วรากรณ์ สามโกเศศ
“จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นั้นใช้ได้เป็นอย่างดีในยามนี้ที่ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าในโลก ถ้าเรามองว่าอุปสรรคนั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิต มัน “มา” แล้วก็ “ไป” เพียงแต่ว่าเรามีปฏิกิริยาอย่างไรกับมันในยามนี้ซึ่งจะส่งผลหลังจากที่มันได้ “ไป” แล้ว หากเรามีจิตใจที่เหมาะสมต่อการรับมือกับมัน สุขภาพร่างกายของเราก็จะดี ทั้งใจและกายก็จะรวมกันเป็นสุขภาวะที่เข้มแข็งพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
หนังสือชื่อ A Toolkit for Modern Life (2020) โดย Dr.Emma Hepburn ให้คำแนะนำในการมีสุขภาพจิตที่ดีผ่าน “5 เสาหลักของสุขภาพจิต” (The 5 Pillars of Mental Health) ดังนี้
(1) Connect เมื่อ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อมีหลักฐานเพิ่มขึ้นมาก ทุกทีว่าการโดดเดี่ยวตนเองจากสังคมเป็นผลเสียต่อสุขภาพ การอยู่กับคนที่ทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง รู้สึกสนุกสนานจะก่อให้เกิดอารมณ์ที่เป็นบวกอันเป็นผลดีต่อสุขภาพจิต การพบปะทำให้มีโอกาสพูดคุย เกิดความรู้สึกว่าความคิดและอารมณ์ของเรานั้นมีเหตุมีผล ไม่ใช่เรื่องเหลวใหล นอกจากนี้ทำให้ได้เรียนรู้แง่มุมอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ดีต่อความคิดและจิตใจของเราทั้งสิ้น
มีหลักฐานเพิ่มขึ้นทุกขณะว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขและมีสุขภาพดี การมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกไว้วางใจ มีความสนใจและมีความเชื่อในคุณค่าเดียวกันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงโควิดการเชื่อมต่อกับผู้อื่นสามารถทำได้ผ่านหลายช่องทาง เช่น จดหมาย โซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ ฯลฯ โดยไม่ต้องพบหน้ากัน
(2)Be Active เรารู้ว่าการออกกำลังกาย หรือ exercise (สสส. ใช้คำว่า ‘กิจกรรมทางกาย’) เป็นผลดีต่อร่างกาย เมื่อสมองก็เป็นอวัยวะของร่างกายเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงย่อมดีต่อสมองด้วย การออกกำลังกายช่วยสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะภายใน หลอดเลือด และเส้นเลือดทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ว่าได้ทำอะไรซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกายอีกด้วย การที่ร่างกายปลดปล่อยสาร endorphins ทำให้เกิดความสุข และลดปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อความเครียดลง
อย่างไรก็ดี คำว่า “การออกกำลังกาย” ทำให้ผู้คนบางส่วนรู้สึกแหยงเพราะเห็นภาพของการแต่งกายออกกำลังกายอย่างจริงจังเป็นทางการ หากเราใช้คำว่า “คึกคักกระฉับกระเฉง” ของการเคลื่อนไหวร่างกาย (ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง ทำความสะอาด เล่นโยคะ ทำสวน ทำอาหาร หรือแม้แต่ร้องเพลง) ก็จะเข้าใจดีขึ้นว่าเราควรมีชีวิตที่มีชีวิตชีวาไม่เนือยนิ่ง
(3)Be Aware ในพื้นที่ความคิดของเรามักเต็มไปด้วยเรื่องประสบการณ์ในอดีต และการฝันถึงอนาคตซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สมองของเรามีกลไกทำงานสำคัญในเรื่องความจำ การแก้ไขปัญหา การวางแผน การคาดคะเน ฯลฯ บ่อยครั้งสิ่งเหล่านี้หันเหความสนใจของเราไปจากเรื่องที่สำคัญจนไม่สังเกตว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ใดบ้าง กล่าวคือเราละเลยความรู้สึกและอารมณ์ของเราในขณะปัจจุบันไป นักจิตวิทยาเตือนว่าเราจำเป็นต้องใส่ใจสภาวะปัจจุบันเพื่อจะสามารถมองเห็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และลงมือปฏิบัติ
การให้ความสนใจกับปัจจุบันจะช่วยควบคุมปฏิกิริยาที่มีต่อความเครียด ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผ่อนคลายซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว การนั่งสมาธิก็คือรูปแบบหนึ่งของการตระหนักรู้ปัจจุบัน ในชีวิตประจำวันของเราการตระหนักรู้ได้แก่ การใส่ใจในทุกก้าวย่าง การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว การสังเกตความคิดและลมหายใจของตนเอง ฯลฯ
กิจกรรมที่ช่วยให้เกิดสมาธินั้นมีมากมาย เช่น การวาดภาพ กิจกรรมศิลปะ กิจกรรมทางกาย กีฬาเบา ๆ การเขียน การอ่าน ฯลฯ
(4)Learn การเรียนรู้ทำให้สมองเราคึกคักมีพลัง มีความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย และเกิดความคิดใหม่ ๆ งานวิจัยมากมายยืนยันความสัมพันธิ์ระหว่างการใช้สมองอย่างต่อเนื่องกับการมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างไรก็ดีมนุษย์มักผูกโยงการเรียนรู้กับความเครียด ความล้มเหลว หรือความสำเร็จ การเรียนรู้โดยแท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสอบ การจดจำ หรือการท่องจำ การเรียนรู้คืออะไรก็ตามที่ใหม่สำหรับสมอง เช่นการอ่านรับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ การเรียนรู้คำใหม่ การค้นพบสถานที่ใหม่ การเรียนรู้กิจกรรมใหม่ การชิมอาหารใหม่ ๆ ฯลฯ
(5)Give สุภาษิตจีนให้คำแนะนำแก่ผู้สูงวัยว่าเขาอยู่ในวัย “แจกของ ส่องตะเกียง” ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นการให้ กล่าวคือให้เงินทองสิ่งของและให้ปัญญาแก่ผู้อ่อนวัยกว่า
มนุษย์โดยพื้นฐานนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคม สมองมนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อเป็นกระจกของอารมณ์คนอื่น กล่าวคือเรารู้สึกเจ็บปวดไปด้วยเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บปวด เรารู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรจนทำให้เรามีอารมณ์ร่วมไปด้วย โดยทั่วไปถ้ามนุษย์คนอื่นรู้สึกอย่างไรคนอยู่ใกล้ ๆ ก็จะพลอยรู้สึกอย่างเดียวกันไปด้วย (การโต้เถียงกันด้วยอารมณ์เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อารมณ์)
การให้ก่อให้เกิดความสุขแก่ทั้งผู้รับและผู้ให้ สำหรับคนไทยความรู้สึกนี้เกิดเมื่อได้ทำบุญ ให้ทาน งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการช่วยเหลือคนอื่นอย่างบริสุทธิ์ใจทำให้เกิดผลด้านบวกแก่ผู้ให้ ความอิ่มเอิบที่เกิดขึ้นช่วยจัดการความเครียด ลดความดันโลหิต สร้างความรู้สึกเชื่อมต่อทางสังคมกับคนอื่นมากขึ้น
การให้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเงินทอง การให้เวลา การออกแรงช่วยเหลือ การให้ความสำคัญ การให้ความสนใจ การพูดให้กำลังใจคำพูดเป็นมิตรที่ทำให้ผู้รับรู้สึกดี หน้าตาที่เป็นมิตร การทำงานจิตอาสา ฯลฯ ล้วนเป็นการให้ที่ทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีทั้งสิ้น
เสาหลักทั้ง 5 คือ Connect/Be Active/Be Aware/Learn/ และ Give เมื่อพิจารณาอย่างเชื่อมต่อกันก็จะเห็นว่าเป็นสูตรของการมีสุขภาพจิตที่ดี กล่าวคือไม่ตัดขาดตนเองจากสังคม ทำให้ชีวิตคึกคักกระฉับกระเฉง ตระหนักถึงสิ่งรอบตัว เรียนรู้อยู่เสมอ และให้ทุกคนทุกวันเดินทางตามเส้นทางชีวิตของตน ส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งของการเดินทางอย่างมีความสุขก็คือการเดินทางภายใน
หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 13 เม.ย. 2564