รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

บริษัทวิจัย Euromonitor International ของอังกฤษ เปิดเผยรายงานการศึกษาประจำปี 2017 ชื่อ Top 100 City Destinations Ranking ซึ่งเป็นการจัดอันดับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเมืองสำคัญๆ ทั่วโลก 100 เมือง จากการรวบรวมตัวเลขในปี 2015 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าโลกในปี 2015 จะประสบปัญหาวิกฤติต่างๆ เช่น การก่อการร้าย ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการระบาดของโรค MERS และ Zika การเติบโตของการเดินทางระหว่างประเทศสะท้อนความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ๆ โดยกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ติดอันดับอยู่ใน 20 เมืองปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
ในปี 2015 ฮ่องกงครองตำแหน่งเมืองยอดนิยมอันดับ 1 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 26.6 ล้านคน แต่จำนวนลดลง 3.9% กรุงเทพฯ มาเป็นอันดับ 2 แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 18.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ความนิยมที่ลดลงของฮ่องกงนั้นเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ ส่วนภูเก็ตอยู่อันดับที่ 16 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 8.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.7% โดยล้ำหน้าโตเกียวที่อยู่อันดับ 17 ส่วนพัทยาอยู่อันดับที่ 20 มีนักท่องเที่ยว 7.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.5%(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

เมืองยอดนิยมในเอเชีย
แม้ฮ่องกงจะยังครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2015 มีจำนวนลดลง สะท้อนปัญหาที่ว่า มนตร์เสน่ห์ของเมืองปลายทางอย่างฮ่องกงลดน้อยลงไปในสายตาของนักเดินทางชาวจีนที่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ความนิยมของฮ่องกงที่ลดลงทำให้กรุงเทพฯ ได้ประโยชน์จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2

รายงานของ Euromonitor พูดถึงเมืองที่เป็นผู้ชนะในเอเชีย เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงสุดมาก คือ โอซาก้า อยู่อันดับที่ 55 จำนวนนักท่องเที่ยว 3.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 52% รองลงมาคือ เกียวโต อันดับที่ 89 มีนักท่องเที่ยว 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 47% ลำดับต่อมาคือเชียงใหม่ อันดับที่ 51 นักท่องเที่ยวทั้งหมด 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 40% และสุดท้ายคือเมืองอัครา ที่ตั้งของทัชมาฮาล อันดับที่ 45 จำนวนนักท่องเที่ยว 4.1 ล้านคน เติบโต 28% กรณีของเชียงใหม่ การเติบโตของนักท่องเที่ยวสูง เพราะอยู่ใกล้พรมแดนจีน เมียนมา และลาว ส่วนเมืองในเอเชียที่เป็นผู้แพ้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง คือ โซล (-6%) ฮ่องกง (-3.9%) เซินเจิ้น (-3.4%) ปักกิ่ง (-1.8%) และ มาเก๊า (-1.8%)
Euromonitor ตั้งข้อสังเกตว่า นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองหลักๆ ในญี่ปุ่น มีการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของเมืองหลักของไทย โตเกียวเลื่อนชั้นขึ้นมา 6 อันดับ โอซาก้า 27 อันดับ และเกียวโต 11 อันดับ ทั้งนี้เพราะว่า 3 เมืองของญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากเส้นทางท่องเที่ยวที่เรียกว่า Golden Route ซึ่งเป็นเส้นทางที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ เดินทางมาที่โตเกียว แล้วก็เดินทางต่อไปโอซาก้าและเกียวโต ผ่านภูเขาไฟฟูจิ ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวของโซลลดลง เพราะการระบาดของโรค MERS ส่วนกรณีของมาเก๊า คือปัญหาที่ทางการจีนเข้มงวดเรื่องคนจีนเดินทางไปเล่นการพนัน

เมืองยอดนิยมในยุโรป
ลอนดอนที่อยู่อันดับ 3 ยังคงเป็นเมืองยอดนิยมในยุโรปของนักท่องเที่ยวนานาชาติ มีอัตราการเติบโต 7% ทั้งนี้เพราะแรงผลักดันจากการที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้โลก ในเดือนกันยายน 2015 ปารีสเกิดเหตุก่อการร้าย Charlie Hebdo ที่ส่งผลไม่มากต่อการท่องเที่ยวในปี 2015 แต่คงจะมีผลกระทบมากในปี 2016 อิสตันบูลไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนตัว แต่การก่อการร้ายที่สนามบินอตาเติร์กและเหตุการณ์รัฐประหารทำให้อิสตันบูลกลายเป็นเมืองที่มีสถานการณ์แปรปรวน
ประเทศในยุโรปใต้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สเปน กรีซ อิตาลี และโปรตุเกส เมืองในยุโรปที่เป็นผู้ชนะคือ เอเธนส์ ที่เติบโต 22.6% มิลาน 17.9% เวนิส 10.9% และมาดริด 10.2% ส่วนเมืองในยุโรปที่เป็นผู้แพ้คือ มอสโก จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 13.8% สาเหตุสำคัญมาจากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม EU กับรัสเซียเลวร้ายลง และการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
การเติบโตของเมืองกับการท่องเที่ยว
เมืองต่างๆ ทั่วโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางของผู้คนระหว่างเมืองต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในปี 2030 นิวยอร์กจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก มากกว่าเศรษฐกิจของออสเตรเลีย เม็กซิโก หรือรัสเซีย ส่วนโตเกียวจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ลอนดอนอันดับที่ 19 เป็นต้น เมืองสำคัญๆ ของจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจ ทั้งในแง่จำนวนพลเมืองและขนาดเศรษฐกิจ
จากฐานะทางเศรษฐกิจที่ใหญ่โตของเมือง ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องการเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเข้าและออกจากเมือง สนามบินฮีทโทรว์เพิ่งตัดสินใจสร้างทางขึ้นลงที่ 3 แต่สนามบินในเอเชียจะมีการเติบโตอย่างมากในอนาคต ในปี 2015 รัฐบาลจีนประกาศลงทุน 80 พันล้านดอลลาร์ สำหรับ 193 โครงการที่เกี่ยวข้องการบินพาณิชย์ โดยเน้นไปที่การปรับปรุงสนามบินของเมืองรองๆ การสร้างสนามบินใหม่อีก 82 แห่ง และรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกับสนามบิน

Euromonitor กล่าวว่า จำนวนนักเดินทางเข้าออกเมืองต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัท Airbnb ได้ประโยชน์จากการทำธุรกิจการให้เช่าที่พักในเมืองระยะสั้นๆ นับจากจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เป็นต้นมา รูปแบบการเข้าพักอาศัยของนักเดินทาง เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในปี 2012 เป็นต้นมา มูลค่าการขายจากการเช่าที่พักระยะสั้นสูงกว่าการเข้าพักตามโรงแรม Airbnb สามารถเสนอราคาการเข้าพักที่ถูกกว่า และยังสร้างบรรยากาศการเข้าพัก “แบบแท้จริง” ได้มากกว่าการเข้าพักตามโรงแรม ปารีสและลอนดอนกลายเป็นเมืองแรกๆ ที่แก้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการเช่าที่พักอาศัยระยะสั้นๆ Airbnb มีสถานที่ให้เช่าในปารีสมากถึง 78,000 แห่ง รองลงมาคือลอนดอน 47,000 แห่ง
รายงานของ Euromonitor แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การที่เมืองปลายทางต่างๆ ในเอเชียจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องการท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน ในปีที่ผ่านๆ มา ฮ่องกงเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกเพราะตั้งอยู่ติดกับจีน และคนจีนมีรายได้เหลือใช้เพิ่มมากขึ้น ส่วนไทยกับญี่ปุ่นเป็น 2 ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ไปฮ่องกงและมาเก๊า