ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สต็อกข้าว 18 ล้านตัน บทเรียนจำนำข้าวทุกเมล็ด ขาดทุนเพิ่ม 1.9 – 3.3 แสนล้านบาท – ธ.ก.ส. ตั้งบัญชีรอ คลังใช้หนี้ 2 แสนล้าน

สต็อกข้าว 18 ล้านตัน บทเรียนจำนำข้าวทุกเมล็ด ขาดทุนเพิ่ม 1.9 – 3.3 แสนล้านบาท – ธ.ก.ส. ตั้งบัญชีรอ คลังใช้หนี้ 2 แสนล้าน

4 พฤศจิกายน 2014


จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปสต็อกข้าวและผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดเป็นจำนวนเท่าใด โดยทีมตรวจสต็อกข้าวระบุว่าสัปดาห์นี้อาจจะแถลงข้อเท็จจริงได้ แต่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกแจง หลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2557 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีข้าวสารคงค้างอยู่ในสต็อก 18 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวคุณภาพดี 10% ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน 70% ข้าวป่นหรือข้าวเสื่อมสภาพมีประมาณ 5% และข้าวสูญหายอีก 1 แสนตัน ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าสต็อกข้าว 18 ล้านตัน มีข้าวด้อยคุณภาพกว่า 80% ของปริมาณข้าวทั้งหมด

ประมาณการต้นทุนข้าวในสต็อกของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ช่วงกลางปี 2556 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอสูตรคำนวณราคาต้นทุนข้าวสาร โดยอ้างอิงจากผลการศึกษา “ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” ที่ระบุว่า “ข้าวเปลือก 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) นำมาสีแปรสภาพได้ข้าวสาร 0.66 ตัน (660 กิโลกรัม)” หากรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 14,500 บาท นำไปสีแปรสภาพเพื่อให้ได้ข้าวสารน้ำหนัก 1 ตัน จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 บาท ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีข้าวค้างสต็อก 18 ล้านตัน หมายความว่าข้าวสารของรัฐบาลลอตนี้มีต้นทุนประมาณ 396,000 ล้านบาท

หากนำข้อมูลผลการสำรวจปริมาณข้าวสาร 18 ล้านตัน ที่ค้างอยู่ในสต็อกตามข้อมูลข้างต้น มาวิเคราะห์ตามสูตรคำนวณดังกล่าวจะพบว่า ข้าวสารที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลที่ปริมาณข้าวมากที่สุด อันดับที่ 1 คือ ข้าวด้อยคุณภาพ มีปริมาณ 15.2 ล้านตัน ต้นทุนอยู่ที่ 334,382 ล้านบาท อันดับที่ 2 เป็นข้าวคุณภาพดี มีปริมาณ 1.8 ล้านตัน ต้นทุน 39,600 ล้านบาท ถัดไปเป็นข้าวเน่า ข้าวป่น 9 แสนตัน ต้นทุน 19,800 ล้านบาท และข้าวหายอีก 1 แสนตัน ต้นทุน 2,218 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ระบุว่าข้าวสารในสต็อกรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นข้าวด้อยคุณภาพ 85% ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุดจึงขึ้นอยู่กับจังหวะและฝีมือในการระบายข้าวด้อยคุณภาพของกระทรวงพาณิชย์ หากระบายช้า ข้าวด้อยคุณภาพก็จะกลายเป็นข้าวเน่า แต่ถ้าระบายเร็วจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำ เป็นต้น(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ประมาณการผลขาดทุนข้าว 18 ล้านตัน

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ให้ความเห็นว่าจากข้อมูลดังกล่าว หากประมาณการผลขาดทุนจากการระบายข้าวสาร 18 ล้านตัน โดยเป็นข้าวด้อยคุณภาพซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 85% ภายใต้สมมุติฐานข้าวคุณภาพดีขายที่ราคา 12,000 บาทต่อตัน (ปกติขายได้ตันละ 10,000-11,000 บาท) ส่วนข้าวเน่า ข้าวป่น ข้าวสูญหาย ขายไม่ได้ ไม่มีราคา

กรณีที่ 1 เลวร้ายที่สุด กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 3,000 บาท คาดว่าจะมีรายได้จากการระบายข้าวลอตนี้ 67,198 ล้านบาท ต้นทุนอยู่ที่ 334,382 ล้านบาท รัฐบาลขาดทุน 328,802 ล้านบาท

กรณีที่ 2 กรณีกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 6,000 บาท คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าวลอตนี้ 112,795 ล้านบาท ขาดทุน 283,205 ล้านบาท

กรณีที่ 3 ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 9,000 บาท คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าว 158,393 ล้านบาท ขาดทุน 237,607 ล้านบาท

และกรณีที่ 4 สถานการณ์ดีมาก กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวด้อยคุณภาพได้ราคาเท่ากับข้าวคุณภาพดี ตันละ 12,000 คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าว 203,990 ล้านบาท ขาดทุน 192,010 ล้านบาท

สรุป หากกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวจนครบ 18 ล้านตัน คาดว่า รัฐบาลจะขาดทุนขั้นต่ำ 192,010 ล้านบาท และขาดทุนสูงสุดไม่เกิน 328,802 ล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดจากโครงการประชานิยม

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมตัวเลขความเสียหายที่ไปปรากฏอยู่ในรายการบัญชีงบดุลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียบร้อยแล้ว ปิดงบวันที่ 31 มีนาคม 2557 ธ.ก.ส. ตั้งบัญชีรอรัฐบาลจัดงบประมาณมาชดเชยความเสียหายที่เกิดจากโครงการประชานิยมทั้งสิ้น 235,111 ล้านบาท รายการสำคัญๆ มีดังนี้

1. ธ.ก.ส. ร่วมมือกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2558 รัฐบาลต้องจัดงบฯ ชดเชยเงินต้นที่เสียหาย 131,989 ล้านบาท
2. ธ.ก.ส. ร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2558 รัฐบาลต้องจัดงบฯ ชดเชยเงินต้นที่เสียหาย 54,869 ล้านบาท
3. โครงการประกันรายได้ปีการผลิต 2552/2553 และ 2553/2554 รัฐบาลต้องจัดงบมาชดเชยส่วนต่าง กรณีชาวนาขายข้าวต่ำกว่าราคาประกันรวมทั้งสิ้น 50,928 ล้านบาท
4. ชดเชยต้นทุนทางการเงินโครงการประกันรายได้ โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางรวมเป็นวงเงิน 7,900 ล้านบาท
5. ชดเชยค่าดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ปี 2555 วงเงิน 2,395 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติมหมายเหตุงบการเงิน ธ.ก.ส., รายละเอียดงบการเงิน ธ.ก.ส. และงบกำไร-ขาดทุน