ThaiPublica > เกาะกระแส > เคาะแล้ว ส.ว. มีสิทธิ์ เสนอชื่อนายกฯ – อนุมัติ พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ – ปรับค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข 400 ล้าน

เคาะแล้ว ส.ว. มีสิทธิ์ เสนอชื่อนายกฯ – อนุมัติ พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ – ปรับค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข 400 ล้าน

23 สิงหาคม 2016


เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมวาระพิเศษร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ ไม่สนโพล ยันไม่ปรับ ครม.

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงกรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดปรับคณะรัฐมนตรี และไม่สนใจผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักใดๆ ไม่มีใครมาบังคับตนได้ ตนจะพิจารณาในภาพรวมเอง เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีทุกคนทำงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ได้ ส่วนความจำเป็นที่ต้องตั้งรัฐมนตรีช่วยเพื่อเสริมในการทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตน ครม. ก็มีไม่เกิน 35 คน เหลือ 2 ตำแหน่งที่ว่างไว้ที่ตนจะตั้งไปช่วยใครเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของตน

เมื่อถามว่าได้หารือกับ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีการหารือ เพราะปรับครม. คือตน หากใครมีปัญหาตนจะปรับ แต่ไม่เกี่ยวกับการเกษียณอายุของนายทหารบางคนในช่วงเดือนตุลาคม 2559 นี้ เพราะไม่ใช่การตอบแทน แต่ในครั้งที่แล้วเพราะหลายท่านร่วมทำงานกันมากับตน ถึงต้องให้เป็นเพราะตนไว้ใจเขา แต่ถ้าเขาทำดีอยู่แล้วตนจะปรับทำไม

เคาะแล้ว ส.ว. มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมร่วม ครม. และ คสช. ได้มีการทำความเข้าใจกันในเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และได้ข้อสรุป คือ ใน 5 ปีแรก ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น แต่จะแบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้

รอบแรกต้องเลือกจากรายชื่อ ส.ส. ที่แต่ละพรรคเสนอ พรรคละ 3 คนเท่านั้น ถ้าใครได้คะแนนเสียงถึงครึ่งหนึ่ง คือ 376 คะแนน จากทั้งหมด 750 คะแนน ก็จะได้เป็นนายกฯ หากยังเลือกไม่ได้จะต้องดำเนินการเลือกรอบ 2 โดยสามารถเลือกรายชื่ออื่นๆ นอกจากที่พรรคการเมืองเสนอได้

“ใครจะเสนอชื่อผมยังไม่รู้ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาและหารือกับสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในเรื่องคำถามพ่วง ส่วนภายใน 5 ปีนั้นจะเลือกกี่ครั้งก็อยู่ใน 5 ปี ส.ว. กับ ส.ส. เรื่องคำถามพ่วงเป็นเรื่องของ กรธ. เป็นผู้ที่จะยุติทั้งหมด อย่าไปฟังคนอื่น นายกฯ จะมาจากไหนก็มาเถอะ ประเด็นคือต้องสง่างาม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” โดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลางว่า เป็นการพูดคุยโดยมีคณะพูดคุยพาร์ท A และพาร์ท B อยู่แล้ว และจะใช้กฎหมายไทยเป็นหลัก เพราะมีเจตนารมณ์ต้องการสร้างความสงบสันติให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอใน จ.สงขลาให้ได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือ อย่าไปเร่งเขามากเพราะจะเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เราต้องการให้ภาพลดความรุนแรงเกิดขึ้นได้เสียก่อน ถึงจะคุยกันต่อไปได้ แต่ระหว่างที่พูดคุยยังมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ก็คุยกันต่อไม่ได้ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องไปพร้อมกันทุกมิติ ทั้งการพัฒนา การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพูดคุยสันติสุข ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์อยู่แล้ว

แก้ รธน.ชั่วคราว เพิ่ม สนช. 30 คน เร่งออก กม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการหารือเรื่องการแก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากต้องเร่งรัดในการออกกฎหมายที่ยังค้างอยู่อีกจำนวนมาก โดยจะมีการเพิ่มสมาชิก สนช. อีก 30 คน จากจำนวนไม่เกิน 220 คน มาเป็นไม่เกิน 250 คน

“ไม่ต้องกังวลกับการเพิ่มจำนวน สนช. เขาจะทำหน้าที่ไปจนถึงก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น และไม่มีข้อผูกมัดจะต้องกลับมาเป็น ส.ว. เพราะต้องผ่านกระบวนการสรรหาอีกมาก และคุณสมบัติก็ต่างกันออกไป สนช. เป็นข้าราชการประจำได้ แต่ ส.ว. เป็นข้าราชการประจำไม่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ ส่วนจะเสนอให้ สนช. พิจารณาเมื่อไหร่นั้น การประชุมวันนี้ได้มติไปแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คงประสานไปอีกที” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากซ้ายไปขวา
จากซ้ายไปขวา นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

อนุมัติ พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ปูทางสู่หน่วยราชการโปร่งใส

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. หรือเรียกว่า พระราชบัญญัติพัฒนารัฐวิสาหกิจ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้นตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

2. การจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ” ที่มีอายุ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกภาพ ชัดเจน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ

  1. การมีกลไกสร้างความโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง
  2. การมีกระบวนการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสและได้มาตรฐาน โดยการกำหนดสมรรถนะหลักเพื่อให้ได้คนดีและคนเก่งมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ
  3. การพัฒนาระบบประเมินผล ให้สามารถวัดผลการดำเนินงานตามแผนและนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก
  4. จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” มีสภาพเป็นหน่วยงานราชการ แต่ดำเนินงานเป็นอิสระจากการแทรกแซงของหน่วยต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจและพัฒนารัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active shareholder) โดยแบ่งการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ด้าน โดยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ส่วนบริษัทไม่ได้อยู่ใน ตลท. เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.), บริษัท ไปรษณีย์ไทย, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เป็นต้น

ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่น เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำกับดูแลเหมือนเดิม โดยมีกลไกของบรรษัทภิบาลกำกับ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น แนวทางดังกล่าวได้ดำเนินการในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ตั้งบริษัทเทมาเสก เกาหลี มาเลเซีย ทั้งนี้ เพื่อต้องการลดภาระงบประมาณในการชดเชยด้านต่างๆ ของรัฐวิสหากิจ การลดต้นทุนบริหารจัดการ

ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ พ.ร.บ. นี้แล้ว คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติภายในต้นปีหน้า

จ่าย 400 ล้าน ปรับเกณฑ์ค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงค่าตอบแทนและอัตราจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยใช้วงเงิน 9,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 400 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการลาออกของบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐแล้ว

โดยหลักเกณฑ์มีดังนี้

1) ทุกวิชาชีพจะได้รับการแบ่งจ่ายค่าตอบแทนตามระดับพื้นที่ 6 ระดับเหมือนกัน จากเดิมการแบ่งจ่าย 6 ระดับมีเฉพาะ 2 วิชาชีพ คือแพทย์และทันตแพทย์

2) ทุกวิชาชีพใช้หลักเกณฑ์ช่วงอายุราชการ 3 ช่วงเหมือนกัน จากเดิมมีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพที่ใช้เกณฑ์ดังกล่าว

3) เพิ่มกลุ่มงานสายส่งเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวด้วย จากเดิมไม่ได้รับ และ 4) ปรับปรุงอัตราเบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นในส่วนของกลุ่มเภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ (ประมาณ 1,000 บาท) สหสาขาวิชาชีพ (ประมาณ 800 บาท) และผู้ที่ปฏิบัติงานกลุ่มอื่น (ประมาณ 300 บาท) สำหรับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และปรับปรุงอัตราเบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้นทั้งหมดสำหรับโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป

“ตามหลักเกณฑ์นี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในกระทรวงสาธารณะสุขเท่านั้น ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมไปถึงผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในกระทรวงอื่นๆ ด้วย” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ไฟเขียวรถไฟไทย-จีน คาดเริ่มกันยายน 2559

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 ฉบับใหม่ โดยจะใช้แทนกรอบความร่วมมือฉบับเดิมที่ลงนามเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558

สำหรับความเปลี่ยนแปลงเป็นดังนี้

  1. ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด เป็นระบบรถไฟความเร็วสูง เริ่มต้นในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก
  2. ทั้ง2 ฝ่ายให้ความสำคัญกับช่วงที่ 1 (กรุงเทพฯ-แก่งคอย) และช่วงที่ 3 (แก่งคอย-นครราชสีมา) ซึ่งฝ่ายไทยมีสิทธิในทั้ง 2 โครงการอย่างสมบูรณ์ โดยจะพยายามเริ่มโครงการระยะแรกให้เร็วที่สุด คือ ภายในกันยายน 2559 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนทางกฎหมายภายในของฝ่ายไทยและจีน
  3. การดำเนินการระยะแรก ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบเรื่องความเหมาะสม (การสำรวจและออกแบบ) และ ฝ่ายไทยรับผิดชอบเรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการขอความเห็นชอบ การเวนคืนที่

ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้จะแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 งานโยธา การจัดซื้อจัดจ้างของไทยจะดำเนินการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อรับผิดชอบงานทั้งหมด สัญญาที่ 2 เป็นความร่วมมือกับฝ่ายจีน ดำเนินการภายใต้รูปแบบ EPC ครอบคลุมการวางราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับโครงสร้างพื้นฐานรถไฟและขบวนรถไฟ รวมทั้งการบริการและการช่วยเหลือจากฝ่ายจีน ตามความต้องการของฝ่ายไทย

สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนของโครงการช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 จะมาจากหลายแหล่ง ประกอบด้วยงบประมาณของรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่น โดยหลักการรัฐบาลไทยจะระดมทุนเงินภายในประเทศสำหรับการดำเนินโครงการภายในขอบเขตของฝ่ายไทยและพิจารณาเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน

ไฟเขียว รวบ กม. 7 ฉบับ เป็น พ.ร.บ.สรรพสามิต

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติสรรพาสามิต ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบภาษีสรรพาสามิตครั้งใหญ่ของประเทศไทย

โดยเป็นการรวมกฎหมาย 7 ฉบับมาเป็นฉบับเดียว ได้แก่ กฎหมายภาษีสรรพสามิต, กฎหมายเรื่องไพ่, กฎหมายเรื่องสุรา, กฎหมายเรื่องยาสูบ, กฎหมายพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต, กฎหมายการจัดสรรเงินจากภาษีสรรพสามิต และกฎหมายการจัดสรรเงินจากภาษีสุรา และได้ยกเลิกกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 46 ฉบับ

โดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับนี้แบ่งออกเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย หมวดการจัดเก็บภาษี หมวดการออกใบอนุญาต และหมวดการกำหนดบทลงโทษ สาระสำคัญ คือ เปลี่ยนวิธีคิดฐานภาษีเป็นแบบฐานราคาปลีกแนะนำ ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ผลิตต้องประกาศว่าเวลาขายปลีกจะขายราคาใด โดยเป็นราคาที่ผู้ผลิตและกรมสรรพาสามิตเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งเมื่อกฎหมายอยู่ในฉบับเดียวกันจะทำให้ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ทั้งการขออนุญาตและการตรวจสอบย้อนหลัง

ครม. เห็นชอบ กม.ส่งเสริมการลงทุน 4 ฉบับ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย

  1. ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ สาระสำคัญ คือ ให้คำนิยาม “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ว่า เขตพื้นที่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตพื้นที่นั้น

โดยปัจจุบันมี 10 จังหวัดที่ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตาก หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี โดยองค์ประกอบ มีคณะกรรมธิการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย และประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสามารถอนุมัติกฎหมาย 9 ฉบับ คือ กฎหมายควบคุมอาคาร, กฎหมายว่าด้วยโรงงาน, กฎหมายว่าด้วยผังเมือง, กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เฉพาะตามมาตรา 46, กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะที่ขออยู่ต่อชั่วคราว, กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข, กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร และกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

  1. ร่างพระราชบัญญัติการนิคมแห่งประเทศไทย แก้ไขจากปี พ.ศ. 2522 กำหนดให้ผู้ว่าการนิคมมีอำนาจในกฎหมาย 9 ฉบับดังกล่าว ภายในการนิคมนั้นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ การนิคมสามารถดำเนินกิจการเพิ่มเติม เช่น ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรม หรือจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
  2. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2520 มีสาระสำคัญเพื่อเพิ่มเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนใหม่ สำหรับเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ส่วนกิจการที่ไม่ควรได้รับยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 50% เป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น ในส่วนของอากรขาเข้า สามารถยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาสำหรับงานวิจัยและพัฒนา การประเมินผล
  3. ร่างพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ที่จะให้ มีอนุกรรมการสรรหาและเจรจา มีรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยกองทุนดังกล่าวนั้นจะมีเงินทุนประเดิมแรก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากบีโอไอ เช่น สามารถยกเว้นภาษีนิติบุคคลได้ถึง 15 ปี และสามารถใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาบุคลากร

ครม. เห็นชอบ 3 มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายภาครัฐ

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ตามข้อ 2 เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีทั้งหมด 3 มาตรการ ได้แก่

  1. มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (Front Load) วงเงินรวม 31,500 ล้านบาท นี่ไม่ใช่รายจ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด

เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของงบประมาณ 2560 ดังนี้ ถ้าเป็นรายจ่ายประจำ เร่งรัดเบิกจ่ายอย่างน้อยร้อยละ 33 ของวงเงิน ภายในไตรมาสที่ 1 (ภายในสิ้นปี 2559), งบฝึกอบรมประชุมสัมมนา ให้เบิกจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงิน ภายในสิ้นปี 2559

รายจ่ายลงทุน ถ้าไม่ถึง 2 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ผูกพัน และเบิกจ่ายภายในสิ้นปี 2559 ถ้าอยู่ระหว่าง 2 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในปี 2559 เช่นกัน และหากมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ภายในไตรมาาสแรกของปี 2560

  1. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ คล้ายกับมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กจำนวน 40,000 ล้านบาท เมื่อปี 2558 แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท โดยหลักการคือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ให้จัดทำรายละเอียดรายการรายจ่ายและลงทุนเสนอรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 แผนความมั่นคง และนโยบายของรัฐบาล ภายในวันที่ 2 กันยายน 2559

โดยงบประมาณนี้มาจากงบกลาง

  1. มาตรการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กร โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายจากปี 2559 ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2559

ปันงบราชประสงค์ จ่ายเยียวยาระเบิด 7 จังหวัด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบรายงานสรุปความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุระเบิดใน 7 จังหวัด ช่วงวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 จาก นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมีผู้บาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติจำนวน 11 ราย เป็นชาติเยอรมัน ฮอลแลนด์ ออสเตรีย และอิตาลี โดยผู้บาดเจ็บต่างชาติจำนวน 10 คนได้เดินทางกลับประเทศแล้ว เหลือเพียงผู้บาดเจ็บชาติฮอลแลนด์ 1 ราย ที่ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตชาวไทย 4 รายเบื้องต้นจะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 1,185,000 บาทต่อราย ส่วนผู้บาดเจ็บชาวไทยอีก 26 รายนั้นจะได้รับการดูแลตามเกณฑ์เดียวกับที่ให้ความช่วยเหลือเหตุระเบิดราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558

“พล.อ. ประยุทธ์ มีนโยบายให้จ่ายเงินช่วยเหลือให้ครบภายในคราวเดียว ไม่จ่ายแบบกระจายแบบที่ผ่านมา เว้นแต่กรณีที่หน่วยงานได้ดำเนินการจ่ายไปก่อนแล้ว และกรณีของผู้เสียชีวิตที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการมอบบเงินช่วยเหลือ โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2559 นี้ โดยงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยาต่างๆ เป็นงบประมาณที่เหลือจากงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือในเหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

รื้อโทษทางวินัยป้องกันข้าราชการทุจริตทิ้งทวน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้พ้นตำแหน่งราชการทุกหน่วยงานเป็นไปในทางเดียวกัน โดยมีหลักการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ

  • กรณีความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิด ให้ดำเนินการทางวินัยและลงโทษไปตามที่หน่วยงานดังกล่าวชี้มูล แม้ผู้นั้นจะพ้นจากราชการไปแล้ว
  • กรณีความผิดทางวินัยที่หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ตรวจพบเอง หน่วยงานจะต้องดำเนินการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับตั้งแต่พ้นราชการ ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่พ้นราชการ ยกเว้นเป็นความผิดอื่นๆ ที่ศาลปกครองวินิจฉัยเพิ่มเติมสามารถลงโทษได้อีก โดยต้องดำเนินการใน 3 ปีนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

“จากนี้ ข้าราชการที่จะทิ้งทวนก่อนเกษียณอายุ หรือทิ้งทวนก่อนออกราชการด้วยการทุจริต หรือทำผิดใดๆ จะไม่สามารถลอยนวลได้อีก” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว