ThaiPublica > เกาะกระแส > ปรากฎการณ์สื่อไทย – การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal

ปรากฎการณ์สื่อไทย – การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal

29 กันยายน 2016


วงการสื่อไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งในแง่รายได้จากโฆษณาและรายได้จากการขายหนังสือ ซึ่งส่งสัญญาณว่าเป็นขาลงของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยทั้งยอดขายโฆษณาและยอดขายหนังสือไม่กระเตื้องขึ้น หลายคนอาจจะให้เหตุผลว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือไม่ก็เพราะสถานการณ์การเมือง แต่ท่ามกลางภาวะปกติใหม่ “New Normal” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และโครงสร้างประชากร ย่อมส่งผลให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป การทำธุรกิจสื่อจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

วันนี้สื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และทีวีของไทย มีสถานะไม่ต่างจากธุรกิจสื่อต่างประเทศ ที่อยู่ในภาวะขาลง และอาจจะเป็น Sunset Industry ที่ตลาดผู้บริโภคเปลี่ยนรูปไปสู่ธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง หรือถูกทดแทนด้วยธุรกิจอื่น จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากหรือไม่ก็ต้องปิดตัวเองลง ล่าสุดนิตยสารสกุลไทยที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานกว่า 60 ปี เตรียมปิดตัวไปอีกฉบับ วางแผงฉบับสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้ รวมทั้ง WHO และพลอยแกมเพชร ที่ประกาศปิดตัวลงในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน หลังจากก่อนหน้านั้น มีนิตยสารชื่อดังน้อยใหญ่หลายฉบับ ทยอยปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ สื่อแต่ละแห่งได้ปรับลดต้นทุนการดำเนินการต่างๆ ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้สื่อ 2 ค่ายใหญ่ เครือมติชนและเครือเนชั่น ประกาศให้พนักงานสมัครใจเออร์ลีรีไทร์อีกครั้ง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1163103337069261&id=127756083937330
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1163103337069261&id=127756083937330
 ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/ploykaempetch/
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/ploykaempetch/

8 เดือนเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อวูบ

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-สิงหาคม 2559) พบว่า ลดลง 6.04% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 76,882 ล้านบาท ลดลงจาก 81,828 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2558

โดยเงินโฆษณาในหนังสือพิมพ์ มูลค่า 6,599 ล้านบาท ลดลงจาก 8,041 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (ลดลง 17.93%), นิตยสารมูลค่า 1,971 ล้านบาท ลดลงจาก 2,792 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (ลดลง 29.41%)

ทีวีแอนะล็อกมูลค่า 34,830 ล้านบาท ลดลงจาก 39,151 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (ลดลง 11.04%), เคเบิล/แซตเทิลไลต์ มูลค่า 2,571 ล้านบาท ลดลงจาก 4,032 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (ลดลง 36.24%)

ส่วนทีวีดิจิทัล มูลค่า 14,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 14,145 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (เพิ่มขึ้น 4.76%) ขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ต มูลค่า 1,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 677 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2558 (เพิ่มขึ้น 73.56%)

ขณะที่ในปี 2558 โฆษณาในหนังสือพิมพ์ มีมูลค่า 12,332 ล้านบาท ลดลงจาก 13,182 ล้านบาท ในปี 2557 (ลดลง 6.45%)

เช่นเดียวกับนิตยสาร มูลค่า 4,227 ล้านบาท ลดลงจาก 4,931 ล้านบาท ในปี 2557 (ลดลง 14.28%) ส่วนอินเทอร์เน็ต มูลค่า 1,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 950 ล้านบาท ในปี 2557 (เพิ่มขึ้นเป็น 11.37%)

สำรวจผลประกอบการสื่อ

จากการสำรวจผลประกอบการบริษัทสื่อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด, ประชาชาติธุรกิจ, มติชนสุดสัปดาห์ ฯลฯ ปี 2558 ขาดทุน 103.34 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 50.85 ล้านบาท ในปี 2557

ขณะที่ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 แจ้งว่า ขาดทุน 61.43 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 38.89 ล้านบาท คิดเป็น 172.54% มีกำไรสะสม 554.57 ล้านบาท

บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ The Nation, กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก, เนชั่นสุดสัปดาห์ ฯลฯ ปี 2558 มีกำไร 35.58 ล้านบาท ลดลงจาก 64.46 ล้านบาท ในปี 2557 ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุน 341.78 ล้านบาท มีกำไรสะสม 46.01 ล้านบาท

บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post, โพสต์ทูเดย์, M2F ฯลฯ ปี 2558 ขาดทุน 251.76 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 168.11 ล้านบาท ในปี 2557 ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุน 140.57 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 335.51 ล้านบาท

บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน, สตาร์ซอคเก้อร์, สปอร์ตพูล, นิตยสาร FHM, สยามดารา ฯลฯ ปี 2558 ขาดทุน 33.89 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุน 167.51 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 270.09 ล้านบาท

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีช่อง 3 ปี 2558 มีกำไร 2,982.71 ล้านบาท ลดลงจาก 4,414.99 ล้านบาท ในปี 2557 ขณะที่ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 กำไร 1,037.37 ล้านบาท มีกำไรสะสม 4,104.85 ล้านบาท

บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของอมรินทร์ทีวี, นิตยสารบ้านและสวน, แพรว, สุดสัปดาห์ ฯลฯ ปี 2558 ขาดทุน 417.15 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 85.18 ล้านบาท ในปี 2557 ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 แจ้งว่า ขาดทุน 342.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 106.67 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.20 ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มดำเนินการธุรกิจทีวีดิจิทัลของบริษัทย่อย มีกำไรสะสม 536.93 ล้านบาท

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ปี 2558 มีกำไร 57.81 ล้านบาท ลดลงจาก 503.79 ล้านบาท ในปี 2557 ส่วนผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุน 211.18 ล้านบาท มีกำไรสะสม 2,169.58 ล้านบาท

กลยุทธ์การปรับตัว

จากการสำรวจพบว่า ค่ายมติชนได้ปรับตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว เช่น รณรงค์ให้พนักงานลดค่าใช้จ่ายในสำนักงาน, งดจ่ายโบนัสพนักงานครึ่งปี 2559, ไม่รับพนักงานเพิ่ม, ลดจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ ฯลฯ มาจนถึงนโยบายให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ โดยใครที่จะเข้าร่วมโครงการ ให้ทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา และส่งที่ฝ่ายบุคคลตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน – 14 ตุลาคม 2559 และจ่ายเงินชดเชยตามเงื่อนไขที่กำหนด

นอกจากนี้ มติชนได้เคลื่อนทัพจากสื่อกระดาษมาสู่สื่อออนไลน์อย่างเต็มตัว หลังจากอยู่ในโลกของสื่อกระดาษมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงาน “Matichon Moving Forward #Magazine Online” เปิดตัว 4 เว็บไซต์ใหม่ ประกอบด้วย เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เว็บไซต์เส้นทางเศรษฐี และเว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน

มติชนออนไลน์รายงานว่า นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แนวโน้มการรับสื่อกระดาษลดลง ในฐานะผู้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่พร้อมจะก้าวไปให้ทันโลกยุคใหม่ เครือมติชนจึงต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการตั้งเป้าจะเป็น Content Provider ผลิตสื่อที่มีคุณภาพ และนำเสนอในทุกช่องทางทุกรูปแบบ เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงผู้อ่านให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ยังยึดมั่นในสิ่งที่สื่อควรจะทำ คือยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ถูกต้องแม่นยำ

ทั้งนี้ ผู้บริหารมติชนตั้งเป้าว่า จะพยายามเร่งหาโอกาสในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวขึ้นเป็นผู้นำข่าวสารดิจิทัลอย่างครบวงจร ข่าวออนไลน์อันดับ 1 ของไทย รุกตลาดนิวมีเดีย ตอบสนองความต้องการข่าวสารยุคใหม่ที่ฉับไว

ขณะที่เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทมติชนจัดงาน “Matichon Moving Forward” ผู้นำข่าวออนไลน์อันดับ 1 ของประเทศ จากความสำเร็จของเว็บไซต์ข่าวสด เว็บไซต์มติชนออนไลน์ และประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ด้านค่ายเนชั่นมีข่าวว่า ได้ประกาศนโยบายให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจเช่นเดียวกัน รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในองค์กรหลายส่วน อาทิ ลดหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ, งดจ่ายค่าที่จอดรถให้พนักงานฯลฯ

ล่าสุด เนชั่นตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมสื่อเครือเนชั่น” หรือ Nation Media Innovation Center โดยมี “สุทธิชัย หยุ่น” เป็นผู้นำหลักในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ค่ายโพสต์มีการปรับตัว เช่น ไม่รับนักข่าวเพิ่ม, ห้ามนักข่าวรับงานนอกอื่นๆ ส่วนหนังสือพิมพ์ M2F แทบลอยด์แจกฟรี ได้ใส่กลยุทธ์การตลาดแบบจัดเต็ม โดยตั้งเป้ายอดพิมพ์ให้ได้ 1 ล้านฉบับ/วัน จากปัจจุบันที่ระบุว่า 6 แสนฉบับ/วัน เพราะเชื่อว่า หากดึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่มาอยู่ในมือได้ เม็ดเงินโฆษณาก็จะตามมา

ด้านสื่อทีวี “วอยซ์ทีวี” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ทำหนังสือแจ้งสื่อมวลชนว่า ได้ปรับกลยุทธ์การบริหารและโครงสร้างองค์กรปี 2559 โดยปรับลดพนักงาน จำนวน 57 อัตรา เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวะการแข่งขันอย่างสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิทัล วอยซ์ทีวีระบุว่า มีเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในผู้นำของผู้ผลิตสื่อยุคใหม่ภายใต้แนวคิด Cross Platform Content Provider ทีวีสื่อสาธารณะครบทุกช่องทาง ที่ต้องการผลิตเนื้อหารายการทีวีคุณภาพสูงและส่งตรงถึงผู้รับสื่อยุคใหม่ครบทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับชมผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นอนาคตของการสื่อสาร

ค่าย “สปริงนิวส์” ประกาศปรับลดพนักงาน จำนวน 40 อัตรา ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 โดยให้เหตุผลว่า เป็นการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเป้าหมายองค์กรปี 2559 คือเป็นสถานีข่าวยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศทุกแพลตฟอร์ม บนความรับผิดชอบ และก้าวสู่ศูนย์กลางข่าวสารอาเซียนในปี 2559

นอกจากนี้ ยังลงทุนเปิดคลื่นวิทยุ “FM 98.5 สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ” โดยเริ่มออนแอร์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2558 และเมื่อเร็วๆ นี้สปริงนิวส์สร้างความฮือฮาในวงการสื่อ โดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 8-10 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา รายงานข่าวนี้ด้วยพาดหัวว่า “สปริงนิวส์ผนึกฐานเศรษฐกิจ สร้างอาณาจักรสื่อครบวงจร”

เนื้อข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้ เครื่องหมายการค้า “ฐานเศรษฐกิจ” ระหว่างบริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด และบริษัท ฐานเศรษฐกิจ จำกัด โดยสาระสำคัญในสัญญาคือ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ จำกัด อนุญาตให้บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท นิวส์เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ใช้เครื่องหมายการค้าหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเป็นระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 120 ล้าน บาท พร้อมทั้งซื้อทรัพย์สินบางส่วนจํานวน 6 ล้านบาท และเงินลงทุนเริ่มต้นจํานวน 10 ล้าน บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 136 ล้านบาท

ด้านนายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจของกลุ่มสปริงนิวส์ว่า จะเป็นกลุ่มสื่อครบวงจรที่ประกอบด้วย สถานีข่าว “สปริงนิวส์” ดิจิทัลทีวี ช่อง 19, สถานีวิทยุสปริงเรดิโอ F.M.98.5, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

บริษัท อควา แอด จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อป้ายโฆษณากลางแจ้ง, บริษัท มีเดีย เอกซ์เพอร์ทีส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (MEI) ที่มีนิตยสารในเครือ 5 ฉบับ, บริษัท Apricot จำกัด เอเยนซี่รุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ดิจิตอล มีเดีย เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่จะผลิตนิตยสาร BLT เป็นฟรีก็อปปี้ เผยแพร่ทั่วกรุงเทพมหานคร ยอดพิมพ์ 500,000 ฉบับต่อสัปดาห์ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กลุ่มเป้าหมายเป็นคนในเมืองและคนทำงานออฟฟิศ กำหนดเปิดตัวเดือนตุลาคม 2559 นี้ โดย BLT จะมาต่อยอดอนาคตธุรกิจสื่อของกลุ่มสปริงนิวส์ได้ครบวงจร

“การผนึกกับฐานเศรษฐกิจซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศ และมีอายุถึง 36 ปี ครั้งนี้จะทำให้กลุ่มสปริงนิวส์เป็นสื่อที่ครบวงจร เราจะเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น” ประธานกรรมการบริษัทสปริงนิวส์กล่าว

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น วิกฤติ โอกาส และความท้าทายใหม่ ของสื่อมวลชนไทย