ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลยิ้มระบายข้าวใกล้หมด คาดราคาข้าวดีต่อเนื่อง – ตั้งเป้าส่งเสริมข้าวอินทรีย์ 600,000 ไร่

รัฐบาลยิ้มระบายข้าวใกล้หมด คาดราคาข้าวดีต่อเนื่อง – ตั้งเป้าส่งเสริมข้าวอินทรีย์ 600,000 ไร่

30 มีนาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2561 ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2561 โดยมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม นบข.ได้ รับทราบแผนการตลาดและการผลิตข้าวครบวงจร โดยในฤดูกาลผลิต 2560/61 สามารถลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวลงเหลือ 66.01 ล้านไร่ มีผลผลิต 30.45 ล้านตัน ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ดูแลด้านการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ผู้ซื้อข้าว ผู้ที่ส่งออกข้าว และดูความต้องการใช้ข้าว ในปี 2562 โดยคาดว่าความต้องการข้าวในปีการผลิต 2561/62 จะอยู่ที่ 30.525 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 แบ่งเป็นข้าวเพื่อการส่งออกประมาณ 14.69 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเพื่อการบริโภค 12 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประมาณ 2.4 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวเพื่อใช้ทำเมล็ดพันธุ์ 1.39 ล้านตัน

ทั้งนี้ ได้มีการแยกชนิดข้าวตามความต้องการของตลาด เพื่อในด้านการผลิตจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกัน เพราะนโยบายรัฐบาลเน้นว่าต้องเป็นการผลิตตามความต้องการของตลาด โดยในแง่ของตลาด ได้แยกข้าวที่ต้องการออกเป็นข้าวหอมมะลิ 6.419 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมไทยหรือข้าวจังหวัด 1.609 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเจ้าหรือข้าวขาว 15.232 ล้านตันข้าวเปลือก โดยข้าวขาวนี้ยังได้แยกเป็น 1) ข้าวพื้นแข็ง 9.82 ล้านตันข้าวเปลือก 2) ข้าวพื้นนิ่ม 1.69 ล้านตันข้าวเปลือก และ 3) ข้าวนึ่ง 3.72 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเหนียว 7 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวเฉพาะ เช่น ข้าวสี ข้าว กข 43 ข้าวอินทรีย์ อีกประมาณ 260,000 ตันข้าวเปลือก

สำหรับความคืบหน้าการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล หลังจากเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การระบายข้าวของรัฐจนต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการระบายข้าว ซึ่งมีการชี้แจงว่า ปริมาณข้าวในคลังขณะนั้นเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 โดยมีปริมาณข้าวทุกชนิดเหลือราว 2 แสนตัน ไม่รวมข้าวนอกคลังที่มีจำนวนไม่มาก

“ในวันนี้ที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบให้มีการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ กลุ่ม 1 คือ ข้าวคุณภาพสำหรับคนบริโภคในส่วนที่เหลืออยู่อีกจำนวน 44,000 ตัน โดยให้เริ่มระบายข้าวในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ สำหรับข้าวกลุ่มที่ 2 คือ ข้าวอาหารสัตว์ และข้าวกลุ่ม 3 คือ ข้าวที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อเตรียมการระบายข้าวต่อไป โดยยืนยันว่าในการระบายข้าวแต่ละครั้งได้มีการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายข้าว เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวในประเทศ” นางนันทวัลย์ กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม นบข. ยังได้เห็นชอบแนวทางการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ตามกรอบการดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดโครงการฯ ด้านการตลาด และงบประมาณนำเสนอ นบข. ต่อไป ในส่วนของด้านการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำแผนการดำเนินการ อาทิ ขยายการดำเนินการทำนาแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 600,000 ไร่ ส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ ส่งเสริมการผลิตและตลาดข้าวพันธุ์ กข43 และมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 29 มีนาคม 2561

“ในด้านการตลาด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการข้าว ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการ เพื่อพิจารณาทิศทางของข้าว ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่ามาตรการของรัฐในปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะได้ผล ราคาข้าวในปีนี้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาสูงมาก จึงอยากให้คงมาตรการเดิมที่ดำเนินการอยู่ ในการดึงข้าวออกจากตลาด ทั้งในแง่ของการช่วยเหลือเกษตรกรในภาพรวม คือการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว การชะลอการขายข้าวเปลือกโดยนำข้าวไว้ในยุ้งฉาง การให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวกับสถาบันการเกษตร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวหรือโรงสี” นางนันทวัลย์ กล่าว

โดยที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบให้มีการเพิ่มโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตร ที่เป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับการดำเนินการ โดยกำหนดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอขายข้าวเปลือกต่อไป

นอกจากนี้ ตามที่รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมข้าวที่มีคุณภาพสูง ที่ประชุม นบข. จึงได้อนุมัติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์และข้าวเฉพาะ ซึ่งข้าวเฉพาะ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ข้าวสี ข้าวเฉพาะถิ่น ข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยคณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะแนวทาง ทั้งในแง่ของการส่งเสริมและแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ข้าวพิเศษกลุ่มดังกล่าว มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นและมีการเชื่อมโยงกับตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ราคาข้าวมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง จากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีนจำนวน 100,000 ตันครั้งที่ 5 ได้ตกลงราคากันแล้ว และจะส่งมอบในเดือนเมษายน 2561 นี้ รวมไปถึงเอกชนไทยชนะประมูลข้าวในต่างประเทศหลายโครงการจึงจะช่วยให้การส่งออกข้าวในปีนี้ไปได้ดี โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิวันนี้ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 14,500 – 15,000 บาทต่อตัน ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคา 7,500-8,000 บาทต่อตัน  ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,500-11,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 9,000-10,300 บาทต่อตัน” นางนันทวัลย์ กล่าว