ThaiPublica > เกาะกระแส > งานสัปดาห์หนังสือ…ทำร้ายวงการหนังสือ ?

งานสัปดาห์หนังสือ…ทำร้ายวงการหนังสือ ?

28 กุมภาพันธ์ 2016


โปสเตอร์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 10 เมษายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม "ความหวัง"
โปสเตอร์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 10 เมษายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้ธีม “ความหวัง” ที่มาภาพ: https://goo.gl/3mnNEU

นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน ก็จะถึง “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ที่หนอนหนังสือต่างรอคอย เพราะสำนักพิมพ์ต่างๆ จะนำหนังสือเล่มทั้งเก่า-ใหม่มาลดราคาหนักมาก เพื่อจูงใจให้แต่ละคนควักเงินจับจ่ายซื้อหาออกไปให้ได้มากที่สุด

โดยงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ จัดภายใต้ธีม “ความหวัง”

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Charun Homtientong เชิญชวนให้คนมางานหนังสือครั้งนี้กันมากๆ

หนังสือทุกเล่ม มีคุณค่าในตัวเองเสมอ

แต่คุณค่านั้นจะไม่ก่อเกิดประโยชน์

หากไม่ได้รับการเปิดอ่าน

(เป็นคำพูดของ ธาดา เศวตศิลา จากหนังสือ ยอดคน ชนะใจคน)

งานหนังสือประจำปีใกล้มาแล้วครับ

ในฐานะคนรับผิดชอบ อยากให้ทุกท่านที่รักการอ่าน

หลายท่านชอบยกตัวเองว่าเป็นนักอ่าน

หลายท่านมักใช้การอ่าน เป็นอาภรณ์ประดับกาย

รวมทั้งท่านที่ใช้การอ่านเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะบุคลากรในภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวกับการอ่าน ได้ช่วยโฆษณางานนี้ให้ด้วยครับ

หนังสือและการอ่าน เป็นหน้าตา และเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศชาติ ในหลายประเทศก้าวผ่านความขัดแย้ง และความด้อยพัฒนาด้วยการอ่านครับ

ก็ไม่อยากไปพูดอะไรมากมาย อยากขอบอกคำเดียวว่า

ช่วยกันมางานนี้หน่อยครับ ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่เคยได้รับการเหลียวมองจากภาครัฐเลย ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้นะครับ เป็นทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผม, คนทำหนังสือและบุคลากรในวงการหนังสือ กิจกรรมต่างๆ ในแวดวงหนังสือ การเสวนา การเปิดตัว และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เรียกว่า ‘หนังสือ’ รอทุกท่านอยู่ครับ ขอเรียนอีกครั้งว่า งานหนังสือ เป็นงานเดียวที่ ไม่มี ‘พริตตี้’ นะครับ มีแต่อาหารสมอง มารอทุกท่านอยู่ รอแบบบุฟเฟต์ด้วย ผมและเพื่อนๆ จะรอรับทุกท่านอยู่นะครับ

จำนวนผู้อ่านมหาศาลในงานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละครั้ง จะใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือเล่มราว 300-400 ล้านบาท
จำนวนผู้อ่านมหาศาลในงานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละครั้ง จะใช้จ่ายเงินในการซื้อหนังสือเล่มรวมกันราว 300-400 ล้านบาท ที่มาภาพ: http://www.artbangkok.com/?p=27559

จากการสำรวจก่อนหน้านี้ จะพบว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละครั้ง (จัดปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 สัปดาห์ ในเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม) จะมียอดขายหนังสือเล่มรวมกันราว 300-400 ล้านบาท หรือปีละราว 600-800 ล้านบาท

ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ “ตลาดหนังสือเล่ม” มีเงินสะพัดมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี หลายสำนักพิมพ์มีกำไรเป็นหลักล้านบาท จากการขายหนังสือในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2 สัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับกันก็มีเสียงโจมตีว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นตัวการที่ทำให้กลไกตลาดของอุตสาหกรรมหนังสือบิดเบี้ยว เพราะไปสร้างพฤติกรรมให้คนอ่านซื้อหนังสือแค่ปีละ 2 ครั้ง (มีงานวิจัยยืนยันว่า คนไทยส่วนใหญ่รอซื้อหนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือฯ มากกว่าซื้อหนังสือจากแหล่งอื่นตลอดทั้งปี) นอกจากนี้ ยังทำให้เนื้อหาของวงการหนังสือเล่มขาดความหลากหลาย เพราะผู้เกี่ยวข้องก็มุ่งจะผลิตหนังสือที่คิดว่าจะขายดีในงานสัปดาห์หนังสือฯ เท่านั้น

โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นผู้ที่มีอาชีพขายหนังสือตลอดทั้งปี อย่าง “ร้านหนังสือ” แม้โดยข้อเท็จจริงงานสัปดาห์หนังสือฯ จะมียอดขายรวมกันเพียง 5% ของตลาดหนังสือเล่มโดยรวมในแต่ละปี (ประมาณ 16,000 ล้านบาท) แต่ความซบเซาของตลาดหนังสือหลังช่วง “นาทีทอง” ก็เป็นสิ่งที่หลายคนสัมผัสได้และไม่อาจปฏิเสธ

บรรยากาศในร้านหนังสืออิสระ Passport Bookshop ที่มาภาพ : https://goo.gl/2IIw6q
บรรยากาศในร้านหนังสืออิสระ Passport Bookshop ที่มาภาพ: https://goo.gl/2IIw6q

อำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสืออิสระชื่อดังย่านถนนพระสุเมรุ Passport Bookshop ระบุว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นการฆ่าร้านหนังสือ เพราะการที่นำหนังสือใหม่ไป dump ราคาขายก่อนส่งเข้าสู่ร้านหนังสือ ทำให้ตลาดเกือบอิ่มตัว ก่อนที่หนังสือจะมาถึงร้านเสียอีก

“หนังสือใหม่ไม่ควรไปลดราคา มันเหมือนไปตัดช่องทางขายของร้านหนังสือ พอร้านขายหนังสือได้น้อย ก็จะยิ่งทำให้หนังสือเหล่านั้นมีอายุขัยสั้นขึ้นไปอีก และการที่ทุกคนหวังยอดขายจากงานสัปดาห์หนังสือฯ ยิ่งทำให้ระบบผิดเพี้ยน เพราะแต่ละสำนักพิมพ์จะตั้งราคาขายแบบ “เผื่อส่วนลด” ไว้ด้วย เพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อมากๆ ราคาก็เลยสูงกว่าที่ควรจะเป็น คนที่ซวยก็เลยเป็นผู้อ่าน นี่คือความลักลั่นของวงการหนังสือไทย”

เขากล่าวว่า แม้การขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ จะ work สำหรับคนที่ต้องการยอดขายมากๆ เร็วๆ แต่ก็ขายได้แค่ปีละไม่กี่วัน การขายหน้าร้านน่าจะดีต่อทุกคนมากกว่าในระยะยาว ทั้งสำนักพิมพ์ สายส่ง และร้านหนังสือ นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ คือคนอ่านไม่ต้องไปรอซื้อหนังสือแค่ปีละ 2 ครั้ง คนผลิตก็ไม่ต้องรีบเร่งทำ แล้วคุณภาพของหนังสือก็จะดีขึ้นด้วย

ณัฐชนน อิทธิมหาดล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Salmonbooks มองว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ ทำให้วงจรการผลิตหนังสือเป็นเรื่องที่แปลก เพราะทุกคนจะพยายามผลิตหนังสือให้ออกทันวันงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้อ่านกำเงินมาซื้อหนังสือเล่ม จากสถิติ จำนวนคนที่มาต่อวันอยู่ที่ราว 3-4 แสนคน ถือว่าเยอะมากๆ แล้วจัดงาน 13-14 วัน ก็คูณกันไป โอกาสการขายมันอยู่ตรงนั้น ทำให้แต่ละสำนักพิมพ์ต้องออกหนังสือใหม่อย่างน้อย 1-2 ปก ส่งผลให้แม้จะขายดีในงาน แต่เมื่อจบงาน กลับขายไม่ออก เพราะหนังสือใหม่ออกพร้อมกันเป็นร้อยๆ ปก

“ช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ มันขายได้ดีก็จริง แต่เวลาส่งเข้าร้านหนังสือ มันจะไปพร้อมกันหมด แล้วร้านก็มีพื้นที่จำกัด เขาบอกว่าในช่วงเวลาปกติ จะมีหนังสือใหม่วันละราว 40 ปก คิดดูว่าเวลาที่งานสัปดาห์หนังสือฯ จบลง น่าจะคูณไปได้อีก 50 เท่า มันไม่มีพื้นที่ในการขาย ทำให้ถูกลืมเร็วมาก ส่งผลต่อยอดขาย เลยกลายเป็นว่าแต่ละสำนักพิมพ์ต้องพยายามออกหนังสือใหม่ให้ทันงานสัปดาห์หนังสือฯ”

ทั้งนี้ book fair ในประเทศอื่นๆ แตกต่างจากของไทย เช่น book fair ของไต้หวัน จะใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม หรือเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ ไม่ได้เน้นมาลดราคาเพื่อหวังยอดขายอย่างของไทย ที่ไปส่งผลเป็นการจำกัด “โอกาสในการขาย” หนังสือเล่มให้เหลือแค่ “ปีละ 2 ครั้ง” ในขณะที่กลไกอื่นๆ ในวงการหนังสือของไทย ก็ไม่ได้เอื้อให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าส่วนแบ่งจากการฝากขาย (ค่าจีพี – Gross Profit) ตามร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสูง ระบบการขนส่งที่ทั้งราคาสูงและไม่มีประสิทธิภาพ พื้นที่วางหนังสือของร้านขายหนังสือต่างๆ ที่มีลดลง เพราะต้องแบ่งไปวางขายสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องเขียนหรือกิฟต์ช็อป ให้มีกำไรพอกับค่าเช่าพื้นที่ซึ่งสูงขึ้น

เขากล่าวว่า สำนักพิมพ์ Salmonbooks พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการออกหนังสือใหม่เฉลี่ยเดือนละ 1 เล่ม แต่ยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการภายใน ซึ่งต้องปรับปรุงกันต่อไป

ปราบดา หยุ่น
ปราบดา หยุ่น กรรมการบริหารสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ปราบดา หยุ่น กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวยอมรับว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือรวน และทำให้ร้านหนังสืออยู่ยาก เพราะควรจะมีหนังสือใหม่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะออกมาเฉพาะช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ จนกลางปีจะเป็นช่วงที่ตลาดหนังสือเล่มซบเซามาก เพราะผู้อ่านใช้เงินไปหมดแล้วกับงานนี้ นอกจากนี้ ยังทำให้นักเขียนถูกบังคับให้ต้องผลิตงานให้ทันงานสัปดาห์หนังสือฯ หากต้องการให้ขายได้ แทนที่จะมีเวลาในการสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระ

ปราบดายังกล่าวเปรียบเทียบกับงานหนังสือ หรือ book fair ในต่างประเทศว่า เท่าที่เคยไปมา 2 ประเทศ คือ Frankfurt book fair ในเยอรมัน เป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะไม่ใช่งานที่ให้คนเอาหนังสือมาขายเหมือนของไทย แต่เป็นงานแสดงสินค้าที่คนจะมาซื้อขายลิขสิทธิ์กัน เช่นเดียวกับ Taipei book fair ในไต้หวัน ที่แม้จะมีการขายหนังสือด้วย แต่ก็ไปเน้นที่การเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์มากกว่า

“งานหนังสือของเมืองนอก จะเป็นที่ๆ คนจะมาเจาะหาขุมทรัพย์ เช่น สมมติว่านิยายเรื่อง Harry Potter เพิ่งออกใหม่ๆ ยังไม่ค่อยดัง แต่สำนักพิมพ์มาดูแล้วเห็นว่าเล่มนี้มีแววก็ ซื้อลิขสิทธิ์ไปขาย ถ้าขายดี ก็ร่ำรวยไปเลย อีกเรื่องคือคนจะมาดู trend ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทั้งการจัดบูท การแนะนำหนังสือ การเชิญคนมาพูด มันจึงคึกคักในแง่กิจกรรม ไม่ใช่สถานที่สำหรับมาขายหนังสือ”

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบงานหนังสือของไทย จะเป็นเหมือน “วงจรอุบาทว์” แต่ก็เป็นสิ่งที่มีข้อดีอยู่ในตัว เพราะทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ มีรายได้ในการผลิตหนังสือเพิ่ม ซึ่งจะไปเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักเขียนอีกทาง

“ยิ่งเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก หากออกหนังสือใหม่มาสัก 2-3 ปก แล้วขายดีมาก บางบูทมีรายได้กำไรเป็นล้านบาท คุณก็มีเงินเก็บไปทำอะไรได้อีกเยอะ”

ถามว่าทำไมไม่เปลี่ยนระบบเพื่อให้ขายหนังสือได้ตลอดปี ซึ่งทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า ปราบดาตอบว่า เป็นเรื่องยากที่จะไปหวังแบบนั้น เพราะระบบการส่งหนังสือไปขายในพื้นที่ต่างๆ ของไทยยังไม่ค่อยดี ทุกคนเลยคิดว่ามาขายในงานสัปดาห์หนังสือฯ ดีกว่า มันง่ายที่สุดแล้ว

“เคยมีการคุยกันเรื่องการทำมาตรฐานการตั้งราคาขาย และควบคุมไม่ให้ลดราคาหนังสือใหม่ในงานสัปดาห์หนังสือฯ เพราะหลายประเทศจะไม่ให้ลดราคาหนังมือใหม่เลย จนกว่าจะผ่านไป 2-3 ปีแล้ว แต่เอาเข้าจริงมันทำไม่ได้ เพราะระบบของเรายังไม่เอื้อ แล้วมีคนไม่เห็นด้วยเยอะมาก แม้แต่คนในสมาคมเองที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ทุกคนมองว่าการลดราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมางานสัปดาห์หนังสือฯ”

แผนผังงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดนโซน Main Foyer มีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่บล็อกละ 85,000 บาท ส่วนโซน Plenary Hall จะอยู่ที่บล็อกละ 35,200 บาท
แผนผังงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน Main Foyer จะมีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่บล็อกละ 85,000 บาท ส่วนโซน Plenary Hall จะอยู่ที่บล็อกละ 35,200 บาท

ปราบดา ยังกล่าวถึงอัตราค่าเช่าบูทในงานสัปดาห์หนังสือว่าจะแบ่งตามโซน ถูกสุดคือโซน Atrium ที่ 19,000 บาทต่อบูท ตามมาด้วยโซน C1, C2, Plaza และ Ballroom ที่ 27,500 บาทต่อบูท โซน Plenary Hall ที่ 35,200 บาทต่อบูท และแพงสุด โซน Main Foyer 85,000 บาทต่อบูท ทั้งนี้เป็นต่อบล็อก (จองได้สูงสุด 10 บล็อก) ตลอดทั้งงาน โดยงานหนังสือของไทยถือว่าจัดนานกว่าที่อื่น คือ 10 กว่าวัน ขณะที่ส่วนใหญ่จะจัดแค่ 3-4 วันเท่านั้น และไม่มีใครยอมให้ลดจำนวนวันด้วย เพราะมองว่ายิ่งนานยิ่งได้กำไร ที่สำคัญพอค่าเช่าบูทถูก ทำให้หลายๆ สำนักพิมพ์ที่ขายดีมีกำไร อย่างสำนักพิมพ์ KOOB (ของนิ้วกลม) ขายแค่วันเดียวก็ได้ค่าเช่าบูทแล้ว

ทั้งนี้ เคยมีการสำรวจพบว่า ผู้ที่มาออกบูทในงานสัปดาห์หนังสือฯ กว่าครึ่งจะมีรายได้ระหว่าง 100,000-1,000,000 บาท และหนึ่งในสิบของผู้ออกบูทจะมีรายได้ตลอดทั้งงานเกินกว่า 1,000,000 บาท และมีอยู่เกือบสิบบูทที่มีรายได้มากกว่า 7,000,000 บาท

แม้หลายฝ่ายจะรับรู้ถึงปัญหาของงานนี้ต่อวงการหนังสือโดยรวม แต่ภายใต้ระบบที่บิดเบี้ยว ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข่าวร้าย ไม่น่าแปลกใจ ที่งานสัปดาห์หนังสือฯ จะยังเป็น “ความหวัง” ทางธุรกิจสำหรับผู้เกี่ยวข้องอยู่เสมอ

แม้นาทีทอง 2 ครั้งต่อปีนี้ จะต้องแลกกับโมงยามที่ซบเซาตลอดช่วงเวลาที่เหลือ

ไม่รวมถึงผลกระทบด้านลบอื่นๆ ที่ยังดำรงอยู่ใต้พรม “อุตสาหกรรมหนังสือเล่ม”

แต่ใครหลายคนก็ยินดีจะพุ่งเข้าไปดื่มกินน้ำบ่อหน้าแห่งนี้ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยดับกระหาย ก่อนก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางอันมืดมิดและยาวไกล ที่ไม่รู้ว่าแสงระเรื่อที่ชื่อว่า “ความหวัง” จะยังคงมีอยู่หรือไม่

แนวโน้มตลาดหนังสือเล่มเมืองไทย

ก่อนจะถึงงานสัปดาห์หนังสือฯ เราขอให้ ปราบดา หยุ่น ผู้อยู่ในวงการหนังสือเล่ม ถึง “5 บทบาท” ทั้ง นักเขียน-บรรณาธิการ-เจ้าของสำนักพิมพ์-เจ้าของร้านหนังสือ-ผู้บริหารสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ให้วิเคราะห์ถึง trend ตลาดหนังสือเล่มของไทยในปัจจุบัน ซึ่งเขามองว่า

– ตลาดหนังสือเล่มได้รับผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจมากกว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพราะคนไทยยังชอบอ่านหนังสือเล่มที่เป็นกระดาษ มากกว่า e-book

– แนวหนังสือเล่มที่ได้ความนิยม หนังสือเล่มเกี่ยวกับธุรกิจ หรือ how to จะขายได้ดี ส่วนธรรมะหรือชีวิตคนดังเริ่มตกลงไปแล้ว ขณะที่หนังสือเล่มเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ต้องดูประเทศที่แนะนำด้วย หากเป็นประเทศญี่ปุ่นก็ยังขายได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นประเทศแปลกๆ คงจะขายได้ยาก

– เหตุที่หนังสือเล่มเกี่ยวกับ how to ต่างๆ เริ่มขายดี เพราะเมื่อเศรษฐกิจแย่ ทุกคนก็เป็นห่วงปากท้อง จะขวนขวายหาความรู้เพื่อหาทางเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง ทั้งการเล่นหุ้น การลงทุน ฯลฯ

– สำหรับหนังสือเล่มแนววรรณกรรม ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทกวี จะมียอดขายคงที่ คือไม่มากขึ้นหรือน้อยลง โดยนักเขียนใหม่ๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียงก็อาจจะขายได้ยาก

– แต่ถ้าได้รางวัล โดยเฉพาะรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write-วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน) คนก็จะสนใจซื้อหามากขึ้น สามารถอยู่บนแผงได้นาน เพราะมักจะถูกเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หรือถูกซื้อเข้าไปสู่ห้องสมุดต่างๆ ขณะที่รางวัลอื่นๆ แทบไม่มีผลในการขาย

– ยอดพิมพ์หนังสือเล่มโดยทั่วไป ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 3,000 เล่ม แม้บางเล่มจะถูกพูดถึงมากก็มักจะพิมพ์เพิ่มไม่กี่ครั้ง ยกเว้นเล่มที่ได้รางวัลซีไรต์แล้วขายดีจริงๆ อาจไปแตะหลักแสนเล่ม แต่ไม่เคยมีเล่มไหนที่ขายดีถึงหลักล้านเล่ม

– เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่มาเปิดสำนักพิมพ์อิสระมากขึ้น เพราะมีแค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็ทำได้ทั้งต้นฉบับ จัดหน้า ออกแบบปก แล้วส่งอีเมลไปที่โรงพิมพ์เลย ไม่รวมถึงบางสำนักพิมพ์ซึ่งใช้วิธี print on demand ทำให้ไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ครั้งละเป็นพันเล่ม