ThaiPublica > คนในข่าว > หลากมิติของ “จรัญ หอมเทียนทอง” ผู้คลุกวงในมองคุณูปการงานสัปดาห์หนังสือ และ “ความหวัง” ที่ยังมาไม่ถึง

หลากมิติของ “จรัญ หอมเทียนทอง” ผู้คลุกวงในมองคุณูปการงานสัปดาห์หนังสือ และ “ความหวัง” ที่ยังมาไม่ถึง

9 เมษายน 2016


จรัญ1
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอสกู๊ปข่าว “งานสัปดาห์หนังสือ…ทำร้ายวงการหนังสือ?” ไป เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรากฏว่า เป็นประเด็นการถกเถียงขึ้นมา มีทั้ง “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” กับเนื้อหาของสกู๊ปข่าวดังกล่าว (บางคนบอกว่า ถึงกับ “ก่อดราม่า” เล็กๆ ขึ้น) ว่างานสัปดาห์หนังสือได้ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือของเมืองไทยบิดเบี้ยวไปหรือไม่? ทั้งการเน้นขายหนังสือลดราคาจนทำให้ขายไม่ออกหลังเลิกงาน กระทบต่อการอยู่รอดของร้านหนังสือ, การที่กำหนดจัดงานปีละ 2 ครั้ง ไปกำหนดพฤติกรรมทั้งคนทำหนังสือ ที่ต้องเร่งผลิตงานให้ทันช่วงนาทีทองนี้ และคนอ่าน ให้รอกำเงินมาซื้อหนังสือในช่วงเวลานี้เท่านั้น ฯลฯ

ไทยพับลิก้ามีโอกาสได้พูดคุยกับ “จรัญ หอมเทียนทอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในงานแถลงข่าวเปิดตัวงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 44 ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 ถึงเนื้อหาในสกู๊ปข่าวดังกล่าวและได้มีนัดหมายสนทนากันตามมาภายหลัง และนี่คือเนื้อหาบทสัมภาษณ์ราว 1 ชั่วโมง ที่ไทยพับลิก้า-ถาม จรัญ-ตอบ

ตลาด “หนังสือเล่ม” ยังอยู่ได้

จรัญเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า เหตุที่ยอดขายหนังสือเล่มในงานสัปดาห์หนังสือช่วงปลายปี 2558 ลดน้อยลง (การสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พบว่า ลดลงจากช่วงต้นปี 2558 จาก 400 ล้านบาท เหลือเพียง 300 ล้านบาท หรือลดลงถึง 25%) เป็นธรรมชาติของงานสัปดาห์หนังสืออยู่แล้ว ที่ช่วงปลายปีจะขายได้น้อยกว่าช่วงต้นปี นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังจัดตรงกับช่วงเวลาที่โรงเรียนส่วนใหญ่เปิดเทอม รายได้ในงานก็เลยลดลงไป

“อีกอย่างเพราะเศรษฐกิจมันตกต่ำด้วย ในช่วงเวลาแบบนี้ถ้าคุณไม่ได้รับผลกระทบอะไร คุณก็เป็นผู้วิเศษแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะงานสัปดาห์มาถึงจุดตกต่ำหรืออะไร”

เขายังฉายให้เห็นภาพใหญ่ว่า เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมหนังสือ คนมักจะนำ “หนังสือเล่ม” ไปรวมกับ “นิตยสาร” และ “หนังสือพิมพ์” ทั้งที่ลักษณะคนอ่านและการดำรงอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง 3 ประเภทมีความแตกต่างกันมาก เหตุที่นิตยสารหลายฉบับต้องปิดตัวหรือเปลี่ยนเวลาวางแผง ก็เนื่องจากนิตยสารพึ่งพาเงินจากค่าโฆษณาค่อนข้างมาก เมื่อรายได้เท่าเดิมหรือลดลง จึงต้องหันไปลดรายจ่ายแทน ต่างกับหนังสือเล่มที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินโฆษณา อาศัยยอดขายเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงเนื้อหาหลายๆ อย่างในนิตยสาร ที่หาอ่านได้บนออนไลน์ ต่างกับหนังสือเล่มที่บางอย่างต้องอ่านในกระดาษเท่านั้น

“ที่คนบอกว่า ตลาดหนังสือเล่มมันจะไปไม่ได้แล้ว ถามว่าทำไมเวลาจัดงานสัปดาห์หนังสือ คนถึงมามากมายทุกครั้ง ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ คนที่ทำหนังสือดี มีคุณภาพ ก็ยังมีคนมาซื้ออยู่ อย่างเช่น หนังสือของสำนักพิมพ์สันสกฤต ขายเล่มละ 400-500 บาท ทำไมยังขายได้ เพราะของเขาดีไง ต่างกับบางสำนักพิมพ์ ขายเล่มละ 29 บาท ทำไมเขาถึงขายไม่ได้”

เขายังยกสถิติมายืนยันว่า ในปี 2559 สำนักพิมพ์ต่างๆ น่าจะออกหนังสือเล่มปกใหม่ๆ ราว 9,000-10,000 ปก เท่ากับปีที่แล้ว และตลาดหนังสือเล่มน่าจะคงยอดขายไว้ได้ที่ 15,000-16,000 ล้านบาท

งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ยังมีคนมามากมายเช่นทุกครั้ง โดยสถิติที่เก็บโดยสมาคมผู้พิมพ์ฯ พบว่าจะมีคนมางานถึงกว่า 2 ล้านคน แต่จรัญระบุว่า ถึงจะมา 2 ล้านคนจริง ก็คิดเป็นไม่กี่% ของจำนวนคนไทย 65 ล้าน แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ได้มาซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือเท่านั้น
บรรยากาศงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังมีคนมามากมายเช่นทุกครั้ง โดยสถิติที่เก็บโดยสมาคมผู้พิมพ์ฯ พบว่าแต่ละครั้งจะมีคนมางานถึงกว่า 2 ล้านคน แต่จรัญระบุว่า ถึงจะมา 2 ล้านคนจริง ก็คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนไทยทั้งหมด 65 ล้าน แสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ได้มาซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือเท่านั้น

คุณูปการ “งานสัปดาห์หนังสือ”

มาถึงคำถามที่ทำให้บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น งานสัปดาห์หนังสือ…ทำร้ายวงการหนังสือ…จริงหรือไม่?

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ อธิบายข้อดีของงานสัปดาห์หนังสือไว้ 3 ประเด็นหลัก

  1. ผมเชื่อว่าคนที่มางานกว่าครึ่งไม่ได้มาหาหนังสือใหม่ แต่มาหาหนังสือเก่า ที่เขาหาไม่เจอจากที่อื่น
  2. คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้มาเพื่อซื้อหนังสือ แต่มาเสพบรรยากาศ เพราะเป็นเพียงงานเดียวที่กิจกรรมทุกอย่างบนเวทีเกี่ยวข้องกับหนังสือทั้งหมด
  3. งานนี้เปิดโอกาสให้คนที่อยากเป็นนักเขียนได้แสดงตัว และเป็นเวทีพบปะระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน

เขากล่าวยอมรับว่า มีคนบางส่วนซื้อหนังสือ “แค่ปีละ 2 ครั้ง” ในงานสัปดาห์หนังสืออยู่จริง มารอซื้อเฉพาะหนังสือลดราคาเท่านั้น แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหนังสืออยู่ตลอดทั้งปี

“การที่คุณออกมาพูดว่า งานสัปดาห์หนังสือทำร้ายร้ายหนังสือ ด้านหนึ่งเป็นการทำลายวงการหนังสือเอง เพราะงานนี้จัดมากว่า 40 ปีแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีแค่ 1-2 ปี งานนี้ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คือคุณูปการที่งานนี้ช่วยสร้างคนอ่านขึ้นมา เพราะเป็นงานเดียวที่คนจะได้มาเจอหนังสือที่หลากหลาย เช่น หนังสือเลสเบี้ยน หนังสือสีม่วง นี่คือเสรีภาพ มันคือความสง่างาม ซึ่งเวลาปกติ คุณจะไม่มีทางเจอหนังสือเช่นนี้ในร้านหนังสือ

“คนทำหนังสือหลายคนก็หวังว่างานนี้จะทำให้เขาอยู่ได้ เรามีงานไทยเที่ยวไทยปีละ 3-4 ครั้ง คุณเคยได้ยินบริษัททัวร์ไหนออกมาบ่นไหมว่าจะทำให้เขาตาย งานสัปดาห์หนังสือมันทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ว่ารายเล็ก-รายใหญ่ กระทั่งร้านหนังสือเองก็มาหาซื้อหนังสือเพื่อเอาไปขาย” จรัญกล่าว

เมื่อถามว่ามีการเปรียบเทียบว่างานสัปดาห์หนังสือ หรือ book fair ในประเทศอื่นๆ ไม่ได้เน้นการขายหนังสือลดราคาเหมือนประเทศไทย จรัญตอบว่า มันเป็นจริตของคนประเทศนี้ ถามว่าการแสดงนิทรรศการไหนที่ไม่ขายของบ้าง กระทั่งงานมอเตอร์โชว์ก็ยังขายอุปกรณ์แต่งรถเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกว่า book fair ประเทศอื่นๆ ไม่ขายหนังสือ ก็ไม่จริง อย่าง Frankfurt book fair ก็ขายหนังสือ เพียงแต่อาจไม่ได้มาลดราคาเหมือนบ้านเรา

“ออนไลน์” จะทำให้คนกลับมาอ่านหนังสือ

ศัตรูตัวฉกาจของการอ่านหนังสือในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในความเข้าใจของใครหลายๆ คน คือ “โลกออนไลน์”

แต่ในความเห็นของนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กลับเห็นต่าง มองว่าโลกออนไลน์จะทำให้คน “กลับมาอ่านหนังสือ” ด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่า เมื่อคนได้เริ่ม “อ่าน” แล้วไม่ว่าจะเริ่มจากสื่อประเภทไหน ก็จะอ่านไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ ออนไลน์ยังมีปัญหาเรื่องแสงที่ทำให้อ่านนานไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะทำให้คนกลับมาอ่านหนังสือ เพราะหนังสือยังมีเสน่ห์บางอย่างที่ออนไลน์ไม่มี ทั้งรูปเล่ม การจัดหน้า ศิลปะการออกแบบ

“ออนไลน์ ถ้าเป็นข่าว อ่านได้ แต่ถ้าเป็นวรรณกรรม เขาไม่อ่าน ผมเชื่อว่าคนที่อ่านออนไลน์สุดท้ายจะกลับมาอ่านหนังสือเล่ม ส่วนคนที่อ่านหนังสือจะไปอ่านออนไลน์บ้าง แต่อย่างไรก็ยังอ่านหนังสือเล่มอยู่”

เมื่อถามว่าคิดว่าหนังสือเล่มยังมีบทบาทสำหรับการเสพรับข่าวสารของคนไทยไปอีกนานแค่ไหน จรัญตอบอย่างมั่นใจว่า “อีก 50 ปีนับจากนี้ไปยังอยู่ได้สบาย! แต่ไม่รู้หลักจากนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น จะทำให้โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน การเปลี่ยนแปลงมันเป็นนิรันดร์ เหมือนแผ่นเสียงที่วันหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา แต่ทุกวันนี้กลับมีราคาแพง วิวัฒนาการของมนุษย์มันก็กลับไปกลับมาอย่างนี้”

สำหรับชะตากรรมของคนในอุตสาหกรรมหนังสือ ในยุค anywhere-anytime-any devices ทุกคนจะอ่านจากที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ จรัญตอบว่า หากเป็นร้านหนังสือ ถ้ายังทำธุรกิจแบบเก่า คือรอคนเดินเข้ามาหา กระทบแน่นอน เพราะปัจจุบันคุณต้องเดินเข้าไปหาเขา เหมือนอย่างร้านขายหนังสือออนไลน์ Readery ที่เดินไปหาลูกค้าอยู่ตลอด และมีลูกเล่นเล็กๆ เช่น ใส่กระดาษที่เขียนข้อความว่า “ขอให้สนุกกับการอ่านนะครับ” เข้าไปในกล่องไปรษณีย์ที่ส่งหนังสือ

“ทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือจะต้องไปขายบนออนไลน์มากขึ้น เพราะคนอ่านจะซื้อหนังสือจากทางออนไลน์มากขึ้น e-commerce จะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตคนมากขึ้น กรณีของ Readery แสดงให้เห็นว่า คนที่ต้องการซื้อหนังสือยังมีอยู่ เพียงแต่เราต้องเดินไปหาลูกค้า”

ทั้งนี้ เขายอมรับว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจหนังสือ ก็ไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆ คือ “ทำกำไร” หากใครปรับตัวให้ทำกำไรไม่ได้ก็ต้องออกจากธุรกิจนี้ไป แต่ถึงคุณเลิก ก็จะมีคนใหม่ๆ เข้ามาแทน

จรัญ2
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

“ความหวัง” จากภาครัฐ

งานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกของปี 2559 จัดขึ้นภายใต้ธีม “ความหวัง” โดยจรัญได้นำข้อเขียนของธาดา เศวตศิลา จากหนังสือเรื่อง “ยอดคน ชนะใจคน” มาโหมโรง

“หนังสือทุกเล่ม มีคุณค่าในตัวเองเสมอ

แต่คุณค่านั้นจะไม่ก่อเกิดประโยชน์

หากไม่ได้รับการเปิดอ่าน”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความหวังที่ว่าคนจะมางานสัปดาห์หนังสือ แล้วซื้อหนังสือกลับไปเปิดอ่านมากๆ อีกความหวังที่จรัญเรียกร้องมาตลอดคือ “ความช่วยเหลือจากภาครัฐ”

“คนทำหนังสือทุกวันนี้ลำบากมาก รัฐไม่เคยช่วยอะไรเลย ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ก็ไม่เคยมีนโยบายเกี่ยวกับการอ่าน แล้วก็เอาแต่พูดว่าไทยแพ้ชาติอื่นๆ ในอาเซียน ถามว่าพูดแล้วมีวิธีแก้ปัญหาอะไรไหม ไม่มี ได้แต่พูด เคยมีรัฐบาลไหนบอกไหมว่าจะใช้งบประมาณกี่ล้านๆ ซื้อหนังสือเข้ามาปีละเท่าไร ไม่มี”

“หอสมุดแห่งชาติของไทยมีฐานะแค่สำนักในกรมกรมหนึ่ง ทั้งที่ในต่างประเทศต้องเป็นหน่วยงานที่ใหญ่มาก เป็นองค์การมหาชน เวียดนามมีนโยบาย Intelligence Society นำพาสังคมเวียดนามไปสู่การเรียนรู้อย่างแท้จริง สิงคโปร์กำลังเดินหน้าโครงการ Library 2020 เพิ่มจำนวนห้องสมุดทั่วประเทศ ส่วนมาเลเซียก็กำลังทำโครงการเพื่อให้หนังสือของนักเขียนมาเลย์เซียได้รับรางวัลโนเบลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนไทย…ถามว่าทำอะไรบ้าง ไม่มีเลย”

เขาเปรียบเทียบกับสมาคมกีฬาอาชีพต่างๆ ที่ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐปีละหลายร้อยล้านบาท แต่วงการหนังสือไม่เคยได้รับเลยแม้แต่บาทเดียว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ต้องทำทุกอย่างเองหมด สิ่งที่เขาอยากเรียกร้องก็คือ “เปิดพื้นที่ให้คนทำหนังสือบ้าง” ด้วยการเพิ่มจำนวนห้องสมุดให้มากขึ้น – ให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีห้องสมุดประจำหน่วยงาน – ตั้งงบเพื่อซื้อหนังสือใหม่เข้าห้องสมุดนั้นๆ ไม่ใช่เอาแต่รอรับบริจาค

จรัญเชื่อว่า เด็กไทยในชนบทกว่า 80% ไม่มีโอกาสได้พบกับหนังสือเลย หากภาครัฐทำให้เด็กเหล่านี้ได้รู้จักหนังสือ ตลาดหนังสือก็จะโตขึ้นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ อยากให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกหนังสือเข้าสู่ห้องสมุด จากเดิมที่ใช้การรับบริจาค ซึ่งมักจะได้แต่หนังสือที่เจ้าของทิ้งแล้ว ทำให้ห้องสมุดมีแต่หนังสือไม่น่าอ่าน มาเป็นเลือกซื้อหนังสือเข้าสู่ห้องสมุด น่าจะดีกว่า

“มีห้องสมุดในชนบทของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เขาจะซื้อหนังสือใหม่เดือนละ 1,000 ปก ปีหนึ่งก็ราว 12,000 ปก แล้วหนังสือไหนเก่าแล้ว เขาก็คัดแล้วเอาไปวางทิ้งไว้กลางเมือง เพื่อให้คนได้หยิบไปอ่านฟรีๆ ห้องสมุดของเขาใช้วิธีแบบนี้ แต่ของเราบางแห่งไม่มีงบซื้อหนังสือใหม่เข้ามาเลย ทั้งๆ ที่แต่ละปีมีหนังสือใหม่ออกเกือบ 10,000 ปก”

“การลงทุนกับหนังสือ เป็นการลงทุนทางปัญญา มันตีเป็นมูลค่าไม่ได้ แต่เรื่องนี้รัฐบาลมักมองไม่เห็น มองเห็นแต่สิ่งที่ตีเป็นตัวเงิน” จรัญกล่าว

งานสัปดาห์หนังสือในปีนี้ (29 มี.ค.-10 เม.ย.2559) จัดขึ้นภายใต้ธีม "ความหวัง" โดยนายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในฐานะแม่งาน ระบุว่า ความหวังสูงสุดคือให้คนมาอ่านหนังสือมากขึ้น
งานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกของปีนี้ (29 มี.ค. – 10 เม.ย. 2559) จัดขึ้นภายใต้ธีม “ความหวัง”

จรัญกล่าวปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่า ความหวังสูงสุดของเราคือทำให้คนไทยอ่านมากขึ้น แล้วหวังว่ารัฐบาลจะหันมาให้ความสนใจกับการอ่านมากขึ้น อย่าปล่อยให้ประเทศนี้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไป ที่เราใช้ธีมงานสัปดาห์หนังสือว่า “ความหวัง” เพราะหวังต่างจากฝัน ในฝันอาจไม่มีหวังอยู่เลย แต่ในหวังยังมีฝันอยู่บ้าง เราถึงได้ตั้งความหวังว่าอะไรต่างๆ มันจะดีขึ้น ทั้งวงการหนังสือ ภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ