ThaiPublica > คอลัมน์ > ถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

ถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

20 ตุลาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

thaipublica-น้อมอาลัยในหลวง

คนไทยเกือบทั้งประเทศเกิดและเติบโตในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การเสด็จสวรรคตของพระองค์นอกจากนำมาซึ่งความโศกเศร้าอย่างยิ่งแก่พสกนิกรแล้วยังเปรียบเสมือนว่าส่วนหนึ่งของชีวิตของตนเองหายไปด้วย คำถามที่น่าคิดก็คือ พวกเราจะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่พวกเราได้อย่างไรอย่างตลอดไป

ตลอดชีวิตนับแต่เกิดมา คนไทยทั้งประเทศสามารถนึกถึงอดีตของชีวิตตนเองและครอบครัวโดยไปเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน 70 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ได้เสมอ เช่น ลูกคนโตจบมัธยมปลายตอนทรงครองราชย์ครบ 60 ปี จบชั้นมัธยมต้นเมื่อตอนเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จต่างประเทศ แม่ตายเมื่อตอนพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมสมเด็จย่า ฯลฯ การเสด็จสวรรคตของพระองค์เปรียบเสมือนความหลังเหล่านั้นได้หายไปด้วยอย่างปวดร้าวใจ

ต่อไปนี้ไม่สามารถเชื่อมโยงเช่นนั้นในความรู้สึกเดียวกันได้อีกแล้ว จะมีก็แต่ความทรงจำของสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงทิ้งไว้ให้แก่พสกนิกรเท่านั้น คำถามที่น่าพิจารณาก็คือ ความทรงจำใดที่จะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นการถวายความจงรักภักดีอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไปได้

ท่ามกลางมรดกที่พระองค์ท่านทรงทิ้งไว้ให้ลูกหลานไทยมากมาย ผู้เขียนขอหยิบมาเพียงชิ้นเดียว และขอนำมาเสนอเป็นอาหารสมอง

การทุ่มเทพระองค์ในการทรงงานอย่างมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแสดงให้คนไทยเห็นเป็นตัวอย่าง หากพวกเราย้อนไปนึกถึงอดีตที่ผ่านมาก็จะเห็นอย่างเด่นชัดในเรื่องนี้ เมื่อก่อนหลายคนอาจเห็นไม่ชัด แต่แปลกที่เมื่อน้ำตากลบตาแล้วกลับมองเห็นชัดขึ้น

ถ้าอยากเอาเรื่องนี้มาแปรให้เป็นรูปธรรมแก่สังคมเรา เหล่าบุคคลที่ควรใคร่ครวญอย่างยิ่งก็คือบรรดาข้าราชการและพนักงานรัฐทั้งหลายที่รับเงินเดือนจากราษฎรผ่านภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป็นที่ทราบกันดีว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการทำงานของข้าราชการไทยลดต่ำลงเป็นอันมาก ในขณะที่ผลตอบแทนสูงขึ้นเป็นอย่างมากจนข้าราชการเป็น “อาชีพ” ที่คนจำนวนมากใฝ่ฝัน

ถ้าบรรดาคนเหล่านี้ตั้งใจถวายความจงรักภักดีอย่างแท้จริงแล้ว ก็สมควรพิจารณาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาให้เห็นการเป็นตัวอย่างของพระองค์ในการทุ่มเทและทรงงานอย่างมุ่งมั่นอย่างแท้จริง (2) ประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ว่าตลอดชีวิตของความเป็นข้าราชการและพนักงานรัฐได้ทุ่มเทตนเองเพื่องานอย่างจริงจัง สมกับเงินเดือนที่ได้รับมาจากราษฎรหรือไม่ (3) หากคำตอบในข้อ (2) เป็นว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจก็ต้องปรับปรุงโดยพิจารณาแก้ไขโดยใช้ตัวอย่างของพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ

การกระทำตาม 3 ขั้นตอนนี้จะทำให้ท่านมิได้เสียน้ำตาไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากแปรเปลี่ยนให้เกิดสิ่งงดงามแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมสมดังพระปณิธานของพระองค์ในการครองแผ่นดิน

ในโอกาสแห่งความโศกเศร้านี้ ในแง่มุมหนึ่งเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมแห่งการเรียนรู้และปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ภาครัฐควรใช้ช่วงเวลาปีนี้แปรเปลี่ยนความโศกเศร้าจากการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นพลังแห่งการเดินตามรอยพระยุคลบาท ปลุกเร้าสำนึกของข้าราชการและพนักงานรัฐในการทำงานเพื่อประชาชน ปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงานที่ลดต่ำลงให้ฟื้นขึ้นมาทัดเทียมผลตอบแทนที่สูงขึ้น

การขาดดุลยภาพระหว่างผลงานกับผลตอบแทนของข้าราชการและพนักงานรัฐจะนำไปสู่ปัญหาอีกนานัปการ เช่น (ก) รายจ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้นมากในด้านผลตอบแทนและสวัสดิการโดยไม่ได้ผลงานที่น่าพอใจกลับคืนมา (ข) ทรัพยากรสำหรับการลงทุนที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ ก็จะมีไม่เพียงพอเพราะถูกแย่งชิงไปในข้อแรก (ค) หนี้ภาครัฐก็อาจสูงขึ้นมากเพราะยากที่จะหารายได้มาชดเชยรายจ่ายมหาศาลของข้อ (ก) ที่เปรียบเสมือนการสูญเปล่า ผลพวงที่ตามมาก็คือภาระของภาครัฐและการสูญเสียโอกาส ฯลฯ

สำหรับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนั้น ตัวอย่างของการทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานของพระองค์ก็สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี ภาคเอกชนคือหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานก็คือการเพิ่มศักยภาพของประเทศ

สำหรับประชาชนทั่วไป การทุ่มเทให้กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ด้วยการมุ่งมั่นทำงานและอบรมดูแลสั่งสอนลูกหลานคือการสร้างชาติอย่างแท้จริง ถ้าสังคมเรามีพ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบ เราก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ และสังคมเช่นนี้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาได้เสมอ

ถ้าเราไม่ยึดพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยกันสร้างสังคมเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้แล้ว ก็เรียกไม่ได้ว่ามีความจงรักภักดีอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 ต.ค. 2559