เสียงวิพากษ์วิจารณ์ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ตั้งแต่มีชื่อติดโผเป็นรัฐมนตรีคลัง จนกระทั่งได้เข้ามานั่งเป็น “ขุนคลัง” วันแรกจนถึงขณะนี้ยังดังไม่หยุด แถมมีข้อสงสัย และข้อกังขามากมาย
นับตั้งแต่การได้ตำแหน่งนี้มาก็พูดกันว่าเป็น “บุญคุณต่างตอบแทน” เป็น “ส้มหล่น” แต่ธีระชัยบอกว่าไม่ใช่ส้มแต่เป็น “แตงโม” หล่น
ก่อนมานั่งเก้าอี้รมต.คลัง ธีระชัยนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มา 7 ปี เคยเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติ ตำแหน่งสุดท้ายคือรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะลาออกมาเป็นเลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต.
ด้วยเหตุนี้ธีระชัยจึงมีความได้เปรียบที่เป็นลูกหม้อทั้งแบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. ซึ่งเข้าใจ เข้าถึง วัฒนธรรมทั้ง 2 สถาบันเป็นอย่างดี
แต่การปฏิบัติสะท้อนถึงท่าทีที่เข้าใจแต่ไม่ต้องการเข้าถึง
ความพยายามของธีระชียที่จะแต่งตั้ง “วรพล โสคติยานุรักษ์” ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นเลขาธิการก.ล.ต.คนใหม่ แต่สุดท้ายวาระนี้ต้องถอนอีกรอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รมต.คลังได้เคยเตรียมเสนอครม.มาแล้วรอบหนึ่ง
โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นการวางคนที่ผิดฝาผิดตัว ทั้งๆ ที่ธีระชัยรู้ดีว่าใครมีฝีมือและมีความเหมาะสม
คะแนนของ “ชาลี จันทนยิ่งยง” รองเลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. มาอันดับหนึ่งคือ 6 คะแนน แต่วรพลมาเป็นอันดับสอง ได้ 5 คะแนน เท่ากับ ระพี สุจริตกุล อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพยืกสิกรไทย จำกัด แต่คณะกรรมการก.ล.ต.เลือกส่งเพียงแค่ 2 ชื่อให้รัฐมนตรีคลังพิจารณาคือชาลีและวรพล และรัฐมนตรีเลือกวรพลเพื่อเสนอครม.อนุมัติ
“ชาลี”ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารนักบู๊ที่กล้าฟัน และพร้อมที่จะรื้อคดีที่ค้างคาขึ้นมาสะสาง
ด้วยเหตุนี้ชื่อชาลีจึง “ไม่ถูกพิจารณา”
จะว่าไปแล้วเส้นทางของเลขาก.ล.ต. ทั้ง 3 คนที่ผ่านมา ต่างเคยเป็นลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศ(แบงก์ชาติ) ทั้งเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการก.ล.ต.คนแรก ตามด้วย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
ทั้ง “ประสาร” และ “ธีระชัย” ต่างเป็นลูกหม้อแบงก์ชาติที่ไต่เต้ามาด้วยกัน ตำแหน่งก็คู่คี่สูสีกันมาตลอด ซึ่งคนนอกต่างมองว่าเป็นคู่แข่งกันกลายๆ โดยกำหนดเส้นทางของทั้ง 2 คน ว่าอนาคตจะต้องเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
และเมื่อวันนั้นมาถึง ทั้งประสารและธีระชัย ต่างเป็นแคนดิเดท ตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ และผู้ที่เข้าเส้นชัยคือประสาร ขณะที่ธีระชัยอกหักกลับไปนั่งเลขาธิการ ก.ล.ต.ต่อ เมื่อได้รับการทาบทามเป็นรัฐมนตรีคลัง จึงเป็นตำแหน่งที่ช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีได้ทันท่วงที
ธีระชัย เป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่น 10 มีดีกรีปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ London School of Economic ประเทศอังกฤษ และประกาศนียบัตร ผู้ตรวจสอบบัญชี F.C.A. ประเทศอังกฤษ
เริ่มเส้นทางชีวิตการทำงานที่แบงก์ชาติในตำแหน่งเศรษฐกร ที่ฝ่ายการธนาคาร แต่ความที่เป็นนักเรียกอังกฤษเหมือนนายวิจิตร สุพินิจ นักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่นแรกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำให้เคมีตรงกัน วิจิตรดึงธีระชัยให้มาดูสายงานเกี่ยวกับการดูแลบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และสนับสนุนเกื้อกูลกันมาตลอด เรื่องนี้คนวงในแบงก์ชาติรู้สึกและรับรู้ได้
หน้าที่การงานของธีระชัยรั้ววังบางขุนพรหม ต้องบอกว่ามีความก้าวหน้าในสายงานกำกับและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในยุคที่นายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ แต่ไม่โดดเด่น ในช่วงวิกฤตปี 2540 ที่แบงก์ชาติถูกโจมตีเรื่องบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ธีระชัยก็อยู่วงนอกจึงไม่โดนวิพากษ์วิจารณ์
แม้แต่กรณีสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ขณะนั้น ธีระชัย เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่ไม่ได้มีบทบาทรับผิดชอบโดยตรง จึงรอดตัวมาได้อีก
ธีระชัย ได้รับการยอมรับจากคนในแบงก์ชาติว่า เป็นผู้มีความรู้ไม่ด้อยไม่กว่านักเรียนทุนคนอื่นๆ เขามีโอกาสได้เรียนรู้ในสายงานหลักของแบงก์ชาติครบ ทั้งด้านสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน และนโยบายการเงิน ตำแหน่งสุดท้ายที่แบงก์ชาติคือ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก่อนย้ายไปเป็นเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ในเดือนธันวาคม 2546
คนวงในคุยกันว่า ถ้า ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวากุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติในขณะนั้น ไม่สกัดดาวรุ่งส่งธีระชัยไปอยู่ ก.ล.ต เขาน่าจะได้ขึ้นเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ
อาจกล่าวได้ว่าเกือบ 30 ปี ชีวิตในรั้ววังบางขุนพรหมของธีระชัยไม่หวือหวา และในสายตาคนวงนอกแทบไม่เห็นกลิ่นอายทางการเมืองมาก่อน แต่ตัวตนได้ปรากฏให้ประจักษ์เมื่อเป็นเลขาก.ล.ต.
ในสมัยเอกกมล คีรีวัฒน์ และ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นเลขาธิการก.ล.ต. องค์กรแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือว่ายืนตรงมาตลอด แต่มาในสมัยธีระชัย กลับมีข้อครหาเกิดขึ้นหลายกรณี
โดยเฉพาะการตรวจสอบอันครึกโครมเกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กองทุนเทมาเส็ก ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ ธีระชัยยืนยัน “การตรวจสอบในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวพิณทองทา สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่พบความผิดในการทำผิดระเบียบเรื่องการรายงานการถือครองหุ้น รวมทั้งการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด”
แต่ท้ายที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า หุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นของทักษิณ โดยใช้นอมินีถือครองหุ้นแทน
นอกจากนั้นกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี)ได้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ว่าครอบครัวชินวัตรไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทุน 2 แห่ง หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทวินมาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัทชิน คอร์ปฯ ด้วย แต่ปรากฏจากผลการตรวจสอบของ ก.ล.ต.พบหลักฐานที่แสดงว่า เจ้าของที่แท้จริงคือ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน
ดังนั้น คำชี้แจงดังกล่าวจะถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือไม่ ประเด็นนี้ ก.ล.ต.ในสมัยธีระชัย มีความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้น มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบริษัทหรือราคาซื้อขาย จึงไม่เข้าลักษณะความผิดที่กฎหมายหลักทรัพย์กำหนดไว้
การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นในขั้นตอนทั่วไปที่ ก.ล.ต. สอบถามมิใช่การชี้แจงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่ความผิดที่ ก.ล.ต. จะใช้อำนาจกฎหมายดำเนินการได้ตามมาตรา 302 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
อีกกรณีที่เป็นข้อครหาร้ายแรง คือ ธีระชัยสนับสนุนให้เจ้านายเก่า นายวิจิตร ให้ได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อพ้นตำแหน่งก็ผลักดันต่อให้นั่งประธาน ก.ล.ต. ทั้งที่คุณสมบัติของนายวิจิตรถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่
ภาพลักษณ์วิจิตร-ธีระชัย ต่างมีมลทินเป็นเงาอยู่ ตั้งแต่สมัยที่วิจิตรโดนมรสุมกรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการ(บีบีซี)ล้ม ซึ่งวิจิตรนั่งเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเมื่อมาอยู่ก.ล.ต.ด้วยกัน วิจิตรเป็นประธานกรรมการสำนักงานก.ล.ต. ธีระชัยเป็นเลขาธิการ วิจิตรถูกข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะวิจิตรไม่ยอมลาออกจากประธานกรรมการ บริษัทจีสตีล จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการก.ล.ต.
มากกว่านั้นเมื่อประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. วิจิตร สุพินิจ เข้าไปทำหน้าที่เป็นดีลเมคเกอร์ ให้แก่กลุ่มของ นายบี เตชะอุบล และ นายวีระ มานะคงตรีชีพ ที่จะเข้าไปฮุบกิจการบริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพฯ จนพนักงานก.ล.ต. แต่งชุดดำขับไล่ และต้องลาออกไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554
เมื่ออยู่ก๊วนเดียวกันภาพจึงแยกกันไม่ออก
ธีระชัยเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติคนแรกที่ได้ตำแหน่ง “ขุนคลัง” ในอดีต “ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” นักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่นพี่ เคยเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในช่วงสั้นๆ คือ 15 ตุลาคม 2539- 29 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นรอยต่อช่วงที่นายบดี จุณณานนท์ ลาออกแล้วต่อมาดร.ทนง พิทยะ เข้ามาเป็นแทน
ขณะที่ ดร.พิสิษฐ์ ลี้อาธรรม อดีตนักเรียนทุนแบงก์ชาติ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังในช่วง 14 พฤศจิกายน 2540- 6 มกราคม 2544 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
หากมองในแง่ความรู้ และประสบการณ์ ก็เป็นที่ยอมรับของคนในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน เพราะธีระชัยมีภาพลักษณ์ของความเป็นนักวิชาการที่มีฝีมือคนหนึ่ง
ดังนั้นถ้าจะลบเงาเก่าๆ ก็ต้องวัดกันที่ผลงานเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แต่แค่เริ่มต้นก็ผิดหวังเสียแล้ว
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นนักวิชาการที่มักจะบอกกับสื่อมวลชนว่าเป็นเชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุน ล่าสุดเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรสถาบันวิทยาการตลาดทุน หรือ วตท. รุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนที่ 2 กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ
เกิด 16 เมษายน 2498
การศึกษา
– ปริญญาเอก Finance, The Wharton School, University of Pennsylvania
– ปริญญาโท Finance, The Wharton School, University of Pennsylvania
– ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (Finance & International Business), Syracuse University
– ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (Finance), National Institute of Development Administration (NIDA)
– ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอาชีพปัจจุบัน
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ประสบการณ์
– ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการลงทุน สภากาชาดไทย
– ประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน กรุงเทพมหานคร
– กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
– แผนแม่บทปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศไทย (แผนแรก พ.ศ.2547 – 2549) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 20 กันยายน 2547
– แผนแม่บทพัฒนาบุคลากร กระทรวงยุติธรรม (พ.ศ.2547 – 2551)
– พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) พ.ศ. 2540 (กรรมการร่างกฎหมาย) เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงินของประเทศไทย
– พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 (กรรมการร่างกฎหมาย)
ฯลฯ