เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลง “แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562)” ของ ธปท. เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ธปท. ตามที่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติ โดยเริ่มต้นกล่าวถึงสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะต่อไปว่ามีแนวโน้มผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดการณ์มากขึ้น หรือ VUCA (volatility, uncertainty, complexity and ambiguity) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกจำนวนมาก การปรับรูปแบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในโลก ความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
ขณะที่เศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำและหนี้ครัวเรือน ตลอดจนเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสและลดต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการ แต่ในขณะเดียวกันอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างคาดหวังให้ ธปท. ดูแลเสถียรภาพและส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลภายใต้บริบทดังกล่าว ธปท. จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งหวังที่จะวางรากฐานการทำหน้าที่ของ ธปท. เพื่อส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมั่นคง มีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั่วถึง และพร้อมปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มีพัฒนาการที่จะตอบโจทย์ของประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ประกอบด้วย 3 ด้านสำคัญ คือ
รักษาเสถียรภาพการเงิน-ปรับกลไกนโยบายให้ทันสมัย
ด้านที่ 1 การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน (stability) ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ ธนาคารกลาง ธปท. จะมุ่งรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะพัฒนาศักยภาพการติดตามและประเมินความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเตรียมเครื่องมือด้านนโยบายให้พร้อมใช้อย่างทันท่วงที ตลอดจนผลักดันให้กลไกตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทบทวนกฎระเบียบด้านการควบคุมแลกเปลี่ยนเงินและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นแกนผลักดันการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
“เรื่องการเตรียมเครื่องมือด้านนโยบายไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเครื่องมือประเภทใหม่ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือปัจจุบัน เข้าใจประสิทธิภาพและกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมีความสำคัญมากขึ้น เราอาจะใช้เครื่องมือเดิมแต่อาจจะต้องหาวิธีปรับให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ยกเครื่องมากขึ้น ตัวอย่างเช่น วันนี้จะเห็นได้ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้น จากเดิมที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะมีความสำคัญมาก แต่ตอนนี้เวลาพูดถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผ่านลงไปยังการลงทุน ลงไปที่ภาคเศรษฐกิจจริง การเชื่อมโยงแต่ละข้อต่ออาจจะเปลี่ยนไป การลงทุนสร้างโรงงานกับลงทุนในด้านบริการก็ใช้สัดส่วนเงินทุนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ต้องปรับกลไกดั้งเดิมอย่างไรบ้าง เสริมอย่างไรบ้าง รวมไปถึงแบบจำลองบางอย่างที่เราใช้ถูกสร้างมานาน อาจจะไม่ครอบคลุมความซับซ้อนและความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เสร็จเมื่อไรก็จบ โลกมันเปลี่ยนตลอด” ดร.วิรไทกล่าว
สำหรับการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน จะปรับปรุงการกำกับดูแลให้พร้อมรับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบการเงิน แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการกำกับแบบต่อเนื่อง หรือ on going จากเดิมที่ ธปท. จะต้องให้คนเข้าไปนั่งดูข้อมูลภายในสถาบันการเงิน แต่ในอนาคตอาจจะสร้างรูปแบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันทำให้สามารถกำกับตรวจสอบได้รวดเร็วมากขึ้น หรือการตรวจสอบที่จะเน้นไปยังวัฒนธรรมขององค์กรมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะลึกลงไปกว่ายอดภูเขาน้ำแข็งแต่ก็อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงินได้เช่นกัน นอกจากนี้ ธปท. จะขับเคลื่อนให้สถาบันการเงินมีการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านไอทีและภัยคุกคามไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากล โดยจะเน้นไปที่การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเตรียมความพร้อมภาคการเงินไทยเพื่อเข้ารับการประเมิน Financial Sector Assessment Program ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้ารับการประเมินมาเป็น 10 ปีแล้ว
สุดท้าย ในมิติของเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ธปท. จะให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินหลักให้มั่นคงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมรองรับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ตามพระราชบัญญัติการชำระเงินที่มีขอบเขตงานมากขึ้น รวมทั้งขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะ mobile payment ที่แยกออกมากำกับดูแลเป็นพิเศษในแผนฯ ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ
ยกระดับกำกับดูแล ไม่เล่นไล่จับ
ด้านที่ 2 การพัฒนาระบบการเงิน (development) ธปท. จะส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (รวมทั้ง FinTech) มีการแข่งขัน สร้างนวัตกรรม และบริการทางการเงินดิจิทัลที่ครบวงจร รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของผู้บริการเฉพาะทาง (niche players) เพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงิน นอกจากนี้ ธปท. จะขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น ระบบเดบิตการ์ดในประเทศ และผลักดันให้ค่าธรรมเนียมสะท้อนโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูล SMEs ที่จะสนับสนุนการให้สินเชื่อที่ไม่ต้องพึ่งพิงหลักประกันเพียงอย่างเดียว (information based lending) ซึ่งแนวนโยบายเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนของระบบในภาพรวม อันจะนำไปสู่บริการทางการเงินที่ถูกลง ทั่วถึง และเป็นธรรม
พร้อมกันนี้ ธปท. จะสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบการเงินกับต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตที่สูง อันจะช่วยให้ภาคเอกชนได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ตลอดจนยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) และส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ เช่น การออมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้มีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้แก่รายย่อย ซึ่ง มาตรการเหล่านี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“เรื่องการดูแลผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญและต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ไม่ได้แบบตำรวจจับขโมย ให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาต้องโทรมาร้องเรียน เราจะทำโครงสร้างให้ยั่งยืนเป็นระบบรับผิดรับชอบมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงอาจจะต้องรับผิดชอบด้วย ตอนนี้เราตั้งฝ่ายใหม่ขึ้นมาดูแล แต่ขอเวลาอีกสักพักหนึ่ง ต้นปี 2560 อาจจะลงมานั่งเล่าให้ฟังว่าระบบที่ว่าหมายความว่าอย่างไร” ดร.วิรไทกล่าว
เร่งสร้างบุคคลากร ปิดช่องว่างระหว่างรุ่น
ด้านที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร (internal excellence) เพื่อขับเคลื่อนแผน ยุทธศาสตร์นี้ให้สำเร็จ ธปท. จำเป็นต้องยกระดับองค์กรให้ทันสมัย คล่องตัว ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาใน 5 ด้าน หลัก ได้แก่
1) ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์โดยเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลระดับจุลภาค (data analytics) และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีความถี่สูงจากหลากหลายแหล่งมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับจุลภาค หรือ big data ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายมหภาคมากขึ้น (microfoundation)
2) ความเป็นเลิศด้านวิจัย ส่งเสริมให้มีงานวิจัยเชิงลึกทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมกับนโยบายและช่วยเสนอแนะแนวทางการยกระดับศักยภาพและพัฒนาระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย
3) ศักยภาพบุคลากร เสริมสร้างให้พนักงานมีศักยภาพสูงและมีความหลากหลาย ควบคู่กับการบริหารทรัพยากรให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อรองรับภารกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสาขา data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) โดยปัจจุบัน ธปท. มีบุคคลากร 3,600 คน มีอายุเฉลี่ย 41 ปี ทำให้ ธปท. กำลังขาดแคลนผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งเป็นผลจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ไม่ได้รับบุคคลากร ดังนั้น ในแผนฯ ธปท. จึงหาทางที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรให้เติบโตขึ้นมาทดแทนกันและเพียงพอในทุกระดับ
4) ศักยภาพองค์กร โดยจะปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น กระบวนการทำงานคล่องตัว ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถด้านไอที และ 5) เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง โดยเปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เสริมสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจง่ายและรวดเร็ว รวมถึงเปิดศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางเศรษฐกิจการเงินอย่างครบวงจร
โดยสรุป แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ฉบับนี้เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทาง โดยความสำเร็จของการเดินทางสู่เป้าหมายขึ้นอยู่กับกระบวนการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ตลอดจนความมุ่งมั่นและร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง ธปท. มุ่งหวังว่าความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์นี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกภาคส่วน “เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย”