ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย “นิตยสาร” ปิดตัว เปลี่ยนเวที – “หนังสือพิมพ์“ ทรงกับทรุด – งานหนังสือยอดขายลด 25%

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทย “นิตยสาร” ปิดตัว เปลี่ยนเวที – “หนังสือพิมพ์“ ทรงกับทรุด – งานหนังสือยอดขายลด 25%

29 มกราคม 2016


แผงหนังสือ1
ในยุคที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังหดตัวอย่างรุนแรง จนน่าตั้งคำถามว่า ในอนาคต หนังสือพิมพ์และนิตยสารเหล่านี้จะเหลือขายอยู่บนแผงสักกี่เล่ม?

ปี 2558 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยเข้าขั้นวิกฤติอย่างแท้จริง ทั้งจาก “พฤติกรรมผู้อ่าน” ที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เลิกพลิกอ่านข้อมูลบนหน้ากระดาษหันมาสไลด์จอดูสิ่งที่สนใจผ่านโลกออนไลน์ และจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ทรุดตัวพร้อมกันทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาซึ่งเป็น “ท่อน้ำเลี้ยงหลัก” ของธุรกิจสิ่งพิมพ์หลายๆ แขนง สิ่งที่ตามมาก็คือนิตยสารดังหลายฉบับต้องประกาศปิดตัวลง หลังเม็ดเงินโฆษณาในช่วง 10 ปีหลังลดลงถึงกว่า 1 ใน 3 ขณะที่หนังสือพิมพ์ แม้เม็ดเงินโฆษณาจะลดลงน้อยกว่า แต่หลายฉบับก็ประกาศไม่รับคนเพิ่มแล้ว

ด้านหนังสือเล่ม แม้จะพึ่งพาเม็ดเงินโฆษณาไม่เท่านิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ แต่การที่จำนวนคนเข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็น “นาทีทอง” ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ลดลงถึง 25% แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนี้ก็เข้าขั้นสาหัสไม่แพ้กัน และแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่สายส่ง ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ ฯลฯ ไปจนถึงตัวนักเขียนเอง

แม้ธุรกิจเกี่ยวกับ “สิ่งพิมพ์” อาจไม่ตายในวันนี้หรือวันพรุ่ง แต่ภาวะขาลงเช่นนี้ก็คงเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าจุดสิ้นสุดของมันจะอยู่ตรงไหน

เงินโฆษณาในธุรกิจสื่อ_
เงินโฆษณาในธุรกิจ “หนังสือพิมพ์” ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี เหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี คิดเป็น 20% ในระยะเวลาเพียงสิบปีเท่านั้น
เงินโฆษณาในธุรกิจสื่อ_
จากการเก็บข้อมูลของบริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เงินโฆษณาในธุรกิจนิตยสารลดลงมากที่สุด ในประเภทสื่อที่มีการเก็บข้อมูล เฉพาะปี 2558 ก็ลดลงถึง 14% นำไปสู่การปิดตัวของนิตยสารชื่อดังหลายฉบับในปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2559

“สิ่งพิมพ์ไทย” โฆษณาหาย–กำไรไม่มี

บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยเม็ดเงินโฆษณาในสื่อประเภทต่างๆ ประจำปี 2558 โดยพบว่า เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหนังสือพิมพ์ลดลง 6.45% (12,332 ล้านบาท ลดลงจาก 13,166 ล้านบาท ในปี 2557) ส่วนนิตยสารหนักกว่า ลดลง 14.28% (4,227 ล้านบาท ลดลงจาก 4,721 ล้านบาท ในปี 2557) สวนทางกับอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น 11.37% (1,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 950 ล้านบาท ในปี 2557)

และยังสวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณา ที่โตขึ้น 3.34% (122,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 102,348 ล้านบาท ในปี 2557)

เมื่อสำรวจรายได้ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็พบว่าหลายบริษัทประสบภาวะ “ขาดทุน”

– บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ POST เจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Post, โพสต์ทูเดย์ และ M2F และนิตยสารดังอีกหลายหัว เช่น Cleo, Elle, Forbes Thailand ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 204.64 ล้านบาท

– บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หรือ MATI เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารอีกหลายฉบับ เช่น มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 51.53 ล้านบาท

– บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เจ้าของหนังสือพิมพ์ The Nation, คมชัดลึก และกรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร อาทิ เนชั่นสุดสัปดาห์ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 กำไร 81.38 ล้านบาท

– บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SPORT เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน, สตาร์ซอคเก้อร์, สปอร์ตพูล ฯลฯ นิตยสารหลายฉบับ อาทิ FHM, สยามดารา ฯลฯ มีผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2558 ขาดทุน 12.27 ล้านบาท

นิตยสารvolume
นิตยสารแฟชั่น Volume เป็นนิตยสารฉบับล่าสุดที่ประกาศปิดตัว โดยจะวางแผนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นฉบับสุดท้าย หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 12 ปี ที่มาภาพ: http://www.wow2mouth.com/11755

แม็กกาซีนดังปิดตัว เปลี่ยนเวที

สิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้เสพสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดปี 2558 คือการที่นิตยสารชื่อดังหลายฉบับที่ทยอยปิดตัวลง ส่วนบางฉบับแม้ไม่ปิดตัวก็ต้องเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจขนานใหญ่

  • นิตยสาร Image ต้นปี 2558 มีข่าวลือหนาหูว่านิตยสารแฟชั่นที่วางแผงมากว่า 27 ปีนี้จะปิดตัวลง เนื่องจากเจ้าของอย่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM แบกรับต้นทุนการผลิตต่อไปไม่ไหว แต่โชคดีที่มีบริษัท ซีทรู จำกัด ของนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เข้ามาซื้อกิจการต่อ (นายคำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งนิตยสารอิมเมจถึงกับเรียกว่า “อัศวินขี่ม้าขาว”) ทำให้นิตยสารอิมเมจหยุดพิมพ์เพื่อปรับโครงสร้างระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม 2558 ก่อนจะกลับมาวางแผงให้แฟนๆ ได้ซื้ออ่านต่อไป
  • นิตยสารดิฉัน ซึ่งวางแผนมากว่า 38 ปี ได้ปรับระยะเวลาวางแผงจากรายปักษ์เป็นรายเดือน เพื่อลดต้นทุนการผลิต
  • นายศักดิ์ชัย กาย ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Lips ประกาศในงานครบรอบ 15 ปีนิตยสาร Lips ว่าจะออกฟรีก็อปปี้ 3 ฉบับ คือ Lips LOVE, Lips GARCON และ Lips PALETTE เพื่อเป็นช่องทางหารายได้จากโฆษณาเพิ่ม ในภาวะที่สื่อออน์ไลน์ทำให้คนอ่านสื่อกระดาษลดลง
  • สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ประกาศยุติพิมพ์นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ รวมถึงการ์ตูนรวมเล่มหลายๆ เรื่อง อ้างปัญหาการผลิตและสภาพเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ในปี 2557 NMG เคยหยุดพิมพ์นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์อันดับหนึ่งของประเทศอย่าง Boom มาแล้ว จากปัญหาคนหันไปอ่านการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์
  • นิตยสารเปรียว ตีพิมพ์ฉบับเดือนธันวาคม 2558 เป็นฉบับสุดท้าย หลังอยู่คู่วงการสิ่งพิมพ์ไทยมา 35 ปีเต็ม
  • นิตยสารวรรณกรรม Writer ประกาศหยุดพิมพ์ หลังทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554
  • หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า นิตยสารทีวีพูล และนิตยสาร Spicy ของบริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด วางแผนจะเปลี่ยนเป็นฟรีก็อปปี้ในช่วงต้นปี 2559
  • นิตยสารเกม Play ประกาศยุติการพิมพ์สิ้นปี 2558 และมุ่งหน้าสู่ดิจิทัลเต็มตัว
  • นิตยสารทางเลือก Way ประกาศผ่านแฟนเพจ จะปรับวิธีการทำงาน ย้ายคอลัมน์หลักไปไว้บนเว็บไซต์ และจะเปลี่ยนเวลาวางแผนจากทุกเดือนเป็นทุก 4 เดือน เพื่อให้เป็นหนังสือที่มีอายุการอ่านนานขึ้น นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way กล่าวไว้ในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อ่านว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด “เป็นเพียงการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด มีโอกาสเติบโตบนเงื่อนไขข้อเท็จจริง และมีอนาคต”

เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงบางส่วนในแวดวงนิตยสาร จากจำนวนนิตยสารทั้งหมดที่มีวางขายบนแผงในร้านหนังสือของเมืองไทยอย่างน้อย 385 หัว [สำรวจจากร้านหนังสือเชนสโตร์ชื่อดัง 4 ร้าน ย่านสยามสแควร์ (2 ร้าน), รัชดาภิเษก และพระรามเก้า ระหว่างวันที่ 24-25 ธันวาคม 2558]

หนังสือพิมพ์M2F
บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งหันมาทำ “สิ่งพิมพ์แจกฟรี” หรือ free copy เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้ หลังได้เห็นความสำเร็จจากหนังสือพิมพ์แจกฟรี M2F ที่สามารถทำกำไรให้กับเครือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ที่มาภาพ: http://www.newspaperinnovation.com/index.php/2012/05/24/m2f-wants-to-be-the-largest-bangkok-paper/

หนังสือพิมพ์ไม่รับคนเพิ่ม

นายทุนสื่อหลายคนเคยพูดว่า ธุรกิจนิตยสารและหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันถือเป็น sunset industry คือมีแต่ทรงกับทรุด ไม่มีอนาคต ซึ่งหากดูยอดขาย-เม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาก็อาจจะเป็นดังว่า แม้อัตราการร่วงหล่นของหนังสือพิมพ์ดูจะช้ากว่านิตยสารก็ตาม

วัดจากเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียว ข้อมูลจากบริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2549-2558) เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจนิตยสารลดลงจากกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี เหลือเพียงกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี เรียกง่ายๆ คือหายไปเกือบ “หนึ่งในสาม” ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจหนังสือพิมพ์ลดลงจากราว 1.5 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 10% เท่านั้น

เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า ข้อแตกต่างสำคัญก็คือรายได้จากนิตยสารส่วนใหญ่จะมาจากบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่เป็น “ภาคเอกชน” ส่วนรายได้ของหนังสือพิมพ์ นอกจากภาคเอกชน ยังสามารถหารายได้จาก “ภาครัฐ” ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย

นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หนังสือพิมพ์หัวเล็กหลายฉบับ รวมถึงหัวใหญ่บางฉบับ ประกาศไม่รับนักข่าวเพิ่มแล้ว แม้จะมีคนลาออกไปก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนัก ประกอบกับผลประกอบการที่มีแนวโน้มขาดทุนมากกว่ากำไร ทำให้ “นายทุนสื่อ” ตัดสินใจประคองบริษัทเท่าที่มีบุคลากรอยู่

“แต่คงไม่มีหนังสือพิมพ์ใดปิดตัวลงง่ายๆ เพราะการมีหนังสือพิมพ์ไว้นอกจากเป็นเรื่องเกราะกำบังธุรกิจของนายทุนสื่อคนนั้นๆ ยังเป็นเรื่องของหน้าซึ่งสำคัญในสังคมไทย” นายวันชัยกล่าว

ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับได้ปรับตัวกระโดดเข้าไปทำธุรกิจในอินเทอร์เน็ต ด้วยการเปิดเว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ โดยเน้นทำข่าวเชิงสีสันเพื่อชิง “ยอดวิว” ที่เป็นส่วนสำคัญ ทำให้เว็บไซต์ข่าวลำดับต้นๆ คือเว็บข่าวที่เน้นนำเสนอข่าวเชิงสีสัน หวือหวา เน้นข่าวชาวบ้าน

ขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับ ไปเน้นหารายได้จากอีเวนต์ เพื่อมาจุนเจือธุรกิจหลัก

ปัจจุบัน มีจำนวนหนังสือพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทั้งภาษาไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และภาษาจีน รวมกัน 64 ฉบับ แต่หนังสือพิมพ์ที่ขายบนแผงอาจมีมากกว่านี้ เพราะบางฉบับไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

“เนชั่นชวนปั่น” เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่บริษัทสื่อหันมาจากจัดอีเวนต์ เพื่อหารายได้จากช่องทางอื่นมาจุนเจือธุรกิจหลักอย่างหนังสือพิมพ์ ที่อยู่ในภาวะขาลง ที่มาภาพ: http://resource.nationtv.tv/video_capture/2015/01/25/640_db7i8cecage5hha6e8568.jpg

สัปดาห์หนังสือคนหด – สำนักพิมพ์สะเทือน

“งานสัปดาห์หนังสือ” ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม (ภายใต้ชื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) และเดือนตุลาคม (ภายใต้ชื่องานมหกรรมหนังสือระดับชาติ) เคยเป็น “นาทีทอง” ของบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่หารายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากหนังสือใหม่ที่เพิ่งออกหรือการนำหนังสือเก่ามาทำโปรโมชั่นลดราคา

อย่างไรก็ตาม งานสัปดาห์หนังสือหลายปีหลังกลับมีคนเดินน้อยลง สำนักพิมพ์หลายแห่งมียอดขายลดลง กระทั่งงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม 2558 – 1 พฤศจิกายน 2558 ก็ซบเซาอย่าเห็นได้ชัด กระทั่ง นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ถูกต่อว่าจากสำนักพิมพ์ที่มาออกบูธ จนต้องโพสต์แสดงความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Charun Homtientong หลังจบงาน

จรัญ_หอมเทียนทอง1

ข้อมูลจากแบบสอบถามที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำในงานสัปดาห์หนังสือปลายปี 2558 พบว่า ยอดขายที่สมาชิกของสมาคมได้จากการออกบูธร่วมกันภายในงานกว่า 900 บูธ ลดลงจากที่เคยได้สูงสุดในปี 2555 คือ 400 ล้านบาท เหลือเพียง 301 ล้านบาท (ลดลง 25%) ขณะที่ยอดผู้เข้าชมงานก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 2.1 ล้านคนเท่านั้น

เมื่อ “น้ำผึ้งพระจันทร์” ในงานสัปดาห์หนังสือไม่หวานอีกต่อไป สำนักพิมพ์ต่างๆ มีรายได้ลดลง ก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ ทั้งสายส่ง ร้านหนังสือ นักเขียน ฯลฯ

เหล่านี้คือภาพของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยในปี 2558 ที่อยู่ในภาวะขาลง