เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง, ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), นายปรีดี ดาวฉาย และดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันเปิดใช้งานระบบโอนเงิน “พร้อมเพย์” วันแรก ซึ่งเลื่อนจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา
นิติบุคคลเริ่ม มี.ค. – มั่นใจ 6 เดือนพร้อม”บุคคล-นิติบุคคล-ภาครัฐ”
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเลื่อนออกไปจากช่วงปลายปี 2559 เนื่องจากต้องการความมั่นใจของโครงการและพยายามให้ระบบมีความพร้อมในครั้งเดียว ซึ่งวันนี้มีความมั่นใจจะเปิดใช้บริการส่วนการโอนเงินระหว่างบุคคล หรือซีทูซี ก่อน ขณะเดียวกัน วันนี้ก็จะเริ่มเปิดลงทะเบียนในส่วนของนิติบุคคลเช่นกัน และคาดว่าจะเปิดใช้บริกรการโอนเงินของนิติบุคคล หรือบีทูที ได้ในเดือนมีนาคม 2560 โดยอาศัยเลขทะเบียนการค้าคล้ายกับเลขบัตรประชาชนของบุคคลธรรมดา ขณะที่การโอนเงินภาครัฐ หรือจีทูซีได้แล้วเสร็จไปก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2559 แล้ว
สำหรับโครงการขยายการใช้บัตรเดบิตและการติดตั้งเครื่องรับบัตร หรือ EDC วันนี้เปิดให้ยื่นซองประมูลโครงการ ปรากฎว่ามีผู้สนใจเข้ามายื่น 2 ราย ทั้งนี้คาดว่าจะได้ผลการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มดำเนินการติดตั้งเดือนมีนาคม 2560 นอกจากนี้ ภาครัฐมีความพร้อมที่จะเปิดใช้บริการใบกำกับภาษี (Tax Invoice) แบบอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าอีกประมาณ 6 เดือนโครงการต่างๆจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น
“วันนี้ภาครัฐยังมีความพร้อมที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินของตลาดทุน โดยลดวันการชำระเงินจาก t+3 เหลือ t+2 เทียบเท่ากับมาตรโลก จะพร้อมใช้ในปี 2561 เพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัว”
ด้านดร.วิรไท กล่าวถึงโครงการดังกล่าวปัจจุบันมีผู้ทะเบียนพร้อมเพย์กว่า 20 ล้านบัญชี จึงต้องคำนึงระบบแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น Call Center ความพร้อมให้บริการของสาขา เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากมนุษย์ ขณะที่ระบบเทคโนโลยีพร้อมเพย์ ความเป็นจริงคือการต่อยอดระบบโอนเงินข้ามธนาคารเดิม มีความปลอดภัย เป็นระบบปิด ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมวันละ 4 ล้านรายการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท พร้อมเพย์เป็นการต่อยอดให้สามารถรองรับความต้องการที่มากขึ้น
โดยในอนาคตนอกจากการโอนระหว่างบุคคล-นิติบุคคล-ภาครัฐ ซึ่งระบบพร้อมแล้วในวันนี้ ในตรมาสที่ 2 คาดว่าจะมีโครงการที่เกี่ยวกับการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และในไตรมาสที่ 3-4 จะเริ่มให้บริการระบบ Request to Pay และ Bill Payment ด้วย
แจงค่าธรรมเนียมนิติบุคคลควรถูกลงตามการแข่งขัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นค่าธรรมเนียมของนิติบุคคลว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าระบบนี้จะเป็นทางเลือกมากกว่า โดยธุรกิจสามารถใช้ระบบอื่นๆได้ตามความเหมาะสม ขณะที่ค่าธรรมเนียมทางธนาคารจะเป็นผู้กำหนด โดยปรึกษากับธปท.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าบริการของบุคคลธรรมดา เนื่องจากธุรกิจมีรายได้จากการทำธุรกิจด้วย
ดร.วิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่จะมาทดแทนระบบธุรกรรมกระดาษควรจะถูกกว่า เพื่อจูงใจให้นิติบุคคลมาใช้พร้อมเพย์ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่สำหรับกรณีนิติบุคคล เนื่องจากการให้บริการของธนาคารจะเป็นลักษณะแพคเกจรวม ซึ่งแตกต่างไปตามลักษณะธุรกิจและปริมาณการใช้ แต่คาดว่าจะต้องถูกกว่า
“ปัจจุบันปี 2558 มีปริมาณธุรกรรมผ่านมือถือ 264 ล้านรายการต่อปี มีคนใช้ 14 ล้านบัญชี มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี เติบโตจากปีที่แล้ว 73% นี่ขนาดยังไม่มีพร้อมเพย์ ถ้ามีก็คาดว่าตลาดส่วนนี้จะเติบโตขึ้นอีกมาก” ดร.วิรไท กล่าว
ดร.สมคิด กล่าวว่าไม่อยากให้มองเรื่องพร้อมเพย์แบบตัวเลขว่าจะเติบโตอย่างไรแค่ไหน แต่ต้องมองออกไปว่าในที่สุดแล้วสังคมจะไปสู่สังคมดิจิทัล การใช้มือถือมันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเรื่องนี้ แล้วเป้าหมายของโครงการไม่ใช่แค่มีพร้อมเพย์ แต่เป็นการทำให้ประเทศนี้เป็น “Cashless Society” ดังนั้นพร้อมเพย์เป็นแค่จุดเริ่มต้น เป็นถนนหลักที่จะเชื่อมต่อระบบการเงินของประเทศไปสู่จุดนั้น เรื่องผลิตภาพ เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทุกคนจะได้ประโยชน์หมด เป็นการก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่ง เรื่องค่าธรรมเนียมอะไรเป็นเรื่องเล็กมาก