พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า มาตรการภาพรวมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่และที่ค้างอยู่ ที่ดึงออกมาเพื่อปฏิบัติงานเร่งด่วน คือ 1. การซ่อมแซมของทุกกระทรวง ทบวง กรม เน้นการสร้าง นำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จ้างงาน ให้เศรษฐกิจกระเตื้อง มีเม็ดเงินหมุนเวียน 2. การดูแลเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เช่น กลุ่มชาวนา รวมถึงอีกหลายกลุ่มที่มีความเดือดร้อน จะทยอยแก้ทีละกลุ่ม เราพยายามจะทำให้เป็นระบบให้ได้ โดยอนุมัติในหลักการวงเงินแสนกว่าล้านบาท
“พล.อ.ประยุทธ์” จะรับผิดชอบหากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า
นายกรัฐมนตรีคาดหวังว่า แผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นวิธีการแก้ปัญหาตามหลักการอยู่แล้ว โดยการขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1. งบประมาณปี 58 หรืองบปี 57 ที่ค้างอยู่ยังไม่ดำเนินการ และ 2. งบที่รัฐบาลให้กระทรวงการคลังไปตามเก็บมาเพิ่มอีก ดังนั้น จะเห็นว่ารัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการทางภาษี ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาตามหลักการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกเขาทำกันและต้องดูแลทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบว่า “ต้องไปดูว่าติดลบเพราะอะไร คงไม่ใช่เป็นความบกพร่องของเราแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเพราะกำลังการซื้อน้อยลง เศรษฐกิจโลกกำลังจะลง ที่เราเข้ามาวันนี้เราได้เตรียมการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้แต่จะเกิดผลได้ทันทีคงยาก ต้องใช้เวลา แต่เราจะแก้วันนี้ให้ได้ก่อน จะต้องขยายตลาดเพิ่ม และดูมาตรการต่างๆ”
ต่อข้อถามว่า ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ไม่ขยายตัวตามเป้าหมายที่คาดไว้ จะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ตอบยาก…เรามาแก้ปัญหาขณะนี้ และแก้ปัญหาแบบที่ใครไม่เคยที่จะกล้าแก้มาก่อน เรามาแก้ปัญหาเป็นระบบ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำ ถ้าจะเป็นความผิดของเราก็แล้วแต่สังคม ถ้าอยากจะเป็นแบบเดิมก็เอา คิดว่าอย่าเอามาเป็นสิ่งที่ว่าไม่เรียบร้อย ไม่ดี แล้วเอามาโทษ มาหาว่าเราไม่ดี ใช่ผมรับผิดชอบ เพราะผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญปัญหาเหล่านี้สะสมมานานแค่ไหน ลองไปทบทวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ในอดีตแก้ปัญหามาอย่างไร วันนี้แก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนแต่ต้องใช้เวลา ถ้าเราทำได้เร็วก็จบ ถ้าทำไม่ได้เร็วก็ว่ากันต่อไป ขอถามกลับว่าว่าจีดีพีจะสูงขึ้นได้อย่างไรเมื่อเศรษฐกิจการส่งออกทำไม่ได้ หรือทำได้น้อย ดังนั้นจีดีพีตกแน่นอน ไม่ใช่สั่งวันนี้พรุ่งนี้จะดีทันที แต่เป็นการประเมินว่าน่าจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทำกัน”
“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.9 แสนล้าน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ครม. อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจริงจัง ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่อยู่ในกรอบทฤษฎีประชานิยม เพราะรัฐบาลนี้ไม่ต้องการคะแนนเสียง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ high-powered money เพื่อทำให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมานานฟื้นตัวขึ้นมาได้ ประกอบด้วย 6 มาตรการ วงเงินที่อนุมัติทั้งสิ้น 793,672 ล้านบาท
มาตรการแรก เป็นการจ้างงานให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ แบ่งเป็นรายการใช้งบประมาณ 5 รายการ คือ 1. งบประมาณการลงทุนที่ค้างจากปี 2557 วงเงิน 147,050.8 ล้านบาท ซึ่งทุกกระทรวงทบทวนแล้วว่าพร้อมที่จะทำสัญญาจ้างงานและลงทุนได้ภายในเดือนธันวาคม 2557 คาดว่าเมื่อเม็ดเงินในส่วนนี้ออกสู่ระบบเศรษฐกิจแค่ 20% ก็จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นทันทีที่เกิดการจ้างงาน
รายการที่ 2 เงินงบประมาณในการลงทุนของปี 2558 ซึ่งทุกระทรวงจะเร่งรัดทำสัญญาจ้างภายใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ วงเงิน 129,522.2 ล้านบาท โดยสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเซ็นสัญญาการจ้างงานและประมูลให้ถูกต้อง ไม่มีการซูเอี๋ย คาดว่าเมื่อเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจได้ 30-40% ก็จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจผงกหัวขึ้นมาได้
รายการที่ 3 เร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดเล็กทั่วประเทศจากงบกลางที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี 2555-2557 และงบไทยเข้มแข็งที่เหลือจากปี 2552 วงเงิน 23,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นโครงการที่เน้นการซ่อม-สร้าง ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน จัดซื้อครุภัณฑ์ วงเงิน 130,000 ล้านบาท, ซ่อมแซมสำนักงาน บ้านพักกรมชลประทาน 2,422 ล้านบาท, โครงการซ่อม-สร้างบ้านพักของกระทรวงกลาโหม 736.6 ล้านบาท, ก่อสร้างบ้านพักแพทย์ ซื้อครุภัณฑ์ 2,724.7 ล้านบาท, โครงการบำรุงรักษาบูรณะทางสายหลัก 3,898.6 ล้านบาท
“โครงการในส่วนนี้ จะมีการลงนามภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 หากมีการกดปุ่มพร้อมกันทั่วประเทศ จะทำให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างทั่วประเทศตื่นขึ้น เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเคลื่อนตัวจากชนบทสู่เมืองใหญ่” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
รายการที่ 4 ทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 วงเงินรวม 24,892.4 ล้านบาท รายการนี้จะเร่งรัดลงนามในสัญญาให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2557 โดยให้แต่ละกระทรวงไปคิดโครงการ แต่หากไม่มีกระทรวงไหนเบิกจ่าย ก็จะนำไปรวมไว้ที่ส่วนกลางภายใต้การบริหารจัดการของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
รายการที่ 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฐานราก เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างระมัดระวังให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด โดยเทียบรายได้ระหว่างชาวนากับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ปีละ 108,000 บาท มาตรการในส่วนนี้จึงมุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน ใช้สภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท จากนั้นจะมีการตั้งงบประมาณชดเชยในปีหน้า
มาตรการนี้ จะเป็นการให้เงินช่วยเหลือชาวนาจำนวน 1,000 บาทต่อไร่ แต่สำหรับผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 15 ไร่ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ อยู่ 1.8 ล้านครัวเรือน ส่วนที่มีที่นาเกินกว่า 15 ไร่ มีอยู่ 1.6 ล้านครัวเรือน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า วงเงินส่วนนี้ ธ.ก.ส. ยินดีที่จะจ่าย งบประมาณที่ใช้นี้จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. และถือว่าดีกว่าการขาดทุนไปกับโครงการรับจำนำข้าวปีละ 2.5 แสนล้านบาท และก็เป็นการช่วยไปที่รายเล็กเป็นหลักด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าการจ่ายเงินในโครงการนี้จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการจ่ายให้แก่เกษตรกรที่มีการมาขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันเกือบทั้งหมดมีบัญชีอยู่กับ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว และเชื่อว่า ธ.ก.ส. จะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีให้ชาวนาได้ทันทีไม่เกินวันที่ 20 ตุลาคม 2557
“ปีนี้เป็นปีที่ราคาข้าวตกต่ำมาก คืออยู่ที่ 8,000 บาทต่อเกวียน และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกเนื่องจากข้าวฤดูกาลใหม่กำลังจะเข้ามาในเดือน พ.ย. นี้ แต่ระดับราคาต้นทุนรวมกับกำไรควรจะอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเกวียน ดังนั้นจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่มีรายได้น้อย ให้ชาวนามีเงินเพื่อใช้จ่าย แต่จะเป็นการช่วยเหลือเพียงหนเดียวและเป็นข้าวนาปีเท่านั้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
รายการที่ 6 เร่งรัดอนุมัติโครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จำนวน 380 ราย วงเงินรวม 429,208 ล้านบาท ซึ่งในการประชุมบอร์ดบีโอไอ 3 ครั้งที่ผ่านมามีการอนุมัติโครงการไปแล้ว 121 โครงการ วงเงิน 3 แสนกว่าล้านบาท
“มาตรการที่ทำทั้งหมดนี้ สำคัญเพราะช่วยในการสร้างงาน ตอนนี้การส่งออกพึ่งได้ยากเพราะเศรษฐกิจโลกหงอยหมด เศรษฐกิจของผู้ซื้อขนาดใหญ่ก็ไม่ฟื้น เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และเมื่อกระตุ้นแล้วมันจะสร้าง high-powered money เพิ่มรายได้ ช่วยคนที่น่าสงสารที่สุด และไม่เข้าตำราประชานิยม” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรก
มาตรการหลัก มาตรการ วงเงิน (ล้านบาท)
มาตรการเพื่อการสร้างงาน 1. ทบทวนเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 48-56 24,892
2. เร่งรัดทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปี 57 ที่ค้างอยู่ 147,050
3. เร่งรัดทำสัญญาจ้างของรายจ่ายลงทุนปี 58 129,522
4. ใช้งบกลางที่กันไว้เหลื่อมปี 55-57 และงบไทยเข้มแข็ง 23,000
5. เร่งรัดการการอนุมัติคำของเสริมการลงทุน 380 ราย 429,208
มาตรการเพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อย 1.อุดหนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.4 ล้านครอบครัว 40,000
รวม 2 มาตรการ 793,672
อนุมัติ ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกร 124,145 ล้านบาท
ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ครม. ยังได้อนุมัติให้ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือชาวสวนยาง ในโครงการสนับสนุนแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยการขยายโอกาสการให้สินเชื่อให้ครอบคลุมวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 10,000 ล้านบาท และให้องค์การสวนยางขยายเวลาพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงิน 145 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้มีโครงการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น โครงการดูแลราคายาง 15,000 ล้านบาท (ยอดเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อ ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อปรับปรุงอาคารโรงเรือนและซื้อเครื่องจักรเพื่อการแปรรูปยาง) โครงการลดดอกเบี้ยให้ชาวนา 89,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อให้สหกรณ์เพื่อการแปรรูปข้าว 20,000 ล้านบาท