ThaiPublica > เกาะกระแส > นบข. ปรับเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวฯ 3,000 จูงใจชาวนา “จำนำยุ้งฉาง” – ปลัด พณ. ชี้ตลาดข้าวไทยสดใส ข้าวค้างสต็อกเหลือ 6.9 หมื่นตัน

นบข. ปรับเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวฯ 3,000 จูงใจชาวนา “จำนำยุ้งฉาง” – ปลัด พณ. ชี้ตลาดข้าวไทยสดใส ข้าวค้างสต็อกเหลือ 6.9 หมื่นตัน

12 กรกฎาคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (กนข.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ภายหลังการประชุมฯ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ (จำนำยุ้งฉาง) โดยจะจัดสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 22,000 ล้านบาท

สำหรับราคารับจำนำยุ้งฉางกำหนดไว้ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 11,800 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาทต่อตัน, ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ราคา 8,900 บาทต่อตัน โดยคิดราคาจาก 90% ของราคาตลาดพิจารณาจากราคาข้าว 3 ปีย้อนหลังรวมถึงต้นทุนและกำไรที่เกษตรกรควรได้รับ รวมกับราคาที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย

ทั้งนี้ ชาวนาที่จะได้รับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวจะต้องเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้แล้ว โดยต้องแจ้งขึ้นทะเบียนภายใน 60 วันหลังจากที่เริ่มปลูกข้าว จ่ายตามจำนวนพื้นที่ปลูกข้าว 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 12 ไร่ต่อครัวเรือน คิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท เพิ่มขึ้น 3,000 บาทจากปีที่ผ่านมา ที่จ่ายให้ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือไม่เกิน 15,000 บาทต่อครัวเรือน

“การจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรอบนี้ เสนอให้ที่ประชุม นบข. พิจารณาช่วยเหลือครัวเรือนละ 15 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามนิยามของเกษตรกรรายย่อยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ แต่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าควรจะดูภาระการเงินการคลังของประเทศด้วย จึงปรับลงมาเหลือครัวเรือนละ 12 ไร่หรือไม่เกิน 18,000 บาท ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดวงเงินงบประมาณรวมสำหรับโครงการนี้ใหม่ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป”

ข้อมูลจาก : คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)

โดยรายได้ที่ชาวนาจะได้รับทั้งการเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางและเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว แบ่งออกเป็น ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีรายได้ตันละ 17,050 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 15,450 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 12,900 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ส่วนสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท

3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งโรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะช่วยดึงข้าวเปลือกออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมามากได้จำนวน 9.5 ล้านตัน จากปีที่แล้วดึงออกจากตลาดได้ 6.4 ล้านตัน

นอกจากนี้ ผลการระบายข้าวในสต็อกของรัฐในเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลสามารถระบายในสต็อกเข้าสู่อตสาหกรรมรวม 1.96 ล้านบาท มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น

  • การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่มที่ 2) ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท
  • การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่มที่ 3) ปริมาณ 0.52 ล้านตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท

ทำให้ปริมาณข้าวคงเหลือที่จะนำออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561  คงเหลือเพียง 69,000 ตัน จากแรกเริ่มที่มีข้าวคงค้างสูงถึง 17.76 ล้านตัน โดยข้าวที่เหลือแบ่งเป็นกลุ่มที่ 2 ปริมาณ 47,000 ตัน และกลุ่มที่ 3 ปริมาณ 22,000 ตัน

นางนันทวัลย์กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวและการส่งออกของข้าวไทยว่า การส่งออกข้าวไทยจะยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ผ่านมา และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภูมิภาคแอฟริกา ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี

สำหรับการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนในงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน แล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 อีกปริมาณ 1 แสนตัน

“ภาคเอกชนไทยได้ชนะการประมูลนำเข้าข้าวในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นอกจากนี้กระทรวงพาณชย์ยังมีแผนขยายตลาดโดยจัดคณะผู้แทนไปเจรจาขยายตลาดจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณภาพข้าวไทยในประเทศจีน และตลาดสำคัญทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” นางนันทวัลย์กล่าว