เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น. ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวถึงแนวทางการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ได้มีข้อสั่งการ “ห้ามการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก” ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ล่าสุด ดร.พสุ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมยกร่างคำสั่ง ห้ามใช้วัตถุดิบ ประเภทซากอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (2) ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ หรือสาธารณชน ส่วนกรณีของการนำเข้าเศษพลาสติกนั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดำเนินการออกใบอนุญาตนำเข้า ในส่วนนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะใช้วิธีการออกคำสั่งกรมฯ ระงับการพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ผู้นำเข้า คาดว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 26 มิถุนายน 2561
“ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ไปแล้วมี 3 แนวทาง คือ 1. ระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาบาเซลจำนวน 5 ราย เวลา 1 ปี ซึ่งเป็นโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด 2. ผลักดันให้นำซากอิเล็กทรอนิกส์ส่งกลับโรงงานต้นทาง และ 3. กรณีนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกส่งต่อไปยังโรงงานที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต กรณีนี้หากตรวจพบให้ส่งกลับโรงงานที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งสั่งให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบ GPS และจัดส่งบันทึกเส้นทางการเดินรถ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้า เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทางขนส่งอย่างเข้มงวด รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามข้อสั่งการของคณะกรรมการต่อไป” ดร.พสุ กล่าว
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การสั่งห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกครั้งนี้เป็นมาตรการถาวร ตามนโยบายรัฐบาลครั้งนี้มี 2 ส่วน คือ ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะออกประกาศระงับการพิจารณาขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ส่วนที่ 2 เป็นประกาศกระทรวง ห้ามใช้วัตถุดิบ ซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง กรอ. ต้องยกร่างประกาศดังกล่าวส่งให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 26 มิถุนายน 2561
“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 7 ราย ในจำนวนนี้ถูกพักใช้ใบอนุญาตนำเข้าไปแล้ว 5 ราย ส่วนที่เหลืออีก 2 ราย เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการระเบียบและเงื่อนไขถูกต้อง ในจำนวนนี้มี 1 ราย นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ครบตามโควตาแล้ว อีก 1 ราย คือ บริษัท ฟูจิ จีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ยังมีโควตานำเข้าเหลืออีก 2,400 ตัน กรณีนี้หากยันยืนว่าจะนำเข้า ทาง กรอ. จะทำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบที่มี พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาต่อไป” นายมงคล กล่าว
นายมงคลกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถิติการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ตามอนุสัญญาบาเซลในปี 2560 มีปริมาณนำเข้า 53,000 ตัน และในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีประมาณนำเข้า 37,000 ตัน ส่วนการนำเข้าเศษพลาสติกปี 2560 มีปริมาณนำเข้า 150,000 ตัน และในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีปริมาณนำเข้า 100,000 ตัน
เวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ พร้อมกับตัวแทนภาคประชาชน 7 จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรสาคร, เพชรบุรี, ราชบุรี และสระบุรี เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพิษดังนี้
มาตรการระยะสั้น
-
1. ขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/ 2559 เรื่อง ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้โรงงานหรือกิจการเกี่ยวกับการกำจัด คัดแยก และจัดการขยะทั้งอันตรายและไม่อันตราย ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 101 สำหรับการบำบัดของเสียรวม โรงงานลำดับที่ 105 สำหรับกิจการคัดแยกและฝั่งกลบ โรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสีย รวมถึงโรงงานลำดับที่ 88 สำหรับกิจการไฟฟ้าต่างๆ สามารถตั้งโรงานในพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ที่ควรรักษาไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายผังเมืองรวม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ของพื้นที่เหล่านี้ จึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะได้รับความเสียงหายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแหล่งน้ำใต้ดิน หากปนเปื้อนสารอันตรายจากกิจการเหล่านี้แล้ว อาจไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้
2. ขอให้เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าขยะเล็กทรอนิกส์ ขยะมูลฝอย หรือ วัสดุใช้แล้ว 4 ประเภท ได้แก่ พลาสติก ตะกรันวาเนเลียม ขยะที่ไม่จัดประเภท และขยะประเภทสิ่งทอบางชนิด เช่นเดียวกับที่กระทรวงคุ้มรองสิ่งแวดล้อมจีน ได้ประกาศนโยบายและข้อบังคับเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เนื่องจากพบว่าขยะประเภทนี้มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม หรือ ปนเปื้อนอยู่ และยังพบว่า โรงงานแปรรูปของเสีย โรงงานรีไซเคิลส่วนใหญ่มักทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรัฐบาลไทยควรเร่งประกาศนโยบายห้ามนำเข้าขยะเหล่านี้ภายในปี 2561 และยกเลิกใบอนุญาตนำเข้า ใบอนุญาตตั้งโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากลุ่มนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นแหล่งรองรับขยะอันตรายจากประเทศจีน และประเทศอื่นๆที่เคยส่งออกขยะเหล่านี้ไปจัดการในประเทศจีน
3. ให้สอบสวนใบอนุญาตนำเข้า และใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105,106 และโรงงานที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลของเสียว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการสอบสวนและเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์อันมิชอบด้วย
มาตรการยาว
-
1. ให้ทบทวน แก้ไข หรือ ยกเลิก ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กฎกระทรวง ที่เอื้อต่อการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101,105 และ106 โดยได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ มาตรการกำกับดูแลต่างๆ รวมถึงการพิจารณาแยกประเภทกิจการบางอย่างออกจากกันได้แก่
-
1.1 ปรับปรุงโรงงานลำดับที่ 101 สำหรับกิจการบำบัดของเสียรวม โดยแยกลำดับกิจการเตาเผาและกิจการบำบัดน้ำเสียออกจากกัน
1.2 ปรับปรุงโรงงานลำดับที่ 105 สำหรับกิจการคัดแยกและฝังกลบ โดยแยกลำดับโรงงานออกเป็น 3 ประเภท คือ การคัดแยกของเสียไม่อันตราย การฝังกลบของเสียไม่อันตราย และการฝังกลบของเสียอันตราย สำหรับกิจการคัดแยกของเสียไม่อันตราย ไม่ควรรวมการคัดแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
1.3 ปรับปรุงโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการรีไซเคิล โดยควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานตามประเภทของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้ชัดเจน เนื่องจากการพิจารณาออกใบอนุญาตสำหรับตั้งโรงงานลำดับ 106 คลอบคลุมของเสียหลากหลายประเภท ทั้งของเสียที่อันตราย และไม่อันตราย จึงควรแยกประเภทโรงงานรีไซเคิลระหว่างขยะอุตสาหกรรมที่อันตราย และวัสดุไม่ใช้แล้ว รวมถึงการคัดแยก และรีไซเคิลชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นโรงงานลำดับที่ต่างกับ
1.4 กำหนดให้โรงงานลำดับ 101 105 และ106 เป็นประเภทกิจการที่ต้องจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ยกเลิก พ.ร.บ.โรงงานฉบับปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตั้งโรงงาน และรวบรัดขั้นตอนการอนุญาตต่างๆ ให้รวดเร็ว จนอาจส่งผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว จึงควรมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการในร่างกฎหมาย มีสาระสำคัญดังนี้
-
2.1 ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโอนอำนาจการกำกับดูแลมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบมลพิษทั้งภายในและภายนอก ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่โดยตรง
2.2 ปรับปรุง และเพิ่มเติมมาตรการเพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดของโรงงานให้รัดกุมมากขึ้น รวมถึงกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิดต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกขอบเขตโรงงาน
3. ทบทวนและดำเนินการเพิ่มให้มีการปรับปรุง แก้ไขความตกลงการค้าเสรี หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทำไว้ประเทศ หรือ กลุ่มประเทศต่างๆ ที่มีการยอมรับขยะหลากหลายประเภท ในฐานะสินค้าที่มีการให้สิทธิประโยชน์ในการค้าขายแลกเปลี่ยนกัน เพื่อห้ามนำเข้าสินค้าประเภทขยะอันตรายบางรายการ