ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ จัดสินเชื่อ 8 พันล้าน อุ้มชาวไร่มัน – หนุนเกษตรแปลงใหญ่ – เว้นระเบียบ รสก.ให้ ปตท.สผ. ร่วมทุนไม่ต้องขอ ครม.

นายกฯ จัดสินเชื่อ 8 พันล้าน อุ้มชาวไร่มัน – หนุนเกษตรแปลงใหญ่ – เว้นระเบียบ รสก.ให้ ปตท.สผ. ร่วมทุนไม่ต้องขอ ครม.

31 สิงหาคม 2016


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“บิ๊กตู่” วอนอภิสิทธิ์ ชง ม.44 เป็นกฎหมายปกติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากเห็นมาตรการการพักงานเพื่อตรวจสอบการทำงานข้าราชการ เป็นกฎหมายปกติมากกว่าการที่ใช้มาตรา 44 ว่า ถ้าอยากเห็นความชัดเจน ก็ขอให้ช่วยเสนอออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ถ้าเห็นว่าอะไรดีก็จะมีคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์คอยดูแลเรื่องการปฏิรูป ตนเพียงแต่เริ่มให้มี ซึ่งตนก็ได้สั่งการไปแล้วว่าทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ปัญหากลับมาที่เดิม แต่อยู่ที่ว่ามันจะทำได้หรือเปล่า เพราะต้องไปพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะทำงานอีกจำนวนมาก

“ตอนพิจารณาใช้กฎหมายมีหลายกลุ่มหลายพวกเกิดติดขัดบ้าง ผมก็ต้องใช้มาตรา 44 ไปบ้าง มีใครไม่รู้ออกมาพูดว่า ไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 แล้วทำงานกันไม่ได้ ที่พูดแบบนี้แสดงว่าไม่เคารพกฎหมาย ผมพยายามทำให้ทุกอย่างให้เป็นกฎหมายปกติ กลายเป็นว่าทำได้เพราะมีอำนาจพิเศษ ทำไมตอนเป็นรัฐบาล เป็นนักการเมือง ก็ทำให้มันทำให้ได้สิ อย่าไปฝืนกฎหมายเสียเองง่ายๆ แค่นี้ ไม่ต้องมาเป็นภาระให้กับผม ผมบอกแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่สนใจกระบวนการยุติธรรม หน้าที่ของผมคือนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น อย่าไปบิดเบือน ผมพอแล้ว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การปฏิรูปพรรคการเมืองเพื่อแก้ปัญหาอิทธิพลของนายทุนที่หนุนหลังพรรคการเมืองจะทำอย่างไรได้บ้าง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว กฎหมายพรรคการเมืองอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง เรื่องนายทุนต่างๆ นั้นตนไม่รู้ว่าพรรคการเมืองต้องใช้เงินมากแค่ไหน แต่วันนี้ตนไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากนายทุน ก็ยังสามารถทำงานร่วมกับนายทุนได้

“ปัญหาคือ คนเลือดใหม่เขาไม่กล้ามาทำงานการเมือง เพราะปัญหาที่เขาไม่อยากมีประวัติใหม่ ไม่อยากถูกตีแผ่ชีวิตส่วนตัว พวกบัญชีทรัพย์สินและประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่สามารถถือหุ้นในบริษัทได้ จะให้คนรุ่นใหม่มานั่งทำงานรับเงินจากตำแหน่งอย่างเดียวเขาก็ไม่อยากได้ นี่คือปัญหา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ยืนยันปิด “คดีจำนำข้าว” ก่อนขาดอายุความ

กรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เร่งรัดให้รัฐบาลแก้ปัญหาจำนำข้าว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ผมไปตรวจเช็คดูแล้ว เป็นเรื่องของตัวเลขในช่วงต่างๆ คงต้องมีการทบทวนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยก็สร้างความขัดแย้ง แต่อย่างไรตัวเลขทั้งหมดนี้ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือศาลเป็นผู้ตรวจสอบ โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้ในศาลได้ ทั้งหมดอยู่ที่ศาล ไม่ได้อยู่ที่ผม วันนี้ตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นการสำรวจทางบัญชีจากกระทรวงการคลัง และส่วนต่างๆ เท่านั้น

“ตัวเลข 2.8 แสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังสรุปตั้งแต่ปี 2557 เป็นตัวเลขทางบัญชีในขณะนั้น ทั้ง 2 ตัวเลขอาจไม่ตรงกันก็ได้ แต่เมื่อนำเรื่องขึ้นศาลแล้ว ก็ต้องดูว่าทำไมตัวเลขถึงไม่ตรงกัน สิ่งที่ผมกังวลคือสิ่งที่มันพันกันอยู่ระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง และท้ายสุดข้าราชการต้องมารับผิดชอบ คนที่ทำความผิดจริงๆ ก็คือตัวหัวๆ แต่ข้าราชการเป็นลูกน้อง เขาจะทำอย่างไร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ถามว่าสามารถสรุปตัวเลขในเดือนกันยายน 2559 นี้ได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องสรุปให้ทันก่อนหมดอายุความ ซึ่งผมรับผิดชอบเฉพาะเรื่องทางละเมิด ส่วนคดีแพ่ง คดีอาญา เป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คดีนี้มี 3 เรื่องและมีหลายกลุ่ม อย่านำมาพันกัน พร้อมย้ำว่าตนจะทำให้ดีที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ถูกดำเนินคดี รัฐบาล และประเทศ

สั่ง “บิ๊กป้อม-อาคม” ลุยแก้รถติด

ต่อกรณีบริษัททอมทอม ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย GPS รายใหญ่ของโลก จัดอันดับกรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่มีรถติดมากที่สุดในโลก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด เมื่อตนทราบเรื่องก็ได้สั่งการให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“เรื่องนี้เป็นปัญหาจากการเจริญเติบโตที่ไม่มีคุณภาพของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในต่างประเทศเขาแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการจัดวงจรการเดินรถใหม่ กำหนดทะเบียนรถเลขคู่และเลขคี่ในการวิ่งบนถนน แต่เราแก้อย่างเขาไม่ได้ก็เพราะไม่ยอมกัน ในต่างประเทศจะซื้อรถต้องมีที่จอดรถก่อน แต่ประเทศไทยยอมไหม ทุกคนอยากซื้อรถ บางคนขับรถยังไม่เป็น ก็ซื้อตามนโยบายรถคันแรก ก็ต้องไปแก้ที่ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมันก็แพง แต่ก็จะทำทั้งหมด ทั้งเรื่องผังเมืองก็ต้องมีการพิจารณา แต่ประชาชนเองก็ต้องกลับไปดูด้วย จะให้รัฐบาล ตำรวจ ออกฎหมายมาเรื่อยๆ ก็โดนต่อว่า” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ พล.ต. สรรเสริญ แล้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีดำริในที่ประชุม ครม. เรื่องเรือโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษม ว่าในปัจจุบันเมื่อมีเรือที่สามารถวิ่งในคลองได้แล้ว ก็อยากให้มีเรือโดยสารขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า “เรือแท็กซี่” บริการประชาชนในระยะสั้น เพื่อช่วยลดปัญหาจราจรติดขัด

นอกจากนี้ นากยกฯ ได้สั่งการเพิ่มถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมการทำ Food Truck โดยมีข้อเสนอให้มีการนำ Food Truck ไปจอดบริเวณสวนสาธารณะหรือบริเวณที่ประชาชนเข้าถึงง่าย เพื่อเป็นการส่งเสริมอาหารไทย และให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงอาหารราคาถูก

ปัดข่าวตั้ง “โอฬาร” นั่ง รมช.เกษตร

ถามว่ามีกระแสข่าวปรับ ครม. ว่ามีการเสนอชื่อของนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อเท็จจริงอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่รู้จักบุคคลดังกล่าว ตนจะเอาอธิบดีมาเป็นรัฐมนตรีทำไม ส่วนที่เขาจะเกษียณก็ให้เกษียณไป ส่วนที่ตนเคยพูดว่ามีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าง 2 ตำแหน่งนั้น เป็นตำแหน่งที่ว่างตั้งนานแล้ว เดิมจะหาคนมาตั้งให้ แต่คนที่จะตั้งมานั้นจะต้องเป็นคนที่ตนกำหนดเอง

ถามว่า พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะขอตัวนายโอฬารมาเป็น รมช. จริงหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมถาม พล.อ. ฉัตรชัย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ท่านยืนยันว่าไม่รู้จักชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่ได้พูดอะไรทั้งสิ้น เรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการระบาดของไวรัสซิก้า ขอประชาชนอย่าได้กังวล ขณะนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าติดตาม คอยสังเกต และควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว และได้มีการจัดตั้งศูนย์ในแต่ละภูมิภาคเอาไว้รองรับ โดยรัฐบาลนี้จัดสรรงบประมาณสร้างห้องคนไข้พิเศษ ห้องปฏิบัติการดูแลโรคระบาดร้ายแรงในโรงพยาบาลใหญ่ทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็ได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่ควบคุมดูแลโรคระบาดได้ดีที่สุดในอาเซียน

แนะทุกหน่วยใช้โมเดลทหารจัดซื้อ-จัดจ้างลดทุจริต

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม. เรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการฮั้วประมูลเกิดขึ้นตลอด จึงมีดำริในที่ประชุมว่า ให้ทุกหน่วยงานราชการนำแนวทางของกองทัพมาใช้ โดย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ก่อนที่กองทัพจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจะมีคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ทำหน้าที่พิจารณา กำหนดคุณสมบัติ มาตรฐานของสิ่งประกอบ หรือยุทโธปกรณ์ที่จะหาเอาไว้ล่วงหน้า สิ่งที่ต้องการควรมีรูปแบบคุณสมบัติเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการยกร่าง TOR เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่าเขียน TOR เพื่อเอื้อใคร จากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ทำหน้าที่ประมูลแข่งขันกัน เมื่อได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้ว ก็ต้องมาทำสัญญาคุณธรรม

“เรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้รายงานในที่ประชุมว่า ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่อยู่ระหว่าการพิจารณาของ สนช. หากกฎหมายหลักผ่านการพิจารณาแล้วคงจะมีกฎหมายลูกตามมา น่าจะนำข้อสังเกตและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปใส่ไว้ เพื่อให้การจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทั้งในวันนี้และในอนาคตมีความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม ลดช่องทางหรือโอกาสทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ผ่านร่าง กม.มาตรฐานสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(ซ้าย) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้าย) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)

ด้านเศรษฐกิจ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เนื่องจากเดิมพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดขอบเขตอำนาจไว้ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน การผลิต การส่งออก หรือนำเข้าในบางกรณี ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกระเบียบมาตรฐานบังคับใช้กรณีเร่งด่วน และเพื่อปกป้องดูแลสุขอนามัยของประชาชน พืช หรือสัตว์ รวมไปถึงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. เพิ่มอำนาจให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ โดยมอบหมายให้หน่วยงานอื่นดำเนินการออกใบอนุญาตตามมาตรฐานบังคับได้ เช่น กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่ออำนาจความสะดวกและลดภาระของผู้ขอใบอนุญาตมาตรฐานต่างๆ จากเดิมที่กำหนดให้สำนักงานฯ เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงหน่วยงานเดียว ทำให้เกิดความล่าช้าในการขอใบอนุญาตมาตรฐาน

2. ปรับปรุงให้การออกมาตรฐานที่มีความยืดหยุ่นและสามารถบังคับใช้เป็นรายกรณีๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น จากเดิมมาตรฐานบังคับจะใช้ในลักษณะเหมารวม โดยเฉพาะผู้ผลิตและไม่สามารถแยกบังคับใช้ได้ เช่น บังคับใช้เฉพาะผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก เนื่องจากในทางปฏิบัติมาตรฐานบังคับบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องบังคับใช้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การส่งออกไก่ไปยุโรปจะต้องมีมาตรฐานที่สูงและเข้มงวด เพื่อป้องกันการเจือปนต่างๆ แต่ในประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้มงวดมากเช่นเดียวกับในยุโรป

3. เพิ่มเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเฉพาะด้าน เช่น สินค้าออร์แกนิก โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเครื่องหมายดังกล่าวได้ จากเดิมการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานมี 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ ซึ่งทุกคนต้องผ่านการรับรอง กับเครื่องหมายมาตรฐานรับรองตามความสมัครใจเพิ่มเติม ยังไม่มีการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเฉพาะด้าน

4. ยอมรับมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศที่น่าเชื่อถือทัดเทียมกับมาตรฐานของประเทศไทยแบบอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีที่สินค้ามีมาตรฐานรับรองแตกต่างกับประเทศไทย สามารถมอบหมายให้หน่วยงานต่างประเทศซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าแทนได้ จากเดิมที่การนำเข้าสินค้าเกษตรทุกอย่างต้องผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

5. ให้อำนาจออกประกาศมาตรฐานบังคับกรณีเร่งด่วน จากเดิมที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก และทำให้สามรถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อให้ขั้นตอนการขอมาตรฐานรับรองมีความชัดเจน กระชับ รวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) คัดเลือกคณะกรรมการวิชาการ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม จากเดิมต้องคัดเลือกบุคคลเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้ง

2. ให้อำนาจรัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใดต้องมีมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากเดิมการกำหนดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใดต้องมีมาตรฐาน จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะช่วยลดเวลาการออกมาตรฐานบังคับจาก 542 วัน หรือ 180 วันเท่านั้น ขณะที่มาตรฐานทั่วไปต้องลดเวลาจาก 390 วันเป็น 150 วัน อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำหนดให้ต้องรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีก่อนออกประกาศ

3. ปรับให้สินค้านำเข้าทุกชนิดต้องเป็นไปตามมาตรฐานและต้องขออนุญาต เนื่องจากเดิมมีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในกรณีที่นำสินเข้าเข้ามาใช้ส่วนตัวไม่ต้องขออนุญาต แต่ในทางปฏิบัติกลับลักลอบนำมาประกอบเป็นสินค้าขึ้นมา ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ กฎหมายให้ยกเว้นสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อทดลองศึกษาวิจัยและเป็นตัวอย่างสินค้า ขณะที่สินค้าที่นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าส่งออกทั้งหมด กฎหมายอนุญาตให้นำเข้ามาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งการนำเข้าแทน

4. อนุญาตให้โอนใบอนุญาตให้แก่ทายาท หรือให้แก่บริษัทใหม่ในกรณีที่ควบรวมกิจการได้ จากเดิมที่หากเจ้าของใบอนุญาตเสียชีวิตหรือมีการควบรวมกิจการ ทายาทหรือเจ้าของกิจการคนใหม่จะต้องขอใบอนุญาตใหม่อีกครั้ง

5. กำหนดอายุของใบอนุญาตไว้ 5 ปี จากเดิมที่ไม่กำหนดวันหมดอายุ ทั้งนี้เพื่อกำกับ ตรวจสอบ และติดตาม ให้ธุรกิจพยายามรักษามาตรฐานของสินค้า

6. เพิ่มบทลงโทษ จากเดิมที่กำหนดให้จำคุก 2 ปีและปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิ่มโทษปรับ ขั้นต่ำ 50,000 บาทจนถึงสูงสุด 5 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน และป้องกันมิให้เกิดการปลอมตรามาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมา 10 เดือน จับได้กว่า 100 ราย คิดเป็นมูลค่าค่าเสียหายกว่า 3,700 ล้านบาท โดยเฉพาะในแถบชายแดนและอุตสาหกรรมเหล็ก

ไฟเขียว ปตท. ตั้งบริษัทลูกซื้อ-ขายน้ำมันในลอนดอน

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทลูก PTT International Trading ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (Trading Company) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดย ปตท. ถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 21 ล้านบาท คาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะสามารถทำกำไรได้ 800 ล้านบาท

สาเหตุของการจัดตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวและเปลี่ยนศูนย์กลางบทบาทจากเอเชียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันไปสู่ภูมิภาคยุโรปซึ่งโรงกลั่นประสบปัญหาขาดทุนจนปิดตัวและต้องนำเข้าน้ำมันมากขึ้น เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มผลิตน้ำมันออกมาค้าขายมากขึ้น ดังนั้น ปตท. จึงเห็นโอกาสที่จะเข้าไปค้าขายที่ศูนย์กลางดังกล่าวมากขึ้น ไม่ว่าจะซื้อน้ำมันจากสหรัฐอเมริกามาขายยังยุโรปหรือนำน้ำมันจากไทยไปขายที่ยุโรป เป็นต้น

“บริษัทนี้ทำหน้าที่หลากหลายอย่าง เช่น การค้าน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้ ปตท. เจาะตลาดยุโรป อเมริกา แอฟริกา และช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้มากขึ้น” ดร. กอบศักดิ์ กล่าว

เว้นระเบียบ รสก.-ปตท.สผ. ตั้งบริษัท-ร่วมทุน ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเพิ่มเติมยกเว้นหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง/ร่วมทุนและการกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจสำหรับกรณีของบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและสามารถแข่งขันกับบริษัทชั้นนำของโลกในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ ในกรณีมีโอกาสร่วมทุนและขยายกิจการ ซึ่งมักจะเป็นโอกาสในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยการดำเนินการจะอาศัยอำนาจคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดของ ปตท.สผ. สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรีก่อน ส่วนความกังวลเรื่องความโปร่งใสของการดำเนินการ ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และถูกกำกับดูแลอย่างชัดเจนโปร่งใสอยู่แล้ว

ชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. สินเชื่อ 4,800 ล้านอุ้มชาวไร่มัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2559/2560 จำนวน 4 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อ 4,800 ล้านบาท และวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 567.73 ล้านบาท ได้แก่

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ต่อปี รายละไม่เกิน 80,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระและให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียน และสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลัง ตลอดเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตามเป้าหมายคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 310,000 ราย วงเงินรวม 372 ล้านบาท

2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิต โดยให้เงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท ดอกเบี้ย 4% ระยะเวลา 5 ปี โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 10,000 ราย วงเงินรวม 2,300 ล้านบาท และเป็นวงเงินชดเชย 102.35 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานในการผลิตมันสำปะหลัง รวบรวม แปรรูป และจัดเก็บมัน ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยให้เกษตรกรรายย่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับสถาบันการเกษตรต่างๆ เป็นระยะเวลา 2 ปีพร้อมกับลดดอกเบี้ยให้ 3% รวมวงเงิน 1,000 ล้านบาท และวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 66 ล้านบาท

4. โครงการสินเชื่อรวบรวมมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสถาบันการเกษตรที่ประกอบธุรกิจมันสำปะหลัง โดยนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสด มันเส้น จากเกษตรกร และ/หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามันสำปะหลัง โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท และวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 33 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าในปีการผลิต 2559/2560 จะมีปริมาณการผลิตรวม 32.22 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.25% จากปีก่อน โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากในช่วงต้นปี 2560 ประมาณ 67.82% ของผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 41.33 ล้านตันหัวมันสด แบ่งเป็นมันเส้น/อัดเม็ด 13.31 ล้านตันหัวมันสด แป้งมัน 25.52 ล้านตันหัวมันสด และผลิตเอทานอล 2.5 ล้านตันหัวมันสด โดยเป็นการใช้ในประเทศทั้งหมด 100%

เตรียมเงินกู้กว่า 3 พันล้าน หนุน “เกษตรแปลงใหญ่”

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ที่เข้าร่วมระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ใช้ในการพัฒนาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเป็นเงินทุนในการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาด โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 650 แปลง แบ่งเป็น ข้าว 426 แปลง, พืชไร่ 110 ไร่, ไม้ผล พืชผัก และพืชอื่น 69 แปลง, ปศุสัตว์ 25 แปลง และประมง 20 แปลง โดยใช้วงเงินรวม 3,486.6 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 3,250 ล้านบาท และวงเงินงบประมาณ 236.6 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี โดยเรียกเก็บจากเกษตรกร 0.01% และรัฐชดเชย 3% ต่อปี

ดร.กอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “การรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่จะช่วยให้ลดต้นทุนต่อหน่วยได้ประมาณ 20% ขณะเดียวกันจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 20% ความแตกต่างตรงนี้จะทำให้จากที่เคยขาดทุนเป็นกำไรได้ สามารถเลี้ยงตนเองได้ ถ้าไปดูเกษตรกรหลายคนปริ่มน้ำ ทำไปบางทีไม่กำไร แต่ถ้าเรามาทำแปลงใหญ่ร่วมกัน ลดต้นทุนได้ มันพลิกเป็นกำไร เป็นหัวใจในการเปลี่ยนชีวิตของเกษตรกร คือทำให้อาชีพหลักของเขากำไรอยู่ได้ มันต่างจากที่อาชีพขาดทุนและไปทำอาชีพเสริม แบบนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ”

ตั้ง “จิรชัย มูลทองโร่ย” นั่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนการอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 5 ราย ดังนี้

1. แต่งตั้งนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
2. แต่งตั้งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตสภา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
3. แต่งตั้ง พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
4. แต่งตั้งนางสาวชลิดา โชไชย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
5. รับโอนนางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. (นักบริหารระดับสูง) สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
6. แต่งตั้งนายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

โยกรองเลขา กกอ. นั่งปลัดวิทย์

สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ราย คือ แต่งตั้ง รศ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10 รายดังนี้
1. แต่งตั้งนายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. แต่งตั้งนายนำชัย พรหมมีชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. แต่งตั้งนายธนิตย์ เอนกวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. แต่งตั้งนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
5. แต่งตั้งนายสมปอง อินทร์ทอง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
6. แต่งตั้งนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์
7. แต่งตั้งนางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
8. แต่งตั้งนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
9. แต่งตั้งนางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมหม่อนไหม
10. แต่งตั้งนายสัญชัย เกตุวรชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งหมดให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงแรงงาน 7 ราย ดังนี้
1. แต่งตั้งนายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
2. แต่งตั้งนายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
3. แต่งตั้งนายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน
4. แต่งตั้งนายวรานนท์ ปิติวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน
5. แต่งตั้งนายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีพัฒนาฝีมือแรงงาน
6. แต่งตั้งนายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน
7. แต่งตั้งนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน

ทั้งหมดให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มี 1 ราย คือ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม 2 ราย ดังนี้
1. แต่งตั้งนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
2. แต่งตั้งนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 หรือตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงคมนาคม แต่งตั้ง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงพลังงาน แต่งตั้ง นางสาวพัชรีพร หาญสกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

สังกัดกระทรวงการคลัง ครม. มีมติอนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่ง นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ออกไปอีก 1 ปี (วันที่ 30 กันยายน 2560) ทั้งนี้ นายสมชายดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปีในวันที่ 30 กันยายน 2559 ต่อไปอีก 1 ปี

และแต่งตั้งนายปรีชา มงคลหัตถี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

ตั้ง “อำพน กิตติอำพน” ที่ปรึกษานายก

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 183/2559 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งนายอำพน กิตติอำพน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยให้มีหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษา เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะด้านวิชาการเกี่ยวกับเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรี และกระบวนการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้ ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนดเทียบเท่าผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งปลัดกระทรวง และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสนับสนุนการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ป้ายคำ :