ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” ทูลเกล้าฯ เลิกกฎอัยการศึกแล้ว – ใช้ ม.44 แก้ปัญหากรมการบินพลเรือน – มติ ครม.จ่ายเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาท

“ประยุทธ์” ทูลเกล้าฯ เลิกกฎอัยการศึกแล้ว – ใช้ ม.44 แก้ปัญหากรมการบินพลเรือน – มติ ครม.จ่ายเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาท

1 เมษายน 2015


“ประยุทธ์” เผยทูลเกล้าฯ เลิกกฎอัยการศึกแล้ว เตรียมใช้ ม.44 ออกคำสั่ง คสช. ขึ้นมาแทน เปลี่ยนขึ้นศาลทหารเป็น 3 ศาล แทนศาลเดียว แต่ยังให้คุมตัวได้ 7 วันโดยไม่ต้องขอหมาย – เตรียมใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหากรมการบินพลเรือน พ่วงขายล็อตเตอรี่แพง – ด้าน ครม. มีมติจ่ายเงินช่วยเลี้ยงเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน คนละ 400 บาท/เดือน ในช่วงทดลอง 1 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกว่า รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ เสนอเรื่องการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกไปตามขั้นตอนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ หลังจากนั้นถึงจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดยการออกมาเป็นคำสั่ง คสช. ที่ตนสามารถประกาศใช้ได้เลย

“คำสั่งดังกล่าวจะมีเนื้อหาแค่ 5-6 ข้อ เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง การใช้กำลังทหารเข้าไปทำงานได้ เท่านั้นเอง เป็นการไปช่วยงานของข้าราชการต่างๆ ตำรวจก็ยังใช้กฎหมายปกติ เพียงแต่จะเพิ่มอำนาจในการตรวจค้นจับกุมร่วมกัน และร่วมกันสอบสวนได้บ้าง และในการควบคุมตัวจะไม่ใช้ห้องขัง เพราะถือว่าเป็นเพียงผู้ต้องหา ในส่วนของศาลทหาร จะไม่ใช้ศาลเดียว แต่จะเป็น 3 ศาล จึงไม่ต้องมานั่งกลัว ไม่รู้จะกลัวทำไม ถ้ามันไม่ผิด”

เมื่อถามว่า ศาลทหารในคำสั่ง คสช. ดังกล่าวจะเหมือนกับศาลยุติธรรมปกติใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า 1. เมื่อมีเหตุการณ์ สามารถจับกุมได้ทันที ไม่ต้องขอหมายศาล ไม่เช่นนั้นก็คงหนีจนจับไม่ได้เลย 2. เมื่อจับมาแล้วการสอบสวนจะไม่ใช้สถานีตำรวจหรือห้องขังเพราะถือว่าเป็นแค่ผู้ต้องหา โดยทหารจะไปซักร่วมกับตำรวจ ถ้าอันไหนละเมิดคำสั่ง คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็จะขึ้นศาลทหาร แต่ถ้าผิดกฎหมายปกติ ก็ไปขึ้นศาลปกติ

“สำหรับอำนาจในการจับกุมใช้ระยะเวลาการควบคุมตัวจำนวน 7 วันเท่าเดิม แต่ถ้าหากการเจรจามีความเข้าใจตรงกันก็สามารถปล่อยตัวเป็นอิสระได้ และไม่มีคดีติดตามตัว เว้นแต่ในกรณีของการใช้อาวุธสงคราม พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่มีอะไรต้องปกปิด” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ถามถึงการใช้มาตรา 44 และความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการ ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างสากล และการใช้มาตรา 44 จะไม่เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุแต่อย่างใด ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนยังไม่ได้ดูอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงยังไม่อยากเอามาพูด แต่ได้ให้ประเด็นไปว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญให้ดูว่าอะไรเป็นปัญหาของประเทศ หากจะให้เดินหน้าไปจะต้องใช้กฎหมายอะไรบ้าง เพื่อจะได้แก้ปัญหาเป็นระยะ ระยะที่หนึ่ง สอง และสาม

เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหากรมการบินพลเรือน – ขายสลากเกินราคา

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) แจ้งว่ากรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทย สอบตก ทำให้หลายประเทศยกเลิกการเพิ่มเที่ยวบินหรือเปลี่ยนเส้นทางการบินของสายการบินจากไทย ว่า ตนได้สั่งให้มีการทบทวนการทำงานของ บพ. ภายใน 1 เดือน โดยจะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องทำทั้งสิ้น 2 ระยะ เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างและอัตรากำลัง รวมถึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงาน

โดยระยะแรก ในช่วง 1 เดือนนี้ จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เพื่อปรับการทำงานของ บพ. โดยจะดึงสมาคมนักบินไทยเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือ และอาจจะว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง EASA (European Aviation Safety Agency) ให้มาช่วยตรวจสอบระบบ

“ผมห่วงปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เที่ยวบินจะลดลง เพราะจะลดทั้ง 2 ฝ่าย เราก็ไปไม่ได้ เขาก็มาไม่ได้ ตอนนี้ก็แก้ปัญหาโดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามามาดูว่าจะหาสายการบินอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ ส่วนผู้ที่จองตั๋วไว้แล้วก็ต้องมีหลายมาตรการเข้าเกี่ยวข้อง เราต้องยอมรับกติกาของสากลเขา” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาจำหน่วยสลากกินแบ่งเกิดราคา ที่แม้ ครม. จะเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฉบับใหม่ และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ก็ยังกล่าวว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถออกมาบังคับใช้ได้ตามแผนภายในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งจะครบกำหนดการจัดสรรโควต้าสลากฯ รอบใหม่พอดี ตนก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาจำหน่ายสลากฯ เกินราคา แต่ถ้า สนช. พิจารณาทัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44

ไฟเขียว! จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกินรายละ 400 บาท/เดือน

ส่วนโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดคนละ 400 บาท/เดือน เพื่อเป็นการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับครอบครัวที่ยากจน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบโครงการนี้แล้ว ปี 2558 นี้จะเป็นปีแรกที่ทดลองใช้ โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ปกครองจะต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมุ่งที่จะช่วยเหลือคนยากจนจริงๆ

พล.อ. ประยุทธ์ยังเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเร่งขึ้นทะเบียนประชาชน ซึ่งทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียน เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดจะระบุว่าทำอาชีพอะไร มีรายได้เท่าไร โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ประเมินรายได้ของแต่ละกลุ่มงาน เช่น ทำการเกษตร ปลูกพืช ปลูกยาง ค่าครองชีพขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 9,000-12,000 บาท/เดือน ตามการประเมิน สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะเรื่องภาษี แต่เพื่อที่รัฐจะได้มีข้อมูลในการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้ตรงกลุ่ม เพราะหากไม่ทำก็จะมีปัญหาไปหมด ทั้งจดทะเบียนโอนเงินไม่ได้ กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีการกำหนดไปแล้วใน 6 พื้นที่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการออกแบบผังเมืองของจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เพียงแต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่เรียบร้อย ตนก็เร่งรัดไปเพราะอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ต้องมีการตั้งศูนย์บริการ One Stop Service และชักจูงให้ภาคเอกชนดึงผู้ลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาในพื้นที่ ส่วนตัวเชื่อว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายในปี 2558 นี้

พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมงว่า จะต้องชี้แจงกับทางสหรัฐอเมริกา ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยเอกสารจะต้องมีรายละเอียด ทั้งการดูแลผู้ประกอบการ การขึ้นทะเบียนเรือประมง การติดตั้งระบบจีพีเอส ฯลฯ สิ่งต่างๆ ต้องเข้าระบบทั้งหมด โดยเฉพาะแรงงานบนเรือ ต้องไม่ใช่แรงงานที่ถูกล่อลวงมา ส่วนขบวนการผลประโยชน์ หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา กรณีแรงงานประมงไทยที่ตกค้างอยู่ในอินโดนีเซีย ขณะนี้เริ่มทยอยเดินทางกลับประเทศแล้ว โดยจะต้องมีการตรวจสุขภาพ และดูความสมัครใจด้วยว่าต้องการกลับประเทศหรืออยากเข้ากระบวนการเยียวยาของรัฐ

“คือยังไม่จบสิ้นเราก็พูดไม่ได้ ผมยังไม่อยากพูด คือผมเตือนว่าอย่างเพิ่งพูดมากนัก ไม่ใช่จะปิดกัน การกระทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากไปตีข่าวมากๆ เขาก็ไม่ให้ ต้องมีทั้งการเจรจา รวมไปถึงการค้าการลงทุนต้องใช้มาตรพิเศษด้วย ก็ต้องเข้าใจตรงนี้” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

คมนาคมวุ่น! บินเจรจา “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-จีน” – เล็งยุบ บพ. ตั้ง 2 หน่วยงานแทน

วันเดียวกัน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณี 3 ประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน สั่งระงับสายการบินจากไทยเพิ่มเที่ยวบินหรือเปลี่ยนเส้นทางบิน หลัง บพ. สอบตกมาตรฐานของ ICAO ว่า คณะทำงานของไทยไปเจรจาและยื่นคำชี้แจงกับทางญี่ปุ่นแล้ว และขอเวลาแก้ไขปัญหาภายใน 90 วัน โดยมีการชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับขั้นตอนความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทางญี่ปุ่นก็รับไว้พิจารณา ส่วนกรณีเกาหลีใต้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะทำงานที่จะไปเจรจา ส่วนกรณีจีน คณะทำงานที่จัดตั้งแล้วจะบินไปเจรจาในสัปดาห์หน้า

“เป้าหมายของการเจรจาคือขอให้ไทยได้มีระยะเวลาในการปรับปรุงการทำงานและจัดการการบินให้เรียบร้อย” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ด้าน พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความจริง ICAO แจ้งเตือนให้ไทยปรับปรุงเกี่ยวกับมาตรฐานการบินมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ไทยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร เป็นเหตุให้มีการสั่งระงับเที่ยวบินจากไทย ทั้งนี้ พล.อ.อ. ประจินเห็นว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างของ บพ. โดยแยกหน่วยงานด้านการกำกับ ด้วยการจัดตั้งเป็น “สถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ” ขึ้นมา ให้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระ ส่วนงานด้านปฏิบัติการ จะตั้ง “กรมควบคุมการขนส่งทางอากาศ” อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด รวมไปถึงพิจารณาปรับปรุงกำลังคนด้วย

“อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่างๆ หากใช้วิธีปกติ จะต้องทำ 8-10 ขั้นตอน ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 1 ปีจนถึง 1 ปีครึ่ง พล.อ. ประยุทธ์จึงตกลงที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาแก้ไขปัญหา ถือเป็นการใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ เพราะเรามีเวลาแก้ปัญหาแค่ 90 วัน เมื่อส่งแผนไปยัง ICAO แล้ว หากผ่านไทยก็จะไม่ถูกลดมาตรฐาน แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็จะถูกลดความน่าเชื่อถือ” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

แจงขั้นตอนจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด – คาดใช้งบ 657 ล้าน ช่วยเด็ก 1.3 แสนคน

พล.ต. สรรเสริญยังให้รายละเอียดโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รายละ 400 บาทต่อเดือนที่ ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะใช้นำร่อง 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ใช้ประมาณราว 657 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนให้เด็กแรกเกิดรายละ 400 บาทต่อเดือน ให้กับครัวเรือนที่ยากจนหรือมีความเสี่ยงต่อความยากจน โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเด็กแรกเกิดที่เข้าข่ายได้รับเงินอุดหนุน 135,768 ราย

สำหรับแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้าใจเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยจะจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงิน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้กับประเทศ 77 จังหวัด ก่อนเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนในเดือนตุลาคม 2558 จนถึงเดือนกันยายน 2559 รวมเป็นเวลา 12 เดือน

ทั้งนี้ พม. ได้วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าวข้างต้นว่า ในส่วนของแม่ที่จะมาขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ จะต้องเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป โดยต้องนำหลักฐานการฝากครรภ์ไปประกอบการยื่นลงทะเบียน และบุตรจะเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ต้องได้รับการจดทะเบียนการเกิดและมีสัญชาติไทย อยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน.