ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำอะไรบ้าง-ทำอย่างไร-ทำโดยใคร-ทำนานเท่าใด (ตอนที่ 1)

ทำอะไรบ้าง-ทำอย่างไร-ทำโดยใคร-ทำนานเท่าใด (ตอนที่ 1)

29 พฤษภาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

สี่คำถามที่รอคำตอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำตอบที่จะกำหนดอนาคตประเทศไทย

การยึดอำนาจรัฐผ่านมาแล้วร่วมสัปดาห์ ดูเหมือนว่าเป็นการรัฐประหารที่ได้รับการตอบรับอย่างดีพอควรจากหลายๆ ภาคส่วนในประเทศ (ต่างประเทศช่างหัวเผือกหัวมันเอาไว้ก่อน) โดยเฉพาะภาคส่วนที่จัดได้ว่าเป็นคนชั้นบน คนในกรุง คนในแวดวงธุรกิจ คนที่ค่อนข้างมีเสียงดังในวงสังคม (ยกเว้นพวกที่อยู่ในแวดวง “พรรคพวก” ของรัฐบาลเก่า กับพวกที่ถูกหาว่ายังบ้าคลั่งยึดมั่นในอุดมการณ์มายา “ประชาธิปไตย”) ที่ต่างก็ออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญ บรรยายคุณงามความดีของการรัฐประหาร และให้ความหวังไว้กับท่านผู้นำที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในขณะนี้ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ที่คัดค้าน ก็จำยอมต้องเงียบเสียงไว้ก่อน เพราะการออกความเห็นที่ไม่เป็นไปในทางสรรเสริญเยินยอ อาจถูกตีความไปได้ว่าขัดกับความข้อใดข้อหนึ่งในประกาศหรือคำสั่ง ของ คสช. ที่ออกมาแล้วร่วม 100 ฉบับ และก็คงจะทยอยออกมาอีกเรื่อยๆ และก็จะกลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับในทันทีทั้งนั้น ซึ่งทั้งนี้ท่านก็บอกเหตุผลชัดว่า เพื่อ “สร้างความปรองดองของคนในชาติ” จึงขอให้งดเว้นการวิพากษ์ วิจารณ์ เอาไว้ก่อน (reconciliation by suppression)

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าผมจะเห็นด้วยว่าอย่างน้อยการรัฐประหารทำให้เราหลุดพ้นมาได้จากภาวะชะงักงันทางการเมือง อันทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักเป็นทางตันไปทั้งหมดมาได้ร่วมหกเดือน แต่ผมคิดว่ายังเป็นการเร็วเกินไปที่จะสามารถคาดการณ์ได้ถึงผลที่จะมีต่ออนาคตของชาติในระยะยาวจากการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดก็น่าจะขึ้นอยู่กับคำตอบที่ชัดเจน เกี่ยวกับคำถามทั้งสี่ข้อนี่แหละครับ ยิ่งมีคำตอบเร็วเท่าใด มีรายละเอียดความชัดเจนมากเพียงใด ความมีเสถียรภาพของภาคส่วนต่างๆ ก็จะเกิดเร็วเท่านั้น ซึ่งคำว่า “เสถียรภาพ” (stability) นี่มีความสำคัญมากนะครับ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะความไม่แน่นอนย่อมมีต้นทุนสูง และที่ท่าน “จำเป็น” ต้องทำรัฐประหารครั้งนี้ ก็เพื่อสร้าง “เสถียรภาพ” นี่แหละครับ

ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ให้ใครทำ ทำนานเท่าใด ทั้งสี่คำถามนี่แหละครับ ที่คำตอบจะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศ

คำถามแรก “ทำอะไรบ้าง?” น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคำตอบสำหรับคำถามนี้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สำหรับคำตอบสำหรับคำถามอื่นๆ ที่ตามมา

สิ่งที่ท่านต้องทำแน่นอน ก็คือการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้กลไกต่างๆ ทำงานได้ตามปรกติ ให้กลไกราชการเดินหน้าได้ การเงินการคลังมีคนดูแล การบริการประชาชนเป็นไปด้วยดี งบประมาณที่ต้องใช้ต้องผ่านเป็นไปได้ ปัญหาระยะสั้นมีคนดูแล หนี้ชาวนาได้รับชดใช้ การลงทุนที่จำเป็นเดินหน้าได้ ฯลฯ

ซึ่งเรื่องนี้ในความเห็นผมเป็นเรื่องง่ายที่สุด ที่ท่านสามารถทำให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านั้น เรามีรัฐบาลที่มีสภาพ “เป็ดง่อย” อยู่ตั้งร่วมครึ่งค่อนปี แถมการบริหารโดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จย่อมทำให้เกิดสัมฤทธิผลได้ดีกว่าการที่ต้องมีหน่วยงานคอยคาน มีสภาคอยคุม ได้เยอะเลย อย่างเช่น ถ้าท่านจะออกมาตรการประชานิยมใดๆ ก็ทำได้เลย ไม่ต้องพะวักพะวนกับการค้าน การวิพากษ์วิจารณ์ (ผมไม่ได้คิดว่าประชานิยมเป็นเรื่องไม่ดีไปทั้งหมดนะครับ ประชานิยมที่ดีมีเหตุผล จะเป็นการกระจายรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพยั่งยืนได้ เช่น เรื่องประกันสุขภาพ เรื่องการศึกษา ฝึกทักษะ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นพวกชุ่ยๆ เช่น จำนำข้าว หรือเกิดท่านจะบ้าจี้ ลดราคาพลังงานฮวบฮาบอย่างที่มีบางฝ่ายเสนอล่ะก็ หายนะระยะยาวแน่นอนนะครับ) หรือท่านจะสั่งกู้เงิน เอาทรัพยากรอนาคตมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสักล้านๆ บาท ก็ทำได้เลย (ถ้ามีคนเขาให้กู้นะครับ) ซึ่งเรื่องการบริหารนี้ ถ้านโยบายดี เพิ่มความโปร่งใส มีคนเก่งๆ เข้ามาช่วย ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

เรื่องที่ยากขึ้นมาหน่อย ก็คือเรื่องต่างประเทศ ทำอย่างไรจะให้นานาชาติยอมรับ โดยเฉพาะชาติที่มีความสัมพันธ์ มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่ถึงเราจะเกลียดชังหมั่นไส้เขาขนาดไหน ก็ไม่ทำให้ความสำคัญเหล่านี้ลดถอยลงไป

อย่าลืมว่าเราเป็นประเทศเปิด ในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ทุกอย่างเชื่อมโยงกับโลกภายนอกทั้งนั้น เราค้าขายทั้งนำเข้าส่งออกรวมเกือบ 150% ของจีดีพีนะครับ แถมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการลงทุนโดนตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) และพอร์ตการลงทุน (Portfolio Investment) ก็เป็นกลจักรสำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรวมทั้งเป็นหัวหอกให้เกิดการพัฒนาในทุกด้าน (เช่น เทคโนโลยี) มากว่าสามสิบปีแล้ว เอาแค่เงินลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ไทยก็มีมากกว่าสามล้านๆ บาท ถ้าต้องถอนทั้งหมด ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) น่าจะเหลือไม่ถึง 500 แมงเม่าได้สูญพันธุ์์กันหมดคราวนี้ ยาฆ่าปลวกไม่ต้องใช้อีกต่อไป

ใครเชียร์ว่าอย่าไปสนต่างชาติ ผมขอค้านเต็มที่นะครับ ตัวอย่างมีให้เห็นมามาก อย่างพม่า เนวินปิดประเทศหลังยึดอำนาจ ประชาชาติอยู่กับที่ไป 50 ปี จากเมื่อ พ.ศ. 2505 มีจีดีพีต่อหัว (Per Capita GDP) 1.8 เท่าของไทย ตอนนี้เหลือแค่หนึ่งในหก ต้องลุกขึ้นมาตะเกียกตะกายไล่กวด อย่างเวียดนาม ปิดไปแค่ 20 ปี ก็ถอยจากสองเท่าเรามาเหลือหนึ่งในสาม หรือจะเอาเร็วๆ นี้ คุณชาเวซ ครองเวเนซุเอลา แค่สิบกว่าปี ทะเลาะกับนานาชาติเขาทั่ว เศรษฐกิจถดถอยตลอด ต้องยึดของคนรวยมาแจกคนจน จนเดี๋ยวนี้ไม่เหลือคนรวย (ถ้าไม่หนี ก็โดนยึดจนหมด)

นี่แหละครับ ภารกิจกลับไปสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติ เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญมาก แล้วก็อย่าไปคิดว่า เอาแค่คนที่เขาชอบเผด็จการอย่างจีนหรือรัสเซียก็พอนะครับ ต้องกลับเข้าสู่สังคมโลกให้ได้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เป้าหมายง่ายๆ ที่ผมขอตั้งให้กับทีมต่างประเทศก็คือ ในการประชุมผู้นำเอเปก (APEC) ที่ปักกิ่ง เดือน พ.ย. นี้ ต้องให้นายกรัฐมนตรีไทย จะเป็นบิ๊กตู่ หรือใครก็ตาม ได้ไปนั่งถ่ายรูปอยู่ระหว่างคุณลี เซียน ลุง กับคุณโอบามาให้ได้ตามปกตินะครับ ถ้าเขาไม่ยอมให้ถ่ายรูปด้วยก็แปลได้เลยว่างานเข้าแล้ว

ส่วนเรื่องที่ยากที่สุด ก็คือเรื่อง “ปฏิรูป” นี่แหละครับ ซึ่งก็คงเป็นที่แน่นอนว่า คงจะต้องเป็นเป้าหมายภารกิจที่สำคัญอย่างแน่นอน ตอนแรกที่ท่านตั้งชื่อว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ไม่ได้มีคำว่า “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” เหมือนบางชุดก่อนๆ ผมก็ไปหลงเชื่อว่า ท่านคงจะทำแค่เพียงให้มันมี “ความสงบ” แล้วก็จะจากไป แต่มาวันนี้ ก็ค่อนข้างแน่ว่าท่านคงจะอยู่ “บริหาร” และ “ปฏิรูป” อีกสักระยะหนึ่ง

ไอ้เรื่อง “บริหาร” นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอย่างที่ผมบอกแล้วแหละครับ แต่ไอ้ “ปฏิรูป” ที่ตะโกนก้องมาหกเจ็ดเดือนแล้ว และทุกฝ่ายก็ดูเหมือนจะขานรับกันทั่วถ้วนว่า “เมืองไทยจะต้องปฏิรูป” ไม่ว่าจะเป็น ฝ่าย กปปส. ฝ่าย นปช. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายการเมืองทุกพรรค ฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม ดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า “ต้องปฏิรูป” แต่พอถามลงไปว่า “ปฏิรูปอะไรบ้าง แค่ไหน ให้เป็นอย่างไร”ก็ยังไม่เห็นใครมีคำตอบให้ชัดๆ สักฝ่ายเดียว ถ้าจะคาดคั้นเอาคำตอบให้ได้ ก็แน่ใจได้เลยว่า ถ้ามีห้าฝ่าย ก็จะได้คำตอบห้าอย่าง ถ้ามีร้อยฝ่ายก็ร้อยอย่าง แถมหลายๆ คำตอบก็คงจะขัดแย้งตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างง่ายๆ เอาแค่เรื่องพลังงาน เวลานี้มีกลุ่มที่ประกาศตัวปฏิรูปอยู่สองกลุ่ม ทั้งคู่มุ่งกันไปคนละทาง ตรงข้ามกันได้แทบทุกเรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ แถมผมก็เชื่อว่าเป็นคนดีทั้งคู่เสียอีก นี่แหละครับ คำว่า “ปฏิรูป” คำเดียวง่ายๆ ถ้าจะทำจริง รับรองว่าแสนยากเย็น

ผมขอตั้งคำถามเกี่ยวกับคำว่า “ปฏิรูป” (ไอ้เตานี่ขี้สงสัย ช่างซักช่างถามจริงจริ๊ง) 3 คำถามเบื้องต้นก่อนว่า (เดี๋ยวยังจะมีคำถามเบื้องกลาง เบื้องปลายอีกนะครับ) เราเข้าใจคำว่าปฏิรูปเป็นอย่างไร เราจะมีเป้าหมายปฏิรูปเพื่ออะไรแค่ไหน เราควรจะปฏิรูปด้านไหนบ้าง อะไรสำคัญก่อนหลัง

อันว่าคำ “ปฏิรูป” นั้น แปลมาจากคำว่า reform ซึ่งก็หมายความได้ตรงๆ ว่า มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในโครงสร้างที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า ปฏิรูปต่างจากคำว่า “พัฒนา” ที่แปลว่าทำให้ดีขึ้น แต่ “ปฏิรูป” ก็ไม่รุนแรงเท่ากับคำว่า “ปฏิวัติ” (revolution) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แบบขุดรากถอนโคน อย่างบังคับ ไม่สนใจว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง ถ้าเราเข้าใจตรงกันอย่างนั้น “ปฏิรูป” ก็น่าจะมีเงื่อนไขลักษณะดังนี้นะครับ

– เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะไม่น่าจะมีลักษณะว่ามีใครได้ไปเสียทุกฝ่าย (win-win) คือ อาจมีผู้ได้ และผู้เสียได้บ้าง (ถ้าพัฒนา จะแปลว่าได้ทุกฝ่ายได้ เพราะทำให้ดี ทำให้มีเพิ่ม ย่อมแบ่งกันได้ แต่ reform แปลว่าจัดใหม่ หรือแบ่งใหม่นั่นเอง)

– ถ้าจะให้มีการยอมรับทุกภาคส่วน เป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้กระบวนการ มีการต่อรอง มีการแลกเปลี่ยน การปฏิรูปที่ดีจะเกิดได้ต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีเหตุผล และสุดท้ายต้องมีรายละเอียดว่าจะดำเนินการอะไร มีขั้นตอนอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่าย (ถึงแม้บางฝ่ายจะต้องสูญเสีย) สามารถปรับตัวอยู่รอด และได้ประโยชน์ในระยะยาวร่วมกัน (ไอ้พวกฝรั่งโง่ๆ มันถึงได้หลงเชื่อผิดๆ ไปว่า การปฏิรูปที่ดีต้องเกิดภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้นไงครับ)

ส่วนในเรื่องเป้าหมายนั้น ยิ่งต้องชัดเจน เราจะปฏิรูป ก็เพราะเราไม่ชอบในสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ชอบตรงไหนบ้าง และจะปฏิรูปไปให้เป็นอย่างไร นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องชัดเจนกว่าที่ตะโกนกันอยู่ปาวๆ อย่างภาวะปัจจุบัน ผมถามเพื่อนที่ตะโกนกันอยู่ว่าจะ “ปฏิรูปเพื่อเอาอะไร อยากได้อะไร”

คนแรกตอบว่า “ไม่รู้ล่ะ กูขอแค่ให้เอาไอ้ตระกูลชั่วๆ นี้ออกไปก่อน” ซึ่งถ้าทำแค่นั้นมันก็แค่กวาดใบไม้ในลานหน้าหนาว แค่รอให้ใบใหม่ร่วงสุมมาอีก พอทนไม่ไหว ก็ไปร้องเรียกท่านผู้กล้ามากวาดอีกที เพื่อนคนที่สองเสริมเพิ่ม “กูว่าต้องปราบโกงให้หมด คอร์รัปชันต้องหด เรื่องนี้สำคัญมาก ทำได้แค่นี้ ประเทศเจริญแน่” คนที่สามบอกแค่นั้นไม่พอ “ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำให้ได้ พวกคนรวย พวกอำมาตย์ได้เปรียบมามาก ถ้ารากหญ้าไม่ได้รับการเหลียวแล เดี๋ยวก็แตกแยกใหม่” (ไอ้หมอนี่น่าจะเป็นพวกโลกสวย ไม่ไปร่วมต่อสู้กับมวลมหาฯ) คนที่สี่สุดทะเยอทะยาน “กูว่าไหนๆ ก็ไหนๆ เราควรเพิ่มเป้าหมายให้ประเทศมีประสิทธิภาพเพิ่ม แข่งขันได้ดีเยี่ยมอย่างยั่งยืน สลัดหลุดกับดักการพัฒนา เป็นชาติสุดอารยะเสียที”

เห็นไหมครับ แค่เรื่องง่ายๆ ยังมีความเห็นแตกต่างมากมาย จะเอาอะไรแค่ไหน เมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่ต้องชัดเจน เพราะวิธีการ กระบวนการ เพื่อบรรลุเป้าหมายแต่ละอย่างมันไม่เหมือนกัน ยากง่ายต่างกัน แถมบางอย่างยังขัดกันได้ซะอีก

ส่วนเรื่องจะปฏิรูปด้านใดบ้าง ยิ่งไปกันใหญ่ มีได้สักร้อยเรื่อง ปฏิรูปการเมือง การต่อต้านคอร์รัปชัน การศึกษา การเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน ผมอยู่ภาคการเงินก็อยากให้ปฏิรูปภาคการเงิน เพื่อนทำท่องเที่ยวก็อยากให้ปฏิรูป มันต้องค่อยๆ แยกแยะ อันไหนจำเป็นเร่งด่วน อันไหนสำคัญมากน้อย อันไหนใครทำ ทำอย่างไร ฯลฯ ถ้าจะเอาทั้งหมด ทำพร้อมๆ กัน รับรองเละเทะ ต้องใช้ทหารทั้งกองทัพ แถมหลักสูตรนักเรียนนายร้อย คงต้องเพิ่มอีกสักร้อยวิชา

วันนี้ว่าเสียยาว เพิ่งบรรยายไปได้แค่คำถามเดียว “ทำอะไรบ้าง” ส่วนอีกสามคำถามว่า ทำอย่างไร-ทำโดยใคร-ทำนานเท่าใด คงต้องขอยกยอดไปคราวหน้านะครับ

ขอกราบเรียนว่า ที่เขียนมาทั้งหมด ก็ด้วยความจริงใจ หวังว่าจะมีประโยชน์ในทางสร้างสรร ไม่ได้เพื่อคัดค้าน ด่าทอ หรือแม้แต่ประชดประชันใคร ผมยืนยันมาตลอดว่า ไม่คิดว่ารัฐประหารจะสามารถตอบโจทย์ระยะยาวได้ แต่ในเมื่อมันเกิดแล้ว ผมก็จะพยายามทุกทางที่ทำได้ ให้ความเห็นของผมเองผิด

ถ้ายังมีคนคิดว่าเป็นประโยชน์ อยากอ่านต่อ และที่ทำมาทั้งหมดไม่มีใครมาตีความว่า เป็นการ “แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม” อันเป็นความผิดตาม ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ผมก็จะเขียนต่อในเร็ววันนี้นะครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก ในเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich เมื่อ 28 พฤษภาคม 2557