ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ต่อเวลาใช้ฐานภาษีบุคคลธรรมดาเดิมอีก 1 ปี – แบ่ง 8 กลุ่มงานใหม่ลุยภารกิจปฏิรูป – ยังไม่ยุบ TCDC แต่ทบทวนความจำเป็น 39 องค์การมหาชน

ครม. ต่อเวลาใช้ฐานภาษีบุคคลธรรมดาเดิมอีก 1 ปี – แบ่ง 8 กลุ่มงานใหม่ลุยภารกิจปฏิรูป – ยังไม่ยุบ TCDC แต่ทบทวนความจำเป็น 39 องค์การมหาชน

11 พฤศจิกายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ประเด็นสำคัญคือกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ครม. จะมีมติปรับโครงสร้างสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. โดยยุบเลิกศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (Thai Knowledge Park: TK park)

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลเพียงให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ไปประเมินการทำงานขององค์การมหาชนต่างๆ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นที่จะเสนอควบรวมหรือยุบเลิกองค์การมหาชนใด เท่าที่ดูส่วนใหญ่ตนเห็นว่าหลายแห่งยังมีประโยชน์ แต่ภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าอาจให้ ก.พ.ร. เข้าไปประเมินอีกครั้ง ถ้าเห็นว่าองค์การมหาชนใดไม่มีความจำเป็นก็อาจจำเป็นต้องยุบเลิกหรือควบรวม ดังนั้น องค์การมหาชนทั้ง 39 แห่งจึงต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม

แบ่งงานใหม่ 8 กลุ่ม ลุยงานปฏิรูป ตั้ง “สุวพันธุ์” ประสาน สปท.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลจะเดินหน้างานด้านการปฏิรูปประเทศมากขึ้น จึงมีมติแบ่งกลุ่มงานจากเดิมที่เคยแบ่งไว้สมัย คสช. เป็น 5 กลุ่มงาน โดยเน้นงานด้านการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหลัก แต่ครั้งนี้จะเพิ่มเป็น 8 กลุ่มงาน โดยเพิ่มเติมงานด้านการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งแต่จะกลุ่มงานจะมีรองนายกฯ รับผิดชอบ ประกอบด้วย

  1. กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องทรัพยากรมนุษย์ มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง เป็นประธาน
  2. กลุ่มงานด้านการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เป็นประธาน
  3. กลุ่มงานด้านการเกษตรแนวใหม่และการบริหารจัดการน้ำ มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง เป็นประธาน
  4. กลุ่มงานด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน
  5. กลุ่มงานด้านความมั่นคง มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
  6. กลุ่มงานด้านสาธารณสุขและประกันสุขภาพ มี พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เป็นประธาน
  7. กลุ่มงานด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา มี พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นประธาน
  8. กลุ่มงานด้านวาระแห่งชาติและการแก้ไขปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านการบิน ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ฯลฯ มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน ยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการประสานงานระหว่างรัฐบาลกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือวิปรัฐบาล-สปท. โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน เพื่อประสานการทำงานระหว่าง ครม. กับ สปท. ว่างานด้านการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านใดที่ ครม. เริ่มทำไปบ้างแล้ว โดยต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องใดจะต้องทำให้เสร็จก่อนเดือนกรกฎาคม 2560

ยัน มทบ.11 ไม่ใช่เรือนจำทหาร – ไฟเขียวสอบทุจริต “อุทยานราชภักดิ์”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำ ที่ปัจจุบันมีจำนวนถึง 3-4 แสนคน จากที่รองรับได้เพียง 1 แสนคน โดยไม่มีการแยกอัตราโทษหนัก-เบา ทำให้เหมือนกับเป็นการรวมดาวนักโทษตั้งแต่ระดับ ป.1 ไปจนถึงอุดมศึกษา มีการถ่ายทอดวิธีการทำผิดกฎหมายให้แก่กัน ทั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปล่อยนักโทษซึ่งเหลือโทษไม่มากนักให้ออกจากเรือนจำแล้วใช้วิธีติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวแทน ยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดในการสร้างเรือนจำเพิ่มเติม เพราะไม่ใช้วิธีแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังต้องหาวิธีทำให้นักโทษกลับคืนสู่สังคมได้เมื่อพ้นโทษโดยไม่กลับไปกระทำผิดกฎหมายอีก ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอแผนมาให้ตนดูแล้ว คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้

เมื่อถามถึงเรือนจำชั่วคราว ในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งใช้คุมขังผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง รวมถึงคดีของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง กับพวก ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานที่ดังกล่าวไม่ใช่เรือนจำทหาร แต่เป็นเรือนจำชั่วคราวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ และใช้ระบบการดูแลเหมือนเรือนจำอื่นๆ เหตุที่ต้องมาใช้ มทบ.11 เพราะเรือนจำปกติไม่พอเพียงและไม่เหมาะสม ส่วนกรณีที่นายสุริยันเสียชีวิตอย่างกะทันหันภายในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 ต้องไปฟังสาเหตุจากแพทย์ว่าเกิดจากอะไร แต่เท่าที่ทราบญาติของนายสุริยันก็ไม่ติดใจ

ส่วนปัญหาเรื่องการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีการทุจริต โดยเฉพาะกรณีเรียกรับหัวคิว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบก่อน ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน หรือมียศอะไรก็สอบมา ใครทำผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย และขอร้องสื่อว่าอย่าไปขยายความ และอย่าเหมารวมทำจุดผิดพลาดเล็กๆ ให้กลายเป็นจุดผิดพลาดในภาพรวม

ทั้งนี้ การจัดงาน Bike for Dad ทั่วประเทศ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ตนขอให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกับดูแลให้การจัดงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย

แจงให้ “วิษณุ” ดูคดี บ.บุหรี่ยักษ์ใหญ่เลี่ยงภาษี แค่หวังรอบคอบ ปัดช่วยล้มคดี

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงคดีหลีกเลี่ยงภาษีบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ระดับโลก มูลค่ากว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ว่า คดีนี้เป็น 1 ใน 12 คดีที่รัฐบาลเป็นคู่ความที่ตนสั่งให้รวบรวม และสั่งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เข้าไปดูเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ยืนยันว่าไม่ใช่การเข้าไปล้มหรือเป่าคดี

“ถ้าเขาจะมาขออะไรจากรัฐบาล สิ่งเดียวที่ขอได้คือทำให้คดีเร็วขึ้นหน่อย เพราะเป็นคดีที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปีแล้ว ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด”

เมื่อถามว่าสามารถใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 แก้ปัญหาในคดีนี้ได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า คงจะใช้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ตนสั่งไป ประเทศอื่นก็ไม่จำเป็นต้องทำตาม เพราะเขาไม่มีมาตรา 44 ส่วนที่มีข่าวว่าอัยการอาจจะส่งฟ้องคดีนี้ในเร็วๆ นี้ ตนยังไม่ทราบ เพราะยังไม่มีใครรายงานเข้ามา แต่ทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการ

ชื่นชมเลือกตั้งพม่า คนใช้สิทธิ 80% ขอชาวไทยดูเป็นตัวอย่าง

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งในประเทศพม่าว่า ขอแสดงความยินดีกับการเลือกตั้งในพม่า แต่อย่านำเรื่องพลเรือนหรือทหารมาตีกัน ทั้งนี้ อยากให้คนไทยดูคนพม่าเป็นตัวอย่าง เพราะเขาออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันถึง 80% ขณะที่คนไทยยังออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันน้อยอยู่ ที่เหลือไม่ออกมา แต่พอการเมืองทำอะไรไม่ดี ก็จะบอกว่าไม่ได้เลือกมา จะไม่รับผิดชอบกันแบบนี้ไม่ได้ ครั้งหน้าอยากให้ออกมาใช้สิทธิ์กันให้ครบไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรือการทำประชามติ

“นี่แหละประชาธิปไตย ถ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วติติงอย่างเดียว มันไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายกฯ ของไทยได้ส่งสารแสดงความยินดีถึงประธานาธิบดีของพม่า และชื่นชมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

มาตรการรัฐบาลเริ่มออกผล ทำดัชนีเชื่อมั่นเพิ่ม – สั่งทำแผนจัดการน้ำทั้งระบบ

นายกฯ ยังกล่าวถึงประเด็นทางการเมืองว่า ขอยินดีกับประเทศพม่าที่มีการเลือกตั้ง ยืนยันว่าไม่ว่ารัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ทำงานร่วมกันได้ เพราะต่างต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ตนเห็นว่าสามารถทำได้ แต่คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือประชาชน ในการทำประชามติ

ส่วนที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ช่วยผ่อนปรนให้พรรคการเมืองสามารถจัดการประชุมหารือกันได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าหากเปิดให้มีการประชุมกันแล้ว แทนที่จะไปหารือกันเรื่องปฏิรูปประเทศ คงจะไปคุยกันเรื่องที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศมากกว่า จึงอยากให้กลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตประกอบด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2558 ที่เพิ่มจาก 72.1 มาอยู่ที่ 73.4 ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบสิบเดือนว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเริ่มผลิดอกออกผล แต่การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป

ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้เรามีน้ำอยู่ในเขื่อนเพียง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ตนจึงสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อให้รู้ว่ายังมีน้ำอยู่ที่ไหน เท่าไร และจะใช้ทำอะไรบ้าง

“วิษณุ” แจงเหตุทบทวน 39 องค์การมหาชน –ไม่ยุบ TCDC แต่อาจย้าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุม ก.พ.ร. ได้เสนอผลประเมินการทำงานขององค์การมหาชนจำนวนหนึ่งจริง แต่ไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะควบรวมหรือยุบเลิกองค์กรมหาชนใด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยดูจาก 3 ปัจจัย คือ 1. วัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กร มีการดำเนินงานตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ 2. ธรรมภิบาล เช่น ความโปร่งใส ประหยัด และคุ้มค่าหรือไม่ และ 3. ความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กร ว่ายังจำเป็นต้องใช้รูปแบบองค์การมหาชนหรือไม่ หรือจะให้หน่วยงานราชการไปจนถึงให้บริษัทเอกชนทำแทนได้ ทั้งนี้ การควบรวมหรือยุบเลิกองค์การมหาชนใดขึ้นอยู่กับ ครม. โดยจะออกมาเป็น พ.ร.ฎ. เท่านั้น ซึ่งไม่ยากเย็นอะไร

“องค์การมหาชนทั้ง 39 แห่งไม่เคยถูกตรวจสอบมาก่อน ว่ายังมีความจำเป็นในการคงอยู่หรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปประเทศ จึงต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกัน เพราะซีอีโอของบางแห่งมีเงินเดือนมากกว่านายกฯ ถึง 3 เท่า บางแห่งมีคนทำงานทั้งองค์การเพียง 7 คน บางแห่งจัดตั้งขึ้นโดยใช้เวลาเพียงข้ามคืนไม่มีการศึกษาอย่างแท้จริง ขณะที่บางแห่งได้ระบุระยะเวลาไว้ว่าจะอยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปี แต่ถึงเวลาก็มาขอต่ออายุอยู่ตลอด”

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะยุบองค์การมหาชนบางแห่ง เช่น TCDC หรือ TK Park นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นจะต้องยุบเลิก แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เคยอยู่กับกระทรวง X ก็อาจจะไปอยู่กับกระทรวง Y ทั้งนี้ ครม. จะต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบด้วย แต่ผลประโยชน์ของส่วนรวมก็มีความสำคัญ ยืนยันว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้เกี่ยวข้องจะได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรม

ครม. ขยายเวลาใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเดิม อีก 1 ปี

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญอื่นๆ มีอาทิ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเดิมออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่มีผลถึงการประเมินภาษีประจำปี 2558 เท่านั้น ออกไปจนถึงปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งต้องการให้การเก็บภาษีเป็นไปตามสัดส่วนรายได้ของประชาชน

สำหรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมในปัจจุบัน (ซึ่งปรับปรุงเมื่อปี 2556) แบ่งเป็น 7 ระดับชั้น

– ผู้มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปี จะเสียภาษีในอัตรา 5%

– ผู้มีรายได้ 300,000-500,000 เสียภาษีในอัตรา 10%

– ผู้มีรายได้ 500,000-750,000 บาท/ปี เสียภาษีในอัตรา 15%

– ผู้มีรายได้ 750,000-1,000,000 บาท/ปี เสียภาษีในอัตรา 20%

– ผู้มีรายได้ 1,000,000-2,000,000 บาท/ปี เสียภาษีในอัตรา 25%

– ผู้ที่มีรายได้ 2,000,000-4,000,000 บาท/ปี เสียภาษีในอัตรา 30%

– ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 4,000,000 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35%

ยืดอายุ “รถเมล์-รถไฟ” ฟรี อีก 6 เดือน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการให้บริการรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรี ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ออกไปอีก 6 เดือน หรือจนถึง 30 เมษายน 2559 มีวงเงินที่รัฐบาลต้องชดเชยรวม 2,103 ล้านบาท ประกอบด้วยการให้บริการรถเมล์ฟรี 800 คัน/วัน ใน 73 เส้นทาง คิดเป็นเงิน 1,599 ล้านบาท และรถไฟชั้น 3 ฟรีเชิงสังคม จำนวน 164 ขบวน/วัน กับรถไฟชั้น 3 ฟรีเชิงพาณิชย์ อีก 8 ขบวน/วัน คิดเป็นเงิน 504 ล้านบาท

สำหรับมาตรการนี้ใช้แล้ว 18 ครั้ง โดยนายกฯ เคยให้นโยบายไปว่า การให้บริการรถเมล์ฟรีและรถไฟฟรีอยากจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยมากจริงๆ ส่วนผู้ที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้มากก็ควรจะเสียค่าบริการบ้าง แต่เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล จึงจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาการใช้มาตรการนี้อีกไปก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชน

ไฟเขียวคลายเกณฑ์ทำผังเมือง เอื้อภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้มีการยกเลิกกฎระเบียบบางประการที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518 เพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ และให้สอดคล้องกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ว่าจะบริเวณชายแดน หรือที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) เนื่องจากการจัดทำผังเมืองของแต่ละจังหวัดในปัจจุบันต้องใช้เวลานาน เพราะมีถึง 18 ขั้นตอน ทำให้พื้นที่ซึ่งสามารถประกอบอุตสาหกรรมใดไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาของประเทศ เช่น ไม่สามารถขยายโรงงานหรือจัดตั้งโรงงานบางประเภท โดยผังเมืองรวมของบางจังหวัด เช่น จ.ระยอง กรณีมาบตาพุด ที่มีการลดพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานลงถึง 50% หรือ จ.สงขลา ที่เปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม เป็นต้น

รับทราบแผนปฏิรูปคลองแสนแสบให้สะอาดใน 2 ปี

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบสะอาดใน 2 ปี ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ประกอบด้วย 3 แนวทางปฏิบัติที่สำคัญ คือ

1. ปรับปรุงคุณภาพของน้ำ โดยหลักการจะไม่ใช้การบำบัดทางสารเคมี แต่จะใช้วิธีการบำบัดโดยชีวภาพ มีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียตลอดแนวคลองแสนแสบเพื่อรองรับน้ำเสียจากที่ต่างๆ ก่อนส่งไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำเสียดินแดง โดยการทำเขื่อนจะสามารถปิดกั้นควบคุมระดับน้ำได้ในแต่ละช่วงเพื่อให้สามารถขุดลอกคลองได้

2. การปรับปรุงท่าเรือ ภูมิทัศน์ และพื้นที่หลังเขื่อน ให้เป็นเส้นทางจักรยานและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยสถิติพบว่ามีผู้ใช้บริการเรือคลองแสนแสบประมาณ 1 แสนคน/วัน ซึ่งถือว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาใช้การเดินทางในเส้นทางนี้มากขึ้นจึงต้องมีการปรับภูมิทัศน์และปรับปรุงท่าเรือให้ดีขึ้น

และ 3. การปลูกจิตสำนึก โดยให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชน

ทั้งนี้ คลองแสนแสบถูกขุดขึ้นในปี 2380 เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในพื้นที่ กทม. โดยระบายน้ำจาก กทม. ไปยังฝั่งตะวันออกทางแม่น้ำบางประกง คลองแสนแสบที่อยู่ในพื้นที่ กทม. จะมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ กทม. จะมีกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการดูแลการสัญจรในคลองแสนแสบเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า

เร่งโครงการตำบลละ 5 ล้าน ที่เกี่ยวกับปลูกพืชใช้น้ำน้อย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท โดยเฉพาะในมาตรการที่ 4 เรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อย พบว่า การปลูกพืชใช้น้ำน้อยไม่ได้หมายความว่าจะปลูกตอนไหนก็ได้ ต้องเร่งปลูกในช่วงที่ดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ หมายถึงภายในเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2558 ดังนั้น การพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ละจังหวัดจะต้องทำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาและจัดสรรงบประมาณ ก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2558 ส่วนการพิจารณาโครงการเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ละจังหวัดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายเพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาและจัดสรรงบประมาณก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

เห็นชอบเอกสารสำคัญที่จะใช้ในการประชุม “เอเปก-อาเซียนซัมมิต”

ด้าน พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเอกสาร 2 ฉบับที่จะใช้ในการประชุมด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ทั้งในระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2558 และระดับผู้นำ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 23 และ 2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรี APEC ครั้งที่ 27

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเอกสาร อีก 13 ฉบับ ที่จะใช้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีเอกสารสำคัญ อาทิ ร่างปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ ปี ค.ศ. 2015 ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน, ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน–สหรัฐฯ, ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วน (ที่เพิ่มพูน/เชิงยุทธศาสตร์) อาเซียน-สหรัฐฯ (ปี ค.ศ. 2016-2020) ฯลฯ เป็นต้น