ThaiPublica > คอลัมน์ > ทางสองแพร่ง…สำหรับประเทศไทย

ทางสองแพร่ง…สำหรับประเทศไทย

29 มิถุนายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

กำลังนี้ ยามที่ประเทศกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ สังคมยังอยู่ในความสับสนหลายประการ

ความแตกแยกที่ยังคงมีอยู่อย่างแน่นอน เพียงแต่อาจถูกซุกไว้ใต้พรมชั่วขณะ รอดูผลว่าจะถูกขจัดปัดเป่าให้ลดลงได้อย่างถาวร หวังว่าจะมีการเกิดขึ้นของกระบวนการใหม่ ที่จะบริหารความแตกต่างทางความคิดได้ดีขึ้น ให้อยู่ร่วมกันได้ ขัดแย้งกันได้อย่างสันติ หรือจะเป็นแค่เพียงการซื้อเวลา รอที่จะให้ปัญหาปะทุระเบิดขึ้นมาใหม่ รอที่จะให้มีคน (อาจเป็นเจ้าเก่าหรือหน้าใหม่) นำไปใช้เป็นประเด็นที่จะก้าวขึ้นสู่อำนาจเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง เป็นวังวนอุบาทว์ไม่จบสิ้นอีกครั้ง

มาถึงวันนี้นาทีนี้ ในความเข้าใจของผม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเจตนาและภารกิจชัดเจนว่า

– การรัฐประหารที่เกิดขึ้น เป็นไปเพราะความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสงครามกลางเมือง เพื่อให้ประเทศพ้นจากภาวะชะงักงันที่มีมากว่าครึ่งปี ให้ออกจากทางตัน

– คสช. จำเป็นต้องเข้าบริหารประเทศชั่วคราว เดินหน้าเรื่องงบประมาณ เรื่องการลงทุนที่จำเป็น รวมทั้งจัดการให้กลไกเศรษฐกิจ เดินหน้าต่อได้ ไม่ให้หดตัวเสื่อมถอย จนเป็นปัญหาระยะยาว

– ปลายทางเป้าหมาย คือ ให้ระบอบการปกครองกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นคือ จะจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

– ในระหว่างนี้ คสช. จะพยายามจัดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ในส่วนที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นปัญหาร้ายแรง เช่น โครงการจำนำข้าว หรือโครงการประชานิยมอื่นที่ไม่มีเหตุผลที่ดี และในส่วนที่เป็นความต้องการที่ดีชัดเจนของสังคม แต่ไม่เกิดขึ้นในยามที่นักการเมืองบริหารประเทศ เพราะขาดแรงจูงใจที่จะดำเนินการ เช่น เรื่องการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน การปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ การทำลายระบบพรรคพวกนิยม การสร้างระบบคุณธรรมในงานราชการ (Merit-Based System)

– ในเรื่องการวางแนวปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ถึงแม้ว่ายังไม่ชัดเจน แต่ผมเข้าใจว่า คงจะหมายถึงการตั้งโจทย์ วางเป้าหมายในส่วนที่ทำได้ชัดเจน วางกระบวนการ เพื่อที่จะทำให้การปฏิรูปตั้งไข่เดินหน้าได้ แต่รายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย น่าจะดำเนินการโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงจังได้ก็ภายหลังการเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้ เป็นความเข้าใจของผม ที่อยากให้มีการระบุให้ชัดเจนโดย คสช. โดยเฉพาะในด้านเงื่อนเวลา (ในความเห็นของผม ควรให้คำมั่นว่าจะไม่เกิน 18 เดือน แล้วพยายามทำให้เร็วกว่านั้น) ซึ่งจะต้องไม่หวั่นไหวไปกับแรงสนับสนุนสอพลอของบางฝ่าย ที่อยากให้อยู่นาน

ถ้าประกาศชัดเจนเสียอย่างนี้แล้ว ก็จะขจัดปัญหาไปได้หลายเรื่อง ลดการต่อต้านไปได้มาก สามารถขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้จริงจัง

ที่สำคัญ Roadmap: Back to Democracy ที่ชัดเจนนี้ จะช่วยบรรเทาข้อกังขา บรรเทาการต่อต้านจากสังคมนานาชาติได้เป็นอย่างดี การอธิบายให้คำมั่นที่ดี ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับความเห็นใจ ความร่วมมือจากสากล

กำลังนี้ มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งหลายท่านก็เป็นคนดีที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ต่างพากันโกรธเคือง กับการที่นานาชาติ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในเมืองไทย มีตั้งแต่การประณาม การลดระดับความสัมพันธ์ ไปจนถึงการที่จะไม่ยอมมีพันธะใดๆ ด้วย จนกว่าเราจะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย “จนกว่าเราจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย” (ขอเน้นอีกทีนะครับ) ไม่มีใครบอกว่าจะเลิกคบถาวรเลย แล้วจะไปโกรธเขาทำไมล่ะครับ ในเมื่อทั้ง คสช. และพวกเราทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกับเขานั่นเอง

ที่น่าแปลกใจ หลายคนตะโกนด่าทอโวยวายชาติต่างๆ เหล่านั้น ว่า “มาแทรกแซงกิจการภายใน” ของประเทศเรา อันนี้ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ไม่คบ ไม่ค้า ไม่ไปมาหาสู่ ไม่น่าจะแปลว่าแทรกแซงฯ นะครับ ท่านไม่ทักทายเพื่อนบ้าน ไม่ค้าขายพูดคุย ไม่ถือว่าแทรกแซงทำร้ายใคร แต่ถ้าปล่อยหนูปล่อยงูเข้าไปบ้านเขา เข้าไปยุยงให้เขาแตกแยก อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าแทรกแซง

หลายท่านหนักข้อกว่า ยุยงให้เลิกค้าขาย เลิกความสัมพันธ์กันเลย แถมยังยุยงให้เกลียดชังกลับมันทั้งชาติทั้งทวีปไปเลย ยกตัวอย่างความเลวต่างๆ นานาของ “ฝรั่ง” ทำอย่างกับว่า ฝรั่งนั้นมีคนเดียว หรือคิดเหมือนๆ กันทุกคน ลืมไปแล้วหรือครับว่า เมื่อไม่นานมานี้ พวกเราเองก็ไม่ได้เห็นด้วยไปทุกอย่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยซักอย่างด้วยซ้ำไป

ใน “Hate Speech” ที่เหล่าคนดี คนรักชาติ ช่วยกันสรรหาประเคนให้กับต่างชาติที่ไม่ยอมสดุดีการยึดอำนาจครั้งนี้ มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ “เกรงพวกมันทำไม พวกแมร่งยังแยก ไทยแลนด์ กับ ไทวาน ไม่ออกเลย” ไปจนถึง “ฝรั่งไม่ใช่พ่อ เลิกเที่ยว เลิกซื้อ เลิกใช้ ของยุโรปให้หมด” ที่คนพูดต่างก็ดูเท่ระเบิด เป็นวีรบุรุษผู้รักชาติยิ่งกว่าใครๆ

ที่น่ากลัวสุด จนทำเอาผมสะดุ้งก็เป็นข้อความทำนองว่า “สนใจฝรั่งทำไม พม่าปิดประเทศ 50 ปียังอยู่ได้เลย” อยู่แบบไหนล่ะครับ อยู่แบบรุ่งเรือง หรืออยู่แบบยากไร้ คนสั่งปิดอาจจะร่ำรวยรุ่งเรือง ประชาชนที่หลงเชื่อล่ะเป็นอย่างไร (คนที่พูดเรื่องนี้ ดันเป็นระดับที่ใช้คำว่า “ศาสตราจารย์” นำหน้าชื่อตัวตลอดเวลาซะด้วย)

เรื่องพม่านี่ผมเขียนถึงหลายครั้งแล้ว ขอฉายหนังเก่าอีกสักรอบนะครับ

เมื่อปี 2505 ก่อนที่นายพลเนวิน หนึ่งในจอมทรราชของโลก จะยึดอำนาจจากประธานาธิบดีอูนุนั้น ประเทศพม่ามีจีดีพีต่อหัว (Per Capita GDP) อยู่ที่ประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยมีอยู่เพียง 130 เหรียญ เสร็จแล้วเนวินก็ประกาศสถาปนาระบอบสังคมชาตินิยมแบบพม่า หรือเรียกว่า Roadmap to Burmese Socialist ยึดทุกอย่างเป็นของรัฐ เปลี่ยนเป็นสังคมนิยม และชาตินิยมสุดขั้ว ปลุกกระแสรักชาติ เกลียดฝรั่ง ปิดประเทศ คบแต่กับรัสเซีย เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากรากฐานเสรีนิยมตะวันตก ที่อังกฤษเคยวางไว้ให้ มาใช้ระบบรวมศูนย์ (Centrally Planned Economy) กิจการต่างๆ ยึดมาเป็นของรัฐ เช่น อุตสาหกรรมข้าว ที่พม่าเคยครองแชมป์โลกส่งออกมากสุดมายาวนาน รัฐยึดมาทำเอง พอสามปีให้หลัง จากเคยส่งออกปีละ 1.3 ล้านตัน ก็หดถดถอยต่ำกว่า 1.0 ล้าน เสียแชมป์ให้พี่ไทย แล้วก็ถดถอยเรื่อยไปจนอยู่อันดับเจ็ดในปัจจุบัน (ไม่น่าเชื่อว่า อีกห้าสิบปีให้หลัง ภายใต้รัฐบาลที่โม้ว่าวิสัยทัศน์โลกาภิวัตน์ก้าวไกล ไทยเรากลับมาใช้นโยบายลอกแบบมาทำลายอุตสาหกรรมข้าวได้อย่างย่อยยับไม่แพ้กัน)

การปิดประเทศ ไม่เพียงแต่หมายความว่าจะไม่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเท่านั้น แต่ย่อมหมายความถึงว่า พม่าจะไม่ได้รับทั้งทรัพยากร ทั้งเทคโนโลยี ทั้งวิวัฒนาการในทุกด้าน จากนานาชาติ เท่ากับว่า จะใช้เพียง “ภูมิปัญญาพม่า” เท่านั้นในการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ชาติอื่นๆ ทั่วโลกเขาแบ่งปันกันใช้ “ภูมิปัญญาสากล” ที่มีอยู่กว่าหกพันล้านคน ร่วมกัน แลกเปลี่ยนกัน ในการพัฒนา

ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐกิจและพัฒนาการทุกด้านของพม่าก็แทบหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง ได้แต่ใช้กลยุทธกระแสการรักชาติ การคลั่งชาติ รวมทั้งศาสนา หลอกลวงประชาชนใต้การปกครองตลอดมา ในขณะที่พรรคพวกผู้กุมอำนาจ กับผู้เข้าถึงอำนาจ กลับร่ำรวยมหาศาลกระจุกอยู่แค่กลุ่มเดียว

เชื่อไหมครับ ในปัจจุบัน ห้าสิบปีผ่านไป พม่ามีจีดีพีต่อหัวต่อปี เพียงแค่ไม่ถึง 900 เหรียญ นับว่ายากจนเป็นอันดับสองในเอเชีย (ดีกว่าอัฟกานิสถานประเทศเดียว) มีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละสามต่อปี ขณะที่ประเทศไทย (ที่ก็ไม่ได้พัฒนาดีเด่มากมายอะไร) มีจีดีพีต่อหัวสูงกว่า 5,600 เหรียญไปแล้ว เห็นผลในการปิดประเทศไหมล่ะครับ ซึ่งไม่ใช่พม่าประเทศเดียวที่มีประสบการณ์อย่างนั้น แทบทุกประเทศที่มีนโยบายปิดประเทศ ไม่คบค้าใคร เคยประสบหายนะในการพัฒนาแบบเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่า เนปาล ในช่วง 1880-1950 เวียดนาม ในช่วง 1975-1995 เกาหลีเหนือ ตั้งแต่ 1950-ปัจจุบัน ทุกคนล้าหลังกันถ้วนหน้า และทุกประเทศก็ล้วนใช้เหตุผลเดียวกันทั้งสิ้น คือเรื่อง “ชาตินิยม ความรักชาติ ศักดิ์ศรีของชาติ”

ในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เราไม่มีทางหันหลังให้กับประชาคมโลกได้อีกแล้ว เราเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดมาช้านาน และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราพัฒนามาได้ดีตามควร ไม่ล้าหลังใครๆ มากเกินไป นอกจากการค้าขายแล้ว การลงทุนข้ามชาติจากประเทศพัฒนา รวมทั้งการไหลเข้าของทุนในตลาดการเงิน ล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ผ่านมาทั้งสิ้น ถ้าดันไปปิดประเทศ คนรุ่นต่อไปจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมอย่างแน่นอน เหมือนที่ชาวพม่า ชาวเนปาล ชาวเวียดนาม ชาวเกาหลีเหนือ ที่กำลังต้องรับผลที่คนรุ่นเก่าทำไว้ ความเจริญล้าหลังไปหลายสิบปี สูญเสียเวลาไปนับช่วงอายุคนเลยทีเดียว

ลองหยุดคิดกันดูสักนิด ว่าทำไมนานาชาติตั้งมากมายหลายสิบประเทศ ถึงได้พร้อมใจกันประณามการรัฐประหาร พร้อมใจกันมีมาตรการกดดันให้เรากลับเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว พวกเขาชั่วช้าเลวทราม สร้างกระบวนการร่วมมือกันทำร้ายเราได้กว้างขวางหลายสิบประเทศขนาดนี้หรือ เรื่องนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สองกรณี

กรณีแรก พวกเขาหวังดีจริง เคยเห็นบทเรียนมาแล้วทั่วโลก ว่าการรัฐประหาร การปกครองแบบเผด็จการนั้น ย่อมนำความเสื่อมมาให้กับเราเองในระยะยาว ความจริงในอดีต ในยุคสงครามเย็น หลายประเทศมหาอำนาจเคยหนุนหลังเผด็จการ หนุนหลังรัฐประหารด้วยซ้ำไป (ตัวอย่างเช่น ไอ้กันหนุนมาร์คอส จนคนฟิลิปปินส์ยังต้องรับกรรมมาทุกวันนี้) แต่มาวันนี้ต้องถือว่านโยบายอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว (Policy Turnaround) เท่ากับพวกเขาเองก็ยอมรับความผิดพลาดในอดีต ในสมมติฐานนี้ ถ้าพวกเขาทำเพื่อผลประโยชน์ ก็เป็นการกลัวว่าประโยชน์จะลดจะหายเพราะต้องค้าขายลงทุนอยู่ในประเทศที่เสื่อมโทรม (เพราะเผด็จการ) ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็เป็นผลประโยชน์ที่ไปทางเดียวกับคนไทยทั้งมวล เรายิ่งน่าจะต้องฟังข้อท้วงติง

กรณีที่สอง การรัฐประหาร การเผด็จการ นำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์โดยตรง เรื่องนี้ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก ว่าพวกอียู ไอ้กัน ออสเตรเลีย พี่ยุ่น (ที่ล้วนแต่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร) จะสูญเสียอะไรในระยะสั้น คสช. ไม่เคยมีแนวคิดที่จะยึดคืนกิจการใดๆ จากเอกชนเลย และไม่ได้มีแนวทางที่จะกลั่นแกล้งประเทศใด หรือเอื้อประโยชน์ประเทศใดเป็นพิเศษอีกด้วย ไม่เห็นมีใครต้องเดือดร้อน ยิ่งพวกที่ชอบทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ยิ่งต้องคิดให้มากนะครับ เพราะถ้าประเทศไหนหวังร้าย หวังประโยชน์แบบนั้น น่าจะต้องสอพลอชื่นชมเผด็จการ เพราะระบบพรรคพวกนิยมนั้น จะรุ่งเรืองได้ดีที่สุดก็ในระบอบเผด็จการนี่แหละ

ลองคิดวิเคราะห์กันให้ถ้วนถี่ดูสิครับ ว่าความเป็นไปได้สมเหตุสมผลมันเป็นกรณีไหน สำหรับผมนั้นชัดเจนมาก ว่าเป็นกรณีแรก คือเขาร่วมกันหวังดีอย่างจริงใจ แปลกนะครับ คนไทยไม่ค่อยยอมคิดบวก ไม่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี ชอบวิตกจริต คิดแต่ว่าคนอื่นมีแต่คิดชั่วคิดร้าย (ไม่รู้ว่าสะท้อนตัวตนเราเองหรือเปล่า)

แต่เอาเถอะ ไม่ต้องเอาเหตุเอาผล ไม่ต้องดูเจตนาก็ได้ ในเมื่อทุกชาติเขาพร้อมใจกันขนาดนี้ เราก็มีทางเลือกแค่สองทาง ทางหนึ่งคือไม่แคร์ หันหลังให้พวกมันเสียเลย ไม่ต้องคบค้ากับชาติที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งผมยืนยันว่าเป็นหายนะแน่นอน และจะเป็นหายนะของลูกหลานไปด้วย

จริงๆ แล้ว เราไม่มีทางเลือกหรอกครับ นอกจากต้องอดทน แสดงความจริงใจ แสดงความมุ่งมั่น ให้สังคมโลกเขาเห็น ว่าเราจะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีขึ้นในเร็ววัน โรดแมปต้องชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้เกิดให้จงได้ และตลอดทางต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความคืบหน้า ให้เห็นถึงความจริงใจ

มาถึงวันนี้ ผมเชื่อว่า คสช. ตระหนักในเรื่องนี้ดี ไม่ได้หลงบ้าจี้ไปกับกระแสรักชาติจนเกินขอบเขต รักชาติจนขาดสติ ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่ว (ผมไม่อยากใช้คำว่า “คลั่งชาติ” นะครับ…กลัวโดนรุมตื้บ) ผมห่วงแต่ว่า พวกท่านจะรวมกันกดดัน รวมกันสอพลอ จนท่าน คสช. ไขว้เขว ซึ่งถ้าเราหันหลังให้สังคมโลกเมื่อไหร่ ผมขอยืนยันว่า หายนะมาเยือนแน่นอน มาเยือนเพราะความรักชาติรักศักดิ์ศรีนี่แหละครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 28 มิถุนายน 2557