นมาที่ 1.55% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน อีกทั้ง ยังมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีทรัมป์อาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ จึงอาจสร้างแรงกดดันให้ ธปท. ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเพื่อลดกระแสเงินทุนไหลออกรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับทั้งเงินฝากและเงินกู้ตาม โดยด้านดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 9 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 0.25% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับ MLR ขึ้นตามถึง 8 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 0.17% ทั้งนี้ การระดมเงินทุนส่วนใหญ่ของบริษัทเอกชนยังต้องพึ่งพาสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนหดตัวติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักในจีดีพี โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20%

ในปี 2560 ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 มาตั้งแต่ปี 2556 ก็เริ่มกลับมาอยู่เกินระดับ 50 ได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา กอปรกับมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI แล้วในปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากงบเพิ่มเติมกลางปี และเมกะโปรเจกต์ที่คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนราว 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งความสัมพันธ์ของการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชนจะเป็นไปในลักษณะ ที่การลงทุนส่วนการก่อสร้างของภาคเอกชนมักจะเกิดขึ้นหลังการลงทุนส่วนการก่อสร้างของภาครัฐประมาณ 1-2 ไตรมาส ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจึงยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัว

ในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท. จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชนที่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ อีกทั้ง แรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังไม่รุนแรง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับขึ้น เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 3.1% และเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยก็ยังแข็งแกร่ง ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐแล้วทำให้เงินทุนไหลออกรุนแรงยังไม่น่ากังวล