ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จัก Disruptive Technologies

รู้จัก Disruptive Technologies

24 พฤศจิกายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

สมัยก่อนเชื่อกันว่า มีเพียงความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม และศาสนาเท่านั้น ที่ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่งมา 200 กว่าปีหลังนี้ที่มนุษย์ตระหนักว่าเทคโนโลยีนี่แหละคือตัวการสำคัญที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 40 กว่าปีหลังนี้ที่เทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดสังคมใดที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็มีโอกาสถูกทิ้งไปไม่เห็นฝุ่น

ที่จริงมนุษย์ในโลกตะวันตกเริ่มเห็นแล้วว่าเครื่องมือตีพิมพ์ข้อความได้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1439 โดย Johannes Gutenberg ซึ่งสิ่งนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อของคนเป็นอย่างมาก ศาสนาคริสต์สามารถเผยแพร่คำสอนผ่านการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลทำให้ศาสนาคริสต์กระจายไปทั่วโลกได้ก็เพราะเทคโนโลยีนี่แหละ

มีการกล่าวกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย คือ นอร์เวย์ สวีเดน และ เดนมาร์ก ซึ่งเป็นลูกหลานไวกิ้ง สามารถไล่ทันอังกฤษซึ่งมีอารยธรรมก่อนหน้าได้ก็เพราะการแพร่ของศาสนาคริสต์ไปในบริเวณนี้เมื่อประมาณ ค.ศ. 1100 ซึ่งพระบังคับให้ทุกคนต้องอ่านหนังสือให้ออก หากพระไปตรวจสอบและพบว่าใครอ่านหนังสือไม่ออกก็จะถูกประจาน เอามานั่งกันไว้เป็นพิเศษแถวหน้าในโบสถ์ และทำพิธีให้ไม่ได้ เช่น แต่งงาน ดังนั้นทุกครอบครัวจึงต้องบีบบังคับ ดูแล ให้ลูกหลานอ่านหนังสือออก ซึ่งเป็นหัวใจไปสู่การมีคุณภาพชีวิตระดับโลกในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ในปี 1969 ที่เทคโนโลยี IT เริ่มเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง วิธีการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป วิวัฒนาการของเทคโนโลยีก็ไปไม่หยุด จนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในปัจจุบันที่มีการผสมผสานของเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมี IT คอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เป็นแกนนำ ปัจจุบันมีคำเรียกบรรดาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า disruptive technologies

disrupt หมายถึง ขัด ขวาง กีดขวาง หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงให้เปลี่ยนไปจากสภาวะที่ดำรงอยู่ การเรียกเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่า disruptive technologies มิได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่ ประการสำคัญก็คือกระทบต่อการทำมาหากิน ธุรกิจ การดำเนินชีวิตของผู้คน ฯลฯ

ในตอนแรกใน ค.ศ. 1995 นิยมเรียกกันว่า disruptive innovation ซึ่งเน้นไปที่นวัตกรรมที่มีลักษณะขัดขวางดังกล่าว ตัวอย่างที่พูดกันก็คือรถยนต์ Ford Model T ออกสู่ตลาดใน ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากจนทดแทนรถม้าไปหมดในสหรัฐอเมริกา และต่อมาในยุโรป

ที่จริงรถยนต์เกิดก่อนรถ Ford รุ่นนี้ 30 ปี แต่ไม่เป็น disruptive innovation เพราะราคาแพง มีคนใช้ไม่กี่คัน มีการพัฒนาเป็นลำดับแต่ไม่สามารถทดแทนรถม้าได้ แต่เมื่อ Ford Model T ออกมาในราคาถูกเพราะผลิตเป็นกอบเป็นกำและใช้งานได้ดี รถม้าก็หายไปเพราะนวัตกรรมนี้ มันจึงเป็น disruptive innovation อย่างแท้จริง

การปรากฏตัวของ Wikipedia ในโลกไซเบอร์ก็เป็น disruptive innovation เพราะไปทดแทนเอ็นไซโคลพีเดียชุดที่เป็นหนังสือและที่เป็นดิจิทัลอยู่ในไซเบอร์ซึ่งทั้งหมดต้องซื้อ เพราะ Wikipedia ฟรี และสะดวกต่อการใช้

ในเวลาต่อมา Clayton M. Christensen เจ้าพ่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (ขายหนังสือสุดฮิต Innovator’s Dilemma, 1997) จุดประกายเรื่อง disruptive technologies โดยกล่าวว่า ประการแรกของเทคโนโลยี คือ sustaining technology ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยละน้อยและ disruptive technology ซึ่งเป็นพายุลูกใหม่ ในตอนแรกอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น

disruptive technologies

ลองมาดูกันว่า disruptive technology ตามที่ McKinsey Global Institute ประมวลไว้ 12 อย่างมีอะไรบ้าง

(1) Mobile internet เครื่องมือใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทั่วโลกที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น laptop/smartphones ทำอะไรได้มากมาย เช่น สามารถตรวจโรคระยะไกล (เจาะเลือดและให้เครื่องมือติดตั้งกับ smartphones ตรวจน้ำตาลในเลือด) หรือ mobile banking ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

(2) Automation of knowledge work ขณะนี้ IBM ประดิษฐ์เครื่องมือชื่อว่า Watson ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคจากข้อมูลและอาการ ร่างคำฟ้อง และแนะนำเรื่องกฎหมาย สร้างซอฟต์แวร์ที่ “ฉลาด” คิดวิเคราะห์ได้จากข้อมูลที่ใส่เข้าไป

(3) Internet of Things (IOT) ให้ IP address แก่สารพัดสิ่ง ไม่ว่าตัวสินค้า เม็ดยา ชิ้นวัสดุ โดยฝังเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจนถึงเล็กที่สุดเพื่อส่งข้อมูลสื่อสาร ซึ่งสามารถเอาไปใช้งานได้ เช่น คุณภาพของดิน รู้จากเซ็นเซอร์ที่โรยไว้ในดิน ก็จะรู้ว่าควรปลูกอะไร ใส่เซ็นเซอร์ในเม็ดยาเพื่อให้ปล่อยสารอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ฯลฯ

(4) Advanced robotics หุ่นยนต์ผ่าตัดเพื่อให้คนไข้ถูกกระทบน้อยที่สุด และผ่าตัดอย่างแม่นยำ (da Vinci เป็นชื่อที่รู้จักกันดี) หรือใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าปรมาณู

(5) Cloud technology เทคโนโลยีเก็บข้อมูลและซอฟต์แวร์รวมเพื่อใช้งาน ซึ่งช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องลงทุนด้านคอมพิวเตอร์สูง

(6) Autonomous vehicles ได้แก่ drones ใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง ไว้ถ่ายรูป สำรวจผลผลิตเกษตรหรือป่าหรือแหล่งน้ำ ฯลฯ ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเริ่มมีออกมาใช้บ้างแล้วในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

(7) Next-generation genomics เทคโนโลยีปรับปรุงพัฒนายีนเพื่อรักษาโรค ตลอดจนพัฒนาพันธุ์สัตว์ พืช ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

(8) Next-generation storage เทคโนโลยีเก็บไฟฟ้าและพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน ที่มีประสิทธิภาพสูง สร้าง fuel cells เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ ตลอดจนนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด

(9) 3D printing การพิมพ์ระบบ 3 มิติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดต่ำลง เช่น การพิมพ์สินค้าออกมาเป็นชิ้นที่จับต้องได้ทำให้เลือกแบบที่ต้องการได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในด้านทันตกรรมและการแพทย์อีกด้วย

(10) Advanced materials การผลิตวัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุที่ทำความสะอาดตัวเอง กลับสู่สภาพเดิมเสมอ แข็งแรงและเบาเป็นพิเศษ หรือเป็นสารตัวนำไฟฟ้า กำลังก้าวหน้าไปไกลทุกขณะ

(11) Advanced oil and gas exploration and recovery เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการบุกเบิกขุดค้นหาน้ำมันและก๊าซ ทำให้ได้น้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น

(12) Renewable electricity เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่มีวันหมด เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด ลม คลื่น น้ำพุร้อน ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ มีตัวเลขว่าก่อนปี 2050 มีความเป็นไปได้สูงที่แหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะเป็นดวงอาทิตย์

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง มีความก้าวหน้าตลอดเวลา การที่มันจะเป็น disruptive technologies หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ถูกกระทบปรับตัวได้ดีเพียงไร สิ่งสำคัญที่จะช่วยก็คือการมีทัศนคติที่เป็นบวกว่ามันคือโอกาส ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำลาย และพร้อมที่จะนำมันมาปรับใช้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่อังคาร 22 พ.ย. 2559