ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นายกฯ เตรียมแก้รัฐธรรมนูญ “หมวดพระมหากษัตริย์” เป็นเรื่องตามพระราชอำนาจ ไม่กระทบสิทธิประชาชน – ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมใต้ ยืดเวลายื่นแบบปี2559

นายกฯ เตรียมแก้รัฐธรรมนูญ “หมวดพระมหากษัตริย์” เป็นเรื่องตามพระราชอำนาจ ไม่กระทบสิทธิประชาชน – ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมใต้ ยืดเวลายื่นแบบปี2559

11 มกราคม 2017


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

เตรียมแก้รัฐธรรมนูญ –  ย้ำ “เลือกตั้ง” ตามกรอบเวลา

ภายหลังการประชุมพล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ในหมวดพระมหากษัตริย์ได้ ว่าเป็นไปตามขั้นตอน เนื่องจากทางสำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่ามีประเด็นที่ต้องหารือเรื่องรัฐธรรมนูญในหมวดของพระมหากษัตริย์ที่ทางฝ่ายองคมนตรีได้นำทูลเกล้าถวายไปแล้ว ว่ามีพระราชกระแสลงมา 3-4 รายการ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่านและเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“คงใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะแก้ได้ก่อน แล้วเมื่อนำฉบับที่ทูลเกล้าฯ ลงมาก็ค่อยดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้น ก็จะอยู่ในกรอบเวลาที่จะครบในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 พอส่งลงมา เราก็แก้ไขให้รวดเร็วขึ้นภายในประมาณ 1 เดือน น่าจะเสร็จได้ไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเสนอทูลเกล้าฯ ไปอีกครั้งหนึ่ง”

“ผมบอกแล้วไงว่าผมไม่เคยเลื่อนขั้นตอน ขั้นตอนเหมือนเดิมทุกประการ เวลาทุกอย่างมีหมดตามเวลา 240 วัน 150 วัน 90 วัน มีหมด สุดแต่ว่าขั้นตอนไหนจะมีอยู่ตรงไหน ได้แค่ไหนก็อยู่ตรงนั้น ทุกอย่างมันไปเริ่มเมื่อไร เมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวรลงมา ก็นับไปว่าจะไปเลือกเมื่อไหร่ก็เลือกตามนั้น

รัฐบาลคิดใหม่ทำใหม่ปฏิรูปประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงเรื่องการปฏิรูปว่า ปัจจุบันเข้าใจการปฏิรูปกันหรือไม่ การปฏิรูปก็คือการคิดใหม่ทำใหม่ เพราะฉะนั้น วันนี้รัฐบาลทำงานคือ1. งานตามกรอบอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงาน มีงบประมาณ มีแผนงานโครงการ มีพันธกิจ ภารกิจของเขา ทำไปแล้ว ทำถนนหนทาง คูคลอง ซึ่งทำเหมือนทุกรัฐบาลที่ผ่านมา อันนี้ทำ แต่เราก็ต้องกำกับดูแลว่า ทำให้ได้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดงบประมาณ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ทุจริต

อันที่ 2 เรื่องของงานบูรณาการ คือ การปฏิรูประบบราชการแล้ว ทำมาตลอด 3 ปี ว่างานอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง 3 กระทรวง ต้องเอา 3 กระทรวงมาคุยกัน มาทำงประมาณด้วยกัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ที่เกี่ยวข้องต้องมาทำงานร่วมกัน ไม่อย่างนั้นทุกกระทรวงก็มีน้ำ น้ำ น้ำ แล้วก็ทำกันไปตามหน้าที่ แล้วมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ หรืออย่างเช่น การเกษตร ก็ต้องเอาต้นทางก็คือกระทรวงเกษตรเป็นผู้ปลูก กระทรวงพาณิชย์เป็นคนขาย กระทรวงต่างประเทศเป็นคนเจรจากับต่างประเทศด้วย กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวข้องในเรื่องของประชาชน มันก็ต้องมาประชุมร่วมกัน แก้ปัญหาเรื่องการเกษตรทั้งวงจร ปลูกข้าว ปลูกอะไรก็แล้วแต่

“งานบูรณาการ ต้องเกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาพูดแต่บูรณาการเป็นแท่งมาตลอด นี่คือบูรณาการข้ามแท่ง”

ชูผลงานตรึมทั้งแก้ IUU -ICAO – ปฏิรูปกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเรื่องอะไรดำเนินการเสร็จไปแล้วบ้าง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า”อยากจะรู้อะไร IUU, ICAO ได้ตั้งสำนักการบินพลเรือนขึ้นมาใหม่ อย่างนี้ปฏิรูปหรือเปล่า นอกนั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิรูปกฎหมาย กฎหมายออกมาแล้ว 180 กว่าฉบับ กำลังพิจารณาอีก 200 กว่าฉบับ รออยู่ข้างนอกอีก 200 ทั้งหมด 580 ฉบับ ปฏิรูปเปล่า…ลดเวลาขั้นตอนในการลงทุน ในการจัดตั้งบริษัท ประมวลกฎหมายอำนวยความสะดวก กฎหมายการให้ข้อมูลข่าวสาร การตั้งศูนย์ดำรงธรรม แต่ก่อนมีแต่ตั้งไว้เฉยๆ ไม่ทำอะไร ผมก็มาทำเรื่องศูนย์รับข้อมูล ทั้งหมด 3 ปี รับทั้งหมด 8 ล้านกว่าเรื่อง เยอะไหมข้อมูล แล้วแก้ปัญหาไปร้อยละ 90 ทั้ง 6 กลุ่ม เดี๋ยวสรุปให้ได้ว่า 6 กลุ่ม ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ขบวนการยุติธรรม ต่างประเทศ ทุกเวทีโลกเขาก็ยอมรับไทยทั้งสิ้น ผมไปไหนเขาก็ไม่ได้รังเกียจ เขาไม่ได้เดินหน้าถามผมว่า รัฐประหาร มาทำไมเนี่ย มีแต่คนไทยนี่แหละ ไม่ได้ดูปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ไหน ก็แล้วแต่ท่าน ผมจะนั่งฟังท่าน เวลาท่านถามรัฐบาลใหม่นะ ว่าเขาทำอะไรให้ท่านบ้าง”

เตรียมตั้งคณะกรรมการ “ยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูป-ปรองดอง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป การสร้างความสามัคคีปรองดองว่า “คืบหลายคืบแล้ว ผมก็คิดมา 3-4 อาทิตย์ ตั้งแต่ปีใหม่ก่อนปีใหม่ วันนี้โครงร่างขึ้นมาชัดเจน มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คณะกรรมการที่ว่าจะเป็นคณะกรรมการตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร อะไรคือปฏิรูป อะไรคือปรองดอง อะไรคือยุทธศาสตร์ชาติ พอเขาทำงานก็จะมีความชัดเจนขึ้นคราวนี้อันไหนที่ทำไม่ได้ มันผิดกฎหมาย กฎหมายยังไม่ออกก็ไปเร่ง ครม. อันไหนจำเป็นต้องใช้ ม.44 ก็ใช้ ม.44 ทำให้ได้ มันถึงจะเรียกว่าปฏิรูป ระยะที่ 1 ปี 2560”

“เพราะฉะนั้นการปฏิรูปเนี่ย 20 ปี ไม่ใช่ปฏิรูปปีเดียว แล้วผมไม่อยู่หรอก 20 ปี อยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องมากลัว ผมไม่ได้จะอยู่เพื่อจะทำยุทธศาสตร์ 20 ปีผมอายุ 80 เข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็จะทำให้มันเกิดความชัดเจนขึ้น 1 ปีเนี่ยอะไรทำได้ ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็อยู่ในแผนแม่บท ส่วนรัฐบาลหน้า คุณก็ไปทวงรัฐบาลหน้าเขาเอา เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันจะมีออกมาให้ชัดเจนขึ้นว่า ปีนี้เราจะทำอะไร อะไรที่เป็นงานตามหน้าที่ อะไรที่เป็นงานบูรณาการ อะไรที่เป็นงานปฏิรูปที่ยังไม่ได้ทำ และจะต้องไปแก้ใหม่ ต้องไปทำใหม่ อะไรที่ปฏิรูปไปแล้ว ไปทำต่อ นี่คือการส่งสืบทอดอำนาจของผม อำนาจการบริหารให้แก่รัฐบาลใหม่ ไม่ได้สืบทอดให้กับใคร”

ส่วนเรื่องการปรองดองก็อย่าเข้าใจว่าคือการเจรจาอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการปรองดองวันนี้ ทำอย่างไร จะทะเลาะกันอีกหรือไม่ คนไทยทะเลาะกันด้วยสาเหตุอะไร ทำไมการปฏิสัมพันธ์ที่ผ่านมาไปหากันไม่ได้ บ้านเดียวกันดูทีวีช่องเดียวกันไม่ได้ หรือคุยกับข้างบ้านไม่ได้ นิยมคนละฝักคนละฝ่าย ให้ความสนใจตรงนี้ด้วย

“อย่าไปสนใจว่าคนติดคุกจะเอาออกไหม คนที่อยู่เมืองนอกจะเอากลับมาได้หรือเปล่า สนใจอยู่แค่นี้ เอาคนที่อยู่ในประเทศวันนี้ก่อนว่าเดือดร้อนไหม คนที่หนีไปอยู่ต่างประเทศเขาเดือดร้อนไหม ใครเดือดร้อนกว่ากัน แล้วเดือดร้อนเพราะอะไร คิดให้เป็น ปฏิรูปทางความคิดด้วย อย่าไปหาเหตุมาจนกระทั่งมันทำอะไรไม่ได้เลยนะ ปรองดองมันหลายเรื่อง จะให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาดู จะเสนอยังไงปรองดอง เสนอร่วมกันไม่ได้ก็แต่ละพรรคเสนอกันแล้วผมจะให้นักข่าวดูแล้วกันว่าเขาต้องการอะไร แล้วประชาชนก็ไปตัดสินเอาใครทำได้ก็ไปว่ามา ตามกฎหมาย”

ออก ม.44 แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว – คณะทำงานยุทธศาสตร์ – เชื่อมรถไฟฟ้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้มีการใช้ ม.44 สองเรื่อง เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่ผมกล่าวมาแล้ว ทุกคนเขียนอย่าให้เสียหายนะ เขียนให้มันเข้าท่าเข้าทางหน่อย รู้อะไรสูงอะไรต่ำบ้าง เรื่องที่สองก็คือเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป การสร้างความสามัคคีปรองดอง ก็ออกคำสั่งไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ทำงานให้ได้

อันที่สาม ผมก็ย้ำไปกับผู้บริหารเกี่ยวกับสายสีน้ำเงิน ก็ยืนยันว่าส่วนต่อขยาย  1 กม. จะแล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคมปีหน้า เพื่อให้การบริการ ในส่วนที่สองคือสายสีน้ำเงินส่วนที่สอง กำลังเจรจาต่อ ว่าจะทำยังไงเพราะมันเป็นวงเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน การต่อสัญญาอะไรต่างๆ เพราะมันเป็นของวงเดิมที่มีการออกแบบไว้แล้วทำไม่ครบ ไปทำอย่างอื่นก่อนก็เลยไปทำโด่เด่อยู่อย่างนั้น ทำไมไม่ทำตั้งแต่ต้นให้มันครบรอบ แล้วผมก็ต้องไปตามแก้ ทำนั่นก็ไม่ได้นี่ก็ไม่ได้ ก็ไม่ต้องปฏิรูปมันก็จบอยู่แค่นั้น

“การทำงานแบบนี้ บางอย่างเอาแต่ใจไม่ได้เพราะเป็นการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนไทย เอกชนต่างประเทศ อะไรก็ตาม มันต้องระมัดระวัง คือไม่ใช่ใช้อำนาจอย่างเดียวก็ไม่ได้หมดหรอก ใช้อำนาจอย่างเดียวทำได้จริงแต่เค้าไม่มาทำกันอีก เขาไม่ไว้ใจ เพราะฉะนั้น ทำอะไรต้องมีทางออกให้รัฐบาลด้วย แต่ผมต้องการให้มันเกิด นั่นคือประเด็นของผม และประชาชนไม่ต้องไปเสียค่าแรกเข้า ขึ้นสถานีแรกก็เสียตั้งแต่ที่แรกเอาหรือไม่ อันนี้มันคาราคาซังมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ถ้าไม่ทำวันนี้แบบนี้มันก็ทำไม่ได้ ก็ต้องเห็นอกเห็นใจทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่เขาลงทุนด้วย ผมไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเขาอยู่แล้ว ประชาชนได้ประโยชน์ รอได้เหรอ รอไปอีกเท่าไร เรื่องต่อสายสีน้ำเงิน วิ่งสั้นอยู่แบบนี้ แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการจราจรเข้าไปอีก ประกาศไปเลยใครอยากทำที่จอดรถใต้ดินมาสมัครกับรัฐบาลออกเงินออกทองกัน PPP ก็ได้”

ปฏิรูปผังเมืองแก้น้ำท่วมระยะยาว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่าควรจะต้องติดตามสถานการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพราะเวลาฝนที่เข้ามาวันนี้มันมาหลายทางด้วยกัน ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติคือธรรมชาติ ถ้าเราจะบอกว่ามันเดือดร้อน แล้วจะแก้ปัญหาโดยทันทีทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ ต้องไปดูว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน เมื่อฝนตกมากๆ แล้ว อันที่หนึ่ง มันมากผิดปกติ เป็น 100 มิลลิเมตรขึ้นไป 200  มิลลิเมตรขึ้นไป มันก็ยากที่จะป้องกันได้ทั้งหมด

เราต้องมาดูที่ว่าเราจะทำยังไงไม่ให้มันท่วมอย่างนี้อีก อย่างไรมันก็ท่วมถ้าน้ำเยอะ ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้มันลดระดับได้เร็วขึ้น ประชาชนได้ผลกระทบน้อยที่สุด รัฐบาลใช้เงินในการฟื้นฟูน้อยที่สุด วันนี้ก็อยากจะเรียนว่ามาตรการการเยียวยา คือทุกคนต้องเข้าใจว่ารัฐบาลก็จะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า อย่างประหยัด เพราะมีหลายงานที่ต้องใช้งบประมาณ แต่การดูแลประชาชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น เกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่เท่าเดิมตามระเบียบราชการ กระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาทราบดีอยู่แล้ว

“แต่บางทีที่จะมีพิเศษอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นก็อยู่ในขั้นตอนการสำรวจ ทำการสำรวจขึ้นมา นำเข้าหารือ ครม. ว่าจะเพิ่มเติมอะไรให้เขาบ้าง ทุกคนต้องมองพื้นฐานก่อนนะ ทำอะไรก็ตาม การใช้จ่ายงบประมาณ มันมีระเบียบ มีกฎกติกา มีกฎหมายอยู่แล้วทั้งสิ้น ทีนี้ถ้ามันรุนแรงขึ้นมาก็ต้องไปตั้งหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา แล้วหารือใน ครม. ในการใช้จ่ายงบประมาณ”

ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องปัญหาสำคัญในการระบายน้ำก็เกี่ยวกับการสร้างสิ่งกีดขวางที่มันขวางทางน้ำ เช่น ถนน หมู่บ้านจัดสรร หรือการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอะไรก็แล้วแต่ ของเดิมก็ต้องพยายามแก้ไข ผมก็ได้สั่งการไปแล้วว่าจะทำการขุดลอก ทำการเจาะช่องระบายน้ำ ทางระบายน้ำอย่างไร ที่มีอยู่แล้วเดิม เพราะมันทำมาหลายสิบปียี่สิบปีที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องมาแก้ไขสมัยผมนี่แหละ จะได้มากได้น้อยก็อยู่ที่เวลา อยู่ที่งบประมาณที่เรามีอยู่

“ระยะต่อไปก็คือ เราต้องแก้เรื่องใหม่ คือการปฏิรูปกฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร ในการก่อสร้างอาคาร จะต้องมีที่บำบัดน้ำเสียอย่างไร  มีทางระบายน้ำอย่างไร ระบบระบายน้ำอย่างไร พวกนี้มันไม่เคยได้ทำกันมาหรอก นึกจะสร้างตรงไหนก็สร้าง นึกจะทำอะไรก็ทำ บางทีกฎหมายมีก็ไม่ทำ ก็ปล่อยปะละเลยกันมา ก็ไม่รู้จะไปโทษใครเหมือนกัน เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องทำเรื่องนี้ใหม่ อย่าขัดขวางกฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร”

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการจัดรูปที่ดินใหม่ ก็ผังเมืองอีกนั้นแหละ ปัญหาของเราก็คือ มันมีสถานที่ราชการ ที่สาธารณะ พอทำได้ สั่งได้ พอเป็นที่เอกชนขึ้นมา บางคนก็มีที่มากที่น้อย พอไปกำหนดให้ทำโน่นทำนี่ก็ไม่ยอม ยอมไม่ได้ เพราะที่เขาน้อยไง ก็ต้องเห็นใจคนเหมือนกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่พอนึกบอกไม่มีรายได้ก็เสียอย่างเดียว ต้องดูแลถึงคนที่มีรายได้แตกต่างกันบ้าง คนมีที่เยอะเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร

ประชาชนต้องรับฟังเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า”ในเรื่องของระบบแจ้งเตือนภัยเหล่านี้ ถ้าบอกทำงานช้า ผมก็เห็นเขาก็แจ้งมาเป็นเดือนแล้วนะ ว่าฝนจะเข้าตรงนั้นตรงนี้ คลื่นลมจะแรงตรงนี้ แต่ทุกคนก็คิดว่ามันเป็นแบบเดิม เดี๋ยวมันก็ไป แล้วจะบอกเขาแจ้งช้าได้อย่างไร พอฝนมาทีเดียวเป็น 100 มิลลิเมตร 3 วันเท่านั้นแหละ น้ำก็ท่วมไง ไม่ได้เตรียมตัวจะย้ายกัน ก็คิดว่าจะเป็นแบบเดิม อันนั้นแหละคือประเด็นสำคัญ จะว่าแจ้งเตือนช้ามันจะใช่หรือจะไม่ใช่ผมไม่รู้ แต่ประชาชนเมื่อเค้าแจ้งเตือนก็ต้องเตรียมตัวสิ ถ้าไม่เตรียมตัวมันก็จะเป็นแบบนี้ ของก็ย้ายไม่ทัน เพราะฉะนั้นอย่าโทษกันไปกันมา ต้องช่วยกัน ผมก็ฟังมาตลอด”

“เรื่องการจัดอพยพประชาชน ที่ผ่านมาจำได้ไหม เมื่อปี 2554 น้ำท่วม มันมีแผนทุกแผนนั่นแหละ แต่ประเด็นว่าจะเอาไปอยู่ที่ไหน อย่างในกรุงเทพฯ มันก็มีอาคารใหญ่ๆ หลายอาคาร มีพื้นที่ เราก็ทำได้ แต่ในพื้นที่ภาคใต้เนี่ย จะไปไว้ที่ไหนล่ะ มันท่วมทั้งหมดตรงนั้นน่ะ ก็ต้องเอาออกมาจาก 10 จังหวัด จะไปไว้ที่ไหนล่ะ วันนี้ก็ไปได้ที่เป็นที่ดอนน่ะ ใช่ไหม ศาลาวัดอะไรต่าง ๆ เขาก็ทำอยู่แล้วล่ะ ปัญหาอีกอันก็คือ หลายคนก็ไม่อยากย้าย อยากอยู่ที่บ้านอย่างเดียว อยากอยู่ที่บ้าน ยังไงก็อยู่บ้าน ขออย่างเดียวว่า ขอให้มีอาหารไปส่ง นั่นแหละคือปัญหาที่เราจะต้องทำ แก้ให้ได้ เพราะว่าบ้านเรือนมันหลายหลัง มันก็ต้องมีเรือไปส่งอาหารทุกมื้อ พอเขาหุงข้าวก็ไม่ได้ น้ำท่วม จะให้ไปอยู่ที่อื่นเขาก็ไม่ไป เป็นลักษณะนิสัยคนไทย ผมต่อว่าไม่ได้อยู่แล้ว นี่คือความยากง่ายในการทำงาน เพราะฉะนั้นเห็นใจรัฐบาลบ้าง เวลาเขาแจ้งอะไรก็ฟังหน่อยแล้วกัน แล้วก็ปฏิบัติตามด้วย ช่วยตัวเอง ปีหน้าก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมแล้ว”

มติ ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

ยุบคณะกรรมการ CoST เหลือคณะเดียว -พร้อมออกเกณฑ์บังคับทุกโครงการ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST Committee) มีกรรมการ 15 คนโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย
1) ปลัดกระทรวงการคลัง ประธาน
2) อธิบดีกรมบัญชีกลาง รองประธานคนที่ 1
3) รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รองประธานคนที่ 2
4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กรรมการ
5) ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กรรมการ
6) ผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กรรมการ
7) ผู้แทนองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กรรมการ
8) ผู้แทนสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กรรมการ
9) ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรรมกา
10) ผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมกา
11) ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กรรมการ
12) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการ
13) ที่ปรึกษา/รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กรรมการ
14) ผู้แทนกรมบัญชีกลาง กรรมการและเลขานุการ
15) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและช่วยเลขานุการ

โดยมีอำนาจหน้าที่ 1) พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติและหรือระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและกลไกอื่นที่เสริมสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้าง 2) พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและกลไกอื่นเพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้าง 3) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเสริมสร้างความโปร่งใสฯ 4) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงหรือเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น 5) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ มีกรอบการดำเนินงาน 4 ประเด็น คือ 1) การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ได้แก่ โครงการมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และมีความสำคัญและส่งผลต่อสาธารณชนในวงกว้าง 2) การเปิดเผยข้อมูล แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ เปิดเผยข้อมูลเชิงรุก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติตั้งแต่เริ่มจัดทำจนถึงสิ้นสุดโครงการ 39 รายการ และเปิดเผยข้อมูลเชิงรับที่จะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อมีการร้องขอเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เปิดเผยโดยอัตโนมัติ 3) ช่องทางการเปิดเผยข้อมูลโครงการของรัฐจะเปิดเผยผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th ขณะที่โครงการรัฐวิสาหกิจจะเปิดเผยผ่านเว็บไซต์หน่วยงานตนเองด้วย และในอนาคตจะมีการพัฒนาเว็บไซต์โดยเฉพาะสำหรับ CoST และ 4) คณะทำงานตรวจสอบข้อมูล (Assurance Team) ตามหลักการของ CoST กรมบัญชีกลางจะของบประมาณจ้างที่ปรึกษาภายนอก มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยและแปลงให้อยู่ในภาษาที่เข้าใจง่าย ประสานงานกับฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการในการขอข้อมูล จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาก่อนเปิดเผยต่อสาธารณชน

สำหรับความจำเป็นของการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เนื่องจากเดิมรัฐบาลมีคณะกรรมการฯ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด กำกับดูแลโครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ และคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ภายใต้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กำกับดูแลโครงการก่อสร้างของส่วนราชการ ซึ่งทับซ้อนกัน

“ความแตกต่างจากคณะกรรมการเดิมนอกจากลดความซ้ำซ้อนคือคณะกรรมการเดิมจะเป็นไปในลักษณะสมัครใจ แต่ตอนนี้มีหลักเกณฑ์บังคับกับภาครัฐชัดเจนและทุกโครงการที่เข้าข่ายต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตามโครงการ CoST รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ซึ่งไม่ทำให้การเดำนินงานล่าช้าเพราะเป็นคนละส่วนกับการทำงาน อันนี้จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล ส่วนผลประโยชน์ที่ผ่านมาจากการเข้าร่วม CoST มีโครงการสนามบินสุวรรณภูมิระยะ 2 จากข้อมูลช่วยประหยัดไปกว่า 9,200 ล้านบาทแล้ว จากเดิมที่อนุมัติวงเงินไว้ 62,503 ล้านบาท” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมใต้ ยืดเวลายื่นแบบ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ แบ่งเป็น 1) ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจากการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2560 จำนวน 1.5 เท่าของเงินบริจาค โดยกรณีบุคคลธรรมดาสามารถนำเฉพาะการบริจาคที่เป็นเงินสดไปหักลดหย่อนเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ ขณะที่นิติบุคคลสามารถบริจาคได้ทั้งทรัพย์สินและเงินสดมาหักจากกำไรสุทธิ แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

2) ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ จากเดิมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2560 ไปเป็นภายใน 31 มีนาคม 2560 โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา

ขยายการประปาขอนแก่น-พัทยา วงเงิน 5,621 ล้านบาท รับเมืองโต

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาขอนแก่น-น้ำพอง  และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)  สาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา วงเงิน 5,621 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแรก 2,227 ล้านบาทและโครงการที่ 2 วงเงิน 3,393 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ มท. และ กปภ. บรรจุโครงการดังกล่าวในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2560 ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจาณาดำเนินการต่อไป

สำหรับเหตุผลความจำเป็นของโครงการว่าพื้นที่ให้บริการของ กปภ.  สาขาขอนแก่น-น้ำพอง  และ กปภ. สาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา เป็นพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวของประชากรและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง  จึงประสบปัญหากำลังการผลิตเดิมไม่เพียงพอกับความต้องการอุปโภคบริโภคพื้นที่ ประกอบกับระบบจ่ายน้ำเดิมมีอายุการใช้งานนานเป็นผลให้ประสบปัญหาท่อชำรุด แตกรั่วบ่อย  และมีอัตราน้ำสูญเสียสูง  ตลอดจนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้ง

โดยทั้ง 2 โครงการจะมีการก่อสร้างระบบน้ำดิบ (การขุดสระพักน้ำดิบและวางท่อส่งน้ำดิบเพิ่ม)  ระบบผลิตน้ำประปา (โรงกรองน้ำระบบจ่ายสารเคมี ถังน้ำใส  โรงสูบน้ ำและหอถังสูง)  และระบบจ่ายน้ำ  (วางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ และท่อบริการขนาดต่างๆ) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กปภ.  แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต  ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาและพื้นที่เศรษฐกิจ ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง   และเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค  โดยเฉพาะศูนย์กลางความเจริญของท้องถิ่น และส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มประชาชนในพื้นที่บริการได้ 411,978 คน จาก 1,025,418 คน เพิ่มจำนวนผู้ใช้น้ำ 203,340 ราย จาก 268,556 ราย เพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปา 249,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จาก 604,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน