ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 11 ครั้ง – รับกังวลเอกชนไม่ลงทุน กระทบความสามารถแข่งขัน

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 11 ครั้ง – รับกังวลเอกชนไม่ลงทุน กระทบความสามารถแข่งขัน

14 กันยายน 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 11 ครั้ง หลังลดดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 2 ครั้ง เมื่อ 11 มีนาคม และ 29 เมษายน 2558

กนง. ให้เหตุผลในครั้งนี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น Brexit การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพียงพอ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าเงินบาทโน้มแข็งขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (earch for yield) จึงควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ปรับจีดีพีจาก 3.1% เป็น 3.2% จากปัจจัยชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

นายจาตุรงค์กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับเพิ่มจีดีพีจาก 3.1% เป็น 3.2% มีเหตุผลหลังจากการบริโภคของเอกชนที่ปรับตัวสูงกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ แต่โดยหลักการคงกระตุ้นได้ช่วงสั้นๆ เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2559 ที่เครื่องชี้การบริโภคได้แผ่วแรงลง และหากไม่มีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอาจจะขยายตัวได้น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ขณะที่การลงทุนของเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ และกระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางภาคธุรกิจ เช่น พลังงาน, โทรคมนาคม, ขนส่ง, ค้าปลีก และภาคบริการอย่างโรงแรม ในภาพรวมการลงทุนยังถูกจำกัดจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากต่อไปยังไม่ลงทุนเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลให้ศักยภาพของประเทศและส่งออกหดตัวมากขึ้นอีก เป็นลักษณะวงจรที่ทำให้ความสามารถของไทยลดลงไปเรื่อยๆ ได้

“การส่งออกและลงทุนของไทยมันพัวพันกันอยู่ แต่อะไรจะเกิดก่อนหลัง การลงทุนเกิดก่อนแล้วทำให้ส่งออกดี หรือส่งออกดีแล้วคนถึงกล้าลงทุน ไม่กล้าบอกว่าอะไรเกิดก่อน ถ้ามันเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันก็ดี การลงทุนของเอกชนสมัยก่อนสูงกว่านี้เยอะ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของภาคเอกชน รวมไปถึงของรัฐ เป็นอะไรที่ควรเกิดขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพของจีดีพีขึ้นไป ที่ผ่านมาต้องถือว่าภาครัฐลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ก็รอว่าเมื่อไรการลงทุนของเอกชนจะมาเป็นตัวขับเคลื่อนตัวที่ 3 ได้ เมื่อนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” นายจาตุรงค์กล่าว

นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในระยะข้างหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจจะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญบ้าง แต่ถือว่าเป็นจำนวนน้อย ประมาณหลักแสนรายเท่านั้น

ย้อนรอยคงดอกเบี้ย 11 ครั้ง

10 มิถุนายน 2558 กนง. ต้องการเก็บพื้นที่นโยบาย โดยเน้นน้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจประเมินว่ายังฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของจีนและเอเชีย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการค้าโลก

5 สิงหาคม 2558 กนง. แสดงความกังวลกับปัจจัยจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของไทย ขณะที่ภาวะการเงินยังผ่อนคลายพอสมควร ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรของการฟื้นตัว

16 กันยายน 2558 กนง. ยังมองว่าปัจจัยลบจากต่างประเทศเป็นปัจจัยลบที่หนักขึ้น โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล จะเป็นแรงช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน กนง. เริ่มกังวลถึงหนี้เอ็นพีแอลที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลของนโยบายที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่คงไม่ถึงจุดที่จะลุกลามและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน

4 พฤศจิกายน 2558 กนง. แสดงความกังวลถึงปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างการค้า และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น และคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง และขอติดตามผลของมาตรการทางการคลังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อน และเริ่มกลับมาเน้นการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ

16 ธันวาคม 2558 กนง. ให้เหตุผลหลักว่าต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (FED) ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเห็นว่ามีสัญญาณฟื้นตัวมากกว่าที่คาด โดยเป็นผลจากการบริโภคของภาคเอกชน และคาดหวังว่าการลงทุนของรัฐจะช่วยชี้นำการลงทุนของเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้ ซึ่งเริ่มเบิกจ่ายได้ดีขึ้น

3 กุมภาพันธ์ 2559 กนง. ให้เหตุผลว่าควรรักษาพื้นที่นโยบาย กรณีเศรษฐกิจในอนาคตไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ โดยกังวลกับปัจจัยด้านต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของไทย และระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนจากภายใน โดยเฉพาะแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยว

23 มีนาคม 2559 กนง. ย้ำอีกครั้งว่าควรรักษาพื้นที่นโยบายแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีปัจจัยที่เอื้อให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่เติบโตลดลงกว่าที่คาด อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมองว่าเพียงพอแล้ว และไม่ควรสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังระบุว่าความเสี่ยงระหว่างในและต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น โดยมีภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพียงปัจจัยเดียว ขณะที่ปัจจัยอื่นถูกปรับประมาณการลดลงทั้งหมด

11 พฤษภาคม 2559 กนง. ยังให้น้ำหนักความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวได้ช้าและเสี่ยงมากขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจในประเทศที่ดูแผ่วลง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในภาคเกษตร ซึ่งนอกจากทำให้รายได้ลดลงยังกระทบไปถึงธุรกิจในพื้นที่ด้วย เหลือเพียงภาครัฐและท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ และระบุว่าเริ่มเฝ้าระวังพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่เสี่ยงขึ้น หลังจากผ่อนคลายภาวะการเงินเป็นระยะเวลานาน

22 มิถุนายน 2559 กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามคาด แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด ในภาพรวมแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้นและควรรักษาพื้นที่นโยบายเอาไว้ใช้รับมือกับความผันผวนในอนาคตจากต่างประเทศ

3 สิงหาคม 2559 กนง. กลับมากังวลปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงในตลาดการเงินจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากคนมีความเชื่อมั่น เนื่องจากไทยมีฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง มีหนี้ต่างประเทศต่ำ จนอาจจะสร้างความเสี่ยงและความผันผวนในระยะข้างหน้าได้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจ กนง. แสดงความกังวลถึงปัจจัยการลงทุนของเอกชนว่าอาจจะกระทบกับความสามารถแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว

อ่านเพิ่มเติมรายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ

อ่านเพิ่มเติม EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5%(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

eic_policy_rate2016_sep2016