เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
นายกฯปัดรับเป็นเจ้าภาพคดีโรลส์-รอยซ์
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามกรณี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพตรวจสอบเรื่องหลายหน่วยงานไทยรับสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ว่า ทำไมนายองอาจต้องเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ในเมื่อเคยเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตนได้มีการแก้ไปแล้วหลายอย่าง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ รัฐบาลให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ไปตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอยู่ตลอด ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยรัดกุมแบบนี้ แต่ทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวบุคคลซึ่งรัฐบาลก็พยายามอุดช่องว่างเหล่านี้ ทำทุกอย่างไม่ให้เกิด อย่ามาบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร
“เรื่องทุจริตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ อย่ามาพูดว่าให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่อยู่แล้ว ให้กระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบภายในของตัวเอง ป.ป.ช. เขาก็ประสานกลับไปยัง ป.ป.ช.อังกฤษ (SFO) ขอข้อมูลรายละเอียด และดำเนินการตามต่อไปในกรอบของ ป.ป.ช. เช่นเดียวกับ สตง. ก็เอารายละเอียดมา ก็ต้องสอบสวนติดตามไป วันนี้อย่าไปกดดันเขามาก เดี๋ยวเขาก็ทำตามกำหนดการเพราะมีเวลาอยู่แล้ว เรื่องในอดีตกับวันนี้มันคนละเรื่องกัน ก็สอบสวนมา ใครผิดใครถูกก็ลงโทษ ได้ไม่ได้ก็ว่ามา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานต่างๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบของตนให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะไทยไม่สามารถทำแบบสหรัฐฯ ได้ ที่จะให้ผู้กระทำผิดรับสารภาพ แล้วเสียค่าปรับให้กับรัฐ
ชี้ถ้ารัฐบาลไม่โปร่งใส อยู่ไม่ได้ถึง 3 ปี
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลของตนก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบ มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตัดสินเข้าข้างหรือไม่ตนไม่รู้ แต่ ป.ป.ช. ก็ตัดสินไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ถูกตรวจสอบหลายอย่างจาก ป.ป.ช. เช่นเดียวกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ตรวจสอบโครงการรัฐบาลทุกโครงการ มีการทักท้วง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ส่งคำชี้แจง และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการตลอด รัฐบาลตนจึงอยู่ได้ถึง 3 ปี
“แม้กระทั่งผมเองมีหลายคนไปฟ้องศาล ผมก็ต้องส่งคนไปแก้คดีเยอะแยะ แม้แต่คดีจำนำข้าวผมก็โดนฟ้องกลับ แบบนี้แล้วผมไม่ตรวจสอบตรงไหน ขอให้เข้าใจ พูดให้ดีๆ สองสามปีที่รัฐบาลเข้ามา มีกี่คดี คดีที่เกี่ยวข้องกับตำรวจก็จับ อาชญากรรมข้ามชาติ หลบหนีเข้าเมือง คดีใหญ่จับได้หมด ที่ผ่านมาได้อย่างนี้ไหม ขอให้ดูตรงนี้อย่าไปดูแค่เศษเสี้ยวแล้วบอกว่ารัฐบาลนี้เหมือนเดิม ถ้าบอกว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริต ผมขอถามว่าคดีไหนบ้างที่เข้าศาล ไปหามา อยู่ในกระบวนการของศาลหรือไม่ ถ้าไม่อยู่แล้วจะมาบอกว่ารัฐบาลนี้ก็มีเหมือนกัน ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมกับผม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ไม่สรุป “หมอประเวศ” ร่วม ป.ย.ป. – วาง “ดร.กบ” นั่ง ผอ. PMDU
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการสร้างกระบวนการปรองดองว่า รัฐบาลให้ทุกคนมีโอกาส เข้ามาพูดจาในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ หากพรรคการเมืองใหญ่ไม่เข้าร่วมในกระบวนการแสดงว่าไม่เห็นประเทศอยู่ในสายตา ไม่มองว่าจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไร จะเดินยุทธศาสตร์ชาติ และจะพัฒนาแก้ไขเศรษฐกิจให้ทันต่อสถานการณ์โลกอย่างไร พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกระบวนการปรองดองโดยไม่นำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงกระแสข่าวการทาบทามนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการหาบุคลากรต่างๆ เข้ามาทำงานใน ป.ย.ป. มีเวลาถึงสิ้นเดือนมกราคม 2560 ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดจะแบ่งเป็น 6 กลุ่ม สำหรับการทำงานได้มอบหมายให้มีการศึกษาทั้งหมดแล้ว สิ่งไหนที่ตรงกัน ทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ว่ากันมา อะไรที่ไม่ตรงกันก็รับทราบไว้เฉยๆ แล้วค่อยไปหาทางออกกันอีกครั้ง
“คณะกรรมการ ป.ย.ป. หากสรรหาเรียบร้อย มีการลงนามแต่งตั้งแล้วก็จะเริ่มทำงาน ในส่วนของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) เป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ผมก็ต้องมีคณะทำงานเพื่อไปขับเคลื่อน ก็ได้เชิญนายอำพน กิติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ PMDU เพราะเขาก็รู้เรื่อง รู้ปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด และอยู่มาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งเขาก็รับปากแล้วว่าจะมาช่วยงานดังกล่าว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
แจงสูตร 66/33 ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามกรณีข้อเสนอให้นำสูตรการปรองดอง (สูตร 66/23) ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ มาใช้ ว่า ตนอยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดี เพราะสูตรดังกล่าวกับเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นคนละกรณีกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้ มีทั้งการใช้กำลัง การใช้อาวุธสงคราม
“วันนี้เราไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันมันเป็นคนละอย่าง และไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่การจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างไร ด้วยกลไกปกติซึ่งมันต้องมีวิธีการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ยันแก้สัญญาศูนย์ฯ สิริกิติ์ ไม่เอื้อกลุ่มทุน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลแก้ไขสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จาก 25 ปีเป็น 50 ปี ถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ว่า อย่ามองว่าเอื้อประโยชน์กับใคร ใครมีข้อเสนอที่ดีที่สุดก็รับมา ซึ่งกระทรวงการคลังชี้แจงแล้วว่าการทำลักษณะนี้จะได้ประโยชน์ระยะยาว และได้เงินเพิ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้ 18,000 ล้านบาท ประกอบกับได้อาคารสถานที่ใหม่ด้วย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามกรณีที่สังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงการผูกขาดตลาดเบียร์อยู่ในกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม จากกรณีที่ตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจังหวัดนนทบุรีจับกุมตัวนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ที่ผลิตเบียร์เพื่อดื่มและจะนำออกจำหน่าย ว่า กรณีดังกล่าวหากกลุ่มทุนไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็ไม่สามารถเล่นงานเขาได้ ส่วนการหมักเบียร์สดเองผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ดำเนินคดี ซึ่งถ้าทางกลุ่มทุนทำผิดก็ต้องดำเนินคดีกับเขาเช่นกัน
นายกฯ ชี้เยียวยาน้ำท่วมต้องดูให้ครอบคลุม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามกรณีการขอเพิ่มเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ว่า รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้วซึ่งต้องดูรายละเอียดความเดือดร้อนต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนตามรายงานตัวเลข สถิติต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งจะต้องดูงบประมาณ และข้อกฎหมายประกอบการพิจารณาด้วย
“เบื้องต้นรัฐบาลได้ยึดตามระเบียบและมาตรการในการช่วยเหลือ คือ ให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท แต่การใช้งบประมาณของรัฐบาลจำเป็นต้องนำไปช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องของประมง ปศุสัตว์ ระบบสาธรณูปโภค โรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบประปา น้ำ ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต สถานที่ราชการและเส้นทางคมนาคม จะต้องมีมาตรการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ ส่วนนี้จะต้องไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งต้องพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ตามกฎหมาย หากทำไม่ได้ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. หางบประมาณต่อไป”
โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือแต่ละด้านของแต่ละกระทรวง โดยย้ำว่า รัฐบาลให้การดูแลทุกภาคส่วน ขออย่ากล่าวโทษว่ารัฐบาลไม่ดูแล
อนึ่ง ในการประชุม ครม. ได้มีการรายงานผลกระทบและความเสียหายในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม พบว่า ด้านเกษตร มีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 1 ล้านไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 32,000 ไร่ ปศุสัตว์ 88,000 กว่าตัว ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบลงไปช่วยเหลือ ขณะที่การฟื้นฟูมีมาตรการ ทั้งด้านกระทรวงการคลัง ที่จะนำเงินทดรองราชการ จากเดิมที่แต่ละจังหวัดได้ 50 ล้านบาท เพิ่มเป็น 150 ล้านบาท เพื่อไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกัน ได้ออกมาตรการด้านภาษีและมาตรการทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ การขยายเวลาชำระภาษี
วางอ่างบัวแค่ปรับภูมิทัศน์ ไม่สนฮวงจุ้ย
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการนำอ่างบัวมาประดับไว้ในทำเนียบฯ ว่า ตนได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจะต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน ซึ่งตนไม่ได้สนใจเรื่องฮวงจุ้ย ให้ดูที่การทำงาน เพราะไม่ว่าจะจัดวางอะไรถ้าเกิดการทุจริตก็ไม่สามารถช่วยได้
“ความจริงผมไม่อยากพูดเรื่องบัว บัวถือเป็นพืชสกุลสูง นำไปไหว้พระ ถือว่าเป็นมงคล เป็นคติเตือนใจว่าทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง อย่าทำตัวเหมือนบัวใต้น้ำ เพราะจะเป็นอาหารของเต่าปูปลา และอย่าพูดว่ารัฐบาลนี้เอาแต่ของดีๆ มาฉาบฉวยเหมือนบัวพ้นน้ำ แต่เรื่องไม่ดีกลับหมกโคลนตม ก็ผมกำลังขุดโคลนตมขึ้นมา ที่มีการฟ้องร้องกันทุกวัน อย่างเมื่อวานมีเรื่องทุจริต นั่นมันโคลนตมหรือไม่ รัฐบาลพร้อมตอบทุกคำถาม ถ้าผิดก็ฟ้องมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารรับรองหลังตึกไทยคู่ฟ้านั้น ก็ได้ให้ตรวจสอบแล้วว่าล่าช้าเพราะอะไร ได้ต่อเวลาในการก่อสร้างไปอีกหรือไม่ แต่อยากให้คิดว่าทำเนียบรัฐบาลควรจะมีการเปลี่ยนแปลง ใช้รับรองแขกเป็นหน้าตาให้ประเทศ และตนก็ไม่ได้อยู่จนวันตายรัฐบาลอื่นก็ได้ใช้ประโยชน์ต่อ
มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้
อนุมัติงบปี 2561วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท – 23% งบลงทุน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.3% ของจีดีพี ลดลงจากปีก่อนหน้า 23,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.8%
โดยสำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะเติบโตได้ 3.3-4.3% ดีขึ้นจากปี 2560 ที่คาดการณ์ไว้ 3-4% และจะจัดเก็บรายได้ได้ 2.45 ล้านล้านบาท และต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จะแบ่งเป็นงบประจำ 74% ของงบประมาณรวม เพิ่มจาก 73.8% ในปีก่อนหน้า, งบลงทุน 23% เพิ่มจาก 22.5%, ชดเชยต้นเงินกู้ 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% (ในปีงบประมาณ 2560 มีการชดเชยเงินคงคลัง 0.9% ของงบประมาณรวม ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 ไม่มี)
“งบประมาณในปี 2561 มีความพิเศษหลายเรื่องคือเป็นปีแรกที่จัดทำงบประมาณตามวาระหรือ Agenda 29 หัวข้อไม่ใช่ทำแบบเป็นตามหน้าที่ของหน่วยงานหรือ Function แบบเดิม และงบลงทุนที่ 23% ถือว่าสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดทำงบประมาณของท้องถิ่น 740,000 ล้านบาท และมีงบกลุ่มจังหวัดที่รัฐบาลให้ความสำคัญแยกออกมา ทั้งหมดนี้จะทำงบประมาณที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฉบับที่ 12 มีมิติทั้งด้านกระทรวง, พื้นที่, Agenda บูรณาการกันสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน มีการจัดลำดับความสำคัญ ความพร้อม คุ้มค่า ของโครงการต่างๆ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ยืดมาตรการส่งเสริมเอกชนลงทุน 1 ปี
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม โดยทรัพย์สินต้องเป็นเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะไม่เกิน 10 คัน และอาคารถาวรที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหรือที่ดิน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 – 31 ธันวาคม 2559 เป็นตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ลดจำนวนหารหักรายจ่ายฯ จากเดิม 2 เท่า แบ่งเป็นตามรายจ่ายจริง 1 เท่า และหักจากค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมอีก 1 เท่า เหลือเพียง 1.5 เท่า แบ่งเป็นรายจ่ายจริง 0.5 เท่าและค่าสึกหรอฯ 1 เท่า เนื่องจาก สศช. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าการลงทุนของเอกชนจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2560 และจำเป็นต้องรักษาฐานะการคลังในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า การขยายเวลาของมาตรการดังกล่าวจากประมาณการของสภาหอการค้าไทยและหอการค้าไทยคาดว่าปี 2560 จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 8,000 ล้านบาท แต่อาจจะทำให้รัฐทยอยสูญเสียรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี โดยจะสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ 2560 ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2560
แก้กฎหมาย EXIM Bank ดันนักธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ. EXIM Bank เพื่อแก้ไขอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบัน ภายหลังจากประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2536 หรือมากกว่า 20 ปีแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ. จะแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ EXIM Bank 3 ประเด็น คือ
1) ขยายขอบเขตรับประกันความเสี่ยงในการได้รับการชำระเงินให้ครอบคลุมถึงกรณีขายสินค้าให้คู่ค้าภายในประเทศ และรับประกันความเสี่ยงในกรณีที่ธนาคารของผู้ส่งออกถูกเรียกให้ชำระเงินตามหนังสือโดยไม่มีเหตุอันควร รวมทั้งการทำประกันต่อหรือรับประกันต่อเรื่องดังกล่าว จากเดิมที่ธนาคารจะรับประกันความเสี่ยงเฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับคู่ค้าต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันที่หลายธุรกิจมีธุรกรรมเกิดขึ้นทั้งกับภายนอกประเทศในฐานะผู้ส่งออกและภายในประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนต้องไปทำประกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภายในประเทศกับบริษัทอื่น ซึ่งเพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจกับผู้ลงทุน
2) ขยายขอบเขตการรับประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่ได้ขอสินเชื่อจาก EXIM Bank ในลักษณะเดียวกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมไปถึงให้รับประกันสินเชื่อเพื่อการลงทุนให้แก่ธนาคารของผู้ลงทุนได้เช่นกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงแก่ธนาคารพาณิชย์ไทยในการให้สินเชื่อแก่นักลงทุนไทยมากขึ้น
3) แก้ไขอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศสำหรับยอดรวมของเงินกู้ของ EXIM Bank ที่ขอให้รัฐบาลค้ำประกัน โดยให้อ้างอิงตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแทน จากเดิมที่ให้อ้างอิงตามทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว
แบงก์รัฐออกมาตราการช่วยเหลือน้ำท่วมใต้
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ตามที่กระทรวงการคลังเสนอขึ้นมา แบ่งเป็น 1) ธนาคารออมสิน มีมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยพักชำระเงินต้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และให้ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่ 50-100% แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการให้เงินกู้เพื่อประกอบธุรกิจหรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม
2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทำมาตรการพักชำระหนี้หรือเลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดยจะไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้แก่เกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและมีรายได้ไม่เพียงพอส่งชำระหนี้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบและกระทบรายได้มากกว่า 50% จากรายได้ปกติ โดยกำหนดวงเงินกู้ 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 3 ปี คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 0% และต่อจากนั้คิดอัตรา MRR จนครบ วงเงินรวม 6,750 ล้านบาท
3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหรือซ่อมแซมอาคาร กำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 0% ต่อปีใน 3 เดือนแรกและคิดอัตรา MRR-2.5% ในเดือนที่ 4-12 และตามที่ ธอส. กำหนดในเดือนต่อๆ ไป สำหรับการกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ ปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปีและคิดตามที่ ธอส. กำหนดในปีต่อๆ ไป
4) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีมาตรการพักชำระหนี้ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และมีมาตรการวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการให้กับลูกค้าเดิมของ ธพว. เพื่อปรับปรุง ฟื้นฟู และหมุนเวียนในกิจการที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มที่สามารถดำเนินต่อไปได้ เป็นลักษณะ Term Loan วงเงินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปี คิดดอกเบี้ย MLR ตลอดอายุสัญญา
5) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยจะขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งรวมกับอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 360 วันและมีการลดดอกเบี้ยเหลือ 4% ในช่วง 6 เดือน และสามารขยายระยะเวลาสินเชื่อได้ไม่เกิน 2 ปี ขณะที่ลูกค้าเงินกู้ระยะยาวจะพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย และสุดท้าย สำหรับลูกค้าเงินกู้เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมอาคารโรงงานที่เสียหาย จะจัดสรรเงินสินเชื่อระยะเวลา 5 ปี (ปลอดเงินต้น ไม่เกิน 6 เดือน) คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปีในปีแรก หลังจากนั้นคิดตามอัตราปกติ
สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม จะขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งรวมกับอายุของตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 360 วัน และลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อหมุนเวียนให้ 6 เดือน
6) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักชำระเงินต้นและให้ชำระเฉพาะกำไรอย่างเดียว เฉพาะลูกค้าที่อยู่ในประกาศพื้นที่ประสบภัย เป็นเวลาสูงสุด 24 เดือน หลังจากนั้นคิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปสูงสุดไม่เกิน 24 เดือน
7) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 30 มิถุนายน 2560 โดยขยายระยะเวลาการชำระออกไป 6 เดือน
8) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) มีมาตรการพักชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน หรือลดดอกเบี้ย โดยพิจารณาจากความรุนแรงของความเสียหาย และปรับลดเงินงวดผ่อนชำระ โดยขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปรวมไม่เกิน 30 ปี และลูกค้าสามารถเข้าร่วมโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ บตท. ได้
9) ธนาคารกรุงไทย มีมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ประสบภัย โดยปรับลดดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ฉบับเดิม โดยเดือนที่ 1-3 คิด 0% เดือนที่ 4-12 ปรับลดลง 0.25% หลังจากนั้นเรียกเก็บตามปกติ
ชงกฎหมายตั้งบริษัทคนเดียว – ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างหลักการพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศไทย โดยยึดหลักการว่าเจ้าของธุรกิจที่แท้จริงเป็นผู้ถือสัญชาติไทย ไม่เคยต้องโทษคดีฉ้อโกง หรือมีลักษณะเป็นตัวแทนของต่างชาติ หรือนอมินี และจำกัดให้สามารถตั้งได้เพียง 1 บริษัทต่อ 1 บุคคล โดยเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวขึ้นมา ผู้จัดตั้งจะมีสถานะนิติบุคคลขึ้นมา ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รับการช่วยเหลือหรือประโยชน์บางประการจากมาตรการภาครัฐ หรือนำธุรกิจไปค้ำประกันได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการจัดตั้งมีเพียงขั้นตอนเดียวโดยไม่ต้องจดใบบริคณห์สนธิ ให้อำนาจอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถยกเว้นให้ไม่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเอื้อให้การจัดตั้งธุรกิจง่ายมากขึ้น ตามหลักเกณฑ์รายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก หรือรายงาน Doing Business
“ปัจจุบัน ถ้าจะตั้งบริษัทจะต้องมีผู้ถือหุ้น 3 คน แต่ว่าการสำรวจบริษัทจำกัดที่จดทะเบียน 400,000 ราย มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือเกินครึ่งทั้งสิ้น 98% และมีคนคนเดียวถือหุ้นเกิน 90% ของหุ้นทั้งหมด 82% ของบริษัทจำกัดในระบบ แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่จดทะเบียน คนที่มีอำนาจและเป็นเจ้าของก็คือคนคนเดียว แต่ว่าเนื่องจากกฎหมายไม่เอื้อจึงต้องไปหุ้นส่วนอีก 2 คน ต่อมาก็อาจจะทะเลาะกันบ้าง มีข้อพิพาท ซึ่งกลับสร้างค่าใช้จ่ายแบบไม่ใช่เหตุ ครม. จึงเห็นชอบกฎหมายนี้ออกมา” นายณัฐพรกล่าว
ช่วยชาวประมงภาคใต้ 350 ล้านบาท
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติให้กรมประมงกู้ยืมเงินจำนวน 350 ล้านบาทจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เป้าหมาย 3,500 ราย รายละ 100,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการหาปัจจัยการผลิตในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยไม่คิดดอกเบี้ย กำหนดชำระคืน 2 ปี โดยต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประกอบกิจการด้านการประมง ได้แก่ ปลากินพืชในบ่อดิน กุ้งขาว และปลานิลในกระชัง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรมประมงมีกำหนดคืนเงินกองทุนฯ 3 งวด แบ่งเป็นเดือนกันยายน 2560 70 ล้านบาท และเดือนกันยายน 2561-2562 อีกปีละ 140 ล้านบาท
ปรับสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ 3.5 หมื่นล้าน
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่างเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ในวงเงิน 35,400 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ รวมเวลาดำเนินการ 9 ปี
สำหรับ ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการปี 2559-2563 เป็นการจัดทำสายส่งขนาด 500 เควี ใน จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต และ ระยะที่ 2 ดำเนินการต่อเนื่องในปี 2563-2566 เป็นการจัดทำสายส่งขนาด 500 เควี ใน จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม. ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการสายส่งไฟฟ้าระยะที่ 2 ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากโรงไฟฟ้าเทพาและโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่เกิดขึ้น เพราะเดิมขนาดสายส่งในภาคใต้ ประมาณ 115-230 เควี ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหากระแสไฟฟ้าดับ จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดความจุของขนาดสายส่ง แต่หากไม่มีโรงไฟฟ้าเทพาและโรงไฟฟ้ากระบี่ ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการปรับปรุงระบบสายส่งในระยะที่ 2 แต่อย่างใด
ทั้งนี้ พล.ท. สรรเสริญ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุมว่า โครงการโรงไฟฟ้าเทพากับโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องมีความชัดเจนภายใน 1 เดือนนี้ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเดินหน้าโครงการดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา
“สำหรับกรณีที่กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน มีความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปชี้แจง ซึ่งจากข้อเท็จจริงก็พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการเห็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทั้งการใช้พลังงานภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ในด้านภาคการผลิตและการบริการ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถที่จะจำกัดการใช้พลังงานได้ จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้น โครงการนี้จะต้องมีการเดินหน้า” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ต่อเวลาใบอนุญาตแรงงานประมง ถึง 1 พ.ย. 60
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่าครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล กำลังจะหมดอายุในวันที่ 31 มกราคม 2560 และสำหรับแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำและผู้ติดตาม จะหมดอายุในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ขยายเวลาทั้ง 2 กรณีไปถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เพื่อรอให้มีการตรวจพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อยจากทางประเทศต้นทาง
“ครั้งนี้ที่ต้องขยายเวลาเนื่องจากมีเหตุขัดข้อง กรณีของเมียนมาที่จะเข้ามาตรวจพิสูจน์สัญชาติเขาขอเลื่อนกำหนดการไป 3 เดือน ด้านกัมพูชามีแรงงานที่เข้าไปขอรับหนังสือเดินทางน้อยไม่เป็นไปตามแผนที่เขาวางไว้ ส่วนทางเวียดนามยังไม่มีการแจ้งใดๆ เข้ามาจึงต้องขยายเวลาออกไปก่อน” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาความล่าช้าจนต้องมีการเลื่อนเวลาเช่นนี้มาโดยตลอด นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับเรื่องนี้ไปหาวิธีแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการเลื่อนระยะเวลาออกไปเช่นนี้อีก ซึ่งมีแนวทางว่าจะหารือประเทศต้นทางก่อนที่ประชาชนของเขาจะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตรวจพิสูจน์ยืนยันสัญชาติตั้งแต่ต้นทาง เมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะได้ไม่ต้องตรวจพิสูจน์สัญชาติย้อนกลับอีก
เพิ่มเงินเดือนครูเอกชน 4% ย้อนหลัง 22 เดือน
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ การจัดสรรเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนครูเพิ่มให้แก่โรงเรียนเอกชน โดยใช้งบประมาณปี 2559 จำนวน 328.84 ล้านบาท และงบฯ กลาง ปี 2559 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 216.05 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนครู ร้อยละ 4 ของปีงบฯ 2558 และปีงบฯ 2559 โดยเป็นในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 151.54 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 64.51ล้านบาท
“กรณีนี้เป็นการให้เงินเดือนครูเอกชนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557-2559 รวม 22 เดือน เป็นการปรับเพิ่มให้มีอัตราเดียวกันทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เพื่อให้สอดรับกับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการในอัตราร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนดังกล่าว ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนอาจจะไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4 ทุกคน เนื่องจากการคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวเป็นการคำนวณจากเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนครู ไม่ใช่คำนวณจากตัวเงินเดือนครู ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนอาจมีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูไปแล้วก็ได้