เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักโฆษกได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวทุกคนทราบก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะแถลงว่า “วันนี้เหมือนเดิม ไม่มีการถามนะครับ” เนื่องด้วยอยู่ในช่วงถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
เคาะจำนำยุ้งฉางสูงสุด 13,000 บาท/ตัน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อ 09.00 น. วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2559) มีประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) นัดพิเศษ ปีการผลิต 2559/2560 มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 13,000 บาทต่อตัน ที่เพิ่มจากมติ นบข. ประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ที่ราคา 11,525 บาทต่อตันประกอบด้วยค่าข้าวเปลือก เงินช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงข้าว และค่าเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉาง ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉาง ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถขายได้ในราคาตลาด รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวปรับปรุงคุณภาพโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชี 2,000 บาทต่อตัน
พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวได้มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการจำนำข้าวทุกเมล็ดและไม่ใช่การนำข้าวที่ได้จากโครงการไปเก็บในคลังของรัฐ ตนหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้ชาวนาพอใจในระดับหนึ่งและทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับดีขึ้น แต่อยากให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัดและขณะนี้ก็มีผลกระทบหลายด้าน ทั้งจากปัญหาน้ำท่วมและความต้องการข้าวลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเครื่องมือและจัดหาโรงสีขนาดกลางลงไปในแต่ละพื้นที่
“ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คสช. ลงไปสำรวจโรงสีว่ามีสิ่งใดแทรกซ้อนหรือไม่ และขอให้ชาวนาอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน เพราะราคาข้าวที่ตกต่ำในขณะนี้เป็นเพียงข้าวที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำ มีความชื้นสูง และไวต่อแสง ซึ่งจะออกผลผลิตในช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2559 ประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น และขอให้ติดตามข้อมูลต่างๆ จากรัฐบาล” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมถึงมติของที่ประชุม นบข. นัดพิเศษในวันนี้ ดังนี้
- การกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกร้อยละ 90 ของราคาตลาด ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 โดยพิจารณาจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 36 กรัมขึ้นไป ในตลาดปัจจุบันที่ประมาณตันละ 11,000 บาท กำหนดวงเงินสินเชื่อไม่เกินร้อยละ 90 ซึ่งในชั้นนี้ กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิ 9,500 บาท วงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิเป็นวงเงินที่จ่ายสินเชื่อสำหรับข้าวเปลือกหอม
- วิธีดำเนินการ สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวหอมมะลิตามกลุ่มเป้าหมาย 2,000 บาทต่อวัน (กำหนด ไร่ละ 800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่) ทั้งรายที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2559/60 และไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกร
- กรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560
สำหรับกระแสข่าวที่ว่ามีกลุ่มนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของชาวนานั้น กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล และกรณีที่มีการขายข้าวกันเองของชาวนานั้น รัฐบาลไม่ได้ห้ามและไม่มีการจับกุม เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือตัวเองไปก่อน แต่หากมีการขายเป็นจำนวนมาก ต้องมีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง
14 พ.ย. จัดกิจกรรมรื่นเริงได้ตามปกติ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการขอความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยในวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางกิจกรรมบันเทิงเมื่อครบ 30 วัน (14 พฤศจิกายน 2559) ว่า สามารถจัดได้ตามปกติ โดยยังต้องเน้นความเหมาะสม เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินตามปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนการจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์สามารดำเนินการตามปกติ โดยขอความร่วมมือผู้รับผิดชอบพิจารณาตามความเหมาะสม และควรสอดแทรกรายการที่ให้ความรู้เป็นการพัฒนาประเทศไทยไปด้วย ทั้งนี้ หากสงสัยประการใดสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายเลขานุการ ศตส. เบอร์ 02-288-6464
มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้
ออกมาตรการภาษี หนุน e-Payment จูงใจเอกชนตั้งเครื่อง EDC
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อลดการใช้เงินสดและอำนวยความสะดวกในชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
“ที่ผ่านมาประชาชนส่วนมากยังใช้บัตรเดบิตไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยมักใช้บัตรเดบิตสำหรับเพียงแค่ถอนเงินสดจากตู้ ATM เท่านั้น ขณะเดียวกันร้านที่รับบัตรก็มีไม่มาก หลายร้านมีการกำหนดยอดการใช้จ่ายขั้นต่ำ และกระจุกตัวอยู่เฉพาะตามเมืองใหญ่ รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ระบบการชำระเงินของประเทศ จึงมีมาตรการจะส่งเสริมให้กระจายจุดการรับชำระเงิน และกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้ทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ และที่สำคัญ ตั้งใจจะไม่ลงไปแค่เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่จะลงไปยังบริษัทรายเล็กหรือ SME โดยให้มีการรองรับ National Debit Card และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการวางอุปกรณ์นี้ โดยอนาคตจะไม่ได้ให้มีแค่เพียงธนาคารเท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการ แต่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในการวางเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย” นายกอบศักดิ์กล่าว
โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่อง EDC ประกอบด้วย
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่อง EDC ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
เห็นชอบรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง 5.5 หมื่นล้าน
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. กรอบวงเงินลงทุน 24,722.28 ล้านบาท, ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. กรอบวงเงินลงทุน 20,046.41 ล้านบาท, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. กรอบวงเงินลงทุน 10,239.58 ล้านบาท รวมมูลค่า 55,008.27 ล้านบาท
“เดิมไทยมีระบบรถไฟทางคู่อยู่ 256 กิโลเมตร คิดเป็น 2% ของเส้นทางทั้งหมด ดังนั้น โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะทำให้ระบบทางคู่มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยจะดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดรวม 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 995 กิโลเมตร เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งหมด 139,103 ล้านบาท ภายใต้โครงการดังกล่าวจะมีการสร้างสถานีใหม่เพิ่มเติมอีก 61 สถานี ยกเลิกจุดตัดทางรถไฟโดยการก่อสร้างทางต่างระดับเพิ่มเติมและทางข้าม พร้อมทั้งสร้างรั้วตลอดเส้นทาง ให้รถไฟสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น จัดทำย่านขนส่งสินค้า (คอนเทนเนอร์ยาร์ด) ในสถานีที่เหมาะสม เช่น ปากน้ำโพ สามร้อยยอด และทุ่งมะเมา เป็นต้น” นายกอบศักดิ์กล่าว
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดิน 24 ไร่ในเส้นทางนครปฐม-หัวหินเพื่อปรับรัศมีโค้งของรถไฟ เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสะพานข้ามรถไฟเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพจะต้องเวนคืนที่ดิน 371 ไร่เพื่อสร้างเส้นทางเลี่ยงเมือง ไม่ให้กระทบกับพระปรางค์สามยอด ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางจะทำให้สามารถบริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว และขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 2 เท่าตัว
นอกจากนี้ จะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,493 กิโลเมตร ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 กิโลเมตร, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในขั้นการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 และรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, สายบ้านไผ่-นครพนม จะบรรจุไว้ใน แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2560 ด้วย ซึ่งจะเสนอ ครม. ขออนุมัติโครงการในปี 2560 และจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่มีโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่มีประสิทธิภาพครบถ้วนทั่วประเทศ โดยการก่อสร้างทั้งระยะแรกและระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563-2564
ขยายเวลาจ่ายเงินไร่ละพัน 2 เดือน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่องโคงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 หรือโครงการไร่ละ 1,000 บาท โดยให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวามคม 2559 สำหรับกรณีภาคใต้ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเดิม 31 ธันวาคม 2559 เป็นสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560
“เนื่องจากธ.ก.ส.ยังไม่สามารถโอนเงินให้กับเกษตรกรได้ทันตามกรอบระยะเวลา เพราะเกษตรกรบางส่วนอยู่ระหว่างขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/2560 ด้านคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ในระดับอำเภออยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูลเกษตรกรที่ผ่านการประชุมประชาคมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ และเกษตรกรบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์การเข้าร่วมโครงการฯ” นายณัฐพรกล่าว
ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2559 ธ.ก.ส. สามารถโอนเงินให้กับเกษตรกรตามโครงการฯ ได้จำนวน 2.25 ล้านราย คิดเป็น 62.29% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/2558 (3.61 ล้านราย) เป็นจำนวนเงิน 19,263.70 ล้านบาท คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสามารถโอนเงินให้เกษตรกรได้ประมาณ 2.9 ล้านราย เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของเป้าหมายการดำเนินโครงการฯ
เข้มจ่ายเงินช่วยเกษตรกร สรรพากร-กรมการปกครองต้องยืนยันรายได้
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบ การตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและหลักเกณฑ์ในการโอนเงินภายใต้มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย (มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย) เพื่อติดตามความถูกต้องการดำเนินการว่าโครงการดังกล่าวลงไปสู่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง
โดยเกษตรกรที่จะได้รับเงินตามมาตรการดังกล่าวต้องเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการพื้นฐานแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ซึ่งต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในปี 2558 และต้องได้รับการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลจากกรมสรรพากรและกรมการปกครองแล้ว รวมทั้งต้องเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนเกษตรกร หรือเป็นสมาชิกในครัวเรือนผู้ที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์ หรือทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง หากเป็นหัวหน้าครัวเรือนต้องมีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าครัวเรือนนี้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
สำหรับอัตราการโอนเงิน แบ่งเป็น 2 อัตรา 1) เกษตรกรที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โอนเงินให้จำนวน 3,000 บาทต่อคน 2) เกษตรกรที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โอนเงินให้จำนวน 1,500 บาทต่อคน เพียงครั้งเดียวผ่าน ธ.ก.ส. หากเกษตรกรไม่มีบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. อาจใช้บัญชีเงินฝากของธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย หากไม่มีบัญชีเงินฝาก 3 ธนาคารข้างต้น ให้แจ้งชื่อบัญชี พร้อมเลขที่บัญชี และธนาคารที่ประสงค์ให้โอนเงินได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา
ความคืบหน้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางฯ
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยศูนย์ทดสอบดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 60 ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563
สำหรับการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับยางพารานั้น ในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 150 มาตรฐาน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศกว่า 95% เช่น กลุ่มนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น มอก. ของเม็ดยางที่ใช้ทำพื้นสังเคราะห์ แผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอนและที่นอน ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อก็จะมียางล้อตันสำหรับรถโฟล์คลิฟต์ ยางล้อสูบลมสำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง ยางล้อรถยนต์สำหรับรถยนต์พาณิชย์และส่วนพ่วง กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แผ่นยางรองทางรถไฟ ยางรัดของ ยางปัดน้ำฝน
เห็นชอบวงเงิน 2.6 หมื่นล้าน ให้ กฟภ. พัฒนาระบบไฟฟ้า
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 โดยอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการในระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 62,678.71 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 47,009 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 15,669.71 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ เพิ่มประสิทธิภาพ ความมั่นคง และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าและลดปัญหาในการปฏิบัติ และบำรุงรักษา รวมทั้งติดตั้งเปลี่ยนแปลงหม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม รายใหม่ และพื้นที่สำคัญ ให้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสูงขึ้น
ช่วยเหลือให้เปล่า สร้างสะพานข้ามพรมแดน ไทย-กัมพูชา 170 ล้าน
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขออนุมัติจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท มูลค่าการก่อสร้าง 170 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลกัมพูชา
โครงการดังกล่าวเป็นสะพานข้ามแม่น้ำความยาว 130 เมตร โดยฝั่งไทยมีเชิงลาดสะพานยาว 340 เมตร ฝั่งกัมพูชายาว 150 เมตร นอกจากนี้ ทางฝั่งไทยจะมีถนนเชื่อมต่อ 100 เมตร ฝั่งกัมพูชาจะมีถนนเชื่อมต่อ 50 เมตร เมื่อเปิดใช้บริการจะเชื่อมกับถนนสาย 33 ที่วิ่งเข้ามาสระแก้ว ไปเชื่อมกับถนนหมายเลข 5 ของกัมพูชา คือถนนที่วิ่งไปเสียมเรียบ และลงไปทางพนมเปญ และไปถึงโฮจิมินห์ เวียดนาม
ส่วนภาระหน้าที่และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการนั้น ฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง ออกแบบ และรับผิดชอบค่าก่อสร้างทั้งหมด ยกเว้นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาษี และค่าธรรมเนียมของกัมพูชา ส่วนฝ่ายกัมพูชามีหน้าที่หาสถานที่ตั้งสำหรับตั้งสำนักงานและบ้านพักที่ตั้งในฝ่ายของกัมพูชา และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น โครงการสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่เป็นไปเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และเป็นจุดหลักด้านการขนส่งผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยไม่ยกเลิกการขนส่งผ่านแดนในส่วนของจุดผ่านแดน อ.อรัญประเทศ แต่อย่างใด
เห็นชอบ Visa ใหม่ สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม จีน-CLMV
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีมติอนุมัติในหลักการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากข้อมูลจากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ในปี 2559 มียอดผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศข้างต้นเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยถึง 12.8 ล้านคน
ทั้งนี้ ได้มีการขอยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ป่วย บุคคลในครอบครัว และผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 คน แบบมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยมีระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง และสามารถขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี
โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้ 1. ได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา โดยปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย ระยะเวลาในการรักษา และความเห็นของแพทย์ผู้รักษาว่าอาการป่วยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 2. กรณีดูแลผู้ป่วย ต้องได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา หรือสถานทูต หรือสถานกงสุล และ 3. ผู้ดูแลผู้ป่วย นอกจากบิดามารดา คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม หรือบุตรของคู่สมรสแล้ว ให้อนุญาตได้อีกไม่เกิน 1 คน โดยยื่นขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง